22 ม.ค. 2563 | 17:28 น.
ต้อนรับทศวรรษใหม่อย่างยิ่งใหญ่อลังการกับงาน “Maker Faire Bangkok 2020: THE FUTURE WE MAKE” มหกรรมแสดงผลงานสิ่งประดิษฐ์ของเหล่าเมกเกอร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจัดขึ้นด้วยความร่วมมือระหว่าง บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พร้อมด้วยหน่วยงานพันธมิตรจากทั้งภาครัฐและเอกชน และกลุ่มเมกเกอร์ในประเทศไทย โดยบรรยากาศภายในงานเป็นไปอย่างคึกคัก เต็มเปี่ยมไปด้วยความสนุกสนานและความคิดสร้างสรรค์จากผลงานสิ่งประดิษฐ์จากสองมือของเมกเกอร์ชาวไทยและชาวต่างประเทศที่พร้อมใจกันนำมาแสดงกว่า 60 บูธ พร้อมด้วยเวิร์กช็อปหลากหลายรูปแบบที่เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมงานกว่า 10,000 คน ได้สัมผัสและเข้าถึงแก่นแท้ของวัฒนธรรมเมกเกอร์ ซึ่งจุดประกายแรงบันดาลใจในการศึกษาหาความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม อีกทั้งยังส่งเสริมให้ทดลองลงมือปฏิบัติจริง ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายสูงสุดของงานเมกเกอร์แฟร์ที่จัดขึ้นเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับเยาวชนและประชาชนไทยในการก้าวไปสู่ศตวรรษที่ 21 อย่างยั่งยืน อนึ่ง งาน Maker Faire Bangkok 2020 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 18-19 มกราคม 2563 ณ ลานหน้าศูนย์การค้าเดอะสตรีท รัชดา
นอกจากการแสดงผลงานของเหล่าสุดยอดเมกเกอร์ที่ยกขบวนมาแสดงพลังแห่งอนาคตให้ผู้เข้าร่วมงานได้ประจักษ์ ไม่ว่าจะเป็น ยานสำรวจใต้น้ำจากอินโดนีเซีย, การประลองหุ่นเห่ย HEBOCON, หุ่นยนต์ไหว้เจ้า, รถยนต์ไร้คนขับ (AI Car), เกม VR ที่ให้ประสบการณ์สมจริง, รถพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแบตเตอรี่ที่ได้มาจากขยะอิเล็กทรอนิกส์, เครื่องดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ พร้อมด้วยกิจกรรมเวิร์กช็อปที่น่าสนใจ อาทิ การทำดาบเจไดแบบ DIY ด้วยท่อพีวีซี, การออกแบบลวดลายบนถุงผ้า, การสร้างเครื่องวัด PM 2.5 เป็นต้น ตลอดจนถึงขบวนอิเล็กทริกพาเหรด ไฮไลท์เด็ดประจำงานที่กลับมามอบความสนุกสนานและบรรยากาศอันครื้นเครงด้วยเสียงเพลงและแสงไฟยามค่ำคืน ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์หาชมจากงานไหนไม่ได้นอกจากงาน Maker Faire Bangkok เท่านั้น
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม กล่าวว่า “กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม มีเป้าหมายในการเตรียมความพร้อมให้กับคนไทยในการก้าวไปสู่ศตวรรษที่ 21 ด้วยการส่งเสริมองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่งเข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยในปัจจุบัน โดยองค์ประกอบที่จะทำให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมาย และช่วยวางรากฐานประเทศสู่อนาคตได้นั้น คือ การสร้างและพัฒนาคนให้เป็น Smart Citizen ซึ่งไม่ใช่เพียงทำให้เยาวชนเก่งขึ้น แต่ต้องปลูกฝังลักษณะนิสัยและความรู้โดยเฉพาะอย่างยิ่งสาขาสะเต็ม เพื่อให้พร้อมรับมือกับโลกในศตวรรษที่ 21 รวมทั้งการส่งเสริมการสร้างและพัฒนานวัตกรรมไปสู่ประเทศฐานนวัตกรรม หรือ Innovation Nation ซึ่งเป็นการแปลงนวัตกรรมเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจและคุณค่าทางสังคม เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและความสุขของประชาชนอย่างยั่งยืน ซึ่งวันนี้ผมยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เห็นหน่วยงานรัฐและเอกชนร่วมมือกันบูรณาการโครงการ Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต ให้มีประโยชน์ต่อเยาวชนและประชาชนไทยในหลายมิติ เรียกได้ว่าสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยของเราให้ก้าวไปสู่ศตวรรษที่ 21 ได้อย่างยั่งยืน”
ทางด้าน นายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ได้กล่าวว่า “เชฟรอนมุ่งมั่นให้ความสำคัญกับการเติบโตของวัฒนธรรมเมกเกอร์ในประเทศไทย โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่เปรียบเสมือนกำลังหลักที่จะก้าวขึ้นมาพัฒนาประเทศในอนาคต ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เราได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ในการจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้นอกห้องเรียนภายใต้โครงการ Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต เช่น การจัดงานเมกเกอร์แฟร์และการประกวด Young Makers Contest ที่เปรียบเสมือนการวางรากฐานที่สำคัญของการสร้างกลุ่มเมกเกอร์ไทยในระยะเริ่มต้น โดยการปลูกฝังให้พวกเขามีความสนใจที่จะศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมในการเรียนวิชาสาขาสะเต็ม มีความกล้าที่จะใช้ความคิดอย่างสร้างสรรค์ก่อนนำไปทดลองปฏิบัติจริง และถ่ายทอดแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนคนอื่นๆ เพื่อเข้ามาร่วมยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของสังคมไทย อันจะนำมาซึ่งอนาคตที่ดีของประเทศไทยในภายภาคหน้าตามเป้าหมายสูงสุดของโครงการ”
ด้าน ดร.กฤษชัย สมสมาน หนึ่งในเมกเกอร์คนไทยผู้ร่วมผลักดันเมกเกอร์แฟร์ กล่าวเสริมว่า “ที่ผ่านมา งานเมกเกอร์แฟร์ช่วยสนับสนุนให้คนไทยมีความกล้าที่จะลงมือทำหรือสร้างสรรค์ผลงานด้วยตัวเอง นอกจากนี้ งานเมกเกอร์แฟร์ยังถือเป็นโอกาสครั้งสำคัญที่เมกเกอร์จากทั่วประเทศและต่างประเทศได้มารวมตัวกันเพื่อแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดประสบการณ์ ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นคุณสมบัติของเมกเกอร์แล้ว ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้วงการเมกเกอร์มีการเติบโตอีกด้วย จากที่ผ่านมาเราได้เห็นผลกระทบที่สำคัญ คือผู้ที่เคยมาร่วมงาน เมกเกอร์แฟร์ในฐานะผู้ชมจะกลายมาเป็นผู้นำเสนอผลงานภายในงานปีต่อไป แล้วช่วยกันเผยแพร่แนวคิดของตัวเองเพื่อจุดประกายสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้เข้าร่วมงานอยากมาเป็นเมกเกอร์กันมากยิ่งขึ้น ผมจึงอยากขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่ช่วยกันสนับสนุนให้เกิดงานเมกเกอร์แฟร์ขึ้นในทุกปีมา ณ ที่นี้ด้วย”
นอกจากนั้น ในงาน Maker Faire Bangkok 2020 ยังมีการประกาศผลและมอบรางวัลให้แก่ทีมที่ชนะเลิศโครงการ Young Makers Contest ปี 4 งานประกวดผลงานสิ่งประดิษฐ์ของนักเรียนสายสามัญและอาชีวะ ซึ่งปีนี้จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ Social Innovations: นวัตกรรมเพื่อสังคมที่ยั่งยืน โดยทีมชนะเลิศสายสามัญศึกษาก็คือ อุปกรณ์เลี้ยงปลาวาไรตี้ จากโรงเรียนปลาปากวิทยา ขณะที่ทีมชนะเลิศสายอาชีวศึกษาก็คือ ชุดเลี้ยงกบในขวดพลาสติก ระบบรีไซเคิลน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ จากวิทยาลัยการอาชีพไชยา โดยผู้ชนะเลิศจะได้รับสิทธิ์การเข้าร่วมงานเมกเกอร์แฟร์ระดับโลกที่ต่างประเทศ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์อันล้ำค่ากับเมกเกอร์ในต่างประเทศเพื่อต่อยอดพัฒนาผลงานสิ่งประดิษฐ์ต่อไปในอนาคต