เปิดเรื่องราว 4 ศิลปินชื่อดัง ‘เครื่องดินเผาสู่งานศิลปะ’ ในงานบทสนทนาระหว่าง คน หม้อ ไห

เปิดเรื่องราว 4 ศิลปินชื่อดัง ‘เครื่องดินเผาสู่งานศิลปะ’ ในงานบทสนทนาระหว่าง คน หม้อ ไห

งานนิทรรศการ ‘บทสนทนาระหว่าง คน หม้อ ไห’ จากศิลปิน 11 ประเทศร่วม 20 คน บอกเล่าเรื่องราว แรงบันดาลใจ และความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสิ่งของ จนเกิดเป็นการสื่อสารระหว่างกันได้

  • ปีที่ 2 ของงานนิทรรศการที่จัดโดย สมาคม Potters of Thailand (POTs) ซึ่งปีแรกจัดขึ้นในปี 2019 ธีม “POTs – The Vessel”
  • บทสนทนาระหว่าง คน หม้อ ไห ถูกถ่ายทอดงานศิลปะมาจากศิลปิน 20 คนจาก 11 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย

งานศิลปะที่ตราตรึงใจอาจไม่จำเป็นต้องเป็นนามธรรมเท่านั้นแต่สามารถจับต้องได้ ถ่ายทอดเรื่องราวผ่าน ‘เครื่องถ้วย’ (pottery) สร้างให้เป็นงานศิลปะร่วมสมัยที่มีเอกลักษณ์ มีเทคนิคอันโดดเด่น และเพรียบพร้อมไปด้วยฟังก์ชั่นน่าสนใจ

ในงานนิทรรศการ ‘บทสนทนาระหว่าง คน หม้อ ไห’ โดยภาควิชาการออกแบบอุตสาหกรรม (ID) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสมาคม Potters of Thailand ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป์ ตั้งแต่วันที่ 4 ถึง 30 เมษายนนี้ (ปิดทุกวันจันทร์ - อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์) นับเป็นการรวมตัวของศิลปินช่างปั้นทั้งคนไทยและศิลปินต่างชาติครั้งใหญ่อีกงานหนึ่งก็ว่าได้

โดยจุดประสงค์ก็เพื่อแสดงผลงานเครื่องถ้วย และผลักดันเครื่องถ้วยเหล่านั้นไปให้ถึงระดับงานศิลปะ ซึ่งจะมีมาตรฐานที่ชี้วัดอยู่พอประมาณ เช่น การแสดงออกถึงเอกลักษณ์เฉพาะตัวของศิลปิน, ความร่วมสมัย,  แนวความคิดที่ลุ่มลึกของศิลปิน และการพัฒนาด้านวัสดุ อย่างเช่น เนื้อดิน, การเคลือบ หรือวิธีการเผา เป็นต้น

ทั้งนี้ การนำเสนอผลงานเครื่องปั้นดินเผาร่วมสมัย มาจากศิลปินที่ทำงานเน้นไปที่ภาชนะทั้งในเชิงการใช้งาน และภาชนะในฐานะความหมายนามธรรม เป็นผลงานคุณภาพสูง ทำขึ้นด้วยทักษะและความรู้ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งของศิลปิน

เปิดเรื่องราว 4 ศิลปินชื่อดัง ‘เครื่องดินเผาสู่งานศิลปะ’ ในงานบทสนทนาระหว่าง คน หม้อ ไห

โดยงานนิทรรศการในครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 และมีการเชิญศิลปินด้านเซรามิคระดับโลก 20 คนจาก 11 ประเทศเพื่อถ่ายทอดความรู้ แรงบันดาลใจ และทักษะต่าง ๆ ให้กับผู้ที่สนใจ โดยศิลปินต่างชาติมาจากประเทศเบลเยียม, สหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร, ออสเตรเลีย, ลัตเวีย, ญี่ปุ่น, เดนมาร์ค, แคนาดา, อิตาลี, เกาหลีใต้ และไทย

The People มีโอกาสได้พูดคุยกับศิลปินต่างชาติ 4 คน โดยแต่ละคนจะมีความคิด แรงบันดาลใจในการขับเคลื่อนผลงานชิ้นเอกของพวกเขาแตกต่างกัน ซึ่งบทความนี้จะถ่ายทอดไฮไลต์สำคัญ ๆ ของศิลปินแต่ละคนเพื่อสร้างความเข้าใจในการเสพผลงานของพวกเขามากขึ้นได้

 

David Jones (สหราชอาณาจักร)

David Jones เขาสำเร็จการศึกษาด้านปรัชญาและวรรณคดีจากมหาวิทยาลัย Warwick ในปี 1974 และเขาเป็นอาจารย์อาวุโสในแผนกเซรามิกส์ที่มหาวิทยาลัย Wolverhampton ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังเป็นสมาชิกของสมาคมช่างปั้นหม้อในอังกฤษด้วย

วิธีการทำงานของ Jones เกี่ยวข้องกับ ‘Raku’ ในภาษาญี่ปุ่นจะเรียกว่า ‘ระคุยากิ’ ก็คือเครื่องปั้นดินเผาประเภทหนึ่งที่มีต้นกำเนิดในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งในยุคริคิว เครื่องปั้นแบบ Raku แบบชัดเจนจะเป็นเครื่องถ้วยที่รูปทรงผิดสมมาตร ไม่กลม ไม่สมบูรณ์แบบ ดูบิด ๆ เบี้ยว ๆ และก็มีสีคล้ำดำดูโบราณ นี่คือ Raku แบบญี่ปุ่นโดยแท้

แล้วมันเกี่ยวอะไรกับงานศิลปะของ Jones เขาเล่าว่า “ผมเริ่มต้นงานศิลปะแบบนี้ตอนที่อยู่ที่โตเกียว เหตุผลที่พวกเขา (งานนิทรรศการ) สนใจในชิ้นงานของผมเพราะว่ามันพิเศษ รูปแบบงานของผมเรียกว่า Raku เป็นเทคนิคมาจากญี่ปุ่น ซึ่งก็มีการอธิบายเกี่ยวกับเทคนิคนี้โดยชายชาวอังกฤษที่ชื่อว่า ‘Bernard Leach’ เขาเกิดในฮ่องกงก็เป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิอังกฤษ(ตั้งแต่ปี 1841 ถึง 1997)”

“และเขาก็กลายเป็นคนแรกที่ทำสตูดิโอด้านเครื่องปั้นในยุโรปและอเมริกา ซึ่งจะพูดว่าเป็นคนที่มีส่วนอย่างมากในการกำหนดมาตรฐานเกี่ยวกับพวกเครื่องปั้นก็ว่าได้”

“นอกจากนี้เขายังเขียนหนังสือในช่วงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ชื่อว่า ‘A Potter's Book’ ซึ่งเขาได้เล่าถึงประสบการณ์มากมายในญี่ปุ่นและการเรียนรู้ที่จะเป็นช่างปั้นหม้อในสมัยนั้น และสิ่งหนึ่งที่เขาเรียนรู้ก็คือ Raku Firing และ Raku จากปรมาจารย์ชาวญี่ปุ่นคนหนึ่ง สำหรับผมมันเป็นความเชื่อมโยงและสายเลือดทางประวัติศาสตร์ ซึ่งหนังสือเล่มนี้ก็ถูกอ่านโดยชาวอเมริกันที่ชื่อว่า Paul Soldner (ช่างปั้นเซรามิกชื่อดังที่หลงใหลเทคนิคแบบญี่ปุ่น)”

เปิดเรื่องราว 4 ศิลปินชื่อดัง ‘เครื่องดินเผาสู่งานศิลปะ’ ในงานบทสนทนาระหว่าง คน หม้อ ไห

สำหรับ Raku เป็นเทคนิคการปั้น การเผาแบบพิเศษที่มีมานานกว่า 400 ปี สำหรับพิธีชงชาที่เกี่ยวข้องกับศาสนาพุทธนิกายเซ็น ซึ่ง Jones อธิบายต่อว่า “กระบวนการ Raku ของชาวญี่ปุ่นเกี่ยวกับการนำหม้อออกจากเตาเผาเมื่อเคลือบละลาย และความร้อนของหม้อกำลังแดงลุกเป็นไฟ คุณนำมาจุ่มลงในน้ำทันทีเพื่อให้เกิดการแตกและทำให้ชิ้นส่วนของหม้อดูราวกับว่ามันเก่าขึ้นเล็กน้อย นั่นแหละกระบวนการ Raku”

“ศิลปะแบบ Raku จะไม่กังวลเรื่องสี หรือความสมบูรณ์ แต่เน้นความเป็นธรรมชาติ ความจริง ซึ่งผลงานของผม และในแง่ของพวกเขา (Raku Potters) คือการนำหม้อออกจากเตาเผาและใส่ขี้เลื่อยลงไป พยายามทำให้พื้นผิวของผลงานดูมืดและดำ แต่มีความเงางามมาก”

เปิดเรื่องราว 4 ศิลปินชื่อดัง ‘เครื่องดินเผาสู่งานศิลปะ’ ในงานบทสนทนาระหว่าง คน หม้อ ไห

“ผมใช้ความคิดมากมายเกี่ยวกับความเป็นธรรมชาติที่จะทำกับพื้นผิว เพื่อให้พื้นผิวมันดูกัดเซาะ เป็นร่อง มีรอยแตก และพยายามสื่อสารกับผู้ชมถึงแนวคิดของกระบวนการนี้ ซึ่งหลายครั้งที่ผมกลับมาย้อนคิดว่าเทคนิคและกระบวนการของผมจริง ๆ แล้วมันคืออะไร รากฐานมาจาก Raku แต่มันคืออะไรต่อจากนั้น มันทำให้ผมคิดถึงตอนที่ยังเป็นนักศึกษาฝึกงานปริญญาตรี ทำให้เข้าใจว่าหนังสือหลายเล่มที่ผมเขียนเกี่ยวกับ Raku ในหลากหลายเวอร์ชั่นมันก็คือ ปรัชญาของการปั้น และช่วงที่ผมกำลังเรียนปริญญาเอกผมตกผลึกได้ถึง ‘มือ’ ของมนุษย์ที่สามารถสื่อสารและทำลายได้ ดังนั้น ผลงานของผมจะมีเทคนิคของ Raku ในหลายกระบวนการ และเป็นการสื่อสารด้วยสื่อในรูปแบบต่าง ๆ โดยจะเห็นรอยแตก การโค้ง และริ้วรอยที่เกิดบนมือของมนุษย์”

Jones เปิดใจเล่าเกี่ยวกับที่มาของแนวคิดงานศิลปะว่า “ส่วนหนึ่งมาจากประวัติครอบครัว คือ ปู่ย่าตายายของเขาเป็นชาวยิวและเกิดในโปแลนด์ และได้อพยพมาอยู่ที่เยอรมนีในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อนาซีเข้ามามีอำนาจ พวกเขาถูกคุมขังในค่ายกักกัน พ่อแม่ของผมถูกฆ่าด้วยแก๊สและเผา ซึ่งความคิดบางส่วนก็มาจากพื้นผิวที่ถูกเผาไหม้และดำคล้ำกลายมาเป็นความเสียหายของงานเซรามิ ซึ่งผมในฐานะผู้ที่รอดชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์รุ่นที่ 2 ก็อยากจะหยิบมาถ่ายทอด”

ดังนั้น โดยรวมสิ่งที่ Jones คาดหวังกับงานนิทรรศการนี้ก็คือ การสื่อสารอย่างกว้างขวาง ‘ตะวันออกพบตะวันตก’ เป็นการแลกเปลี่ยน เปิดโอกาสให้กันละกัน สร้างความเข้าใจและสร้างสิ่งใหม่ผ่านเครื่องปั้นเซรามิกได้

 

Ann Van Hoey (เบลเยียม)

Ann Van Hoey เธอเป็นเจ้าของรางวัลชนะเลิศจากรายการ the International Coffee Cup Competition, Yingge Ceramics Museum ล่าสุดได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จากกษัตริย์เบลเยียม the rank of ‘Commander in the Order of the Crown’ ในฐานะที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศผ่านทางผลงานเครื่องปั้นดินเผาของเธอ

เธอได้เล่ากับเราเมื่อย้อนไปถึงจุดเริ่มต้นก่อนที่เธอมาเป็นศิลปินว่า “ฉันก็ไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าจะมาเป็นศิลปิน เพราะฉันเริ่มงานเซรามิกจริง ๆ ตอนอายุ 50 ปีแล้ว ตอนนั้นเพราะอยากหางานอดิเรกทำและสามารถทำเป็นอาชีพได้”

“ฉันเริ่มต้นการทำงานในสตูดิโอเล็ก ๆ ทุกวัน คลุกตัวอยู่กับดินเหนียวซึ่งก็พยายามสร้างไอเดียลงไปในดินเหนียว แต่ครั้งหนึ่งฉันมีโอกาสได้ไปที่ญี่ปุ่น และได้เห็นได้รู้จัก ‘โอริกามิ’ (Origami) เป็นการพับกระดาษแบบญี่ปุ่น ฉันรู้สึกว่าชอบสิ่งนั้นมากเลยเป็นแรงบันดาลใจให้ฉันลองพับกับผลงานของตัวเอง”

“ฉันได้ลองพับแผ่นดินเหนียวทำมันเป็นแผ่นบาง ๆ และพับเหมือนกระดาษ นั่นคือช่วงเวลาที่ฉันตัดสินใจตัดดินเหนียวด้วยกรรไกร และก็ลองทำผลงานให้ดูเป็นซีกครึ่งโลก ฉันตัดมันด้วยกรรไกร และก็พับมัน ปรากฎว่ามันเป็นสไตล์ที่ใหม่มาก ไม่เคยมีใครทำมาก่อน และก็หลายคนรู้สึกประหลาดใจกับผลงานของฉัน”

เปิดเรื่องราว 4 ศิลปินชื่อดัง ‘เครื่องดินเผาสู่งานศิลปะ’ ในงานบทสนทนาระหว่าง คน หม้อ ไห

Hoey เธอเป็นคนที่ค่อนข้างหัวดีเรื่องคณิตศาสตร์ตั้งแต่เด็ก ชอบเกี่ยวกับรูปทรงเรขาคณิต ซึ่งการไปญี่ปุ่นครั้งนั้นทำให้เธอรู้ตัวว่า นอกจากจะชอบโอริกามิของญี่ปุ่นแล้ว เธอยังชอบรูปทรงเรขาคณิตของสวนหินญี่ปุ่น, การเรียงเส้น และวิถีเซน ความเรียบง่ายและธรรมชาติคือแรงบันดาลใจของผลงานของ Hoey

 

Janet DeBoos (ออสเตรเลีย)

Janet DeBoos เธอเคยเป็นหัวหน้าแผนกด้านเซรามิกที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (ANU) มานานกว่า 50 ปี และหลาย ๆ ช่วงอายุของเธอก็คลุกคลีและมีประสบการณ์เกี่ยวกับเครื่องปั้นดินเผามาตลอด ในปัจจุบัน DeBoos เป็นอาจารย์อาวุโสกิตติมศักดิ์ให้กับ Australian National University School of Art & Design ตั้งแต่ปี 2019

นอกจากนี้ เธอยังมีผลงานอยู่ในคลังสะสมถาวรของพิพิธภัณฑ์ทั่วโลกรวมถึง the National Gallery of Australia และ the Boston Museum of Fine Art ผลงานของเธอในชุดนี้มีการใช้การตกแต่งด้วยหลากหลายวิธีด้วยกัน อีกทั้งยังพูดถึงชีวิตที่คาบเกี่ยวระหว่างออสเตรเลียและจีนซึ่งเป็นประสบการณ์ตรงของเธอด้วย

DeBoos พูดกับ The People ว่า “ผลงานของฉันเกิดจากแรงบันดาลใจจากจีน ฉันก็ใช้เวลาส่วนใหญ่ในประเทศจีน ฉันรู้สึกทึ่งกับเสียงตีระฆังของจีนและสนใจเครื่องปั้นดินเผาของจีนทั้งหมด นอกจากนี้ ฉันยังทำงานหลายอย่างกับชาวอะบอริจินในออสเตรเลียด้วย ดังนั้นหลาย ๆ เรื่องราวที่ฉันถ่ายทอดออกมาก็มีงานศิลปะของหลายที่ผสมอยู่”

เปิดเรื่องราว 4 ศิลปินชื่อดัง ‘เครื่องดินเผาสู่งานศิลปะ’ ในงานบทสนทนาระหว่าง คน หม้อ ไห

“ช่วงก่อนโควิด-19 ฉันไปจีนบ่อยมาก พูดว่าเหมือนเป็นบ้านหลังที่ 2 ของฉันเลยก็ได้ สำหรับฉันมักจะปั้นเครื่องดินเผาที่ใช้งานได้จริง มีฟังก์ชั่นใช้งานจริง ๆ แต่ฉันไม่ต้องการให้งานศิลปะมันกลายเป็นเรื่องของธุรกรรม การขาย การพาณิชย์ โดยเฉพาะในจีนที่เรามักจะเห็นสิ่งของ เช่น แจกัน แบบซ้ำ ๆ กันเหมือนกัน และเป็นปริมาณที่เยอะมาก”

“ผลงานของฉันมันจะคล้าย ๆ ซีรีส์ชื่อ That hour of the morning เป็นเหตุการณ์หนึ่งที่ต่างคนต่างทำสิ่งต่าง ๆ บางคนมีแก้วน้ำ, ฉันมีชาอังกฤษหนึ่งถ้วย, บางคนมีขนมปังปิ้งและบิสกิต หรืออาจจะมีชิ้นผลไม้ ผลงานของฉันก็เหมือนกับถาดที่จินตนาการไว้ ก็คือเอาหลาย ๆ อย่างจากทุกคนมารวมกัน”

“นั่นคือสาเหตุที่ผลงานบางชิ้นมีสีสันมาก และบางส่วนก็อาจจะเป็นภาพขาวดำมาก ๆ เช่นกัน”

ความน่าสนใจของผลงานศิลปะของ DeBoos คือเธอเปรียบภาพให้เห็นชัดขึ้นเหมือนเป็น ‘รอยสักชั่วคราว’ หรืออะไรทำนองนั้น คือทั้งหมดที่เราเห็นเธอวาดขึ้นด้วยมือ บางส่วนของชิ้นงานก็ลงสีก่อนแลล้วค่อยวาดภาพ งานศิลปะของเฮเหมือนเป็นการถ่ายโอน คือนึกอะไรได้ก็เติมลงไป ไม่มีแรงบันดาลใจที่ตายตัว ถ้าวันนั้นเอรู้สึกถึงแม่น้ำหรือทะเลเธอก็วาดมันลงไป หากอีกฝั่งเป็นเหมือนความแห้งแล้ง เธอก็อาจจะเติมจิงโจ้ลงไป (เธอหัวเราะตอนที่อธิบายให้เล่าฟัง)

เปิดเรื่องราว 4 ศิลปินชื่อดัง ‘เครื่องดินเผาสู่งานศิลปะ’ ในงานบทสนทนาระหว่าง คน หม้อ ไห

“อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญคือ ดินเหนียว เพราะฉันรวบรวมดินเหนียวที่ละเอียดมากเราที่เรียกว่า Terraterracotta ด้วยเทคนิคดั้งเดิม จึงทำให้ตราประทับบนเครื่องปั้นดินเผาไม่มีการเคลือบ, จะไม่เงา และพื้นผิวจะคล้ายทะเลทราย”

ทั้งนี้ DeBoos เธอได้พูดถึงปรัชญาการทำงานของเธออย่างน่าสนใจ เพราะเธออธิบายว่า “จริงแล้วฉันคิดว่าฉันทำงานเพื่อตัวเอง ไม่ใช่เพื่อผู้ชม ฉันปั้นฉันสร้างขึ้นเพื่อตอบคำถามเกี่ยวกับโลก ไม่ว่าจะเป็น อุตสาหกรรม, แฮนด์เมด, จีน, ออสเตรเลีย, ความเป็นชนบท, การตกแต่งไม่ตกแต่ง หรือประวัติศาสตร์ก็ตาม ฉันเลยคิดว่าการทำงานของฉันมันก็คือการหาคำตอบ สำหรับฉันมันมีช่องว่างเสมอ ไม่เคยขาวหรือดำแต่จะเป็นสีเทา มันเลยทำให้การทำเครื่องปั้นดินเผาพิเศษสำหรับฉันเพราะเหมือนได้เรียนรู้อะไรหลาย ๆ อย่างไปด้วย”

 

Ilona Romule (ลัตเวีย)

“ทุกคนมีเรื่องราวของตัวเอง และนี่ก็เป็นเรื่องส่วนตัวของฉันอย่างลึกซึ้ง” ประโยคของ Ilona Romule จากลัตเวียที่เธอเคยพูดเกี่ยวกับผลงานของตัวเอง ผลงานศิลปะที่ดูมีเอกลักษณ์ แปลกตา และค่อนข้างอยู่ในโลกแห่งจินตนาการ เธอบอกกับเราว่า “ฉันน่าจะเป็นเพียงคนเดียวในงานนี้ที่ผลงานเป็นรูปเป็นร่างชัดเจน คือคนอื่นอาจจะเป้นการวาดหรือตกแต่ง แต่ของฉันคือเป็นรูปร่าง”

ด้วยความที่ครอบครัวของเอเป็นศิลปินกันทุกคน มีความรักในงานศิลปะเป็นทุนเดิม Romule ก็เป็นหนึ่งในนั้นที่เธอชอบอยู่ในโลกของจินตนาการตั้งแต่เด็ก เธอบอกว่าในลัตเวียมีเทพนิยายมากมาย มีเรื่องราวขานที่น่าสนใจ และทุกคนก็ชื่นชอบ เธอเองก็เช่นกัน

“ฉันมาจากครอบครัวศิลปิน นั่นคือเหตุผลที่ทำไมฉันมีทักษะเหล่านี้ แม่ของฉันเป็นจิตรกรคลาสสิก น้องสาวของฉันเป็นศิลปินกราฟิก และพ่อของฉันเป็นช่างแกะสลักไม้ ดังนั้นฉันจึงทำงานของฉัน ฉันเริ่มจากการแกะสลักก่อน แล้วจึงเริ่มเป็นศิลปินงานเซรามิก”

“ผลงานของฉันเรียกว่ามันคือประติมากรรมก็ได้ ฉันมักจะนำเรื่องราวของเทพนิยายของลัตเวียมาผลสมผสานกับจินตนาการของตัวเอง และปั้นมันออกมา อย่างที่เห็นว่าผลงานของฉันอาจจะเป็นครึ่งคนบ้าง ครึ่งสัตว์บ้าง เพราะมันมาจากเทพนิยาย”

เปิดเรื่องราว 4 ศิลปินชื่อดัง ‘เครื่องดินเผาสู่งานศิลปะ’ ในงานบทสนทนาระหว่าง คน หม้อ ไห

“ผลงานทุกชิ้นของฉันก็เหมือนเป็นการเล่าผ่านตัวตนของฉันทั้งหมด เหมือนว่าพวกเขาสามารถอ่านเรื่องราวส่วนตัวของฉันได้ ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงที่มีหน้าตาแบบนี้ ส่สนผู้ชายก็แบบนี้ แล้วพวกเขาก็มีแขนยาว ขายาว มีนิ้ว ที่ต่างไปจากโลกความจริงอย่างสิ้นเชิง”

เธอยังเล่ากระบวนการคิด ที่มาของไอเดียของเธอด้วยว่า “บางครั้งฉันไปหรือเห็นเงาบางอย่างที่น่าสนใจมาก ฉันพยายามสเก็ตช์ภาพออกมา หรือแม้แต่ก้อนเมฆหรือรอยแตกบนท้องฟ้าที่ฉันเห็น อะไรก็ตามแต่ที่ผ่านสายตาฉัน สามารถดัดแปลงมาเป็นงานศิลปะได้ทั้งหมด ดังนั้น เรื่องการลอกเลียนแบบไอเดียจากฉันจึงค่อนข้างยาก”

สำหรับการเติมไอเดียของ Romule นั่นไม่ยากเพราะมันมาจากการเดินทาง ซึ่งก่อนหน้าที่จะเกิดโควิด-19 เธอเดินทางถึง 9 เดือนในแต่ละปี เธอยังพูดถึงเทคนิคการใช้สี 3D ที่เป็นอัตลักษณ์งานของเธอว่า “ฉันชอบวาดรูป จริง ๆ ฉันอยากเป็นศิลปินกราฟฟิก แต่สำหรับฉัน 2D มันน่าเบื่อเกินไป เพราะพ่อของฉันก็เป็นประติมากร ดังนั้น ฉันจึงลองบวกทักษะด้านเครื่องประดับเข้าไปก็คือการวาดด้วยมือทำเป็นสี 3D ขึ้นมาเพื่อเกิดเป็นมิติเพิ่ม”

เปิดเรื่องราว 4 ศิลปินชื่อดัง ‘เครื่องดินเผาสู่งานศิลปะ’ ในงานบทสนทนาระหว่าง คน หม้อ ไห

เมื่อลองให้ Romule นิยามเกี่ยวกับตัวเอง เธอบอกว่าไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นศิลปินด้วยซ้ำ แต่เธอเป็น ‘นักเล่าเรื่อง’ เพียงแต่งานปั้นเซรามิกคือสิ่งที่เธอเลือกถ่ายทอดและสื่อสาร ซึ่งงานนิทรรศการนี้ก็คิดว่าอาจจะทำให้เธอได้ไอเดียใหม่ ๆ กลับไป หรือสามารถแชร์เทคนิคต่าง ๆ ให้กับศิลปินคนอื่นได้

นี่เป็นเพียงบางส่วนของศิลปินต่างชาติที่ The People ได้พูดคุย ภายในงานยังมีผลงานอีกมากมายที่น่าสนใจทั้งศิลปินคนไทยและต่างชาติจากประเทศอื่น ตลอดการพูดคุยเรารู้สึกถึงพลังในการสร้างสรรค์ รู้สึกถึงความมุ่งมั่นตั้งใจ ซึ่งอย่างน้อยงานนิทรรศการนี้ก็อาจจะเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่าการบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับคนไทย, ศิลปินไทย, หรือในแต่ละประเทศ งานศิลปะเครื่องปั้นดินเผาก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางสื่อสารที่น่าสนใจเหมือนกัน

เปิดเรื่องราว 4 ศิลปินชื่อดัง ‘เครื่องดินเผาสู่งานศิลปะ’ ในงานบทสนทนาระหว่าง คน หม้อ ไห