โดนัลด์ ทรัมป์ กับบทสนทนาขอให้รัฐบาลประเทศอื่นช่วยเล่นงานคู่แข่งการเมือง

โดนัลด์ ทรัมป์ กับบทสนทนาขอให้รัฐบาลประเทศอื่นช่วยเล่นงานคู่แข่งการเมือง

โดนัลด์ ทรัมป์ กับบทสนทนาขอให้รัฐบาลประเทศอื่นช่วยเล่นงานคู่แข่งการเมือง

โดนัลด์ ทรัมป์ วนเวียนกับข้อกล่าวหาที่จะทำให้เขาเข้าสู่กระบวนการ "ถอดถอน" อยู่ตลอดตั้งแต่เริ่มรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ กับข้อหาดึงต่างชาติ (รัสเซีย) เข้ามาแทรกแซงการเลือกตั้ง ตามมาด้วยข้อหาขัดขวางกระบวนการยุติธรรม แต่ทุกครั้ง แนนซี เปโลซี (Nancy Pelosi) ประธานสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคเดโมแครตก็ไม่เอาด้วย ทำให้ขั้นตอนของการถอดถอนถูกเบรกไว้โดยตลอด จนกระทั่งเกิดกรณีของการ "โทรศัพท์" ขอความช่วยเหลือของทรัมป์ ไปถึงประธานาธิบดียูเครนให้ช่วยดูเรื่องสกปรกของ ฮันเตอร์ ไบเดน (Hunter Biden) ลูกชายคู่แข่งทางการเมืองจากพรรคเดโมแครต โจ ไบเดน (Joe Biden) ท่าทีของเปโลซีจึงได้เปลี่ยนไป  "การกระทำในฐานะประธานาธิบดีของทรัมป์ เผยให้เห็นถึงข้อเท็จจริงอันน่าอัปยศจากการทรยศของประธานาธิบดีต่อคำปฏิญาณในการเข้ารับตำแหน่ง ทรยศต่อความมั่นคงของชาติ และทรยศต่อความซื่อสัตย์ในระบบเลือกตั้ง" เปโลซีกล่าวระหว่างประกาศให้เริ่มต้นกระบวนการรวบรวมหลักฐานเพื่อการถอดถอนประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการ หลังหลายฝ่ายโดยเฉพาะกลุ่มเลือดใหม่ในเดโมแครตเฝ้ารอกันมานาน ต้นตอของการโทรศัพท์ในคราวนี้ มาจากความเชื่อในทฤษฎีสมคบคิดที่ว่า รัฐบาลยูเครนปลดอัยการสูงสุดรายหนึ่ง เนื่องจากแรงกดดันของ โจ ไบเดน ซึ่งขณะนั้นเป็นรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในรัฐบาลบารัก โอบามา เพราะต้องการช่วยให้ ฮันเตอร์ลูกชายพ้นจากการดำเนินคดีในยูเครน เนื่องจากฮันเตอร์เป็นหนึ่งในคณะกรรมการบริษัท Burisma บริษัทค้าก๊าซธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดบริษัทหนึ่งในยูเครน (แต่จดทะเบียนในไซปรัส) ซึ่งมีชื่อพัวพันกับการทุจริต  เรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปในปี 2014 เมื่อเกิดการประท้วงใหญ่ในยูเครน นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง วิกตอร์ ยานูโกวิช (Viktor Yanukovych) พ้นจากอำนาจและต้องลี้ภัยไปอยู่รัสเซีย รัฐบาลตะวันตกเรียกร้องให้รัฐบาลใหม่ของยูเครนแก้ปัญหาทุจริต และ Burisma ที่ฮันเตอร์ ไบเดน นั่งบริหารอยู่ ก็เป็นหนึ่งในบริษัทที่พัวพันกับการทุจริตและถูกสอบสวนจากทั้งในและนอกประเทศ  อย่างไรก็ดี การดำเนินคดีทุจริตในยูเครนเป็นไปอย่างล่าช้าและไร้ผลเป็นรูปธรรม จนทำให้ประชาชนออกมาประท้วงกันอีกรอบ กดดันให้ เปโตร โปโรเชนโก (Petro Poroshenko) ประธานาธิบดีคนใหม่ ปลด วิกตอร์ โชกิน (Viktor Shokin) อัยการสูงสุดออกจากตำแหน่ง เนื่องจากเห็นว่าเขาคือต้นตอที่ทำให้คดีปราบโกงไม่คืบหน้าไปไหน และโจ ไบเดน ก็เพิ่มแรงกดดันรัฐบาลยูเครนให้ทำตามเสียงเรียกร้องของประชาชนด้วยการสั่งระงับการปล่อยเงินกู้ให้กับยูเครน โชกินจึงต้องพ้นจากตำแหน่งไป  กองเชียร์ทรัมป์จึงสร้างทฤษฎีสมคบคิดว่า ที่ไบเดนกดดันให้ยูเครนปลดโชกินก็เพราะกลัวลูกชายที่ไปนั่งเป็นบอร์ดบริษัทพลังงานในยูเครนจะถูกดำเนินคดีหรือไม่? แต่มันก็ไม่มีหลักฐาน และทาง Bloomberg รายงานว่า การกดดันให้ปลดโชกินจริง ๆ ก็ไม่ใช่ไอเดียของไบเดนเอง หากมาจากข้อเสนอของสถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงเคียฟ และทางไบเดนผู้พ่อก็อ้างว่า เขาไม่เคยคุยเรื่องนโยบายกับลูกชายเลย  ข้อกล่าวหาของฝ่ายกองเชียร์ทรัมป์แม้จะชวนให้คิดตามได้ (ลูกไบเดนพัวพันกับบริษัทที่มีเรื่องทุจริตในยูเครน จู่ ๆ พ่อก็กดดันให้ยูเครนปลดอัยการสูงสุด มันต้องมีอะไรเกี่ยวข้องกันสิ?) แต่เมื่อหาหลักฐานเป็นชิ้นเป็นอันไม่ได้ มันจึงเป็นที่มาของ บทสนทนาทางโทรศัพท์ระหว่าง โดนัลด์ ทรัมป์ กับ โวโลดีเมียร์ เซเลนส์กี (Volodymyr Zelensky) อดีตดาราตลกที่เพิ่งได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดียูเครนเมื่อต้นปี 2019  บทสนทนาที่เป็นปัญหามีขึ้นเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม ปีเดียวกัน เรื่องนี้มาแดงขึ้นในเดือนกันยายน เมื่อมีการปล่อยข้อมูลจากหน่วยข่าวกรองออกมาว่า บทสนทนาดังกล่าวอาจเป็นการกระทำที่เข้าข่ายทรยศต่อชาติและเป็นมูลเหตุเพียงพอให้ถอดถอนทรัมป์ออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี ทรัมป์จึงตอบโต้ด้วยการเผยบทสนทนาที่ถอดความเป็นตัวอักษรให้ประชาชนได้รู้กันไปเลยว่า เขาคุยอะไรกับประธานาธิบดียูเครน ซึ่งหลายคนเห็นแล้วก็ชี้เลยว่า บทสนทนานี้เป็นหลักฐานที่หนักแน่นอีกชิ้นหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ใช้อำนาจโดยมิชอบเพื่อแสวงประโยชน์ทางการเมือง เมื่อทรัมป์ลำเลิกบุญคุณกับประธานาธิบดียูเครนคนใหม่ว่า  "ผมจะพูดอย่างนี้ว่า เราทำอะไรเพื่อยูเครนมากมาย เราใช้ทรัพยากรและเวลาลงไปมาก มากยิ่งกว่าประเทศยุโรปประเทศไหน ๆ..."  ฝ่ายประธานาธิบดียูเครนก็บอกว่า เราต้องขอบคุณทางสหรัฐฯ มาก ๆ ทั้งกรณีคว่ำบาตรรัสเซีย และการให้การสนับสนุนด้านการทหาร ก่อนที่โดนัลด์ ทรัมป์ จะรีบตัดบทว่า "แต่ยังไงผมอยากจะขอให้คุณช่วยทำอะไรให้เราหน่อย เพราะประเทศของเราต้องเจออะไรมากมาย และยูเครนก็รู้ดี ผมอยากจะให้คุณหาคำตอบว่าเกิดอะไรขึ้นกับสถานการณ์ทั้งปวงในยูเครนที่เขาพูดกันเรื่อง Crowdstrike...ผมเดาว่าประเทศคุณมีคนรวย ๆ สักคน... เซิร์ฟเวอร์น่ะ เขาว่ากันว่ามันอยู่ที่ยูเครน มีอะไรหลายอย่างเลยที่เกิดขึ้น ภาพรวมทั้งหมด ผมเชื่อว่าคุณก็คงวางคนที่คล้าย ๆ กันไว้รอบกาย ผมอยากจะให้อัยการสูงสุดของเราโทรหาคุณหรือคนของคุณ และผมก็อยากให้คุณทำให้สุดตัวนะ"  (The New York Times) Crowdstrike ที่ทรัมป์กล่าวถึงในที่นี้ เป็นบริษัทด้านความปลอดภัยไซเบอร์ที่เข้าไปสอบสวนการเจาะระบบของกรรมการบริหารพรรคเดโมแครตเมื่อปี 2016 ซึ่งทรัมป์เชื่อว่า ทาง Crowdstrike และ FBI ไม่ได้ยึดเซิร์ฟเวอร์ที่มีข้อมูลสำคัญของทางเดโมแครตเอาไว้ และเซิร์ฟเวอร์ที่ว่าอาจจะถูกซ่อนไว้ที่ยูเครน! อย่างไรก็ดี ทาง Crowdstrike บอกว่าในการสอบสวนคราวนั้นพวกเขาได้ส่งข้อมูลให้กับทาง FBI ไปหมดแล้ว ไม่ได้มีเซิร์ฟเวอร์อะไรซุกซ่อนตามทฤษฎีสมคบคิด และผลสรุปของทั้ง Crowdstrike และ FBI ก็ตรงกันว่า มือเจาะระบบในคราวนั้นคือรัสเซีย (Vice) จากนั้นทรัมป์ก็เข้าประเด็นเรื่องของลูกชายโจ ไบเดน "มีอีกเรื่องครับ มีการพูดถึงลูกชายของไบเดนเยอะทีเดียวว่าไบเดนนี่แหละที่เป็นคนสั่งให้หยุดการดำเนินคดี แล้วก็มีคนมากมายเลยที่อยากจะรู้ความจริงเรื่องนี้ ถ้าคุณมีอะไรจะช่วยอัยการสูงสุดของผมมันก็จะเยี่ยมมากเลย ไบเดนโม้ไปทั่วว่าเขาเป็นคนสั่งหยุดดำเนินคดี ดังนั้นนะถ้าคุณช่วยดูได้ก็... ผมได้ยินแล้วรับไม่ได้จริง ๆ" หลังปล่อยเอกสารถอดเทปชิ้นนี้ออกมาแล้ว ทรัมป์ก็ประกาศอย่างมั่นใจในทวิตเตอร์ว่า "เดโมแครตจะขอโทษมั้ยนะ? เมื่อได้เห็นว่าการสนทนากับประธานาธิบดียูเครนคราวนั้นพูดอะไรกันบ้าง พวกเขาควรจะขอโทษนะ มันเป็นการโทรศัพท์ที่สุดเพอร์เฟกต์ พวกเขาคงจะเซอร์ไพรซ์น่าดู!" กองเชียร์ของทรัมป์ก็ออกมาช่วยเสริมว่า อ่านแล้วก็ไม่เห็นจะมีอะไรเลยที่จะเอาผิดกับทรัมป์ได้ มันไม่มี "quid pro quo" หรือการแลกเปลี่ยนต่างตอบแทนใด ๆ อย่างที่ฝ่ายเดโมแครตอ้าง ไม่มีการบอกว่า ถ้านายไม่ค้นเรื่องฉาวให้เรา แล้วเราจะไม่ให้เงินนายเสียหน่อย อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาจากบริบท รายงานของ The New York Times กล่าวว่า ก่อนหน้าที่ทรัมป์จะโทรไปหาประธานาธิบดียูเครนเพียงไม่กี่วันนั้น เขาได้สั่งระงับการจ่ายเงินช่วยเหลือยูเครนจำนวน 391 ล้านดอลลาร์ และทันทีที่เซเลนส์กีกล่าวขอบคุณที่สหรัฐฯ ให้การช่วยเหลือทางด้านการทหาร เขาก็รีบโพล่งขึ้นมาว่า "แต่ผมอยากจะขอให้คุณช่วยทำอะไรให้เราหน่อย" (I would like you to do us a favor though) มันจึงใกล้เคียงมาก ๆ จนน่าจะหาอะไรที่ใกล้เคียงกว่านี้ก็ยังยาก เทรเวอร์ โนอาห์ (Trevor Noah) จาก The Daily Show รายการข่าวล้อเลียนการเมือง บอกว่า ถ้าคุณเคยดูหนังมาเฟียมาบ้างก็คงจะรู้แหละว่า การขอให้ใครทำอะไรสกปรก ๆ มันไม่ต้องมาพูดกันตรง ๆ มีการระบุถึงการแลกเปลี่ยนอย่างชัดแจ้ง ก่อนยกตัวอย่างฉากหนึ่งในซีรีส์มาเฟียยอดนิยม "The Sopranos" เมื่อสมาชิกแก๊งมาเฟียเดินเข้าไปหาชายคนหนึ่งที่เป็นเหยื่อความรุนแรงของมาเฟีย ช่วยจ่ายเงินซื้อของให้ แสดงความชื่นชมการทำหน้าที่หัวหน้าครอบครัวอย่างแข็งขันเพื่อ "ลูกเมีย" ด้วยท่าทีที่เป็นมิตร ก่อนอ้างถึงคดีที่มีมาเฟียไปเกี่ยวข้องและพูดส่งท้ายว่า "เรารู้ว่านายจะทำในสิ่งที่ถูกต้อง" เมื่อคลิปจบลง โนอาห์บอกว่า "คุณอาจจะฟังแล้วตกใจนะ แต่จริง ๆ แล้ว ชายคนนั้นไม่ได้เป็นมิตรกับชายอีกคน" ก่อนบอกว่า บทแบบนี้มันคงจะคลุมเครือเกินไปสำหรับทรัมป์กับกองหนุน ถ้าพวกเขาได้เขียนบท The Sopranos เองก็คงให้มาเฟียเข้าไปพูดว่า "แดนนีเราอยากให้นายช่วยทำให้บอสของเราพ้นผิดจากการฆ่าครอบครัวนายว่ะ" และให้ชายอีกคนตอบกลับว่า "อ๋อ แบบ quid pro quo ใช่ป่าว" "ใช่แล้วนี่แหละ quid pro quo" มาเฟียตอบ