27 ก.พ. 2566 | 13:41 น.
หนึ่งในความกังวลของโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล หรือโครงการผันน้ำยวมคือ ผลกระทบในเรื่องการประมง เนื่องจากสันเขื่อนน้ำยวมอาจเป็นอุปสรรคกับการอพยพของปลาในธรรมชาติ รวมไปถึงอาจทำให้ปลาในลุ่มน้ำสาละวิน เล็ดลอดผ่านอุโมงค์ส่งน้ำไปยังอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล จนกลายเป็นเอเลี่ยนสปีชีส์ได้
การทำประมงในแม่น้ำยวมส่วนใหญ่ จะเป็นการจับสัตว์น้ำเพื่อใช้ประโยชน์เป็นอาหารบริโภคภายในครัวเรือนเท่านั้น มีเพียงส่วนน้อยที่ยึดจับสัตว์น้ำเพื่อจำหน่ายเป็นอาชีพ โดยปลาในแม่น้ำยวมส่วนหนึ่งเป็นปลาที่อพยพมาจากลุ่มน้ำสาละวินตอนล่าง ซึ่งเป็นปลาสองน้ำ มีการอพยพไปมาระหว่างน้ำจืดกับน้ำเค็ม เช่น ปลาสะแงะ (ปลาตูหนา) และปลาที่อพยพย้ายถิ่นในรอบปี เช่น ปลาคม (ปลาพลวง) ปลากดหัวเสียม และปลากดหมู โดยจะอพยพมาหากิน และวางไข่ ในแม่น้ำยวมช่วงที่ระดับน้ำตามธรรมชาติเริ่มสูงระหว่างเดือนมิถุนายน - กรกฎาคม แล้วย้ายกลับไปช่วงที่ระดับน้ำตามธรรมชาติเริ่มลดลงระหว่างเดือน ธันวาคม - มกราคม ของทุกปี
จึงมีความกังวลว่าการสร้างอ่างน้ำยวม และการผันน้ำจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ไม่ว่าจะเป็นการปิดกั้นกระแสน้ำก่อให้เกิดการลดลงของปริมาณสารอาหาร กีดขวางเส้นทางการเคลื่อนย้ายของฝูงปลาซึ่งต้องเคลื่อนย้ายตามวัฏจักรชีวิตส่งผลให้จำนวนและชนิดพันธุ์ลดลง
ทอง ปันม่อง อายุ 60 ปี ชาวบ้านท่าเรือที่อาศัยแม่น้ำยวมทำประมงหากิน เล่าให้ฟังว่า จำนวนปลาที่จับได้ในแต่ละปีเริ่มลดน้อยลงเรื่อย ๆ จากการทำประมงที่ผิดวิธี และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ จึงมีความกังวลว่าการก่อสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำยวมที่สันเขื่อนมีความสูง 69.5 เมตร อาจเป็นอุปสรรคกีดขวางเส้นทางการเคลื่อนย้ายของฝูงปลาในธรรมชาติ ส่งผลซ้ำเติมให้จำนวน และชนิดพันธุ์ปลาลดลงไปอีก
“ตอนนี้ปลาในแม่น้ำยวมน้อยลงทุกปีอยู่แล้ว ถ้ามีเขื่อนมากลัวว่าปลาจะยิ่งน้อยลงไปอีก”
ด้านชาวบ้านบ้านแม่เงาที่ทำอาชีพเรือรับจ้างในแม่น้ำยวม ได้เสริมว่าในอดีตปลาที่นี่มีจำนวนเยอะกว่านี้มาก เคยจับได้หลายกิโลกรัมในแต่ละวัน แต่หลายปีที่ผ่านมา ปริมาณปลาลดน้อยลงไปมาก ทำให้บ่อยครั้งที่ทำการวางเบ็ดหาปลา แต่ไม่ได้ปลาเลยแม้แต่ตัวเดียว
เรื่องนี้กรมชลประทานในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการได้ชี้แจงว่า การสร้างเขื่อนน้ำยวมจะทำให้มีพื้นที่อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่พื้นที่ประมาณ 2,075 ไร่ ที่เก็บกักน้ำได้ตลอดทั้งปีสามารถใช้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลา และปล่อยปลาให้ประชาชนในพื้นที่สามารถจับไปบริโภค แล้วยังช่วยเพิ่มโอกาสในการทำอาชีพประมงให้ชาวบ้านในพื้นที่มีรายได้เพิ่มขึ้นได้ โดยทางกรมชลประทานคาดว่า ปลาที่ปล่อยลงในอ่างเก็บน้ำ จะให้ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 8.5 กิโลกรัมต่อไร่ หรือรวมประมาณ 17,638 กิโลกรัมต่อปี
นอกจากนี้กรมชลประทานยังได้จัดสรรงบประมาณให้กรมประมง ได้มีการศึกษาวิจัยหาวิธีการเพาะขยายพันธุ์ และอนุบาลลูกปลาเพื่อปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติ รวมทั้งจะมีการรวบรวม และลำเลียงพ่อแม่ปลาที่จับได้จากบริเวณท้ายเขื่อนไปปล่อยบริเวณเหนือเขื่อน เพื่อช่วยในการอพยพย้ายถิ่นของปลาในน้ำยวม เช่น ปลาสะแงะ, ปลาคม, ปลากดหัวเสียม ปลากดหมู รวมทั้งปลาชนิดอื่น ๆ ที่จับได้ในช่วงฤดูผสมพันธุ์วางไข่
โดยปลาที่ปล่อยลงในอ่างเก็บน้ำยวมเมื่อเติบโตขึ้น แล้วถึงฤดูน้ำหลากบางส่วนสามารถว่ายลงสู่ท้ายน้ำเข้าสู่แม่น้ำเมย บางส่วนจะว่ายเข้าสู่ลำน้ำยวมตอนบน ไปจนถึงลำน้ำเงา และลำน้ำสาขาที่เชื่อมต่อกันได้ ทำให้ผลผลิตปลาในลำน้ำต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย
ส่วนความกังวลเรื่องปลาในลุ่มน้ำสาละวินเล็ดลอดผ่านอุโมงค์ส่งน้ำไปยังอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลจนกลายเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่น หรือ เอเลี่ยนสปีชีส์ (Alien Species) ทางกรมชลประทานได้ระบุว่า มีการเตรียมมาตรการรองรับ ได้แก่ การติดตั้งอุปกรณ์เพื่อป้องกันเศษไม้ ขยะ วัชพืช รวมทั้งปลาขนาดใหญ่เข้าสู่บริเวณสถานีสูบน้ำบ้านสบเงา และมีการติดตั้งระบบการยับยั้งปลาด้วยคลื่นเสียง โดยแบ่งระดับเสียงออกเป็น 2 ระดับ เพื่อรบกวน และขับไล่สัตว์น้ำไม่ให้ว่ายน้ำเข้ามาในเขตบริเวณที่ตั้งเครื่องสูบน้ำ และระบบป้องกันสัตว์น้ำด้วยคลื่นอัลตร้าโซนิกส์ (Ultrasonic) ซึ่งจะสามารถขับไล่ปลา กำจัดลูกปลา และไข่ปลาที่หลุดเข้าสู่พื้นที่สถานีสูบน้ำได้
โครงการผันน้ำยวม จึงอาจเป็นโอกาสครั้งใหม่ของประชาชนในพื้นที่ จากการเพิ่มขึ้นของปริมาณปลา ที่จะช่วยสร้างรายได้เพิ่มมากขึ้นจากการประกอบอาชีพประมง