02 ส.ค. 2566 | 17:51 น.
- ปริญญาตรีวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ปริญญาโทการตลาด ทำงานในบริษัทยานยนต์ระดับโลก เงินเดือนดี มีบ้าน มีรถ คือความเพียบพร้อมที่วิโจ้มีในวัยผู้ใหญ่
- ความเคร่งเครียดและภาวะซึมเศร้าที่เผชิญ ทำให้วิโจ้ยอมขับรถ 3 ชั่วโมงจากกรุงเทพฯ เดินทางเข้าป่าที่กาญจนบุรีทุกสุดสัปดาห์เพื่อเยียวยาตนเอง ทำให้เขารู้ว่านี่แหละคือสิ่งที่ชีวิตถวิลหา
- งานอนุรักษ์ที่วิโจ้ทำเน้นการสร้างความเข้าใจกับคนท้องถิ่น จนได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากคนท้องถิ่นเพื่อเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อธรรมชาติ
‘วิโจ้ วากิส’ ต่างชาติหัวใจไทย ทิ้งชีวิตที่เพียบพร้อม แต่ไม่มีความหมาย มาทำภารกิจสร้างนักอนุรักษ์เพื่อให้คน - สัตว์ - พืช อยู่ร่วมกันอย่างเป็นมิตรและเป็นสุข
‘วันอนุรักษ์ธรรมชาติสากล’ (World Nature Conservation Day) เพิ่งผ่านพ้นไปเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม เราจึงขอพาไปรู้จักเรื่องราวของ ‘วิโจ้ วากิส’ ชายชาวอินเดียวัย 39 ปี นักอนุรักษ์ผู้อยู่เบื้องหลังการแปลงผืนดินเป็นผืนป่า เปลี่ยนความคิดของเพื่อนมนุษย์ให้เห็นความสำคัญของธรรมชาติ และอุทิศชีวิตเพื่อปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทย ดินแดนที่เขารักยิ่งแม้ไม่ใช่บ้านเกิดเมืองนอน
จากบ้านกลางกรุงสู่บ้านกลางไพร
ในวัย 2 ขวบ วิโจ้ และครอบครัวได้ติดตามพ่อที่ย้ายมาทำงานยังประเทศไทย เขาเรียนหนังสือที่ไทย พูดภาษาไทย มีปากน้ำ จังหวัดสมุทรปราการ เป็นบ้านที่เติบโตมา ซึ่งในสมัยนั้นยังคงเป็นพื้นที่สีเขียวกว้างใหญ่ ทุกปีในวันหยุดปิดเทอม แม่จะพาวิโจ้กลับไปอยู่อินเดียเป็นเวลา 2 เดือน ในประเทศที่ได้ชื่อว่ามีผืนป่ามหาศาลนี้ วิโจ้ได้วิ่งเล่นบนดิน ได้ปีนต้นไม้ ได้เชื่อมโยงกับธรรมชาติ และสร้างสายสัมพันธ์ตั้งแต่วัยเยาว์
ปริญญาตรีวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ปริญญาโทการตลาด ทำงานในบริษัทยานยนต์ระดับโลก เงินเดือนดี มีบ้าน มีรถ คือความเพียบพร้อมที่วิโจ้มีในวัยผู้ใหญ่ แต่สิ่งที่เขาขาดกลับเป็นสิ่งสำคัญที่สุด
ความเคร่งเครียดและภาวะซึมเศร้าที่เผชิญ ทำให้วิโจ้ยอมขับรถ 3 ชั่วโมงจากกรุงเทพฯ เดินทางเข้าป่าที่กาญจนบุรีทุกสุดสัปดาห์เพื่อเยียวยาตนเอง จนได้รับคำแนะนำจากคนท้องถิ่นถึงผืนดินที่เป็นทางผ่านของสัตว์ป่า เมื่อไปดูกับตา รอยเท้าประทับของกวางและช้างป่าทำให้เขารู้ว่านี่แหละคือสิ่งที่ชีวิตถวิลหา
“คนอื่นเข้าใจว่าเราทิ้งชีวิตเพียบพร้อมเพื่อมาอยู่กับธรรมชาติ แต่ที่จริงคือเราไม่สามารถอยู่ตรงนั้นได้แล้ว เพราะรู้สึกว่ามันไม่มีความหมาย ตื่นมาทุกวันกับคำถามว่า เราทำไปเพื่ออะไร เราเอาพลังไปทำการตลาดเพื่อให้คนเชื่อว่าการครอบครองคือความหมายของชีวิต แล้วก็ทำร้ายโลก เราเลยมาอยู่ป่าเพื่อรักษาตัวเอง แล้วพบว่าธรรมชาติคือคำตอบ”
ย้อนกลับไปเมื่อ 30 - 40 ปีก่อน รัฐบาลได้จัดสรรที่ดินริมแม่น้ำแควใหญ่ให้เป็นพื้นที่ทำกินแก่ชาวบ้านในท้องที่ และบริษัทอสังหาริมทรัพย์ได้เข้ามากว้านซื้อที่ดินต่อจากชาวบ้าน ต่อมาวิกฤตต้มยำกุ้งทำให้บริษัทล้มละลาย ที่ดินบางส่วนกลายเป็นพื้นที่รกร้างขาดการบำรุง และกลายมาเป็นทางผ่านของสัตว์ป่าจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระที่อยู่ฝั่งตรงข้ามถนน พวกเขามักเดินมายังแหล่งน้ำเพื่อดับกระหายคลายร้อนดังเช่นที่บรรพบุรุษทำมาเป็นร้อยพันปี
รอบข้างที่รกร้างนี้คือพื้นที่รีสอร์ตไร่นาที่ไม่ต้อนรับสัตว์ป่า หากในวันใดที่รกร้างถูกเปลี่ยนมือและได้รับการพัฒนาเป็นที่ทำกิน สัตว์ก็คงไม่อาจเดินเท้าเข้าหาแม่น้ำได้อีก วิโจ้และ ‘อันชุมาน ทิปาตี’ เพื่อนสนิทชาวอินเดียบนแผ่นดินไทยเช่นเดียวกัน จึงตัดสินใจรวบรวมทั้งกำลังทรัพย์และแรงสนับสนุนซื้อผืนดินริมฝั่งน้ำเพื่อสร้างผืนป่า ทั้งเพื่อสัตว์ป่า และเพื่อเยียวยาตัวเอง
วิโจ้ไป ๆ มา ๆ กรุงเทพฯ - กาญจนบุรีอยู่ปีหนึ่ง ก่อนตัดสินใจหันหลังให้เมืองกรุง และหันหน้าเข้าป่าอย่างถาวร เขาค้นพบความรักในธรรมชาติ และปรารถนาจะถ่ายทอดสิ่งนี้ให้ผู้อื่นด้วย จึงตั้งใจอุทิศชีวิตเพื่องานอนุรักษ์
อย่างไรก็ตาม การที่คนคนหนึ่งทิ้งความมั่นคงแบบที่คนรุ่นใหม่ใฝ่ฝันมาอยู่กลางป่า เป็นธรรมดาที่จะเจอแรงต้านจากครอบครัว โดยเฉพาะในสังคมอินเดียที่มองความก้าวหน้าในหน้าที่การงานเป็นเรื่องใหญ่ การส่งเสียลูกให้มีการศึกษาสูงแล้วกลับมาจับงูกลางป่าซึ่งเป็นงานที่ต่ำต้อยในมุมมองของชาวอินเดียไม่ใช่สิ่งที่พ่อและแม่ของวิโจ้ยอมรับได้ ญาติพี่น้องก็มองว่าเขาทำอะไรบ้า ๆ ต้องใช้เวลานานกว่าจะทำให้ครอบครัวเห็นความแน่วแน่ทุ่มเท และเป้าหมายของสิ่งที่เขากำลังทำ
แหล่งเรียนรู้เชิงนิเวศ เพื่อผู้คน ชุมชน และธรรมชาติ
ป่าไม้เอกชนของวิโจ้ไม่ได้รับเงินอุดหนุนจากภาครัฐ ดังนั้นเพื่อให้สามารถบริหารจัดการพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน พื้นที่นี้จะต้องสร้างรายได้ด้วยตนเอง ไม่มีอะไรที่เหมาะสมไปกว่าแหล่งการเรียนรู้เชิงนิเวศ ที่เด็กและผู้ใหญ่จะได้เข้ามาใกล้ชิดธรรมชาติ รับประสบการณ์ใหม่ ๆ และเรียนรู้วิธีการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างเป็นมิตรและเป็นสุข
‘OurLand’ ดินแดนของพวกเราที่หมายรวมถึงทั้งคน สัตว์ พืช จึงเกิดขึ้นในปี 2016 เพื่อดำเนินธุรกิจเพื่อสังคมกลางป่า โดยมีอาคารศูนย์การเรียนรู้อยู่ใจกลางเพื่อต้อนรับทั้งคนต่างถิ่นและคนในชุมชนผู้สนใจในวิถีแห่งธรรมชาติ
หากจะปกปักธรรมชาติให้ได้ผล ไม่มีใครที่ดูแลพื้นที่ได้ดีกว่าคนท้องถิ่นที่เข้าใจได้อีกแล้ว งานอนุรักษ์ที่วิโจ้ทำเน้นการสร้างความเข้าใจกับคนท้องถิ่น โดยพูดภาษาไทยกับคนท้องถิ่น จ้างงานคนท้องถิ่นที่แบ่งปันผลผลิตทางการเกษตรจากศูนย์การเรียนรู้ให้คนท้องถิ่น ผูกมิตรกับคนท้องถิ่น ให้ความรู้คนท้องถิ่น จนได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากคนท้องถิ่นเพื่อเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อธรรมชาติ และร่วมมือกับคนท้องถิ่นเพื่อช่วยกันอนุรักษ์บ้านของพวกเขา ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ดำเนินการได้ด้วยรายได้จาก OurLand
การแช่ตัวแล้วลอยละล่องให้สายน้ำพัดพาไปตามแนวแม่น้ำแควใหญ่ คือวิธีการเข้าถึง OurLand ที่รบกวนธรรมชาติน้อยที่สุด แต่ได้สัมผัสธรรมชาติมากที่สุด ตลอดสองฝั่งน้ำจะเห็นนกป่าและพรรณไม้ พร้อมการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพที่เกิดจากการพัฒนาที่ดินในเชิงพาณิชย์ นี่คือหนึ่งในกิจกรรมที่วิโจ้พัฒนาขึ้นเพื่อสอดแทรกความรู้และสร้างสายสัมพันธ์กับธรรมชาติให้ผู้ร่วมกิจกรรม เป้าหมายใกล้ตัวจากแรงกระตุ้นเล็ก ๆ นี้ คือพวกเขาจะปรับวิถีชีวิตให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
“งานอนุรักษ์เป็นหน้าที่ของเราทุกคน ทุกคนต้องมีความรับผิดชอบ และมีพลังที่จะทำได้ แค่พกขวดน้ำไปใช้เอง คุณก็เป็นนักอนุรักษ์ได้แล้ว”
ผ่านวิกฤตโควิดได้ด้วยธรรมชาติ และความยั่งยืน
3 ปีหลังจากก่อตั้ง OurLand การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวต่างหยุดชะงัก รวมทั้งกิจกรรมการเรียนรู้เชิงนิเวศของวิโจ้ที่เน้นกลุ่มลูกค้านักเรียนจากต่างประเทศเป็นหลัก แต่กระแสไฟจากแผงโซลาร์เซลล์ แท็งก์เก็บน้ำฝน และพืชผักในแปลง ทำให้องค์กรยังคงดำรงอยู่ได้จากความยั่งยืนเหล่านี้โดยไม่ต้องจ่ายเงินบริหารพื้นที่ และยังคงจ่ายค่าจ้างพนักงานท้องที่ได้เต็มจำนวน
วิโจ้ใช้โอกาสช่วงที่ไม่มีกิจกรรมกับลูกค้านี้ ขยายขอบเขตงานเชิงอนุรักษ์ไปยังด้านเกษตรกรรมมากขึ้น พื้นที่ OurLand จึงได้พัฒนาการเพาะปลูกตามแนวทางวนเกษตร (Agroforestry) ปลูกพืชอาหารควบคู่กับต้นไม้ใหญ่ดังฟาร์มในป่า ใช้ปุ๋ยหมักจากมูลวัวกาบกล้วยใบไม้แห้งผสมแกลบ และไล่แมลงด้วยยาดองจากใบสะเดา ผกากรอง และขี้เถ้า ตามแนวทางนี้ คนก็จะมีกิน สัตว์ก็มีที่อยู่ ทุกฝ่ายได้ประโยชน์
พอวิกฤตโควิด-19 ผ่านพ้นไป ผู้คนต่างโหยหาธรรมชาติ ทำให้นักท่องเที่ยวต่างหลั่งไหลมาดื่มด่ำบรรยากาศป่าไม้และสายน้ำไปพร้อมกับปรับความเข้าใจในระบบนิเวศ จน OurLand มีรายได้ที่สามารถชดเชยช่วงเวลาที่ขาดรายได้ไปได้
ช้างป่ากับมนุษย์
ในป่าทึบเขตร้อนเช่นประเทศไทย ใบไม้หนา 5 ชั้นขวางกั้นให้มีแสงส่องถึงพื้นป่าเพียง 2 - 5% พืชขนาดเล็กที่อยู่เบื้องล่างมีโอกาสน้อยมากที่จะได้รับแสงอาทิตย์เพื่อสังเคราะห์แสง แต่สัตว์ใหญ่อย่างช้างป่าสามารถล้มต้นไม้ได้โดยแค่เอาลำตัวไปถูไถ ช่วยเปิดอุโมงค์แสงส่องสู่พื้นดิน ให้ต้นไม้เล็กได้อยู่รอด เมล็ดพันธุ์ได้เติบโต และสัตว์กินพืชน้อยใหญ่ได้มีอาหารกิน หากขาดช้าง ระบบนิเวศก็จะล่มสลาย
ในพื้นที่ป่าไม้ ช้างมีความสำคัญยิ่ง แต่ในเขตแดนของมนุษย์ที่อยู่ใกล้แนวป่า การมาเยือนของช้างสร้างความเดือดร้อนจนผู้คนไม่อาจต้อนรับ ช้างขโมยกินพืชไร่ได้มากกว่าสัตว์อื่น เดินผ่านทีก็มีข้าวของพังตาม การจัดการปัญหาความขัดแย้งโดยสันติอย่างเข้าถึงและเข้าใจทั้งคนอยู่อาศัยและธรรมชาติของสัตว์ จึงเป็นอีกสิ่งที่วิโจ้ให้ความสำคัญ และให้เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้เชิงนิเวศที่เขาพร่ำบอกผู้คน
ด้านหน้า OurLand คือถนนสาย 3199 เป็นเส้นทางยอดนิยมเพราะเชื่อมตัวเมืองกาญจนบุรีกับน้ำตกเอราวัณ สองข้างทางคือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ จึงมีสัตว์น้อยใหญ่เดินเท้าข้ามถนนเพื่อหากินและกลับรังอยู่เป็นประจำ แต่ฝีเท้าของสัตว์ไม่อาจสู้กำลังเครื่องของรถยนต์ที่วิ่งมาเร็วบนถนนเส้นตรงทอดยาว ความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางรถยนต์จึงเกิดบนถนนสายนี้บ่อยครั้ง โดยเฉพาะกับสัตว์ใหญ่เช่นช้างป่า ใน 3 ปีที่ผ่านมา มีเหตุรถชนช้างถึง 7 ครั้ง
ผู้ใหญ่บ้านทราบว่าวิโจ้ทำงานอนุรักษ์ เขาจึงเคยถูกตามให้ไปช่วยจัดการอุบัติเหตุรถชนช้าง 3 ครั้ง และสภาพที่พบก็ทำให้เขากลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่
เพราะงานให้ความรู้เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างคนกับช้างนี้เอง วิโจ้จึงเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างในระดับจังหวัด โดยภารกิจหลักคือผลักดันการติดกล้องตรวจจับความเร็วในบริเวณถนนที่เป็นทางผ่านของช้างและสัตว์ป่าอื่นเพื่อแจ้งให้ผู้ขับขี่ทราบ ขณะนี้โครงการกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการ และหากแล้วเสร็จ สัตว์น้อยใหญ่และผู้สัญจรก็จะมีความปลอดภัยมากขึ้น
การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ เรื่องใหญ่ที่ต้องตะโกน
โลกรวนคือปัญหาทางสิ่งแวดล้อมระดับนานาชาติที่ต้องรีบแก้ไข แต่การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพเป็นอีกประเด็นสำคัญที่ไม่ดังเท่า การลดจำนวน ไปจนถึงการสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติของสายพันธุ์หนึ่ง กระทบสายพันธุ์อื่นต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ และส่งผลร้ายต่อระบบนิเวศ
วิโจ้ตระหนักถึงประเด็นนี้ และสอดแทรกเรื่องราวเหล่านี้ลงในกิจกรรมเชิงนิเวศให้ผู้อื่นได้เล็งเห็นและร่วมกันปกป้องธรรมชาติ ผู้มาเยือน OurLand จะได้รู้จักวิถีที่เบียดเบียนธรรมชาติแต่น้อยยั่งยืนแต่มาก ตั้งแต่ฟาร์มอาหาร สร้างบ้านดิน เพิ่มต้นไม้ให้ป่า ความสำคัญของสัตว์ป่า การอยู่ร่วมกับธรรมชาติ เพื่อเป้าหมายปลายทางที่จะสร้างคนที่ร่วมทางพิทักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพให้คงอยู่นานเท่านาน
“อีกไม่กี่เดือน ถนนใหม่จะเปิด นักท่องเที่ยวจะมากาญจนบุรีมากขึ้น ก็อยากให้มาเที่ยวเชิงอนุรักษ์ สนับสนุนธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่ไปทำร้ายธรรมชาติ”
วิโจ้กล่าวปิดท้ายถึงความกังวลที่มีต่อถนนมอเตอร์เวย์บางใหญ่ - กาญจนบุรี ที่กำลังก่อสร้างและมีกำหนดเปิดทดลองใช้งานปลายปี 2566 ที่จะถึงนี้ ถนนเส้นดังกล่าวจะย่นระยะเวลาเดินทางจาก อ.บางใหญ่ นนทบุรี สู่กาญจนบุรี จากเดิมที่ 2 ชั่วโมงครึ่ง เหลือเพียง 50 นาที และคาดว่าจะนำนักท่องเที่ยวและเงินสะพัดมาสู่จังหวัดกาญจนบุรีมากขึ้นเป็นอย่างมาก