ชวนฟัง ‘อาร์ชิด อะซารีน ทริโอ’ สีสัน ‘เปอร์เซียน แจ๊ส’ ในงาน TIJC 2025

ชวนฟัง ‘อาร์ชิด อะซารีน ทริโอ’ สีสัน ‘เปอร์เซียน แจ๊ส’ ในงาน TIJC 2025

‘อาร์ชิด อะซารีน’ แพทย์หัวใจและนักเปียโนผู้ผสานเสน่ห์ดนตรีพื้นบ้านอิหร่านเข้ากับแจ๊สตะวันตก เตรียมนำวง 'อาร์ชิด อะซารีน ทริโอ' มาสร้างประสบการณ์ 'เปอร์เซียน แจ๊ส' ครั้งแรกในไทยที่งาน TIJC 2025

KEY

POINTS

  • อาร์ชิด อะซารีน เป็นทั้งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหัวใจและนักเปียโนชาวฝรั่งเศส-อิหร่าน ที่ผสมผสานดนตรีพื้นบ้านอิหร่านกับแจ๊สตะวันตก 
  • อัลบั้มล่าสุด Vorticity (2024) ได้แรงบันดาลใจจากสถานการณ์ในอิหร่านและการทำงานด้านการแพทย์ มีเพลงที่อุทิศให้แก่ผู้เสียชีวิตและขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม 
  • ใช้ดนตรีเป็นสื่อเชื่อมโยงชาวอิหร่านพลัดถิ่นทั่วโลก และช่วยให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจดนตรีพื้นบ้านของตนเอง
     

“ดนตรีแจ๊สช่วยสร้างพื้นที่แห่งความอิสระในการแสดงออก และเมื่อผสมผสานกับจิตวิญญาณของดนตรีอิหร่าน มันสามารถถ่ายทอดเรื่องราวทางวัฒนธรรมที่ทรงพลังและเต็มไปด้วยอารมณ์”

หากดนตรีคือภาษาสากลของมนุษยชาติ ‘เปอร์เซียน แจ๊ส’ (Persian Jazz) นับเป็นหนึ่งในภาษาดนตรีที่มีความซับซ้อน งดงาม และมีอัตลักษณ์แตกต่างบนเวทีโลกดนตรีวันนี้ และสำหรับแฟนดนตรีแจ๊สในประเทศไทย โอกาสที่จะได้สัมผัสประสบการณ์ดนตรีที่ไม่เหมือนใครกำลังมาถึง เมื่อ ‘อาร์ชิด อะซารีน ทริโอ’ (Arshid Azarine Trio) เตรียมพาความพิเศษของดนตรีรูปแบบนี้ มาสู่เวที ‘Thailand International Jazz Conference’ (TIJC) 2025 ที่ศาลายา

ดนตรีของ อาร์ชิด อะซารีน ทริโอ คือการเดินทางผ่านวัฒนธรรม เวลา และอารมณ์ความรู้สึก ผู้สร้างนิยามใหม่ให้แก่ เปอร์เซียน แจ๊ส ในโลกดนตรีร่วมสมัยคนนี้ เป็นทั้งแพทย์ และ นักเปียโนชาวฝรั่งเศส-อิหร่าน ที่ผสมผสานจังหวะและทำนองของดนตรีพื้นบ้านอิหร่าน ให้สอดรับกับความซับซ้อนของแจ๊สตะวันตกได้อย่างแนบเนียน 

เสียงเปียโนของเขาเป็นเสมือนสะพานที่เชื่อมโยงสองโลกนี้เข้าไว้ด้วยกัน โดยเขาเห็นว่าดนตรีพื้นบ้านอิหร่านในยุค 1970s ที่เติบโตมาถูกมองข้ามในเวทีสากล เขาจึงได้นำจังหวะพื้นเมือง เช่น จังหวะ 7 จังหวะ 9 และจังหวะ 11 จากอิหร่าน มาผสมผสานกับดนตรีแจ๊ส การทดลองนี้ไม่เพียงแค่ผลักดันดนตรีแนวนี้สู่สากล แต่ยังทำให้คนรุ่นใหม่ในอิหร่านกลับมาสนใจดนตรีพื้นบ้านของตนเองอีกด้วย

ไม่เพียงเท่านั้น ‘อาร์ชิด’ ยังเห็นถึงความหลากหลายของชุมชนชาวอิหร่านที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วโลก เช่น ในลอนดอน ปารีส ลอสแองเจลิส และหรือแม้กระทั่งในนครเตหะราน ชุมชนเหล่านี้มีความแตกต่างทั้งในด้านประสบการณ์และวัฒนธรรม แต่ดนตรีสามารถเป็นตัวกลางที่เชื่อมโยงผู้คนเหล่านี้เข้าไว้ด้วยกัน 

เขาพยายามใช้ดนตรีเชื่อมโยงกับชาวอิหร่านพลัดถิ่นทั้งหลาย (Iranian Diaspora) พร้อมกับมีส่วนร่วมอย่างมากกับกลุ่ม Barayé Collective ซึ่งก่อตั้งขึ้นในเดือนตุลาคม 2022 เพื่อสร้างการตระหนักรู้ถึงสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในอิหร่าน ในนามการเคลื่อนไหว ‘ผู้หญิง ชีวิต เสรีภาพ’ (Femme, Vie, Liberté) โดยมีกิจกรรมไฮไลท์สองครั้ง คือคอนเสิร์ตแรกที่ Trianon ในเดือนธันวาคม 2022 (ถ่ายทอดสดทาง France TV) ตามด้วยคอนเสิร์ตที่สองในเดือนเมษายน 2023 ที่โรงละคร Châtelet ซึ่งถ่ายทอดสดทาง TV5

สมาชิกวงทริโอของเขา ประกอบด้วย ‘ฮาบิบ เมฟลาห์’ (Habib Meftah) ผู้เติมชีวิตให้แก่ดนตรีด้วยเครื่องเคาะและเสียงร้องที่ชวนหลงใหล และ ‘เอวี เดอ ราทุลด์’ (Hervé de Ratuld) กับเสียงเบสที่ทั้งหนักแน่นและลื่นไหล ด้วยผลงานอย่างอัลบั้ม 7 Djan และ Sing Me a Song ที่สร้างสรรค์ขึ้นจากการรวมตัวของนักดนตรีชาวอิหร่าน สะท้อนถึงความพยายามในการสร้างความเป็นเอกภาพผ่านดนตรี เป็นบทสนทนาทางวัฒนธรรมที่ลึกซึ้งและน่าประทับใจ

ในบทสัมภาษณ์ที่ ‘อาร์ชิด’ ได้พูดคุยกับ ‘กิอัน โกเมชิ’ (Gian Gomeshi) เขาได้กล่าวถึงความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างดนตรีและการแพทย์ ด้วยความที่ ‘อาร์ชิด’ เป็นทั้งนักดนตรีและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหัวใจที่นครปารีส เขาเล่าถึงการใช้ดนตรีช่วยเยียวยาจิตใจและสร้างความเชื่อมโยงกับผู้ป่วย ตอนหนึ่งในบทสนทนา เขาอธิบายถึง “ดนตรีคืออีกวิธีหนึ่งในการเยียวยา” ที่ไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มพลังให้ผู้ฟัง แต่ยังมีผลต่อการสร้างภูมิคุ้มกัน ผ่านการหลั่งสารเอ็นดอร์ฟินในร่างกาย

อาร์ชิด ยังเล่าถึงการใช้เสียงดนตรีในห้องผ่าตัด จังหวะของดนตรีและลักษณะอันลื่นไหลของท่วงทำนอง ช่วยให้ทีมแพทย์ผ่อนคลายและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดนตรีจึงเป็นองค์ประกอบที่สร้างสมดุลในชีวิตและการทำงาน

อัลบั้มล่าสุด Vorticity (2024) คือผลงานลำดับที่ 4 ของ ‘อาร์ชิด’ ซึ่งได้รับอิทธิพลจากเหตุการณ์ที่ยังคงเกิดขึ้นในอิหร่าน และความหลงใหลในโลกทั้งสองด้านที่ไม่สามารถแยกออกจากกันของ ซึ่งประกอบด้วยการวิจัยด้านภาพถ่ายหัวใจ/หลอดเลือด และการประพันธ์เพลง ที่มีพื้นฐานจากแจ๊สและแรงบันดาลใจจากเปอร์เซีย เขาหยิบยกการหมุนเวียนของเลือด (vorticity) ที่ให้ชีวิตเรา ความวุ่นวายในหลอดเลือดของเรา หรือแม้กระทั่งการเคลื่อนไหวของเซลล์ในร่างกายของเรา มาทำให้เกิดจังหวะดนตรีที่เป็นเอกลักษณ์

เพลงอย่าง ‘75.2 BPM’ อุทิศให้แก่ผู้เสียชีวิตจากเที่ยวบิน PS-752 โดยเล่าถึง ‘การเต้นของหัวใจครั้งสุดท้าย’ หรือเพลง ‘Song to Jina’ ได้รับแรงบันดาลใจจากเพลงกล่อมเด็กชาวเคิร์ด เพื่อระลึกถึง ‘Mahsa Amini’ (หรือ Jina) ผู้เป็นสัญลักษณ์ของขบวนการ ‘Femme, Vie, Liberté’ ขณะที่เพลงอย่าง ‘Erevan, Tabriz, Tehran’ เล่าถึงการเดินทางของเขาไปยังอารามอาร์เมเนียโบราณ และ ‘Baharoun’ บรรยายถึงบรรยากาศของการเฉลิมฉลองเทศกาล Nowruz หรือปีใหม่ของอิหร่าน

“การรักษาชีวิตผู้ป่วย และการสร้างสรรค์ดนตรี เป็นงาน 2 ด้านที่ช่วยสร้างสมดุลในตัวผม”

อัลบั้ม Vorticity ยังได้สะท้อนถึงความเป็นนักทดลองทางดนตรี สุ้มเสียงที่ ‘อาร์ชิด’ สร้างสรรค์ขึ้น เต็มไปด้วยพลังของจังหวะที่ไม่คาดคิด และเฟรสซิ่งของเมโลดีที่ดึงดูดผู้ฟังเข้าสู่ห้วงความคิดและความรู้สึก เป็นการเชิญชวนผู้ฟังเข้าสู่โลกของแจ๊สในกลิ่นอายใหม่ คุณจะได้สัมผัสเสียงเปียโนที่เล่าเรื่องราวของความเป็นอิหร่านและเปอร์เซีย จังหวะเครื่องเคาะที่ประหนึ่งเสียงหัวใจของโลก และเสียงเบสที่เป็นเสมือนรากฐานทางดนตรี

การแสดงครั้งแรกในประเทศไทยของ ‘อาร์ชิด อะซารีน ทริโอ’ จะมีขึ้นในค่ำวันเสาร์ที่ 25 มกราคม 2025 ในงาน TIJC 2025 ณ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา 

มาสัมผัสมิติใหม่ของแจ๊สที่แตกต่าง กับ ‘อาร์ชิด อะซารีน ทริโอ’ แล้วคุณจะเข้าใจว่าทำไม เปอร์เซียน แจ๊ส จึงเป็นหนึ่งในสไตล์ดนตรีที่น่าค้นหาในเวลานี้.

 

เรื่อง: อนันต์ ลือประดิษฐ์