24 ก.ย. 2567 | 12:02 น.
KEY
POINTS
‘เบนนี โกลสัน’ (Benny Golson 1929-2024) นักดนตรีแจ๊สผู้ยิ่งใหญ่ได้จากไปอย่างสงบเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2024 ด้วยวัย 95 ปี ท่ามกลางความอาลัยของวงการดนตรีทั่วโลก
โกลสัน ไม่เพียงเป็นนักแซกโซโฟนที่มีเอกลักษณ์เท่านั้น แต่เขายังเป็นนักประพันธ์เพลงแจ๊สที่สร้างสรรค์ผลงานอันทรงคุณค่าให้แก่วงการมาตลอดระยะเวลากว่า 7 ทศวรรษ
โกลสันได้สร้างสรรค์บทเพลงที่กลายเป็นมาตรฐานของวงการแจ๊สหลายบท เช่น I Remember Clifford, Killer Joe และ Whisper Not ซึ่งได้รับการบันทึกเสียงโดยศิลปินชั้นนำมากมาย การจากไปของเขานับเป็นการสูญเสียอัจฉริยะผู้มีพรสวรรค์ แน่นอนทีเดียวว่า มรดกทางดนตรีของเขาจะยังคงมีชีวิตและสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นหลังต่อไป รวมถึงแฟนเพลงที่เคยมีโอกาสชมการแสดงของ เบนนี โกลสัน ในประเทศไทยถึง 2 ครั้ง ครั้งแรก ณ โรงละครอักษรา ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2009 และอีกครั้ง ณ ทรู อรีนา หัวหิน ในเดือนมีนาคม ค.ศ.2017
แม้จะเป็นนักแซกโซโฟนเต็มตัว แต่จุดเริ่มต้นของโกลสันในการเขียนเพลงนั้นไม่ได้ราบรื่นนัก เขาเริ่มสนใจการแต่งเพลงตั้งแต่วัยรุ่น โดยเพลงแรกของเขาชื่อ ‘The Maharajah and the Blues’ ซึ่งเจ้าตัวยอมรับว่าเป็นความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง
“ทุกอย่างผิดพลาดหมด ทำนองก็หยาบ การเรียบเรียงก็ผิดพลาด” โกลสันเคยพูดถึงบทเรียนในครั้งนั้น
แม้จะประสบความล้มเหลวในตอนแรก แต่เขาก็ไม่ยอมแพ้ ทักษะการเขียนเพลงของโกลสันพัฒนาอย่างค่อยเป็นค่อยไป เขาเรียนรู้จากความผิดพลาด และต่อมาได้ค้นพบ ‘ทริค’ ในการแต่งเพลง ตอนเขาได้พบกับ ‘แทดด์ ดาเมรอน’ (Tadd Dameron) ซึ่งได้ชี้แนะแนวทางที่ถูกต้องในการเขียนเพลงเอาไว้ ซึ่งกลายมาเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ
“ผมค่อย ๆ ค้นพบว่าอะไรที่ไม่ควรทำ บทเรียนนั้นมีคุณค่ามหาศาล”
ในฐานะนักแต่งเพลง โกลสันให้ความสำคัญกับทำนองเป็นอย่างมาก เขาเชื่อว่าทำนองเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการสร้างเพลงที่อยู่ในใจผู้ฟังได้ยาวนาน “ทำนองเป็นสิ่งที่ทรงพลัง อาจจะเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการสร้างความอมตะให้กับเพลง” พร้อมกับให้ความสำคัญในการใช้ช่วงเสียง (intervals) ในการสร้างดรามาและพลังให้แก่เนื้อร้อง
หนึ่งในผลงานสำคัญชิ้นแรก ๆ ของ โกลสัน คือเพลง ‘Stablemates’ ซึ่งเขาแต่งขึ้นในปี 1955 หลังจากที่เขาเริ่มเข้าใจเคล็ดลับในการแต่งเพลง เพลงนี้เป็นจุดเริ่มต้นของผลงานที่ประสบความสำเร็จอีกมากมายในภายหลัง
บุคคลสำคัญที่มีส่วนสนับสนุนงานแต่งเพลงของเบนนี โกลสัน ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น คือ ‘จอห์น โคลเทรน’ (John Coltrane) นักเทเนอร์แซกโซโฟน ซึ่งกำลังเป็นดาวรุ่งในวงการแจ๊สช่วงนั้น โดยโคลเทรนเป็นคนแนะนำเพลง Stablemates ให้ ‘ไมล์ส เดวิส’ (Miles Davis) นำไปบันทึกเสียง
ความสัมพันธ์ระหว่างเบนนี โกลสัน และจอห์น โคลเทรน สามารถย้อนกลับไปยังช่วงวัยรุ่นของพวกเขาในเมืองฟิลาเดลเฟีย ซึ่งทั้งสองต่างเป็นนักดนตรีหนุ่มที่มีความหลงใหลในการสำรวจโลกของดนตรีแจ๊ส มิตรภาพของพวกเขาสร้างขึ้นจากความชื่นชมในฝีมือของกันและกัน และจากการแสวงหาความเป็นเลิศทางดนตรีร่วมกัน
โกลสันพบโคลเทรนเป็นครั้งแรก เมื่อเพื่อนคนหนึ่งแนะนำให้เขารู้จักกับนักแซกโซโฟนที่ “เล่นได้เหมือนจอห์นนี ฮอดเจส” (Johnny Hodges) นักอัลโตแซกโซโฟนชื่อดัง สมาชิกวงของ ‘ดุ๊ก เอลลิงตัน’ (Duke Ellington) เบนนี โกลสัน ซึ่งมักจัดแจมเซสชันที่บ้านของเขา ได้ยินเสียงดนตรีที่เป็นมืออาชีพเกินวัยของจอห์น โคลเทรน เขารู้สึกทึ่งและประทับใจมาก การพบกันครั้งนั้น ถือเป็นจุดเริ่มต้นของมิตรภาพที่ยาวนานตลอดชีวิต
ตลอดช่วงวัยรุ่น เบนนี โกลสัน และจอห์น โคลเทรน ใช้เวลาร่วมกันอย่างมากมาย เล่นดนตรีและผลักดันซึ่งกันและกันให้เติบโตในฐานะศิลปิน เซสชันเหล่านี้เป็นเหมือนการสร้างสายใยลึกซึ้งระหว่างพวกเขา ไม่เพียงแค่พัฒนาทักษะทางเทคนิค แต่ยังเข้าใจแจ๊สในฐานะภาษาของการแสดงออกด้วย
ครั้งหนึ่ง ตอนที่เบนนี โกลสัน มาเยือนไทย ระหว่างมื้อเที่ยงที่โรงแรมโนโวเทล สุวรรณภูมิ เขาเอ่ยชื่นชมจอห์น โคลเทรน เพื่อนรักของเขาให้ฟังว่า “ขณะที่เพื่อน ๆ หลายคนยังพยายามที่จะเข้าใจแจ๊ส จอห์นกลับก้าวล้ำไปข้างหน้าเสมอ เขามีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าในการพัฒนาตนเอง และเสาะแสวงหาการสร้างสรรค์ใหม่ ๆ อย่างไม่หยุดยั้ง นั่นทำให้เขาได้รับความชื่นชมจากผู้คนมากมาย รวมถึงผมด้วย”
แนวคิดที่น่าสนใจในการสร้างสรรค์ผลงานของโกลสัน อาทิ เขาพยายามหลีกเลี่ยงการใช้ทำนองแบบ scale-line ที่ไม่มีความหมาย “ผมพยายามสร้างเพลงที่โดดเด่น ผมต้องการสิ่งที่แตกต่างจากปกติ สิ่งสุดท้ายที่ผมต้องการ คือเพลงที่ฟังดูเหมือนประดิษฐ์ขึ้นมาอย่างไม่มีเหตุผล”
นอกจากนี้ โกลสันยังเน้นการสร้างเพลงที่มีความรู้สึกเป็นธรรมชาติ โดยไม่คำนึงถึงการเลือกคอร์ด จังหวะ หรือค่าของโน้ต เขามักจะใช้เวลาในการฟูมฟักบทเพลงของเขาทีละน้อย บางครั้งอาจใช้เวลาหลายสัปดาห์ หลายเดือน หรือแม้กระทั่งหลายปี กว่าจะกลับมาแก้ไขเพลงให้สมบูรณ์
หนึ่งในผลงานที่โด่งดังที่สุดของ โกลสัน คือเพลง ‘I Remember Clifford’ ซึ่งเขาแต่งขึ้นเพื่อรำลึกถึง ‘คลิฟฟอร์ด บราวน์’ (Clifford Brown) นักทรัมเป็ตผู้ล่วงลับ ซึ่งจากไปอย่างกะทันหันด้วยอุบัติเหตุรถยนต์ในปี 1956 เพลงนี้กลายเป็นบทเพลงมาตรฐานในวงการแจ๊ส และได้รับการบันทึกเสียงโดยศิลปินมากมาย
นอกจากนี้ ยังมีเพลงอื่น ๆ ที่โด่งดังเช่น ‘Whisper Not’ และ ‘Killer Joe’ ซึ่งแต่ละเพลงมีเรื่องราวและแรงบันดาลใจที่น่าสนใจ ทุกบทเพลงจะมีทำนองงดงาม ระรื่นหู หากได้ซ่อนความสลับซับซ้อนของฮาร์มอนีเอาไว้ภายใน จึงไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับนักดนตรีโดยทั่วไปที่จะบรรเลงเพลงของโกลสัน หากไม่ได้ศึกษาหรือมีพื้นฐานทางดนตรีที่แข็งแกร่งเพียงพอ
ด้วยความชื่นชอบในการแต่งเพลงบัลลาดเป็นพิเศษ โกลสัน เล่าว่า “เจ็ดสิบห้าเปอร์เซ็นต์ของเพลงที่ผมเขียนตอนนี้เป็นบัลลาด ทำนองที่ดึงดูดหัวใจของผม” เขามักจะนึกถึงศิลปินที่เขาชื่นชอบอย่าง ‘อาร์ต ฟาร์เมอร์’ (Art Farmer) และ ‘เชอร์ลีย์ ฮอร์น’ (Shirley Horn) ในขณะที่แต่งเพลงบัลลาด โดยจินตนาการว่าพวกเขาจะตีความเพลงของเขาอย่างไร
ในหนังสือ Whisper Not : The Autobiography of Benny Golson เจ้าตัวเล่าถึงประสบการณ์การแต่งเพลงที่ลึกซึ้ง โดยในบางครั้ง อารมณ์พาไปจนน้ำตาไหลขณะแต่งเพลง “บางหนผมจมดิ่งไปกับดนตรีมาก จนอารมณ์ท่วมท้น เนื่องจากผมมักจะเห็นเรื่องราวทั้งหมดกำลังคลี่คลายขณะที่ผมทำงาน ดวงตาของผมเอ่อล้นไปด้วยน้ำตา ราวกับว่าผมกำลังอกหัก”
แรงบันดาลใจในการแต่งเพลงของโกลสันมาจากหลากหลายแหล่ง บางครั้งเขาก็แต่งทำนองในความฝัน แม้ว่าบางครั้งจะพบว่าทำนองที่ฝันถึงนั้น “เป็นเพลงที่มีอยู่แล้ว” เช่น ครั้งหนึ่งที่เขาฝันถึงทำนองของเพลง ‘Stardust’ ของ ‘โฮกกี คาร์ไมเคิล’ โดยไม่รู้ตัว
เบนนี โกลสัน ไม่เพียงแต่เป็นนักดนตรีแจ๊สที่มีพรสวรรค์เท่านั้น แต่ยังเป็นนักประพันธ์เพลงที่มีความลึกซึ้งและมีอิทธิพลอย่างมากในวงการแจ๊ส การเดินทางของเขาจากการเป็นนักแต่งเพลงมือใหม่ที่ล้มเหลวไปสู่การเป็นผู้สร้างสรรค์บทเพลงอมตะหลายบท แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่น การเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง และความรักในดนตรีอย่างแท้จริง
ผลงานของ โกลสัน ไม่เพียงแต่สร้างความบันเทิงให้แก่ผู้ฟังเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงอารมณ์ความรู้สึกลึกซึ้งและเรื่องราวที่มีความหมาย มรดกทางดนตรีของเขาจะยังคงมีอิทธิพลต่อนักดนตรีและผู้ฟังรุ่นต่อๆ ไปอีกนานแสนนาน
เรื่อง: อนันต์ ลือประดิษฐ์
ภาพ: Getty Images