14 เม.ย. 2566 | 10:40 น.
ความแพร่หลายของความคราฟต์ที่เป็นกระแสเกาะเกี่ยวกันไปในทุกวงการ ไม่เว้นแม้กระทั่งในกลุ่มของผู้ที่แสวงหาสุนทรียะในการดื่มอย่าง คราฟต์เบียร์ และสุรากลั่นพื้นบ้านไทย
ปฏิเสธไม่ได้ว่า วันนี้ ไม่ว่าจะรูปลักษณ์ของบรรจุภัณฑ์ รสชาติของวัตถุดิบ รวมทั้งกระบวนการผลิตหลากหลาย จากความรู้เฉพาะตัวที่มี ทำให้เครื่องดื่มคราฟต์แอลกอฮอลล์เหล่านี้มีศักยภาพเพียงพอที่จะกลายเป็น Soft Power ของไทยได้อย่างไม่ยากเย็น
“ไม่ว่าจะเป็นเบียร์ หรือ เหล้า เรายังสามารถไปได้ไกลมากกว่านี้” นี่เป็นคำยืนยันจากปากของ วิชิต ซ้ายเกล้า ผู้ก่อตั้ง Chitbeer หนึ่งในคราฟต์เบียร์ไทยเจ้าแรกๆ ที่ประสบความสำเร็จ และได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายในต่างประเทศเขามองว่า เครื่องดื่มคราฟต์แบบไทยๆ ไม่ว่าจะเป็นเบียร์หรือสุราจะยังสามารถไปได้ไกลมากกว่านี้ หากผลักดันให้เป็นหนึ่งใน Soft Power ดังเช่นโซจูของเกาหลี
แต่ไม่ว่าเบียร์ไทยจะมีความปัง และมีเสน่ห์น่าสนใจสำหรับผู้บริโภคมากเท่าไร ก็ยังติดปัญหาที่ว่า เบียร์ทางเลือกเหล่านี้ กลับเป็นสินค้าที่มีราคาแพง
“ตอนอยู่ต่างประเทศ มันทำให้เรารู้ว่า คนธรรมดาๆ ก็ต้มเบียร์กินเองได้”แต่เมื่อหันกลับมาที่ประเทศไทย ศาสตร์ และศิลป์ในการบ่มเพาะรสชาติอันเป็นเอกลักษณ์ของหนึ่งในเครื่องดื่มที่มีความเก่าแก่ที่สุดในโลกนั้น ยังมีความท้าทายมากมายรออยู่
ส่วนหนึ่ง เป็นเพราะกระบวนการทางกฎหมายที่ยังไม่เอื้ออำนวย ขณะที่ ภาษีสรรพสามิตก็เรียกเก็บในอัตราสูง จนกลายเป็นกำแพงหนา และเป็นภาระไม่ต่างจากการแบกหินหนักๆ ไว้บนบ่า ขณะกำลังปีนสู่จุดหมายในฝันบนยอดเขา
ในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์วันนี้ ถึงแม้ไทยจะมีนายทุนใหญ่หลายเจ้าแต่สำหรับ ผู้ประกอบการรายย่อย หรือคนตัวเล็กอย่างเขา กลับรู้สึกว่า กลุ่มทุนเหล่านั้นไม่ใช่คู่แข่งทางการตลาด เนื่องจากผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายเป็นคนละกลุ่มกัน เพราะคราฟต์เบียร์ถือว่าเป็นเครื่องดื่มทางเลือกสำหรับผู้บริโภคที่ชอบความแปลกใหม่และความเป็นเอกลักษณ์
แต่ไม่ว่าคราฟต์เบียร์จะได้รับความนิยมเพียงใด สุดท้ายผู้ผลิตหลายเจ้าโดยเจ้าใหม่ๆ ยังคงสะดุดกับกำแพงภาษีที่ภาครัฐเป็นคนสร้างอยู่ดี หากสังเกตก็จะเห็นว่า ในหลักเกณฑ์ของภาษีสรรพสามิต กลุ่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ RTD (เรดดี้ทูดริ๊งก์) และไวน์คูลเลอร์ มีปริมาณแอลกอฮอลล์ราว 4-10% มีการเก็บภาษี (ราคาขายปลีกแนะนำ) ที่ร้อยละ 10 ขณะที่ เบียร์ ซึ่งมีแอลกอฮอลล์ใกล้เคียงกันหรือน้อยกว่า กลับเสียภาษีอยู่ที่ร้อยละ 22 คือ สูงกว่าเป็นเท่าตัว
มิหนำซ้ำ เมื่อเทียบกับบรรดา “เหล้านอก” ที่มีปริมาณแอลกอฮอลล์ที่สูงถึง 35-40% แต่เก็บภาษีอยู่ที่ร้อยละ 20 ในกติกานี้ ก็ยิ่งทำให้เบียร์เสียเปรียบมากยิ่งขึ้นไปอีก
นี่จึงไม่ต่างจากกำแพงหน้าที่ขวางอยู่ตรงหน้าความฝันของคนตัวเล็กๆ เหล่านี้ที่อยากเห็นเครื่องดื่มคราฟต์ปีนขึ้นไปเป็นหนึ่งในหัวหอก Soft Power ของชาติอย่างที่ โซจูของเกาหลีเคยทำได้มาแล้ว
ภาพ :
jcomp on Freepik