20 ก.ค. 2567 | 18:30 น.
จบไปแล้วกับงาน Be the Change: Sustainable in Everyday Life ‘ยั่งยืน’ ได้เมื่อเรา ‘เปลี่ยน’ ที่ True Digital Park (West) จัดขึ้นเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2024 ที่ผ่านมา เพื่อทำให้ผู้คนหันมาสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น เราเลือกจัดงานนี้ขึ้นมาเพราะเชื่อว่าโลกทุกวันนี้รอไม่ได้แล้ว หากต้องรอให้ทุกอย่างพร้อม รอให้เศรษฐกิจของประเทศรอดพ้นจากช่วงวิกฤติ หรือแม้แต่รอให้กฎหมาย นโยบายต่าง ๆ ปรับเปลี่ยนให้เข้ากับบริบททางสังคมที่เปลี่ยนไปอยู่ตลอดเวลา กว่าจะถึงวันนั้นโลกเราคงบอบช้ำจนกู่ไม่กลับ
งานในครั้งนี้ The People ได้รับความร่วมมือจากแบรนด์ชั้นนำในภาคธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับการสร้างความยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็น ‘แสนสิริ’ แบรนด์อสังหาฯ อันดับ 1 ผู้นำด้านดีไซน์และคุณภาพการบริการ อสังหาฯ รายแรกตั้งเป้า Net - Zero, ‘Maybank Securities Thailand’ บริษัทหลักทรัพย์ชั้นนำระดับอาเซียน ที่ให้บริการด้านการลงทุนครบวงจรภายใต้แนวคิดที่มุ่งเน้นให้นักลงทุนมีความมั่งคั่งอย่างยั่งยืน, ‘ฟรอลิน่า’ ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผ้าขนหนูและชุดเครื่องนอนนวัตกรรมจากธรรมชาติ ที่มี ‘ความยั่งยืน’ เป็นหัวใจหลักในการพัฒนาสินค้าและบริการ, บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ STA ผู้นำองค์กรแห่งยางสีเขียวแบบครบวงจรรายใหญ่ที่สุดของโลก ดำเนินธุรกิจภายใต้แนวคิด ‘Green Rubber Company’ และ บริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ STGT ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายถุงมือยางอันดับ 1 ของไทย ดำเนินธุรกิจภายใต้แนวคิด ‘Clean World Clean Gloves’ โดยกลุ่มบริษัทศรีตรังให้ความสำคัญและมุ่งเน้นการสร้างความยั่งยืนในทุกมิติ พร้อมทั้งมุ่งส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนในระดับสากล
ทั้งหมดนี้คือเหล่าพาร์ทเนอร์ที่ร่วมกันสรรสร้างให้ ‘ผู้คน’ มองเห็นว่า ‘คนธรรมดา’ ก็สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ แม้จะเป็นการกระทำเล็กน้อย แต่เมื่อคนจำนวนมากเริ่มขยับ แน่นอนว่าสังคมในอุดมคติที่จะเห็นมนุษย์ทุกคนอยู่ร่วมกับสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น เบียดเบียนทรัพยากรธรรมชาติน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพียงเท่านี้ก็ทำให้เห็นแล้วว่า การกระทำจากคนตัวเล็ก มีพลังไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าใคร
และนี่คือภาพรวมของงานทั้งหมด ที่เราเดินสำรวจ พูดคุย และซึมซับเอาพลังของเหล่าคนธรรมดาที่ไม่เคยหยุดดูแลโลกใบนี้ มาจนถึงภาคธุรกิจที่พร้อมนำโจทย์ของสิ่งแวดล้อมใส่เข้าไปในสมการการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้โลกใบเดียวของเราอยู่ยั้งยืนยง
หลังจากได้รับสติ๊กเกอร์รอยนิ้วมือเล็ก ๆ ของ The People มาแปะบนตัว ก็นับเป็นสัญญาณเชิงบวกที่ทำให้เราเห็นว่า องค์กรแห่งนี้ พยายามลดขยะที่เกิดจากการจัดงานให้ได้มากที่สุด ขณะเดียวกันรอยนิ้วมือที่ได้รับมานั้น เปรียบดั่งหลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่า มนุษย์ทุกคน ไม่ว่าเกิดมายากดีมีจน ล้วนทิ้งรอยประทับบางอย่างไว้บนโลกเสมอ และการเข้าร่วมงานครั้งนี้ เชื่อว่าหลายคนคงได้อะไรบางอย่างกลับไปเช่นกัน
บูธแรกที่เราเลือกเดินตรงไปคือ ‘สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร’ ถึงจะตั้งอยู่ข้างในสุดของงาน แต่เพราะสะดุดตากับถังขยะที่วางเรียงราย แยกหมวดหมู่ติดป้ายบอกอย่างชัดเจนว่าถังนี้สำหรับทิ้งอะไร ทำเอาอดจะสาวเท้าเข้าไปหาพูดคุยกับพี่ ๆ จากสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. ไม่ได้ และเราก็ไม่ผิดหวัง ทุกคนพร้อมให้ความรู้อย่างไม่อิดออด แถมยังโชว์พลังของเทคโนโลยีให้เห็นอีกว่า จุดทิ้งขยะของ กทม. กระจายตัวอยู่ในจุดไหนบ้าง และขยะจากโครงการ ‘ไม่เทรวม’ มีจุดหมายปลายทางอย่างไร หลังจากได้รับความรู้จนเต็มอิ่ม ทาง กทม. ยังมีอีกหนึ่งกิจกรรม คือ เปิดรับบริจาคเสื้อผ้าและสิ่งของมือสองคุณภาพดี กับโครงการ ‘สายแฟ(ชั่น) แคร์โลก เหลือบไปมองก็พอเห็นอยู่ว่า มีผู้ขนเสื้อผ้ามาบริจาคจนล้นตะกร้าเลยทีเดียว
ข้าง ๆ กัน ‘The Farmer’ แพลตฟอร์มสื่อสารการเกษตร เพื่อความยั่งยืนของเกษตรกรไทย ได้นำผลงาน ‘กระเป๋าและผลิตภัณฑ์จักสานทำมือจากกระจูด’ ของเกษตรกรในเครือข่ายมาจัดวาง แสดงให้เห็นถึงความปราณีตของเหล่าเกษตรกรที่เรียงร้อยกระจูดออกมาได้อย่างสวยงาม หากจะบอกว่านี่เป็นผลงานเกรดพรีเมี่ยมคงไม่ใช่เรื่องกล่าวเกินจริง
ขยับมาอีกหน่อย เราจะพบกับ ‘Raakdin’ (รากดิน) เครื่องย่อยเศษอาหารอัตโนมัติ เพื่อให้ขยะเหล่านั้นไม่ตกเป็นภาระของส่วนรวม และเป็นประโยชน์ต่อระบบนิเวศ นับว่าเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่เรียกความสนใจจากผู้ร่วมงานจำนวนไม่น้อย
รากดิน เป็นคำสุภาพของคำว่า ไส้เดือน พวกเขาเชื่อว่าสัตว์ตัวเล็กจิ๋วเหล่านี้ คือความมหัศจรรย์ที่ธรรมชาติสรรสร้างเอาไว้ จึงไม่ลังเลที่จะนำมาตั้งเป็นชื่อแบรนด์ เพราะไส้เดือนช่วยย่อยสลายซากอินทรีย์ พรวนดิน และมูลไส้เดือนยังมีส่วนช่วยให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์อีกด้วย
ใกล้ ๆ กันนั้นเราบังเอิญสบตากับชายหนุ่มอารมณ์ดีคนหนึ่ง เขาส่งยิ้มจนตาหยี มองปราดเดียวก็รู้แล้วว่า เขาคือ ‘ลุงรีย์’ จาก UncleRee Farm ผู้พา ‘UncleRee Think’ สินค้า บริการใหม่แบบ Upcycling และกิจกรรมเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมจาก Lessplasticable มาอวดโฉมให้คนในงานได้เห็น และลองลงมือประดิษฐ์สมุดทำมือจากถุงพลาสติก ขยะที่ใครหลายคนมองว่าเป็นภาระทางธรรมชาติอย่างใหญ่หลวง ซึ่งเท่าที่เราสังเกตทุกคนที่มาร่วมกิจกรรม นอกจากจะได้รับสมุดเล่มเดียวในโลกกลับไปแล้ว ยังมีรอยยิ้มประดับบนใบหน้าตั้งแต่ขั้นตอนการทำ มาจนถึงได้รับของที่พวกเขาทุ่มเวลาทำกลับไป
ถัดมาอีกนิดเราจะเจอกับ ‘Recycle Day Thailand’ แพลตฟอร์มช่วยจัดการขยะที่จริงใจและครบวงจร สำหรับทั้ง B2C และ B2B เชื่อว่าหลายคนคงรู้ดีว่าการแยกขยะเป็นเรื่องที่ดี แต่แยกแล้วจะเอาไว้ไหน ขยะที่เราใช้เวลาไปกับการแกะ แยก คัดแล้วคัดอีกว่าต้องอยู่ในถุงนี้ จะส่งต่อไปให้ใคร เชื่อว่าแพลตฟอร์มของ Recycle Day Thailand จะแก้ปัญหานี้ได้อย่างหมดจด เพราะพวกเขาจะเรียกรถจัดการขยะแบบครบวงจรมาให้ถึงหน้าบ้าน หรือถ้าเราอยากจะเดินออกกำลังกาย ก็สามารถเดินไปดร็อปได้ตามจุดต่าง ๆ อีกหนึ่งความสนุกคือ ทุกครั้งที่เราแยกขยะส่งไปจะได้รับรางวัลหรือเงินคืนอีกด้วย
เดินต่อมาอีกหน่อยพบกับ ‘แมวกินปลา’ แพลตฟอร์มที่ขอรับหน้าที่คนกลางส่งต่อเนื้อปลาทะเลปลอดสารทั่วไทยไปถึงมือ คนกลางที่มีความจริงจังในการส่งของสดจากท้องทะเลไปถึงหน้าบ้าน เพราะอยากให้คนบ้านไกลได้กินของดี ๆ ไปอีกนานแสนนาน แมวกินปลา จึงไม่ต่างจากจุดเชื่อมต่อระหว่างผู้คน สุขภาพ และท้องทะเล (จัดการของเหลือ เศษของเหลือจากการตัดแต่งปลา ถูกส่งต่อไปเปลี่ยนเป็น น้ำหมักปุ๋ยปลา เพื่อใช้ในสวนปาล์ม)
มาจนถึงบูธแรกอย่าง ‘Reviv’ (รีไวฟ์) องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ส่งเสริมการซ่อมแซมเสื้อผ้าของคนรุ่นใหม่ ซึ่งเราได้พูดคุยกับ ‘ภูมิ - ภาคภูมิ โกเมศโสภา’ Co-Founder และผู้ก่อตั้งแอปพลิเคชั่น ‘วนวน’ (WonWon) แพลตฟอร์มที่จะช่วยให้คนไทยหาร้านซ่อมเสื้อผ้าได้ง่ายขึ้น นับว่าเป็นคนหนุ่มที่มีใจรักในโลกใบนี้อย่างสุดใจอีกหนึ่งคน แถมเขาเองยังเชื่ออีกว่า การจัดการขยะที่ดีที่สุด ไม่ใช่การรีไซเคิล แต่เป็นการที่เราหยุดซื้อของใหม่ ใช้ของที่มีอยู่ไปนาน ๆ
เมื่อพูดถึงความยั่งยืน หลายคนอาจนึกถึงสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก จนมองข้ามเรื่องการเงินไป แต่ ‘Maybank Securities Thailand บริษัทหลักทรัพย์ชั้นนำระดับอาเซียน ทำให้เห็นแล้วว่าความยั่งยืนไม่ได้อยู่ในรูปแบบของการดูแลสิ่งแวดล้อมเท่านั้น หากแต่ยังหมายถึงความยั่งยืนในชีวิต ที่จะช่วยให้โลกเรารอดพ้นจากวิกฤติ บทบาทสำคัญของเมย์แบงก์ คือ การสร้างความรู้ด้านการลงทุนให้กับพนักงานในบริษัทต่าง ๆ สถาบันการนักศึกษา และออนไลน์ ทำให้เห็นว่า บริษัทเองไม่ได้นิ่งนอนใจในการสร้างความยั่งยืนผ่านการจัดสรรทรัพยากรทางการเงิน โดยคำนึงถึงการเติบโตอย่างยั่งยืนของเม็ดเงินเหล่านั้น และไม่ลืมที่จะแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง
ส่วนบูธที่ทำให้เรารู้สึกว้าวที่สุดในงานคงหนีไม่พ้น ‘ฟรอลิน่า’ (Frolina) ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผ้าขนหนูและชุดเครื่องนอนนวัตกรรมจากธรรมชาติ ที่มี ‘ความยั่งยืน’ เป็นหัวใจหลักในการพัฒนาสินค้าและบริการ ทันทีที่เดินมาหยุดอยู่หน้าบูธ ถามคำถามสั้น ๆ เพียงไม่กี่คำ เรากลับได้คำตอบที่เปิดโลกจนน่าตกใจ เพราะไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่าผ้าขนหนูนุ่ม ๆ ที่อยู่ตรงหน้า จะสามารถช่วยโลกได้มากถึงขนาดนี้ นอกจากเส้นใยทุกเส้นที่นำมาถักทอล้วนมาจากฝ้าย 100 % แล้ว ยังสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ไม่มีที่สิ้นสุด แถมมาพร้อมนวัตกรรมลดกลิ่นอับ (พี่ ๆ ทดลองฉีดกลิ่นแอมโมเนียลงผ้า แล้วยื่นมาให้ดม ไม่มีกลิ่นอับเลยจริง ๆ คอนเฟิร์ม!) ไม่ต้องกังวลว่าตากผ้าในร่มแล้วจะมีกลิ่น จะซักหรืออบก็ทำได้ไม่มีขีดจำกัด เรียกได้ว่าผ้าขนหนูหนึ่งผืนที่เราใช้จะอยู่คู่กับเจ้าของไปอีกนาน
หลังจากเต็มอิ่มกับกิจกรรมภายในงาน เดินทางมาสู่ Session 1 โดย 'พรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์' ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารด้านความยั่งยืนของกรุงเทพมหานคร ที่จะเปิดงานในหัวข้อ ‘Sustainable City พัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน’ ซึ่งโจทย์สำคัญของกรุงเทพมหานครคือ การทำให้เมืองเป็นเมืองที่น่าอยู่และเติบโตทางเศรษฐกิจ ยกตัวอย่างเช่น โครงการเปิดให้ประชาชนร่วมปลูกต้นไม้ มีการอ้างอิงของงานวิชาการถึงที่มาของมลพิษ ขอความร่วมมือจากเอกชนการทำโปรโมชันเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง หรือนโยบาย Work from Home และ ขณะที่ภาครัฐก็เริ่มเปลี่ยนรถขยะมาใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น เพื่อลดมลพิษ
“วันนี้ คนใช้รถไฟฟ้า แต่จะกลับบ้านต้องต่อวินมอเตอร์ไซค์ หรือทางเท้ามีปัญหา เพราะถ้าเส้นเรื่องหลักดี แต่เส้นเลือดฝอยไม่ดี คนก็จะไม่ใช้ขนส่งสาธารณะ”
Session 2 Special Talk: ที่จะเชิญ 4 วิทยากรมาร่วมแบ่งปันไอเดียการขับเคลื่อนด้านความยั่งยืนในหัวข้อ ‘Small Changes in Everyday Life พลังเล็กที่เปลี่ยนโลก’ ชวนคุณมาหาแรงบันดาลใจในการเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตในแต่ละวันเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปกับ Mission ด้านความยั่งยืนของ Little Big People
• ‘วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล’ นักทำสารคดี นักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม ที่จะมาพูดในหัวข้อ ‘การจัดการสิ่งแวดล้อมเชิงโครงสร้าง’ ชายผู้มองว่าในยุคนี้ ไม่มีอะไรสำคัญกว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมอีกแล้ว เพราะหลังจากออกเดินทาง มองเห็นปัญหาสิ่งแวดล้อมรอบโลก เปลี่ยนตัวเองจากนักเดินทางเป็นนักสื่อสารเรื่องสิ่งแวดล้อม แล้วก็ค้นพบว่า แค่สื่อสารอย่างเดียวไม่พอ แต่จำเป็นต้องเปลี่ยนทั้งโครงสร้าง
“ผมพยายามสื่อสารแล้ว เปลี่ยนแปลงสังคมแล้ว ก็ค้นพบว่าต้องเปลี่ยนอะไรมากกว่านั้น นั่นคือการเปลี่ยนเชิงโครงสร้าง”
เขายังย้ำอีกว่า การเปลี่ยนเรื่องสิ่งแวดล้อมไม่สามารถเริ่มต้นได้ที่ตัวเองเพียงคนเดียว แต่ยังคงจำเป็นต้องอาศัยกลไกจากภาครัฐและสังคม
“เรื่องสิ่งแวดล้อม เริ่มได้ด้วยตัวเองได้ แต่ไปจบที่สภาฯ”
• ‘ชารีย์ บุญญวินิจ’ Earth Creator และผู้บุกเบิก ‘ฟาร์มลุงรีย์’ (UncleRee Farm) ในหัวข้อ ‘เรื่องระหว่างทางจาก Food Waste กว่าจะผุดเป็น Good Taste’ ซึ่งเขาเล่าย้อนกลับไปในช่วง 10 ก่อน หลังจากเริ่มต้นเลี้ยงไส้เดือนเพื่อให้เกิดเป็นปุ๋ยแล้วนำมาเพาะเห็ด ซึ่งจะทำให้เขาสามารถพึ่งพาตัวเองและได้กลับมาอยู่บ้านและครอบครัว โดยเขากล่าวสรุปถึงแนวคิดในการขับเคลื่อนอย่างยั่งยืนในแง่ธุรกิจต่อไปในอนาคตของเขาไว้ว่า “ธุรกิจที่ทำแล้วมีคนอื่นที่ได้เกิด” โดยเขาได้จับมือกับชุมชนและคนโดยรอบฟาร์มบริเวณเพชรเกษม 46 เพื่อพัฒนาในด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมต่อไปกับแนวทาง “คิดใหม่ คิดให้เรื่องเล็กเปลี่ยนโลก”
• ‘ภาคภูมิ โกเมศโสภา’ Co-Founder ‘Reviv’ (รีไวฟ์) โดย องค์กรส่งเสริมการซ่อมเสื้อผ้าของคนรุ่นใหม่ ที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญด้านความยั่งยืน มาพูดในหัวข้อ ‘การซ่อมจะทำให้สังคมดีขึ้นได้อย่างไร แล้วทำไมสินค้าปัจจุบันถึงพังเร็ว ซ่อมยาก?’ ซึ่งเขาได้ยกหลักการของ Circular Economy ขึ้นมาประกอบ ฉายภาพให้เห็นว่าการซ่อมจะเป็นการรักษามูลค่าของสิ่งของไว้ได้มากที่สุด ซึ่งผู้บริโภคในหลายๆ ประเทศก็หันมาเรียกร้อง ‘สิทธิในการซ่อม’ กันมากขึ้น สำหรับ 3 โปรเจคที่กลุ่ม Reviv (รีไวฟ์) ได้ทำอยู่ประกอบด้วย Repairability Index, WonWon Platform และ Repair Cafe ซึ่งหวังว่าจะสามารถสร้างวัฒนธรรมการซ่อมให้เกิดขึ้นในสังคมไทย ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนผ่านในเชิงโครงสร้างต่อไป
• ‘ศิระ ลีปิพัฒนวิทย์’ เจ้าของ ‘เรือไฟฟ้าสุขสำราญ’ ธุรกิจเรือนำเที่ยวคลองย่านฝั่งธนฯ กับหัวข้อ ‘Zero Waste Trip ชวนเที่ยวคลองด้วยเรือไฟฟ้า แบบไม่สร้างขยะ’ หลังจากเริ่มต้นธุรกิจเล็ก ๆ เพราะต้องการเลี้ยงลูกและสามารถหารายได้ขณะอยู่บ้าน เขาก็พบว่าการล่องเรือเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยให้นักท่องเที่ยวเห็นภาพได้ว่า หากไม่ดูแลแม่น้ำในวันนี้ อนาคตข้างหน้าอาจไม่มีทัศนียภาพที่สวยงามเช่นนี้ให้เห็นอีก
“เทรนด์เรื่องสิ่งแวดล้อมมีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ใครที่ทำธุรกิจแล้วพลาดการจับเทรนด์เรื่องนี้อนาคตก็อาจไม่สดใส และ แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ น้อยๆ ของแต่ละคนจะไม่อาจหยุดยั้งวิกฤติสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในตอนนี้ได้ แต่ทุก ๆ การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ล้วนเริ่มต้นจากตัวเอง”
หลังจากฟังเสียงของคนธรรมดาผู้มีใจรักในสิ่งแวดล้อมแล้ว ขยับเข้าสู่ช่วง Session 3 ดำเนินการเสวนา โดย พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ ในหัวข้อ ‘MISSION to SUSTAINABILITY การขับเคลื่อนจากภาคธุรกิจ ที่ดำเนินนโยบายอย่างยั่งยืน’ เพราะการกระทำของคนธรรมดา อาจไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้ในชั่วพริบตา หากภาคธุรกิจยังไม่ขยับ โดยภายในเซสชั่นนี้เราจะได้พบกับผู้คนจากหลายอุตสาหกรรม
• ปัณวรรธน์ นิลกิจศรานนท์ รองประธานกรรมการบริหาร ฝ่ายวิศวกรรมโครงสร้าง บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด เผยถึงความท้าทายในภารกิจลดการปล่อยคาร์บอนสำหรับ ‘เชฟรอน’ คือการที่ทางเลือก 3 ทาง ได้แก่ การผลิตพลังงานสะอาดเพื่อสิ่งแวดล้อม, การผลิตพลังงานราคาถูกโดยคำนึงถึงเศรษฐกิจของประเทศ และความมั่นคงทางพลังงาน ไม่สามารถมาบรรจบกันได้ในขณะนี้ ทำได้เพียงการทำให้สามทางเลือกดังกล่าวเข้าใกล้กันมากที่สุด
“สิ่งที่เชฟรอนต้องทำคือการสร้างเทคโนโลยีขึ้นมา เพราะเราเชื่อว่าพลังงานในอนาคตคือพลังงานที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ”
• สมัชชา พรหมศิริ Chief of Staff บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) เป้าหมายการทำพื้นที่อสังหาริมทรัพย์ของแสนสิริในวันนี้ คือ ภายในปี 2050 แสนสิริจะเป็นหนึ่งในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่สร้างบ้านปลอดคาร์บอน เช่น การติดแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคา มีการออกแบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีแท่นชาร์จรถ EV เป็นต้น
เพื่อบรรลุไปถึงเป้าหมายที่วางไว้ วันนี้ หน้าที่ของแสนสิริ คือ การสร้างความรู้ความเข้าใจกับผู้รับเหมา Supplier แทนที่จะเป็นเพียงผู้จ้างกับผู้รับจ้าง แต่เป็นพาร์ทเนอร์ เป็นเพื่อนคู่คิดที่มองเห็นถึงความสำคัญของเรื่องนี้ไปด้วยกัน
“ถ้าบริษัทอสังหาฯ รายใหญ่ ให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อม จะทำให้ supplier เห็นโอกาส เห็นว่ามีตลาดรองรับ สุดท้ายเขาก็ต้องส่งสินค้าคาร์บอนคาร์บอนน้อยในการผลิตมาให้เราได้”
• อารภัฏ สังขรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) จำกัด ‘ความรับผิดชอบต่อสังคม’ คือสิ่งที่เมย์แบงก์ให้ความสำคัญสูงสุด เพราะในปัจจุบันกลุ่มเป้าหมายหลักของธนาคารนั้นไม่ได้มีแค่มหาเศรษฐีเท่านั้น หากแต่กลุ่มคนหลากหลาย หากย้อนกลับไปเมื่อ 4 ปีก่อนหลังจาก ‘อารภัฏ’ เข้ามาร่วมงานกับเมย์แบงก์ สิ่งที่เขายึดถือมาตลอดเวลาการทำงานคือ การโฟกัสที่ ‘ความยั่งยืน’ มากขึ้น
“หน้าที่ของเรา ไม่ใช่แค่ทำเงินให้ตัวเอง แต่เราต้องมีผลลัพธ์ทางสังคม (Social Impact)”
• ณัษฐพงษ์ ธรรมฉัตรพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ธรรมฉัตร เอ็นเตอร์ไพรส์ จํากัด ผลิตภัณฑ์แบรนด์ฟรอลิน่า อุตสาหกรรมสิ่งทอเป็คอุตสาหรรมที่ส่งผลทางลบกับสิ่งแวดล้อม ยิ่งเป็น ‘ฝ้าย’ ซึ่งเป็นวัสดุหลักของการทำสิ่งทอที่ใช้น้ำ และจำเป็นต้องเติบโตในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ดังนั้น ผลิตภัณฑ์สิ่งทอของฟรอลิน่าทำจากฝ้ายที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ แต่การจะทำให้สินค้ามีมูลค่าไปพร้อมกับสิ่งแวดล้อมก็ไม่ใช่เรื่องง่าย
“การที่เราจะเสริมคุณค่าไปพร้อมกับสิ่งแวดล้อม มองว่าเป็นเรื่องดี ที่จะส่งต่อให้คนรุ่นลูกรุ่นหลานต่อได้ เพราะไม่มีเหตุผลที่เราจะไม่ทำ”
และนี่คือทั้งหมดของ Be the Change: Sustainable in Everyday Life ‘ยั่งยืน’ ได้เมื่อเรา ‘เปลี่ยน’ หวังว่างานครั้งนี้จะทำให้เห็นว่า การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างแม้เพียงสักเล็กน้อย แต่อาจช่วยให้บ้านของเราน่าอยู่มากยิ่งขึ้น เพราะอย่าลืมว่าไม่ใช่แค่มนุษยเท่านั้นที่ใช้ทรัพยากรของบนโลก หากแต่ยังมีสิ่งมีชีวิตอื่นอีกหลากหลายสายพันธุ์ ร่วมเปลี่ยนก่อนที่โลกจะบอบช้ำไปกว่านี้ เพื่อส่งต่อความยั่งยืนไปยังคนรุ่นต่อไป