18 ก.ย. 2567 | 13:47 น.
KEY
POINTS
คำว่า ‘AI-Generated’ คงฮิตติดปากใครหลายคนไปเป็นที่เรียบร้อย เมื่อ ‘Artificial Intelligence’ (AI) ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเราในฐานะผู้ช่วยแสนฉลาด ไม่เว้นแม้แต่ใน ‘วงการเพลงเกาหลี’ หรือ ‘K-Pop’ ก็ได้อาศัยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ว่านี้ มาทลายขีดจำกัดของวงการ และสร้างโอกาสใหม่ ๆ
ช่วงไม่กี่ปีมานี้ เราได้เห็นกลุ่มบอยแบนด์และเกิร์ลกรุ๊ปเกาหลีที่มาพร้อมคอนเซปต์ ‘เวอร์ชวล ไอดอล’ (Virtual Idol) ค่อย ๆ เติบโตขึ้นมา แต่ก็ยังดูเหมือนเป็นเหมือนตลาด ‘ทดลอง’ และ ‘ทางเลือก’ อยู่ แต่ล่าสุด แนวทางนี้ กลับเริ่มเป็น ‘รูปธรรม’ อย่างเด่นชัด เมื่อ ‘เอสเอ็ม เอนเตอร์เทนเมนต์’ (SM Entertainment) ค่ายเพลงท็อปทรีของวงการ ได้เดบิวท์ ‘นาวิส’ (Naevis) หรือ ‘ศิลปินเสมือนจริง’ (AI Artist) คนแรกของค่าย พร้อมซิงเกิลภาษาอังกฤษชื่อว่า ‘Done’ เมื่อ 10 กันยายน ที่ผ่านมา ด้วยเนื้อหาเพลงที่สื่อถึง ‘ก้าวแรก’ ของการมุ่งสู่อิสรภาพ
“นาวิส คอลลิ่ง!” (Naevis Calling) คือ ประโยคที่แฟนคลับวง ‘เอสปา’ (aespa) ต่างคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี เพราะนาวิสนับเป็นตัวละคร (ลับ) ที่ปรากฏตัวพร้อมกับเอสปาเสมอมา ไม่ว่าจะเป็น มิวสิควิดีโอ (MV) บทเพลง เรื่อยไปจนถึงบนเวทีคอนเสิร์ตของครั้งล่าสุด ว่ากันว่ากว่าจะเป็นนาวิสได้นั้น ต้องอาศัยเทคโนโลยีอย่างมาก เพื่อให้นาวิสสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างเป็นธรรมชาติ อีกทั้งยังมีการสร้างเสียงที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง จากการวิเคราะห์เสียงของ Voice Actor ถึง 12 ท่าน โดยใช้โปรแกรม AI ล่าสุดที่มีชื่อว่า ‘ixi-GEN’ จากพาร์ทเนอร์ยักษ์ใหญ่อย่างแอลจี (LG U+) เพื่อสร้างคอนเทนต์ของนาวิสทั้งแบบ 2D และ 3D ไม่ว่าจะเป็น มิวสิควิดีโอ รูปภาพ และสินค้าต่าง ๆ
ทว่าหลังจากแฟนเพลงได้เห็นมิวสิควิดีโอเปิดตัว กระแสที่ออกมากลับแตกเป็นสองทาง มีทั้งชอบและไม่ชอบ ซึ่งดูเหมือนว่าจะไปในทางที่สองมากกว่า โดยส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า แม้เทคโนโลยีจะล้ำสมัย และการเคลื่อนไหวดูดีเพียงใด แต่หน้าตาของนาวิสก็ยัง “ไม่เหมือน” มนุษย์อยู่ดี ในขณะที่เสียง ก็เหมือนกับการนำเอาเสียงของสมาชิกในวงอย่าง ‘วินเทอร์’ (Winter) และ ‘หนิงหนิง’ (Ningning) มาปั่นผสมรวมกันมากกว่าจะมีเอกลักษณ์อย่างที่กล่าวอ้าง
ความเป็นไปของ ‘ศิลปินเสมือนจริง’ จึงเป็นอะไรที่น่าจับตาในอนาคต เพราะการเข้ามาของ AI ในวงการเพลงก็ทำให้เกิดการตั้งคำถามถึงความเหมาะสมและมาตรการควบคุม โดยเฉพาะเรื่องของ ‘ลิขสิทธ์เพลง’ ที่ยังไม่มีกฏหมายที่แน่ชัดยออกมารองรับ
อย่างที่หลายคนคาด จุดกำเนิดของศิลปินเสมือนจริงมาจาก ‘ค่ายเกม’ โดยในปี 2018 ค่าย ‘Riot Games’ เจ้าของเกมชื่อดังอย่าง ‘League of Legends’ ได้เปิดตัว ‘เคดีอา’ (K/DA) เวอร์ชวล ไอดอล เป็นครั้งแรก วงนี้ประกอบด้วยสมาชิกสาว 4 คน ที่เป็นคาแรกเตอร์เกม โดยมีเพลงและกลุ่มแฟนคลับเป็นของตัวเอง ซึ่งคนที่ให้เสียงก็คือ นักร้องในโลกจริง ซึ่งสองในสี่คนนั้นก็คือ ‘มิยอน’ (Miyeon) และ ‘โซยอน’ (Soyeon) สมาชิกในวง ‘จีไอเดิล’ (G)I-DLE เกิร์ลกรุ๊ปเกาหลีที่โด่งดังในเวลานี้
จากการชิมลางของค่ายเกม ค่ายเพลงก็ริเริ่มแนวทางนี้กัน นำโดย SM Entertainment ก็ได้เดบิวท์วงเอสปา ในปี 2020 โดยมีสมาชิก 4 คน คารินา, จีเซล, วินเทอร์ และหนิงหนิง ร่วมด้วยคาแรกเตอร์ลับอย่าง นาวิส พร้อมเล่าเรื่องในธีมสุดล้ำ ด้วยการบอกเล่าว่าสมาชิกแต่ละคนจะมีอวตาร์ใน ‘กวังย่า’ (KWANGYA - 광야) โลกเสมือนจริงที่น่าจะหมายถึงค่าย SM Entertainment นั่นเอง
ความพิเศษของเอสปาเลยอยู่ที่ MV ที่จะมีการเล่าเรื่องระหว่าง ‘มนุษย์’ และ ‘AI’ สลับกันไป ทั้งใน MV และการแสดงบนเวที ซึ่งนับเป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้กับผู้ชม เช่นเดียวกับเพลง ‘Next Level’ (2021) ที่กลายเป็นเพลงชาติเกาหลีในปี 2021 พร้อมกับท่อน นาวิส คอลลิ่ง!
จากนั้นในปี 2022 ก็มีบอยแบนด์วง ‘ซุปเปอร์ไคนด์’ (SUPERKIND) บอยแบนด์วงแรกที่มี AI เป็นสมาชิกในวงร่วมกับเมมเบอร์ที่เป็นมนุษย์ ซึ่งการแสดงบนเวทีจะมีการเว้นที่ว่างให้กับสมาชิกที่เป็น AI เอาไว้ด้วย แต่เวลาที่พบปะสื่อมวลชนและแฟนเพลงจะยังคงใช้บริการเมมเบอร์ที่เป็นมนุษย์ ในขณะที่ AI จะเน้นทำกิจกรรมทางออนไลน์มากกว่า
ต่อมาในปี 2023 ‘Metaverse Entertainment’ ค่ายลูก ‘Netmarble’ บริษัทเกมมือถือที่ใหญ่ที่สุดในเกาหลี ได้เปิดตัวเกิร์ลกรุ๊ปในชื่อ ‘เมฟ์’ (MAVE:) ที่มีสมาชิกเป็นไอดอลเสมือนจริงทั้งหมด และเป็น ‘วงแรก’ ของวงการ เช่นเดียวกับเสียงร้องและเสียงพูด ก็เป็นเสียงของ AI บวกกับการใช้เสียงของมนุษย์ ทั้งนี้ ทางค่ายได้เผยว่า แม้จะเป็น AI ก็ต้องฝึกร้อง และฝึกพูดไม่ต่างจากศิลปินจริง ๆ
หลายคนมองว่าการถือกำเนิดของศิลปินเสมือนจริง คือ ‘อนาคตใหม่’ ของวงการเพลงเกาหลี เพราะช่วย “ลดความเสี่ยง” ของการเป็นมนุษย์ และช่วย “ลดต้นทุน” ได้อย่างมหาศาล
ทั้งนี้ ศิลปินเสมือนจริงสามารถทำงานได้ตลอด 24/7 โดยไม่จำเป็นต้องหยุดพัก ไม่ต้องกลัวป่วย และหากเป็นผู้ชายก็ไม่ต้องเว้นช่วงพักวงเพื่อเกณฑ์ทหาร ซึ่งเหมาะกับการทำงานของไอดอล K-pop ซึ่งมีตารางงานค่อนข้างโหด เมื่อพวกเขาต้องมีอัลบั้มอย่างน้อยปีละ 2 หน ต่างกับศิลปินอื่น ๆ ที่ออกอัลบั้มแต่ละครั้งสามารถทิ้งห่างนานถึง 2 ปี
ขณะเดียวกันค่ายเพลงก็ไม่ต้อง “สูญเงิน” ลงทุนกับ ‘เด็กฝึก’ ที่ใช้เวลาเนิ่นนานในการบ่มเพาะทักษะ อีกทั้งยังไม่ต้องคอยกังวลเกี่ยวกับภาพลักษณ์ จากพฤติกรรมหรือข่าวอื้อฉาว ที่สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา รวมทั้งยังสามารถช่วย “ลดบุคลากร” ในการดูแลศิลปินได้อีกด้วย
‘บังชีฮยอก’ (Bang Si-hyuk) ผู้อยู่เบื้องหลังวงบอยแบนด์ BTS ประธานค่าย ‘ไฮป์’ (HYBE) กล่าวว่า “AI จะมาเปลี่ยนแปลงอนาคตของอุตสาหกรรม K-Pop อย่างแน่นอน” และล่าสุดเขาได้เปิดตัวโปรเจกต์ที่ชื่อว่า ‘มิดแนตต์’ (Midnatt) ที่ใช้ AI มาทำลายกำแพงด้าน ‘ภาษา’
‘อีฮยอน’ (Lee Hyun) นักร้องชายผู้อยู่เบื้องหลังโปรเจกต์นี้ บอกว่านี่คือเวอร์ชันกลางคืนของเขา พร้อมกับเปิดตัวซิงเกิลภาษาเกาหลี ‘Masquerade’ และเพื่อสร้างความแปลกใหม่ ทางค่ายก็ได้ใช้เทคโนโลยี AI มาวิเคราะห์และช่วยเรื่องการออกเสียง จนทำให้เพลงนี้มีให้ฟังถึง 6 ภาษา ได้แก่ เกาหลี ญี่ปุ่น จีน อังกฤษ สเปน และเวียดนาม อีกทั้งยังได้ใส่เสียง เวอร์ชัน ‘ผู้หญิง’ ของอีฮยอนที่สร้างจาก AI ลงไปอีกด้วย
จากบทสัมภาษณ์ของ Korean Times นักวิจารณ์เพลง ‘คิมโดฮยอน’ (Kim Do-heon) กล่าวว่า ในตอนนี้นักแต่งเพลงหลายคนยังยึดติดขนบดั้งเดิมจนเกินไป เพราะถ้าพวกเขาเปิดใจให้กับเทคโนโลยี AI เมื่อไหร่ เมื่อนั้นก็จะสามารถสร้างความก้าวหน้าให้กับวงการ K-pop ได้อีกเท่าตัว
แม้ว่า AI จะนำเสนอความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ให้กับวงการ แต่ก็ยังทำให้เกิดข้อกังขาอยู่เช่นกัน โดยเฉพาะในเรื่องของ ‘ลิขสิทธิ์เพลง’
สมาคมลิขสิทธิ์เพลงเกาหลี (Korea Music Copyright Association - KOMCA) ซึ่งมีสมาชิกมากกว่า 47,000 คน ทั่วเกาหลี อ้างว่า AI อาจจะ “สร้างปัญหา” ให้กับนักแต่งเพลงได้ เมื่อ AI กำลังจะมีส่วนที่ทำให้ ‘รายได้’ ของนักแต่งเพลงลดลง และทำให้คน “มองข้าม” คุณค่างานที่เกิดจาก ‘มันสมอง’
การทำงานของ AI เกิดจากการนำไอเดียจากฐานข้อมูลเพลงขนาดใหญ่ ซึ่งนั่นอาจจะทำให้เกิดเหตุการณ์ละเมิดลิขสิทธิ์แบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว อย่างเช่นในวงการภาพวาดก็เกิดเหตุการณ์ที่ AI ดึงเอารูปภาพที่มีอยู่ในฐานข้อมูล มาทำให้เกิดเป็นภาพใหม่ ซึ่งขั้นตอนดังกล่าว ถือว่าเป็นการละเมิดเจ้าของภาพเดิม ดังนั้น สมาคมลิขสิทธิ์เพลงเกาหลีจึงมองว่าถ้าจะริเริ่มการใช้ AI ในการเพลงจริง ๆ ก็ควรจะมีการบอกว่าผลงานนั้น มาจากเพลงอะไร ของนักแต่งเพลงคนไหน เพื่อที่ให้เกิดการ “แบ่งปันผลประโยชน์” อย่างเป็นธรรม และควรมีกฎหมายเข้ามาดูแลในเรื่องนี้
เช่นเดียวกับมิวสิควิดีโอเพลงของเอสปาที่มีหลายคนตั้งข้อสังเกตว่ามีหลายซีนที่มาจากการใช้ AI ซึ่งอาจจะมีการซ้ำหรือนำเอาผลงานของคนอื่นมาอยู่ในผลงานโดยไม่ได้ตั้งใจ หรือแม้กระทั่งกรณีของวง ‘เซเวนทีน’ (Seventeen) ที่ ‘อูจี’ (Woozi) เคยให้สัมภาษณ์กับนักข่าวว่าเขากำลัง “ทดลอง” ทำเพลงกับ AI อยู่ จนทำให้เกิดข้อถกเถียงกันอย่างหนัก จนเขาต้องออกมาโพสต์เคลียร์ตัวเองในอินสตาแกรมว่า “เพลงทั้งหมดของ Seventeen เขียนและแต่งมนุษย์ทั้งหมด”
นักร้องสาวชื่อดังอย่าง ‘บิลลี่ อายลิช’ (Billie Eilish) และ ‘นิกกี มินาจ’ (Nicki Minaj) ก็เคยออกจดหมายเปิดผนึกเรียกร้องให้ “ยุติการใช้ AI” ในวงการเพลง เพราะมองว่าสิ่งนี้เป็นการ “บ่อนทำลาย” ศักยภาพของคนในวงการ อีกทั้งยังไม่มีหลักเกณฑ์ที่แน่ชัดด้วยว่าเหล่าครีเอเตอร์ สามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ได้ใน ‘สัดส่วน’ เท่าไหน ถึงจะ “พอดี” และ “ดีพอ”
ปัญหาง่ายๆ ที่เห็นในตอนนี้ ก็คือ การใช้ AI ได้ทำให้เกิด ‘ข้อมูลอันเป็นเท็จ’ มากมาย อย่างเช่น การที่แฟนคลับนำเสียงของนักร้องอีกคน มาทำ Cover เพลงอีกเพลงที่ไม่ใช่ของเขา ซึ่งนอกจากทำให้เกิดความสับสน และยังก่อให้เกิดความเข้าใจผิดจากคนที่ไม่ได้ติดตาม เหมือนกับรูปภาพที่ตอนนี้เมื่อเห็นแล้วก็ต้องมาคิดว่าสิ่งที่เห็นนั้นคือ “จริง” หรือ “ปลอม” กันแน่
‘คริส แนร์น’ (Chris Nairn) โปรดิวเซอร์และนักแต่งเพลง เจ้าของชื่อ ‘Azodi’ และทำงานให้กับ SM Entertainment เผยว่า ในช่วง 12 ปีที่เขาคลุกคลีในวงการนี้ เขามองว่าวงการ K-pop มักมองหา “สิ่งแปลกใหม่” อยู่เสมอ ดังนั้น การเข้ามาของ AI จึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างก้ำกึ่ง เพราะเขามองว่าเทรนด์ในอนาคต แฟนเพลงต้องการ ‘เพลงที่เฉพาะตัว’ (Personal Songs) ยิ่งขึ้น และเป็นสิ่งที่ AI ยังให้ไม่ได้ เพราะ AI ทำงานโดยใช้ข้อมูลที่ “ผลิตออกมาแล้ว” นั่นเอง
หรือจะบอกว่า ‘นวัตกรรม’ ยังคงเกิดจากมันสมองและสองมือของมนุษย์ก็ไม่ผิดนัก
เรื่อง: รตินันท์ สินธวะรัตน์
อ้างอิง:
Ana Truesdale. Are AI idols the future of K-pop?
Ashley King. SM Entertainment Debuts AI Artist ‘Naevis’ — But Reactions Are Mixed
Dong Sun-hwa. AI revolution: boon or bane for K-pop world?
Megan Lawton. Will K-pop's AI experiment pay off?
The Birth of a Virtual Idol - Digital Human Industry and Technology Research
Yoon So Yeon. SM Entertainment to use LG U+ AI technology for virtual idol naevis.