22 ก.พ. 2566 | 14:08 น.
ระดับความสูงของแม่น้ำยวมที่จะเพิ่มสูงขึ้นจากโครงการผันน้ำยวม กำลังจะกระทบชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนริมสองฝั่งแม่น้ำสายนี้
โครงการผันน้ำยวม หรือโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล เป็นการสร้างอุโมงค์ผันน้ําความยาวกว่า 62 กิโลเมตร เพื่อผันน้ําจากแม่น้ํายวมไปยังอ่างเก็บน้ําเขื่อนภูมิพลที่มีปริมาณน้ําไม่เต็มความจุของเขื่อน และยังสามารถกักเก็บน้ําได้อีกมาก โดยโครงการผันน้ำยวมยังมีการก่อสร้างสถานีสูบน้ํา อาคารดักตะกอน และเขื่อนกั้นแม่น้ํายวมอยู่ที่ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน
เขื่อนกั้นแม่น้ำยวมความสูง 69.5 เมตร นี้จะทำให้ระดับน้ำของแม่น้ำยวมเหนือเขื่อนเพิ่มสูงขึ้น เพื่อให้มีระดับน้ำที่เพียงพอต่อการสูบน้ำขึ้นไปยังอุโมงค์ส่งน้ำ ซึ่งระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นอาจส่งผลกระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านสองฝั่งแม่น้ำยวมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
บุญยวง เชียงแก้ว อายุ 58 ปี ผู้ใหญ่บ้านบ้านแม่สวดใหม่ ต.แม่สวด อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งอาศัยอยู่ที่บริเวณนี้มาตั้งแต่เกิดกล่าวว่า ชาวบ้านบางส่วนที่รับทราบเกี่ยวกับโครงการนี้มีความกังวลว่าพื้นที่ทำกินอาจได้รับผลกระทบจากระดับน้ำของแม่น้ำยวมที่เพิ่มสูงขึ้น และอาจไม่ได้รับเงินชดเชยเนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตป่าสงวนซึ่งยังไม่มีเอกสารสิทธิ์
แต่อีกด้านหนึ่งผู้ใหญ่บ้านแม่สวดใหม่มีความเห็นว่าระดับน้ำยวมที่เพิ่มขึ้นตลอดทั้งปีน่าจะช่วยสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนอีกเป็นจำนวนมากจากการท่องเที่ยวที่กำลังจะเกิดขึ้น ทั้งการล่องแพชมธรรมชาติ และบริเวณเขื่อนน้ำยวมที่จะเป็นจุดท่องเที่ยวแห่งใหม่ของที่นี่ ซึ่งเดิมระดับน้ำของแม่น้ำยวมในช่วงฤดูแล้งมีปริมาณน้อยทำให้ชาวบ้านไม่สามารถทําอาชีพแพนําเที่ยวได้
ด้านนายสุระ ชาวบ้านบ้านแม่สวดใหม่ ที่ทำอาชีพรับจ้างขับเรือโดยสารมานานกว่า 30 ปี กล่าวว่า แม่น้ำยวมสามารถใช้สัญจรทางน้ำไปได้ไกลถึงแม่สะเรียง แต่หลายปีที่ผ่านมาระดับน้ำลดต่ำลงไปมาก ทำให้ไม่สามารถสัญจรได้ในช่วงฤดูแล้ง การสร้างเขื่อนน้ำยวมน่าจะช่วยทำให้แม่น้ำยวมกลับมาสัญจรได้ตลอดทั้งปีอีกครั้ง และยังดีต่อชาวบ้านซึ่งประกอบอาชีพแพนำเที่ยวที่จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่มากขึ้นหากโครงการนี้เกิดขึ้นจริง
ที่ผ่านมากรมชลประทานเคยได้เสนอหลักการให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาจ่ายเงินค่าทดแทนทรัพย์สินให้แก่ประชาขนที่ได้รับผลกระทบ โดยได้นำมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2532 มาเป็นหลักเกณฑ์ในการจ่ายชดเชยให้กับประชาชนผู้ถือครองที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์
ไม่เพียงเท่านั้น จากเอกสารของกรมชลประทานระบุว่า โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล จะสามารถช่วยสร้างความมั่นคงทางน้ำให้เกษตรกรไทยมีน้ำสามารถเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกในช่วงฤดูแล้ง จำนวนกว่า 1.6 ล้านไร่ และเพิ่มพลังงานการผลิตไฟฟ้าจากท้ายเขื่อนภูมิพลเฉลี่ยกว่า 417 ล้านหน่วยต่อปี อีกด้วย
ทั้งหมดนี้เป็นเสียงจากคนริมฝั่งแม่น้ำยวมกับวิถีชีวิตที่กำลังจะเปลี่ยนไป