โดนัลด์ ทรัมป์ การใช้ Blind Trust แบบ "ตาบอดข้างเดียว"

โดนัลด์ ทรัมป์ การใช้ Blind Trust แบบ "ตาบอดข้างเดียว"
"ผลประโยชน์ทับซ้อน" เป็นปัญหาสำคัญเมื่อประชาชนคนใดก็ตามจะก้าวเข้าสู่สังเวียนการเมือง (โดยเฉพาะนักธุรกิจ) และกลายเป็นผู้กำหนดนโยบาย ซึ่งแม้นโยบายนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนคนอื่น ๆ แต่หากมันส่งผลดีต่อธุรกิจของผู้มีอำนาจโดยตรง ก็อาจกลายเป็นปัญหาว่า นักการเมืองรายนี้จงใจเข้ามาแสวงประโยชน์ส่วนตัวหรือไม่? ถ้าบริษัทที่เขามีส่วนได้ส่วนเสียไม่ได้เป็นคู่สัญญากับรัฐ ประชาชนจะได้ประโยชน์โดยรวมมากกว่าเดิมหรือเปล่า? (ส่วนนโยบายหรือการจัดซื้อจัดจ้างที่ได้ของมา หรือดำเนินโครงการไปแล้ว ไม่ได้เกิดประโยชน์ใด ๆ เลยกับบ้านเมืองยิ่งไม่ต้องพูดถึง) เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน นักการเมืองหรือเจ้าหน้าที่รัฐ (ในรัฐที่ความโปร่งใสคือ "ศีล") ที่มีอำนาจตัดสินใจใด ๆ ที่อาจนำไปสู่ปัญหานี้ได้ก็จะเลือกใช้บริการ "blind trust" (เหมือนเช่น ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่เพิ่งออกตัวว่าเขาก็จะใช้วิธีการนี้เช่นกัน หากได้รับตำแหน่งทางการเมือง) ที่สหรัฐฯ การใช้ blind trust จึงถือเป็นมาตรฐานทางจริยธรรมของนักการเมือง และเจ้าหน้าที่รัฐที่ก้าวขึ้นมารับตำแหน่งบริหาร แต่ blind trust สำหรับนักการเมืองบางคนก็ไม่ได้ blind หรือ "บอด" สนิท เหมือนเช่นกรณี ของ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนปัจจุบัน ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นประธานาธิบดีที่ร่ำรวยที่สุดในประวัติศาสตร์ (แม้จะประเมินได้ยาก เพราะเขาไม่ยอมเผยตัวเลขการเสียภาษี) "[ที่เป็นอย่างนี้เพราะ] เขาแค่ไม่อยากให้ประธานาธิบดีต้องมาวุ่นวายกับเรื่องเล็กน้อย อยากให้ประธานาธิบดีมุ่งให้ความสำคัญกับการนำพาประเทศ ซึ่งจริง ๆ ผมยังทำธุรกิจได้ ผมสามารถทำธุรกิจพร้อมกับกุมบังเหียนรัฐบาลได้พร้อมกัน ผมก็ไม่ได้ชอบที่เป็นอย่างนี้หรอกนะ แต่ถ้าผมอยากทำมันก็ทำได้" โดนัลด์ ทรัมป์ อธิบายคอนเซปต์การใช้ blind trust ช่วงก่อนรับตำแหน่งประธานาธิบดี (Forbes) แต่ธรรมเนียมการใช้ blind trust ไม่ใช่แค่เรื่องของการทุ่มเทเวลาไม่ให้นักธุรกิจเห็นงานการเมืองเป็นเรื่อง "ไซด์ไลน์" ที่สำคัญกว่านั้นคือเรื่องของความโปร่งใสไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ลักษณะสำคัญของการใช้ blind trust ก็คือ เจ้าหน้าที่รัฐคนดังกล่าวจะต้องมอบอำนาจโดยไม่จำกัดขอบเขตในการบริหารจัดการทรัพย์สินให้กับผู้ดูแลที่เป็นอิสระ ซึ่งจะไม่มอบข้อมูลเกี่ยวกับสถานะของทรัพย์สินใน trust ให้กับผู้เป็นเจ้าของ เจ้าหน้าที่รัฐที่โอนทรัพย์สินให้อยู่ในการจัดการของผู้ดูแลอิสระจึงเหมือน "ตาบอด" เพราะไม่รู้ว่ามีการขายทรัพย์สินเก่าออก แล้วซื้อทรัพย์สินใหม่หรือไม่? และอย่างไร? การกำหนดนโยบายของเจ้าหน้าที่รัฐรายดังกล่าว เพื่อให้ผลประโยชน์ส่วนตัวของตนเองงอกงามขึ้นเป็นการเฉพาะจึงเป็นเรื่องที่ยากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ดี trust ที่ทรัมป์ใช้บริการนั้น ยังห่างไกลจากมาตรฐาน blind trust โดยทั่วไป เพราะตามสัญญาก่อตั้งกอง trust ของเขาตั้งให้ โดนัลด์ จูเนียร์ ลูกชายของเขาเองเป็นหนึ่งในผู้ดูแล โดยที่เขายังคงสามารถเรียกรับรายงานเกี่ยวกับผลประกอบการกำไร-ขาดทุนของบริษัท และเขาก็ยังมีอำนาจที่จะยกเลิกอำนาจของผู้จัดการ trust เมื่อใดก็ได้  (The New York Times)    Trust ในแบบของทรัมป์ จึงไม่ใช่ blind trust จะเรียกว่า "บอดข้างเดียว" ก็ยังลำบาก แต่นั่นก็ไม่ใช่ปัญหาในการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี เพราะการใช้ blind trust ไม่ใช่ข้อบังคับสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ แม้ว่าจะมีเสียงเรียกร้องอย่างอื้ออึงขอให้เขาขายกิจการ หรือโอนทรัพย์สินเข้า blind trust เพื่อเลี่ยงปัญหาที่จะตามมา แต่เขาเลือกที่จะไม่ปฏิบัติตามเสียงเรียกร้อง เพราะกฎหมายเปิดช่องไว้ "ว่ากันด้วยเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน แม้ว่าผมจะรู้ดีจากจุดนี้ว่ากฎหมายอยู่ข้างผม ซึ่งก็คือ คนเป็นประธานาธิบดีไม่มีทางเผชิญกับข้อหาผลประโยชน์ทับซ้อนได้ อันนี้มีรายงานให้เห็นอยู่ทั่วไป ถึงอย่างนั้นผมก็ไม่อยากให้มันเกิดปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนใด ๆ แล้วกฎหมายก็บอกว่า ประธานาธิบดีไม่อาจโดนข้อหานี้ได้ ซึ่งตอนนี้ผมก็เข้าใจแล้วว่าทำไมประธานาธิบดีถึงไม่อาจต้องข้อหาผลประโยชน์ทับซ้อนได้ นั่นก็เพราะว่าทุกอย่างที่ประธานาธิบดีทำมันต้องไปทับไปซ้อนกับผลประโยชน์อะไรสักอย่างเสมอ แล้วผมก็สร้างบริษัทที่ยิ่งใหญ่มาก มันเป็นบริษัทใหญ่ที่แผ่อาณาเขตไปทั่วโลก" ทรัมป์ให้สัมภาษณ์กับ The New York Times หลังชนะการเลือกตั้ง ที่ทรัมป์อธิบายมาก็ถูก เนื่องจากประมวลกฎหมายสหรัฐฯ ที่ว่าด้วยเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนนั้นได้ยกเว้นไม่ให้บังคับใช้กับประธานาธิบดีซึ่งตอนแรกก็ไม่ได้ระบุชัด แต่ตอนปี 1974 เมื่อ ประธานาธิบดีเจอรัลด์ ฟอร์ด เสนอชื่อ เนลสัน รอกกีเฟลเลอร์ ให้เป็นรองประธานาธิบดี ทางกระทรวงยุติธรรมได้ให้คำปรึกษากับทางสภาคองเกรสว่า กฎหมายในข้อนี้ไม่ได้มีเจตนาที่จะร่างขึ้นมาเพื่อบังคับใช้กับประธานาธิบดีหรือรองประธานาธิบดีเพราะการใช้มาตราดังกล่าวอาจไปขัดขวางการทำงานบางอย่างตามหน้าที่ที่กำหนดในรัฐธรรมนูญเข้า ด้วยอำนาจของประธานาธิบดีมันกว้างขวางจนอาจต้องเจอผลประโยชน์ทับซ้อนเข้าสักทางซึ่งทางสภาฯ ก็รับฟัง ในปี 1989 ทางสภาคองเกรสจึงได้เขียนข้อยกเว้นเพิ่มเติมให้ชัดเจน (Emory Law) อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาประธานาธิบดีสหรัฐฯ ถ้าไม่ขายกิจการก็โอนอำนาจการบริหารจัดการให้กับ blind trust จนกลายเป็นธรรมเนียมอย่างหนึ่งเพื่อแสดงถึงความบริสุทธิ์ใจ และ "เลี่ยง" ปัญหาที่จะตามมา ประชาชนก็คาดหมายว่าประธานาธิบดีทุกคนจะถือปฏิบัติเช่นเดียวกัน แต่ถึงอย่างนั้นมันก็ยังไม่ใช่กฎหมาย โดนัลด์ ทรัมป์ จึงเลือกที่จะโอนอำนาจบริหารให้กับ trust ที่ไม่ได้ blind แทน