08 พ.ย. 2565 | 16:42 น.
เมืองทิมพู: ในช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 13 ตุลาคมที่ผ่านมา ผู้เข้าแข่งขันรายการ Snowman Race จาก 11 ประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี ญี่ปุ่น สิงคโปร์ สวีเดน แทนซาเนีย และภูฏาน กำลังเตรียมพร้อมออกจากจุดเริ่มต้นบริเวณป้อมปราการแห่งกาซาซอง (Gasa Dzong) หลังจากที่รอคอยวันนี้มาเกือบสามปีแล้ว ในขณะที่ทุกคนกำลังรอสัญญาณการเริ่มต้นซึ่งจะดังขึ้นตอน 6 โมงตรง นักบวชกำลังสวดมนต์เพื่ออวยพรให้การแข่งขันมีแต่ความราบรื่น และให้มีแต่ความปลอดภัยจบจบรายการ ในวันที่ 17 ตุลาคม 2565
ความโหดของสนามแข่งขันไม่ใช่สิ่งเดียวที่ทำให้ Snowman Race เป็นหมุดหมายหนึ่งที่จะถูกบันทึกลงในประวัติศาสตร์ แต่ยังมีอีกหนึ่งเป้าหมายที่สำคัญ นั่นคือการดึงความสนใจของคนทั้งโลกเพื่อให้เห็นภัยคุกคามที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพทางภูมิอากาศ ซึ่งกำลังส่งผลกระทบในเทือกเขาหิมาลัย คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) รายงานในปี 2564 ธารน้ำแข็งหิมาลัยที่กำลังละลายคือภาพชัดเจนที่สุดของวิกฤตนี้ และสร้างความกังวลให้กับผู้คนหลายร้อยล้านชีวิตทั่วโลกที่พึ่งพาน้ำจากธารน้ำแข็งแห่งนี้เพื่อการเกษตรกรรม และแปลงเป็นพลังงาน
“ผมสะเทือนใจมากเลยตอนที่ได้เห็นธารน้ำแข็งในเมืองนริธังกำลังละลาย” ไบรอัน โพเวล (Byron Powell) หนึ่งในผู้เข้าแข่งขันรายการ Snowman Race จากประเทศสหรัฐอเมริกา เผยความรู้สึก “ธารน้ำแข็งยาว 1 กิโลเมตรที่ละลายไป มีปริมาณเทียบเท่ากับน้ำในสระว่ายน้ำขนาดมาตรฐานโอลิมปิกถึงกว่าพันแห่ง”
ขณะที่นักกีฬาชาวต่างชาติ ลุค เนลสัน Luke Nelson จากสหรัฐอเมริกา, เกบ จอยส์ (Gabe Joyes) จากสหรัฐอเมริกา) และวาตารุ ลิโน (Wataru Lino) จากญี่ปุ่น วิ่งเข้าเส้นชัยพร้อมกัน โดย ลุค เนลสัน วิ่งเข้าไปกอดเพื่อนนักกีฬาร่วมชาติอย่างดีใจเมื่อจบเลกสุดท้าย และตอกย้ำว่าการแข่งขันในครั้งนี้คือความท้าทายอย่างแท้จริง เขากล่าวว่า
“ถ้าคิดว่าสเตจสุดท้ายที่เราวิ่งเข้าเส้นชัยเป็นเส้นทางที่โหดแล้ว ลองคิดดูสิว่าตอนที่วิ่งลงจากภูเขาสูงกว่า 9,000 ฟุตจะท้าทายสักแค่ไหน แต่เชื่อไหมว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นมันสุดยอดมาก นี่ละประสบการณ์ที่ผมไม่มีวันลืม”
สำหรับการจัดการประชุมเกี่ยวกับสภาพอากาศที่เกิดขึ้นในวันที่ 18 ตุลาคม หลังจบการแข่งขัน มีขึ้นเพื่อตอกย้ำวัตถุประสงค์ของรายการ Snowman Race โดยเป็นความพยายามจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อหยุดยั้งภัยคุกคามที่ต้องเผชิญกับภาวะโลกร้อน
“ทั้งการแข่งขัน Snowman Race และ ประชุมเชิงปฏิบัติการณ์ด้านสภาพภูมิอากาศ ได้รับแรงบันดาลใจจากพระปรีชาญาณของสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก ในการอนุรักษ์มรดกทางธรรมชาติ และวัฒนธรรม โดยมุ่งหวังที่จะนำความสนใจของโลกมาสู่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญในโลกยุคปัจจุบัน และสร้างผลกระทบอยู่ในขณะนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อชีวิตของผู้คนที่อาศัยอยู่ในระบบนิเวศบนภูเขาที่ได้รับผลกระทบโดยตรง”
เคซัง วังดี (Kesang Wangdi) เอกอัครราชทูตและ เลขาธิการการแข่งขัน Snowman Race กล่าว ในการประชุมยังกล่าวยังมีผู้แทนจากกองทุนสัตว์ป่าโลก และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ได้เข้าร่วมด้วย
ยางดอนรอดชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว และได้วิ่งไปขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่เพื่อแจ้งเตือนถึงภัยพิบัติดังกล่าว โดยใช้เวลาเพียง 12 ชั่วโมง จากปกติที่ต้องใช้เวลานานถึง 3 วัน เพื่อให้ผู้บาดเจ็บในชุมชนของเธอได้รับช่วยเหลือโดยเร็วที่สุด
ในขณะที่ซันเจ วังชุก ผู้เข้าเส้นชัยมาเป็นอันดับสองในการแข่งขัน ได้กล่าวถึงความกลัวที่ปกคลุมผู้คนในชุมชนบนที่ราบสูงซึ่งต้องเผชิญกับธารน้ำแข็งที่กำลังละลาย กลายเป็นภัยคุกคามจากน้ำท่วมที่ครั้งเดียวเพียงพอแล้วที่จะทำลายพืชผล บ้านเรือน และชุมชนทั้งหมด
การประชุมดังกล่าวจึงเป็นเครื่องมือดึงความสนใจไปที่ความเร่งด่วนของปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทสำคัญของผู้เล่นที่ไม่ใช่รัฐ อาทิ ภาคธุรกิจ และภาคเอกชน การประชุมในครั้งนี้จึงเป็นความพยายามที่จะทำให้ประเทศภูฏานเป็นตัวแทนของระบบนิเวศบนภูเขาที่อ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นอย่างมาก
“นโยบายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศของราชอาณาจักรภูฏาน ฉบับปี พ.ศ. 2565 และข้อเสนอการมีส่วนร่วมของประเทศในการลดก๊าซเรือนกระจก ฉบับที่ 2 ของเรา ได้กำหนดแผนและกลยุทธ์ที่ชัดเจนต่อการพัฒนา สอดคล้องกับเป้าหมาย 1.5 องศาของความตกลงปารีส ในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สิ่งที่สำคัญสำหรับเราในวันนี้คือปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจเพื่อสนับสนุนความมุ่งมั่นของเรา” โซนัม พี วังดี (Sonam P Wangdi) เลขาธิการสำนักเลขาธิการคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กล่าว
“ปัจจัยทางด้านการเงินเป็นกุญแจสำคัญในการใช้ประโยชน์จากการดำเนินการด้านสภาพอากาศ สิ่งนี้ควรได้รับเงินช่วยเหลือ เข้าถึงได้ง่าย ประเมินได้ ยั่งยืน และยืดหยุ่น
การจัดหาเงินทุนเพื่อประเด็นด้านสภาพอากาศจะต้องเสริมด้วยการถ่ายทอดเทคโนโลยีสีเขียวเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง ต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีส่วนช่วยในการพัฒนาอย่างยั่งยืน การสนับสนุนและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนทั่วโลกจะเป็นทางที่จะแก้ไขภาวะฉุกเฉินด้านสภาพอากาศได้”