19 ก.ค. 2565 | 12:44 น.
รวมถึงความวิตกกังวลถึงความดื้อต่อภูมิคุ้มกันที่ได้มาจากการฉีดวัคซีน และภูมิคุ้มกันที่ได้มาจากการติดเชื้อโดยธรรมชาติจากสายพันธุ์ย่อย BA.1 จากการระบาดก่อนหน้านี้ วารสาร New England Journal of Medicine (วันที่ 30 มิถุนายน 2565) ได้แสดงผลการศึกษาจากทีมนักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยโอไฮโอสเตท ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ทำการประเมินระดับภูมิคุ้มกันในการยับยั้งเชื้อไวรัสโอไมครอนสายพันธุ์ย่อยชนิดต่างๆ ในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิดประเภท mRNA ชุดเข็มหลักมาแล้ว 2 เข็ม และกลุ่มที่ได้รับการฉีดวัคซีน mRNA จำนวน 3 เข็ม นอกจากนี้แล้วทางผู้วิจัยยังได้ทำการศึกษาประสิทธิภาพในการยับยั้งเชื้อโอไมครอนสายพันธุ์ย่อยใหม่ในกลุ่มผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลจำนวน 30 คน จากการติดเชื้อเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนในช่วงของการระบาด BA.1 อีกด้วย
จากการศึกษาพบว่า ภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย ในบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิดประเภท mRNA ชุดหลัก จำนวน 2 เข็ม นั้นมีระดับที่ต่ำ โดยค่าเฉลี่ยของระดับภูมิอยู่ที่52, 39, และ 37 ต่อสายพันธุ์ BA.1, BA.2 และ BA.4/5 ตามลำดับ แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันของเชื้อโอไมครอน อย่างไรก็ดี ในบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น mRNA เข็มที่ 3 (กลุ่มตัวอย่างเป็น บุคลากรทางการแพทย์ 4 คนที่ได้รับวัคซีน mRNA-1273 จํานวน 3 เข็ม และ 11 คนที่ได้รับวัคซีน BNT162b2 จํานวน 3 เข็ม) พบว่า ระดับภูมิคุ้มกันยับยั้งเชื้อโอไมครอนชนิดต่างๆที่ตรวจวัด เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยค่าเฉลี่ยของระดับภูมิจากการฉีดวัคซีน mRNA จำนวน 3 เข็ม อยู่ที่ 976, 933, และ 647 ต่อสายพันธุ์ BA.1, BA.2 และ BA.4/5 ตามลำดับ โดยระดับภูมิคุ้มกันยับยั้งเชื้อสายพันธุ์ใหม่จากการฉีดวัคซีน mRNA 3 เข็ม ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบเชื้อไวรัสสายพันธุ์ดั้งเดิม
นอกจากนี้แล้วจากการประเมินระดับภูมิคุ้มกันยับยั้งเชื้อในผู้ป่วยจำนวน 30 คนที่เคยติดเชื้อโอไมครอนจากระลอก BA.1 และได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล แต่ไม่เข้ารับการรักษาในห้องไอซียูพบว่า ระดับภูมิคุ้มกันต่อเชื้อ BA.4/5 และ BA.2.12.1 นั้นต่ำกว่าระดับที่มีต่อเชื้อสายพันธุ์ BA.2 ที่ 37.8% และ 10.2% ตามลำดับ แสดงให้เห็นว่าภูมิที่ได้จากการติดเชื้อในช่วงระลอก BA.1 ไม่สามารถให้การป้องกันที่มีประสิทธิภาพต่อโอไมครอนสายพันธุ์ย่อยที่อุบัติใหม่ได้
โดยสรุปแล้ว งานวิจัยนี้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นในการป้องกันและรับมือกับไวรัสสายพันธุ์อุบัติใหม่ ดังจะเห็นได้จากการที่วัคซีนเข็มกระตุ้นช่วยเพิ่มระดับของภูมิคุ้มกันยับยั้งเชื้อโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4/5 และ BA.2.12.1 ได้เพียงพอ ถึงแม้ว่าจะมีระดับที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับ ภูมิคุ้มกันต่อ BA.1 และ BA.2 ก็ตาม
แหล่งที่มาของข้อมูล
Qu, Panke et al. “Neutralization of the SARS-CoV-2 Omicron BA.4/5 and BA.2.12.1 Subvariants.” The New England journal of medicine vol. 386,26 (2022): 2526-2528. doi:10.1056/NEJMc2206725