22 ก.พ. 2566 | 14:43 น.
พื้นที่กว่า 6 จุดตามแนวก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำยวม กำลังจะถูกเวนคืนเพื่อเปลี่ยนจุดทิ้งกองดินจากการขุดอุโมงค์ ท่ามกลางความกังวลของคนชาติพันธุ์ที่ใช้พื้นที่บริเวณนี้ทำกิน แต่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ครอบครองตามกฎหมาย
โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่มีวัตถุประสงค์ในการผันน้ำจากแม่น้ำยวมมายังอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำของเกษตรกรเขตชลประทานในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา และลุ่มน้ำปิง โดยประเมินว่าจะสามารถเติมน้ำในเขื่อนภูมิพลได้กว่าปีละประมาณ 1,800 ล้านลูกบาศก์เมตร ครอบคลุมพื้นที่เพาะปลูกพืชช่วงฤดูแล้งไปกว่า 1.6 ล้านไร่ และเพิ่มปริมาณน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคขึ้นอีกปีละประมาณ 300 ล้านลูกบาศก์เมตร
อุโมงค์ผันน้ำยวมมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 8 เมตร ความยาวกว่า 61.52 กิโลเมตร เริ่มต้นจากอำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ไปสิ้นสุดที่ บ้านแม่งูด ตำบลนาคอเรือ อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเจาะผ่านผืนป่าต้นน้ำรอยต่อ 3 จังหวัด ที่ระดับความลึกเฉลี่ย 600 เมตรจากผิวดิน ซึ่งจำเป็นต้องมีพื้นที่ทิ้งกองดินหลายล้านลูกบาศก์เมตรที่ได้จากการขุดอุโมงค์จำนวน 6 จุดตลอดแนวอุโมงค์ ครอบคลุมพื้นที่รวม 444.51 ไร่
โดยพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตป่าสงวนที่กรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นผู้รับผิดชอบ บางส่วนยังเป็นพื้นที่ทับซ้อนซึ่งมีชาวบ้านที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์เข้าไปใช้พื้นที่ทำกิน กองดินที่เกิดขึ้นจากโครงการจึงกำลังสร้างผลกระทบให้กับชาวบ้านที่ใช้พื้นที่บริเวณนี้ทำการเกษตร เลี้ยงสัตว์และเก็บหาของป่า มาเป็นเวลานาน
นายดีดู้ ถาวรธนโชติ ชาวบ้าน หมู่ที่ 5 บ้านแม่ต๋อม ตำบลอมก๋อย อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ชาวบ้านที่มีพื้นที่กว่า 4 ไร่ อยู่ในบริเวณที่คาดว่าจะเป็นจุดทิ้งกองเศษวัสดุกล่าวว่า มีเจ้าหน้าที่เข้ามาสำรวจพื้นที่แล้วแจ้งว่า พื้นที่นาข้าวของตนจะได้รับผลกระทบจากโครงการ ซึ่งตนมีความกังวลเนื่องจากเป็นพื้นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ และยังไม่ทราบรายละเอียดที่ชัดเจนในเรื่องการชดเชยจากโครงการ
กรมชลประทานเคยได้ชี้แจงในประเด็นนี้ว่า กองเศษวัสดุที่เกิดขึ้นจากการขุดเจาะอุโมงค์ของโครงการจะไม่มีผลกระทบต่อประชาชนที่ใช้พื้นที่ เพราะได้มีการสำรวจจุดที่วางกองเศษวัสดุในพื้นที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ และในกระบวนการก่อสร้างยังมีการเกลี่ยปรับหน้าดิน เพื่อปลูกต้นไม้ทดแทนอันเป็นข้อตกลงที่ได้ทำไว้กับกรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นอกจากนี้ยังได้เตรียมมาตรการชดเชยให้กับประชาชนที่สูญเสียพื้นที่ทำกินอีกด้วย