19 เม.ย. 2567 | 16:12 น.
- ตอนนี้ได้มีการปรับคณะรัฐมนตรีใหม่ ซึ่งหนึ่งตำแหน่งที่ถูกจับตามากที่สุด ก็คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่มารับไม้ต่อจาก ‘เศรษฐา ทวีสิน’
- ‘พิชัย ชุณหวชิร’ โดดเด่นขึ้นมาในฐานะตัวเต็งที่จะมารับตำแหน่งแทนนายกฯเศรษฐา ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น
ในที่สุดรายชื่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ก็ได้ประกาศออกมาอย่างเป็นทางการ และผู้ที่จะมานั่งคุมหางเสือด้านเศรษฐกิจคนใหม่ของประเทศไทย ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พ่วงด้วยตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ก็คือ ‘พิชัย ชุณหวชิร’ ซึ่งถูกจับตามองตั้งแต่มีกระแสข่าวการปรับคณะรัฐมนตรี
พิชัย เป็นผู้ที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญด้านตลาดเงินตลาดทุน โดยหลายสื่อวิเคราะห์ว่า การที่ชื่อของเขาเป็นเต็งหนึ่งที่จะมารับไม้ต่อจาก ‘เศรษฐา ทวีสิน’ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นอกจากความสามารถแล้วยังมาจากความใกล้ชิดกับฝ่ายการเมือง
สำหรับความเคลื่อนไหวของการเปลี่ยนผู้มารับบทบาท ‘หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ’ ครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากมีกระแสการปรับคณะรัฐมนตรีในรัฐบาล ‘เศรษฐา ทวีสิน’ และหนึ่งตำแหน่งที่ถูกพูดถึงมากที่สุด ได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่นายกฯเศรษฐา เจ้าของฉายา ‘เซลล์แมนประเทศ’ นั่งควบอยู่
เนื่องจากที่ผ่านมาการเรียกคะแนนนิยมของพรรคเพื่อไทย จะชูเรื่องการแก้ปัญหาปากท้อง และเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจเป็นนโยบายหลัก โดยไฮไลท์อยู่ที่นโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท, การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท และการขึ้นเงินเดือนคนจบระดับปริญญาตรีเริ่มต้นที่ 25,000 บาทต่อเดือน ภายในปี 2570
ทว่ากว่า 7 เดือน การขับเคลื่อนนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดนี้ยังไม่เห็นความคืบหน้าเท่าที่ควร ส่วนหนึ่งอาจมาจากภารกิจที่มากมายของเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ทำให้ไม่มีเวลามากพอที่จะโฟกัสกับนโยบายทางด้านนี้
แน่นอนสิ่งที่เกิดขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อคะแนนนิยมของพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลชุดนี้อย่างเลี่ยงไม่ได้ เป็นที่มาของการจัดทัพใหม่ของคณะรัฐมนตรีที่คาดว่า จะเห็นในอีกไม่นาน (ตามกระแสข่าวหลังจากการปรับคณะรัฐมนตรีใหม่ นายกฯ เศรษฐา จะควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม)
ส่วนที่ผ่านมาการที่ชื่อของ พิชัย ชุณหวชิร เป็นเต็งหนึ่งที่จะมานั่งในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่
นั่นเพราะพิชัยมีความรู้และความเชี่ยวชาญด้านตลาดเงินตลาดทุน อีกหนึ่งเซ็กเตอร์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยเขาจบจากบัญชีบัณฑิต (การบัญชี) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปริญญาโท บริหารธุรกิจ Master of Business Administration, Indiana University of Pennsylvania, USA ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ทางบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาบริหารการเงิน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และ ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ทางบัญชี มหาวิทยาลัยศรีปทุม
ปัจจุบันพิชัย ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ ตลท. ซึ่งมีการแต่งตั้งไปเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567 และเป็นประธานกรรมการ กลุ่มบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), ประธานกรรมการ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน), ประธานกรรมการ บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) ฯลฯ
รวมถึงมีบทบาทในองค์กรสำคัญระดับประเทศ อาทิ ที่ปรึกษาคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI), คณะกรรมการกลั่นกรองกรรมการรัฐวิสาหกิจ, กรรมการในคณะกรรมการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหา บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน), นายกสมาคมกีฬามวยสากลแห่งประเทศไทย ฯลฯ
อักทั้งยังเป็นหนึ่งคีย์แมนของรัฐบาลเศรษฐา โดยได้รับการแต่งตั้งให้เป็น ‘ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี’ เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2566
นอกจากนี้หลายสื่อยังมีการวิเคราะห์ถึงเหตุผลที่พิชัยได้รับความไว้วางใจจากรัฐบาลชุดนี้ให้มาทำหน้าที่หัวหน้าทีมเศรษฐกิจคนใหม่ นอกจากประสบการณ์และความเชี่ยวชาญแล้ว ว่ากันว่าเขายังมีความใกล้ชิดกับตระกูลชินวัตร และพรรคเพื่อไทย
'กรุงเทพธุรกิจ' รายงานว่า หลังจากเรียนจบพิชัยเติบโตในเส้นทางบัญชีมาตลอด กระทั่งปี 2544-2550 ได้เข้ามาดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่การเงินและบัญชีองค์กร บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) โดยเป็นยุคที่ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ เป็นนายกรัฐมนตรีและได้แปรรูปการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งพิชัยมีส่วนสำคัญให้เรื่องดำเนินการได้สำเร็จ
และในปี 2552 หลังลาออกจาก ปตท. ที่ขณะนั้นเขาดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน พิชัยได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจหลายแห่ง อย่างสมัยรัฐบาล ‘ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และในปี 2556 ได้นั่งเป็นกรรมการบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
ขณะที่ 'โพสต์ทูเดย์' รายงานว่า หลังการรัฐประหารปี 2557 ในช่วงคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ทาง ‘ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ ได้เสนอต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้พิชัยมาเป็น ‘พยานปากสำคัญ’ ในคดีดังกล่าว พร้อมระบุเหตุผลว่า
“นายพิชัย ชุณหวชิร เป็นพยานผู้มีความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ คุณวุฒิ เป็นที่ยอมรับของผู้ประกอบวิชาชีพทางด้านบัญชีและเป็นพยานบุคคลภายนอก มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับข้าพเจ้า แต่ได้เสียสละยอมมาให้ปากคำเพื่อให้เกิดความเที่ยงธรรมในการวินิจฉัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช."
ภาพเหล่านี้ อาจจะเป็นจุดตั้งข้อสังเกตสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างเขากับตระกูลชินวัตรและพรรคเพื่อไทยได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตาม ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ เขาต้องเผชิญกับโจทย์สุดท้าทายมากมายที่รอให้พิสูจน์ฝีมือ ไม่ว่าปัญหาจากปัจจัยภายในประเทศ ทั้งกำลังซื้อ, ขาลงของตลาดเงินตลาดทุน ฯลฯ และปัจจัยภายนอก จากปัญหาเศรษฐกิจโลก, ภาวะสงคราม, ปัญหาฟองสบู่ธุรกิจอสังหาฯของจีน ฯลฯ ที่ล้วนส่งกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยทั้งสิ้น ซึ่งต้องรอดูว่า ต่อจากนี้(ว่าที่)หัวหน้าทีมเศรษฐกิจคนใหม่จะแก้เกมอย่างไร
.
*บทความนี้มีการอัปเดทเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2567
.
ภาพ : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, กระทรวงการคลัง
.
อ้างอิง
.
เปลี่ยนขุนคลัง เร่งเกมปรับ ครม. จับตา‘พิชัย ชุณหวชิร’ตัวเต็ง
เปิดประวัติ ‘พิชัย’ เต็งประธานตลาดหุ้น มือบัญชี ‘แปรรูป ปตท.-คดีจำนำข้าว'
ขุนคลังคนใหม่ "พิชัย ชุณหวชิร"
เปิดประวัติ "พิชัย ชุณหวชิร" ประธานบอร์ด ตลท. คนที่ 18