04 เม.ย. 2566 | 15:45 น.
“You even kiss it คุณจูบมันด้วยซ้ำเวลาคุณยกถ้วยขึ้นมาจ่อที่ริมฝีปาก”
“นี่มันคือความโรแมนติกของงานปั้น เหมือนเราได้สัมผัสกับศิลปินคนนั้นโดยไม่รู้ตัว อย่างถ้วยที่คุณกำลังจับอยู่ คนปั้นเขาสัมผัสมาก่อนแล้ว ทั้งลวดลาย ความโค้งนูน ความหยาบกระด้าง เขาจงใจทำมันขึ้นมาทั้งหมด เหมือนกับเรากำลังจ้องตากับเขาอยู่”
‘พิม สุทธิคำ’ เปรียบงานปั้นเข้ากับความโรแมนติกจนทำเอาเรารู้สึกเขินไม่รู้ตัว เพราะก่อนที่เธอจะพูดจบ เรากำลังยกแก้วเซรามิกใบงามขึ้นมาจรดริมฝีปาก แต่ใครจะไปคิดว่าแก้วที่เรากำลังถืออยู่จะขโมยจูบเราไปเสียอย่างนั้น
หลังจากซึมซับเอาความทรหดมาเต็มที่ ขณะเป็นนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เธอได้รับทุน ก.พ. (ทุนคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน) ไปศึกษาต่อที่ประเทศสวีเดน สาขาเซรามิกโดยตรง และกลับมาประเทศไทยในปี พ.ศ. 2542 เพื่อมาเป็นอาจารย์ที่พร้อมขัดกล่อมจิตวิญญาณนิสิตให้เข้าถึงแก่นแท้ของดิน
ปัจจุบัน เธอคืออาจารย์ประจำภาควิชาการออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำหน้าที่กระชากตัวตนและความรู้สึกนึกคิดของนิสิตให้ออกมาโลดแล่นผ่านงานปั้น และเป็นชาวเอเชียคนแรกที่ได้รับตำแหน่งรองประธานของสมาคม International Academy of Ceramics หรือ IAC สมาคมด้านศิลปะเครื่องปั้นดินเผาในระดับนานาชาติ ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2495 ณ ประเทศสวิสเซอร์แลนด์
กว่า อาจารย์พิม จะได้รับความไว้วางใจในระดับนานาชาติ เธอต้องทุ่มเททั้งพลังกายและใส่จิตวิญญาณลงไปไม่ยั้ง เพื่อให้งานปั้นซึมลงไปกลางใจ ถึงจะเหนื่อยจนร่างแทบแหลก แต่ทุกครั้งที่เธอพูดถึงงานปั้น สายตาของเธอกลับเปล่งประกาย นั่นแหละคือจุดที่ทำให้เราเห็นแล้วว่า ตำแหน่งรองประธานสมาคมฯ คงไม่ได้มาเพราะโชคช่วย
เราหยุดอยู่ตรงหน้าบ้านของเธอ กดกริ่ง พร้อมกับก้มลงมองนาฬิกาข้อมือที่ระบุเวลา 10:00 น. พอดีเป๊ะ เรามาถึงเร็วไปครึ่งชั่วโมง กดกริ่ง รอการตอบรับจากเจ้าของบ้าน
เสียงบานประตูบ้านที่ค่อย ๆ เลื่อนออกทำเอาเราสะดุ้งเล็กน้อย เราเดินตามอาจารย์พิม ก่อนจะหยุดชะงักกับภาพที่เห็น เพราะภายในรั้วบ้านราวกับเป็นโลกอีกใบ โลกที่ตัดขาดจากความวุ่นวายภายนอก เราเห็นแมวกำลังวิ่งเล่น เสียงนกดังระงม ต้นไม้ที่กำลังสั่นไหวเพราะแรงลม
เราเลือกที่จะนั่งรออาจารย์พิมในสวนของเธอ ปล่อยให้เวลาผ่านไป จนเข็มชี้ที่เลขสามสิบ เราจึงเริ่มเปิดบทสนทนาระหว่าง ‘คน หม้อ ไห’ กับเธอ และนี่คือเรื่องราวความโรแมนติกของดินที่อาจารย์พิมส่งต่อมาถึงเรา
เริ่มเพราะอยากเป็นนักประดิษฐ์
“เราอยากเป็นยอดนักประดิษฐ์ของโลก”
“ตั้งแต่เด็กเราสงสัยมาตลอดว่าสิ่งของต่าง ๆ มันเกิดขึ้นมาได้ยังไง มนุษย์เราทำแบบนี้ได้ยังไงกันนะ คิดขึ้นกันเองได้เลยเหรอ หรือแม้กระทั่งความเป็นไปของโลก ธรรมชาติวิทยา ทำไมทุกสิ่งมันถึงเกิดขึ้นมาได้ ก็รู้สึกสนใจใคร่รู้ในสิ่งเหล่านี้ แต่อีกแง่มันก็ช่วยเพิ่มทักษะการเอาชีวิตรอดนะปัจจุบันเรายังใช้อยู่เลย”
ทักษะการเอาชีวิตรอดที่เธอได้เรียนรู้ผ่านทางงานปั้น ทำเอาเรารู้สึกสนใจขึ้นมาทันที เพราะหากมองดูรอบบ้านที่มีตั้งแต่ จักรยาน Audax สำหรับปั่นทางไกล ไปจนถึงบาร์ออกกำลังกาย ไหนจะเชือกเส้นโตที่ผูกห้อยอยู่บนต้นไม้อย่างเป็นระเบียบ ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าอุปกรณ์เหล่านี้คือแหล่งรีดเหงื่อชั้นดีของเธอเป็นแน่
“เรารู้สึกว่าการปั่นจักรยานมันกำลังเรียกร้องเราในระดับที่ให้ไม่ได้ ใครมันจะไปปั่น 200 กิโลเมตรได้ บ้า ใครจะไปทำได้” เธอพูดพลางหัวเราะ ก่อนจะขยายความเพิ่มเติมว่า การทำกิจกรรมเหล่านี้ ทำให้เธอนึกย้อนไปตอนเรียนมหาวิทยาลัย ยิ่งเธอทุ่มพลังชีวิตใส่จิตวิญญาณลงไปเท่าไหร่ มันก็ไม่เคยพอ
“ตอนเรายังเรียนอยู่ นอกจากจะเรียนหนักมากแล้ว มันยังมีการสร้างเงื่อนไขออกมาเยอะแยะมากมาย คล้าย ๆ กับการกระชากตัวตนที่แท้จริงของคนออกมา แล้วสลัดคราบเราคนเดิมออกไป มันทำให้เราต้องทิ้งสิ่งที่ไม่จำเป็นในชีวิตออกไปเยอะพอสมควร เพราะว่าการเรียนมันเรียกร้องจากเรามากเหลือเกิน
“แต่พอได้เรียนที่ทำเซรามิกครั้งแรก เพราะมันเป็นหลักสูตรบังคับที่ต้องเรียน ก็แบบ เฮ้ย! ตกใจมาก ทำไมจริตความชอบทุกอย่างบนโลกใบนี้มันถึงมารวมอยู่ในสิ่งนี้ นี่มันคืออะไร ทำไมศาสตร์พวกนี้ถึงรวมเอาทุกอย่างที่เราชอบมาไว้ที่เดียวกันทั้งหมด จากนั้นเราก็ไปเรียนต่อปริญญาโทที่สวีเดน จบมาก็กลับมาเป็นอาจารย์ที่จุฬาฯ”
อำนาจของผู้สร้าง
จากเด็กหญิงพิมที่เคยฝันอยากเป็นสุดยอดนักประดิษฐ์ ก้าวกระโดดเข้าสู่โลกของศิลปะอย่างเต็มตัว และเป็นชาวเอเชียคนแรกที่ได้นั่งแท่นรองประธานสมาคม International Academy of Ceramics (IAC)
เธอก็ค้นพบกับพลังลึกลับบางอย่าง พลังที่ทำให้เธอกลายเป็นผู้กุมอำนาจผ่านสองมือของเธอเอง
“พอเรามีโอกาสได้ทำงานที่ออกมาจากแรงงานหรือว่ามือของเราโดยตรงเราจะสัมผัสได้ถึงอำนาจชนิดหนึ่ง เป็นรสชาติของอำนาจที่เราสร้างมันขึ้นมาเองกับมือ ถ้ามองดี ๆ เหมือนเป็นเวทมนต์เลยนะ เราสร้างมันขึ้นมาจากไม่มีรูปร่างแล้วทำให้มันมีรูปร่างขึ้นมา ผ่านกระบวนการที่คิดอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้วว่ามันสามารถเอาใช้งานได้”
“นี่คืออำนาจของผู้สร้าง (Maker) ซึ่งมันเป็นคำเดียวกับคำว่า คราฟท์ (Craft) ที่แปลว่าอำนาจเหมือนกัน การทำงานแบบนี้มันเชื่อมโยงเราเข้ากับโลกนี้ในมิตินี้ แล้วเป็นแง่มุมที่มันลืมเลือนไม่ลง
“สำหรับเราพอได้ลิ้มรสแล้วก็มิอาจจะลืมเลือนเหมือนกันนะ แต่ว่าในด้านที่ยากลำบากของมันก็คือ ถึงแม้เราจะมีความพึงพอใจสูง แต่เราก็ถูกมันนวดไปในตัวด้วย ทำให้เรารู้สึกกลายเป็นมนุษย์ตัวจ้อยทุกครั้งที่ไม่สามารถควบคุมอะไรบางอย่างได้
“อย่างงานปั้นเราก็ต้องเรียนรู้เยอะมาก ต้องฝึกเยอะ และที่สำคัญต้องฝึกทักษะอย่างไม่หยุดหย่อน เพราะบางทีเราคิดว่าทำออกมาได้ สามารถเชื่อมโยงจุดนี้ได้ แต่จริง ๆ แล้วเวลาและผลของมันไม่สามารถหลอกลวงใครได้เลยนะ มันเป็นชิ้นงานที่เกิดขึ้นมาจริง ๆ ทำได้คือได้ ไม่ได้คือไม่ได้ High Quality คือ High Quality แล้ว Low Quality ก็คือ Low Quality ตรงไปตรงมามาก ๆ”
สิ่งหนึ่งที่เธอต้องการสื่อสารออกมาคือ การฝากรอยประทับบางอย่างลงไปบนโลกใบนี้ เพราะนี่คือหน้าที่ของศิลปินผู้สร้าง “เครื่องปั้นดินเผามันถูกทำมาเป็นหมื่นปีแล้ว ทุกอารยธรรมบนโลกมีการทำมันขึ้นมา แปลว่าทุกสิ่งทุกอย่างแม้กระทั่งรูปแบบ ได้ถูกคิดได้ถูกทำให้บังเกิดขึ้นมาแล้ว แต่ทีนี้เราในฐานะศิลปินร่วมสมัย แล้วเราอยู่ในช่วงเวลานี้ คงไม่แปลกที่อยากจะได้ที่ทางสักเล็กน้อยที่จะบอกว่านี่เป็นของเรา”
ส่วนคุณค่าของงานปั้นที่เธอบรรจงปลุกปั้นขึ้นมานั้น ไม่ได้อยู่ที่มูลค่าของชิ้นงาน หากแต่เป็นความสัจจริงที่เธอได้ค้นพบ เมื่อหลอมรวมเข้ากับความจริงแท้ที่กระแทกหน้าเธอเข้าอย่างจังว่า ‘ไม่มีงานชิ้นไหนด้อยค่าหรือสูงค่ากว่ากัน’
“คุณค่าของมันน่าจะอยู่ที่ความสัจจริงหรือความจริงแท้ของมัน ว่าเราตั้งใจทำมันไปอยู่ที่ไหน อย่างเช่นว่าถ้ามันจะต้องมีหน้าที่ใช้สอย มันก็ต้องทำหน้าที่ของมันได้ดี ถ้ามันจะต้องเป็นการ Expression มันต้องการสื่อสารอะไรบางอย่าง คือมันไม่มีอันไหนที่มีคุณค่าสูงหรือต่ำกว่ากัน
“แต่ว่าเหนือสิ่งอื่นใดคือมันก็ต้องมีความจำเพาะอย่างสูงหรือมีเอกลักษณ์ที่ไม่ได้ลอกเลียนแบบคนอื่นมา หรือว่ามีพื้นที่ที่เราพยายามเปิดมันออกมาเอง แต่มันยากนะ เพราะว่ามีคนทำมาหมดแล้ว บางทีเราไม่ได้ตั้งใจจะลอกใครแต่มันดันเหมือน ซึ่งแปลว่าเราก็ต้องมีความตระหนักต่อหลาย ๆ สิ่งในโลกพอสมควร
“เพราะเวลาที่เราทำสิ่งนี้เราจะได้สามารถ Stand firm behind my work ฉันมั่นใจในสิ่งนี้แล้วมันเป็นความจริงแท้ อย่างน้อย ณ เวลานั้น ๆ เพราะตัวเราในเมื่อสิบปีที่แล้วก็จะแบบเป็นงานที่ดูแล้วแบบ เฮ้ย! ห่วย อ่อน ถ้าเป็นนาทีนี้ก็ต้องทำให้ดีกว่านั้น ดังนั้นในแต่ละช่วงเวลา มันเลยต้องเจอเผชิญกับความจริงแท้ของชีวิต มีระดับของพัฒนาการที่ไม่เท่ากัน ซึ่งมันก็ควรจะเป็นอย่างงั้นอยู่แล้ว”
บทสนทนาระหว่าง คน หม้อ ไห
“You even kiss it คุณจูบมันด้วยซ้ำเวลาคุณยกถ้วยขึ้นมาจ่อที่ริมฝีปาก”
นี่คือคำหวานแสนจะโรแมนติกที่เราได้ยินมาตั้งแต่เริ่มต้นบทสนทนา บรรยากาศการพูดคุยระหว่างเราจึงคละคลุ้งไปด้วยหมอกควันแสนหวาน แต่หากตัดมิตินี้ทิ้งไป อาจารย์พิมบอกว่า แต่ละชิ้นงานไม่ได้งามหมดงดไปเสียหมด ทุกสิ่งล้วนมีแง่มุมที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน
และไม่แน่ว่าความหวานซึ้งที่เธอหยิบยกมาตอนต้น อาจถูกตีความจนกลายเป็นอื่นก็เป็นได้
“จริง ๆ มันก็เป็นแค่สเปกตรัมเท่านั้นเองว่าจะต้องการถูกตีความมากน้อยแค่ไหน แต่โดยข้อเท็จจริง คุณเลี่ยงไม่ได้อยู่แล้วคือความหมายออกจากมือคุณไปแล้วมันกลายเป็นของคนอื่นไปแล้วคือเป็น Death of the Author ทุกอย่างที่เขียนออกไปแล้ว ใครจะอ่านใครจะเป็นยังไงมันก็ขึ้นอยู่กับเขา มันเป็นแค่ข้อเท็จจริงเท่านั้นเอง
“แต่งานทั้งหมดเราสร้างมันขึ้นมาเพื่อปลดปล่อยเราเองมากกว่า”
ส่วนแก่นแท้ของงานปั้นสำหรับอาจารย์พิม เธอมองว่าทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกนี้ล้วนหมุนเร็วเกินไป การใช้เวลาอยู่กับงานปั้นจึงเหมือนเป็นการเสกเวทมนต์หยุดเวลา ให้กระแสแห่งกาลเวลาไหลลงช้าลง แม้จะเป็นเพียงแค่เสี้ยววินาทีเดียวก็ตาม
“โลกนี้มันเคลื่อนเร็วเกินไป แล้วทุกคนก็จะขับไปทุกทิศทุกทางเลย แต่ว่ากิจกรรมแบบนี้มันแบบพยายามบอกว่า เออ ใจเย็น ๆ นะ นั่งลงแบบว่ากินน้ำกันก่อนนะ เรามาใช้ถ้วยที่แบบค่อย ๆ ทำนะ แทนที่จะผลิตออกมาจากโรงงาน แบบว่าห้าพันใบ Production คืออะไรหรือ Productivity คืออะไรแบบใจเย็นนะ มันมีคนที่แบบว่าเอาชีวิต 20 ปีมาทำถ้วยใบเดียวให้คุณกินน้ำอยู่นะ”
“มันดึงเรามาตรงนั้นมากกว่า มันไม่ได้พยายามจะขับเคลื่อนอะไร ซึ่งจริง ๆ การให้เห็นคุณค่าของการมีชีวิตอยู่ แล้วก็ให้ Appreciate ชีวิตมากกว่า เพราะมิชชั่นของเราในฐานะที่เป็นศิลปินก็ดีหรือเป็น Maker ก็ดี เรารู้สึกว่ามิชชั่นของเราคือการทำให้คนรู้สึกว่าดีใจจังที่มีชีวิตอยู่
“เออมีชีวิตอยู่ก็ดีเหมือนกัน”