29 ม.ค. 2567 | 18:30 น.
“อยากถ่ายทอดเสียงดนตรีของจริง
ด้วยระดับเสียงสูงสุด
ด้วยคุณภาพเสียงที่ดีที่สุดของโรงภาพยนตร์”
การรวมตัวกันของ 3 นักดนตรีระดับโลกที่มาร่วมบรรเลงเพลงประกอบเพื่อให้เรื่องนี้เป็นสุดยอดซาวนด์แทร็กเพลงประกอบภาพยนตร์ ไม่ว่าจะเป็น อุเอฮาระ ฮิโรมิ นักเปียโนระดับโลก เจ้าของรางวัลแกรมมี่, บาบะ โทโมอากิ ศิลปินแซกโซโฟนผู้ร่วมแสดงกับศิลปินรางวัลแกรมมี่ และ อิชิกาวะ ชุน มือกลองผู้ร่วมแสดงกับศิลปินระดับโลกเช่นกัน
แอนิเมชันสร้างแรงบันดาลใจตามแบบฉบับวัยรุ่นไฟแรง ผู้ที่ต้องการจะล่าฝันที่ยิ่งใหญ่ของตนเอง ผ่านดนตรีของตนเองในรูปแบบแนวแจ๊ส โดยมีตัวดำเนินเรื่องหลักคือ ‘ได มิยาโมโตะ’ (ให้เสียงพากย์โดย ยามาดะ ยูกิ) นักเรียนมัธยมปลายที่ ‘คลั่งไคล้’ ในการเป่าแซกโซโฟน หลังจากที่เรียนจบ ไดที่ตั้งเป้าหมายว่าวันหนึ่งเขาจะเป็นนักดนตรีแจ๊สอันดับหนึ่งของโลกให้ได้ จึงออกเดินทางจากบ้านเกิดเพื่อมาตามหาความฝันของเขาในโตเกียว
ได มิยาโมโตะ
ที่นั่นไดพบสองกำลังหลักได้แก่ ‘ซาวาเบะ ยูกิโนริ’ (ให้เสียงพากย์โดย มามิยะ โชทาโร่) นักเปียโนที่คลุกคลีอยู่กับธุรกิจดนตรีกับที่บ้านมาตั้งแต่ยังเด็ก และ ‘ทามาดะ ชุนจิ’ (ให้เสียงพากย์โดย โอคายามะ อามาเนะ) เพื่อนสมัยมัธยมที่ไดมาขออาศัยพักก่อนที่ตัวเองจะหาห้องพักใหม่ได้
ซาวาเบะ ยูกิโนริ
ทามาดะ ชุนจิ
ชุนจิ ผู้เป็นนักฟุตบอลในชมรมซึ่งดูเหมือนว่าตัวเองเป็นคนจริงจัง (แต่เพื่อนร่วมทีมไม่ร่วมด้วย) แต่ว่าพอได้เจอไดปล่อยพลังของเสียงแซกโซโฟนออกมา ดนตรีแจ๊สก็เหมือนเป็นประกายไฟในตนเอง ให้อยากหันมาเอาดีด้านดนตรี ในตอนนั้นไดได้ชักชวน ยูกิโนริ มาตั้งวง แต่ตำแหน่งที่ยังคงหาอยู่นั้นคือตำแหน่งมือกลอง เป็นเหตุให้ชุนจิอยากลองผันตัวมาเป็นเพื่อนซ้อมทั้งที่ตัวเองไม่มีประสบการณ์เลย
ต้องบอกว่า ‘Blue Giant เป่าฝันให้เต็มฟ้า’ ได้บอกเล่าเรื่องราวของมิตรภาพพร้อมกับการล่าฝันผ่านเสียงดนตรี ที่ทั้งแยบยลไปด้วยเทคนิคการถ่ายทอดอารมณ์แบบเหนือความคาดหมายจริง ๆ เป็นคำกล่าวที่ดูเหมาะสมกันอย่างมากอย่างคำว่า ‘การ์ตูนที่มีเสียง’ เพราะว่าความรู้สึกเหมือนกับมีวงดนตรีแจ๊สชั้นครูมาบรรเลงอย่างสุดความสามารถอยู่ในโรงหนังอย่างไรอย่างนั้นเลย และในบทความนี้เราจะพูดถึงความน่าสนใจของมัน
/ เนื้อหาต่อไปนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์เรื่อง Blue Giant (2023) /
จิตวิญญาณของแจ๊ส
“
แจ๊สทุกวันนี้มีแต่จะตายลง
”
ประเด็นน่าสนใจที่ถูกพูดถึงใน Blue Giant คือคำถามที่ว่า ‘แจ๊สกำลังจะตายแล้วหรือ?’ ซึ่งคุณก็จะเกิดข้อสงสัยขึ้นว่ามันเป็นอย่างนั้นจริงหรือ ที่ว่าแจ๊สทุกวันนี้มีแต่จะตายลง แต่ด้วยเพราะเหตุผลอะไร เป็นเพราะแนวเพลงที่ฟังยากเฉพาะคนหรือเปล่า หรือเพราะความอิสระที่ว่า
หลายคนรู้จักแค่คำว่า แจ๊ส แต่ไม่รู้ถึงแนวเพลงของมัน บางคนปล่อยอารมณ์และความรู้สึกไปตามเสียงเพลงอย่างอิ่มเอมใจ โดยที่คุณไม่รู้ตัวเลยว่านั่นแหละเพลงแจ๊ส
“แล้วทำไมถึงเลือก Jazz เหรอ?”
เป็นคำถามที่ มิยาโมโตะ - ได ถูกชุนจิถามในช่วงแรก ๆ ว่าแนวดนตรีบนโลกใบนี้ มันมีตั้งหลายแนว ทำไมถึงเลือกเป็น ‘แจ๊ส’
“เพราะว่าแจ๊สมันร้อนแรงและอิสระน่ะ…”
ต้องขอบอกก่อนว่าดนตรีแจ๊สนั้นเป็นหนึ่งในแนวดนตรีที่โด่งดังมากในช่วงยุคปลายศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 การแพร่กระจายไปทั่วโลกของดนตรีแจ๊สนั้นก่อให้เกิดแจ๊สในรูปแบบที่แตกต่างกัน ดนตรีแจ๊สนั้นเหมือนจะซ้อนทับกับดนตรีเกือบทุกแนว ตั้งแต่บลูส์ ร็อก ไปจนถึงคลาสสิก สิ่งนี้ทำให้เกิดแนวเพลงแจ๊สที่หลากหลาย เพราะแจ๊สได้หยิบยกเรื่องราวของแต่ละนักดนตรีออกมาอย่างไม่ซ้ำจำเจ
เพราะแจ๊สจะมี ‘จังหวะที่โดดเด่น’ ถ้าเจาะลึกกันคงเป็นเรื่องการเขียนคู่โน้ตที่ดูมีความเฉพาะตัว การตัดกันของเสียงหรือการประสานกันของตัวโน้ต ทำให้ดูมีความ ‘ซับซ้อนทางฮาร์โมนิก’ คอร์ดที่ถูกจับมาใช้กับเพลงแจ๊สจะมีความแปลกกว่าถ้าไปเทียบกับพวกดนตรีแนวป็อป ร็อก หรือคันทรี บางคอร์ดจะมีความตึงเครียดให้เสียงที่บรรยายความรู้สึกได้ยาก และสุดท้ายที่ทำให้เป็นแจ๊สอยู่ก็คือการ ‘เล่นแบบด้นสด’ ใช้เทคนิคส่วนตัว การดึงจิตวิญญาณของตัวผู้เล่นออกมาขณะบรรเลงเพื่อสร้างเอกลักษณ์
ความอิสระที่ไดได้พูดถึงก็ได้ถูกบอกเล่าออกมาได้อย่างดีเยี่ยมถึงความ ‘ไม่ตายตัว’ ในดนตรีแจ๊ส มันเปรียบเหมือนกับความรู้สึกของคุณในตอนนั้นแหละ บางเวลาคุณดีใจ บางเวลาคุณเสียใจ แต่ทุกอย่างมันจะหล่อหลอมให้กลายเป็นตัวของคุณเอง และแน่นอนว่าทาง Blue Giant ได้ถ่ายทอดความอิสระตรงนี้มาได้อย่างดีงาม
แจ๊สไม่ได้ตายหายไปไหน แต่ด้วยเพราะกาลเวลาและความหลากหลายที่เกิดขึ้นนั้น ทำให้แจ๊สได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบไปจากเก่าตามยุคและสมัย แต่ยังคงไว้ซึ่งความทรงพลังอย่างที่หากแม้ไม่ใช่คอเพลงแจ๊สมาได้ยินก็จะรู้สึกถึงอะไรบางอย่างได้เลย
เพื่อนกับดนตรี
Blue Giant ไม่ได้มีดีแค่เสียงเครื่องดนตรีเท่านั้น เรื่องราวการเดินทางของทั้ง 3 หนุ่มเข้ามาเติมเต็มความอิ่มเอมใจเป็นอย่างยิ่ง คุณเคยรู้จักใครบางคนผ่านแค่เปลือกนอกผ่านเสียงดนตรีอย่างเดียวไหม เชื่อว่าหลายคนเคย คนฟังเพลงแนวเดียวกันอะไรทำนองนั้น เช่นเดียวกับมิตรภาพของทั้ง 3 คนในเรื่อง ทุกคนถูกเชื่อมโยงเข้าด้วยการผ่านจังหวะและดนตรี
โดยในเรื่อง ไดมือแซกโซโฟนนั้นมีประสบการณ์การฝึกฝนด้วยตนเองมาเพียงแค่ 3 ปี และเพิ่งจะเข้าคอร์สเรียนจริงจังได้ไม่นาน กลับกันกับยูกิโนริ มือเปียโน ผู้อยู่บนเส้นทางดนตรีมามากกว่า 14 ปี และชุนจิ มือกลองผู้เริ่มจากศูนย์ เส้นทางล่าฝันของพวกเขานั้นมันไม่ง่ายเลย การฝึกซ้อมในช่วงแรกเริ่มเราจะเห็นความแตกแยกกันของแต่ละคน การเล่นกันไม่เป็นวง เหมือนมาโชว์ทักษะส่วนตัวกันมากกว่า
“ถ้าไร้พรสวรรค์ มีแต่ความพยายามก็เสียแรงเปล่า”
คำกล่าวของมือเปียโนผู้เชื่อในพรสวรรค์มากกว่าพรแสวงที่ได้ตอกหน้าหนุ่มแซกโซโฟนผู้มีประสบการณ์เพียงแค่ไม่กี่ปี แต่ไดก็แสดงให้เห็นถึงความมานะพยายามที่ฝึกฝนด้วยตนเองมาโดยตลอด ทำให้ยูกิโนริถึงกับต้องตะลึงถึงเวลาและกำลังใจที่ไดได้ใช้ไปกับแซกโซโฟน
พร้อมทั้งยังมีตัวละครอย่างชุนจิผู้ผันตัวเป็นมือกลองไร้ประสบการณ์ ที่ต้องเดินทางต่อสู้กับไฟอันร้อนแรงในใจของตนเอง เพราะแน่นอนว่าไม่ว่าจะเรื่องอะไร การเริ่มต้นเรียนรู้ใหม่นั้นย่อมใช้ความอดทนและพยายามเป็นอย่างมาก
ทั้ง 3 คนตกลงใช้ชื่อวงนามว่า ‘JASS’
เวลาล่วงผ่านไปเป็นปี ชุนจิจากผู้ไม่มีประสบการณ์ก็แสดงให้ได้เห็นว่าหากคุณพยายามลงแรงลงใจให้กับอะไรสักอย่างหนึ่ง ถึงผลลัพธ์จะออกมาอย่างไร มันก็จะตอบแทนคุณทางใดทางหนึ่งอย่างแน่นอน
การเดินทางเต็มไปด้วยทั้งความยากลำบาก ทั้งความสุขควบคู่กันไป การขอแสดงดนตรีจากร้านบาร์เล็ก ๆ ผู้ชมแทบจะไม่มี จนเริ่มมีคนรู้จักถึงพวกเขา 3 คน และแน่นอนว่ารวมถึงเพลงแจ๊สด้วย
คำว่า ‘เพื่อนกับดนตรี’ มันเลยเป็นสิ่งที่คอยค้ำชูซึ่งกันและกันมากกว่าเป็นเรื่องที่แข่งขันแย่งชิงดีชิงเด่นกันจนเวลาผ่านไปพร้อมกับความมานะฝึกฝน ทำให้การเล่นเป็น ‘วง’ เริ่มสมบูรณ์ขึ้น มีพลังและสื่อสารถึงกันได้
เชื่อ ‘ตำรา’ หรือ ‘สัญชาตญาน’ ?
กรณีนี้ Blue Giant ใช้เรื่องราวของยูกิโนริเป็นตัวสื่อถึงการดำเนินทางตามขนบธรรมเนียมนั้นไม่ใช่เรื่องผิดแต่อย่างใด แต่ไม่ใช่ในกรณีการละเล่นของแจ๊ส
Blue Giant ได้ถ่ายทอดความทรงพลังของแนวเพลง Jazz ผ่านการบรรเลงเครื่องดนตรีของแต่ละตัวละคร ทำให้เราได้ซึมซับความ ‘น่าพิศวง’ ของเพลงแจ๊สซึ่งบางคนก็อาจจะใช้คำว่า ‘น่ากลัว’ ก็ได้เช่นกัน
แจ๊สเป็นศิลปะแห่งการด้นสด เพราะความอิสระของแนวเพลงทำให้มุมมองคนภายนอกที่อาจจะไม่ใช่คอดนตรีหรือยิ่งเฉพาะคอดนตรีแจ๊ส สามารถพอเข้าใจความลึกซึ้งของอารมณ์ในแต่ละตัวละครได้
ทุกตำแหน่งของนักดนตรีแจ๊สจะต้องมีการปรับตัวและช่วงเวลาที่เรียกได้ว่า ‘การแบ่งปันและแสดงออกถึงเสียงของตนเอง’ คุณอาจเล่นเพลงเดิมอีกครั้งในอีกคืนหนึ่ง แต่เวอร์ชันนั้นคือความร่วมมือที่ไม่เหมือนใครระหว่างคุณกับนักดนตรีแจ๊สคนอื่น ๆ ในช่วงเวลานั้นก็เกิดขึ้นได้เสมอในแจ๊ส
ยูกิโนริ ผู้ที่เดินตามครรลองของนักดนตรีรุ่นเก่ามาเป็นหลัก เป็นบุคคลที่ถึงจุดหนึ่งต้องเผชิญหน้ากับตนเอง การคิดออกนอกกรอบ การรังสรรค์ตัวโน้ตแต่ละตัวลงบนหน้ากระดาษก่อนที่จะบันทึกสู่สมองแล่นผ่านสองมือนั้นจะต้อง ‘สื่อถึงอารมณ์ของตนเอง’ นั้นคือ ‘ตัวตนจริง’ ของเพลงแจ๊ส
“ดนตรีแจ๊สคือพลังแห่งปัจจุบัน ไม่มีสคริปต์ มันเป็นบทสนทนา นักดนตรีจะมอบอารมณ์ความรู้สึกให้กับคุณในขณะที่พวกเขาตัดสินใจเพียงเสี้ยววินาทีเพื่อเติมเต็มสิ่งที่พวกเขารู้สึกว่าต้องการในช่วงเวลานั้น”
วินตัน มาร์ซาลิส (Wynton Marsalis ) นักดนตรีที่ได้รับรางวัลแกรมมี่สาขาดนตรีแจ๊ส กล่าว
สู่การเปล่งแสงแบบ Blue Giant
ดั่งช่วงท้ายของเรื่อง ได้มีเปรียบนักดนตรีที่ ‘สุดยอด’ ว่าเหมือนกับ Blue Giant ซึ่งนั่นก็คือชื่อของดาวฤกษ์ดวงหนึ่งที่มัน ‘ร้อนแรง’ เกินไป อุณหภูมิที่สูงมาก ๆ จนปรากฏเป็นสีน้ำเงิน เป็นที่มาของแอนิเมชันที่เอาไว้เปรียบเปรยกับหนุ่มวัยรุ่นหน้าใหม่ไฟแรงนั่นเอง
นอกเหนือจากนั้นยังส่งอิทธิพลจริง ๆ ต่อวงการดนตรีไปหลายด้าน เช่น การมีอัลบั้มรวมเพลงซึ่งเป็นการจับมือกับค่ายเพลงที่เรียกว่าเป็นหนึ่งในความเก่าแก่ที่สุดในโลกอย่าง ‘BLUE NOTE RECORDS’ รวมถึงมีเพลย์ลิสต์ซึ่งเป็นการจับมือกันกับ Spotify ฯลฯ ให้ผู้ชมหรือผู้ฟังได้ไปติดตามกันต่ออีกด้วย
“คนส่วนใหญ่ไม่รู้จักแจ๊สกันหรอก แต่ถ้าเสียงของฉันส่งไปถึงคนที่ไม่รู้จักแจ๊สอย่างนายได้ มันยิ่งใหญ่จริงๆ”
ได มิยาโมโตะ