23 มี.ค. 2566 | 14:33 น.
“น้ำถือเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ และจำเป็นต่อการดำรงชีพขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ให้มีระดับมาตรฐานความเป็นอยู่ขั้นพื้นฐานที่พอเพียง และอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรีรวมถึงการได้รับสิทธิมนุษยชนในด้านอื่น ๆ”
ในปี 2002 คณะกรรมการว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติ(Committee on Economic, Social and Cultural Rights) ซึ่งเป็นคณะกรรมการประจำกติการะหว่างประเทศ ได้มีคำวินิจฉัยว่าด้วยสิทธิเกี่ยวกับน้ำ ทำให้รัฐต้องคุ้มครองสิทธิของประชาชนในประเทศ
เป็นที่มาของโครงการมากมายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ ที่มีส่วนช่วยให้พวกเราทุกคนสามารถเข้าถึงน้ำสะอาดเพื่อการอุปโภค บริโภค และใช้ประโยชน์ทำกินได้อย่างพอเพียงเท่าเทียมกัน
โครงการผันน้ำยวม ที่กำลังจะเกิดขึ้นก็เป็นอีกโครงการที่ช่วยหล่อเลี้ยงชีวิตของผู้คนหลายสิบล้านคน และสร้างความมั่งคงทางด้านน้ำให้กับประเทศไทย ด้วยการผันน้ำจากแม่น้ำยวมในช่วงฤดูฝนที่ปกติถูกปล่อยลงแม่น้ำสาละวินอย่างไม่เกิดประโยชน์ ผ่านอุโมงค์ส่งน้ำขนาดใหญ่เพื่อมาเติมเต็มให้กับอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล ซึ่งจะถูกนำไปใช้ประโยชน์ตั้งแต่ภาคเกษตรกรรม การผลิตกระแสไฟฟ้า ไปจนถึงการอุปโภคบริโภคของประชาชนในลุ่มเจ้าพระยา
และนี่คือส่วนหนึ่งของเสียงสะท้อนจากต้นทางโครงการที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ไปจนถึงปลายทางของผู้ใช้น้ำที่กรุงเทพมหานคร
แม่ฮ่องสอน
“ผมอยากเห็นความเจริญเข้ามาในหมู่บ้าน ตอนนี้ชาวบ้านทำเกษตรได้แค่ช่วงฤดูฝน ถ้ามีโครงการชาวบ้านจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการรับจ้าง และการท่องเที่ยวที่เกิดขึ้น ที่สำคัญจะได้ไม่ต้องออกไปหางานทำที่อื่น”
พ่อหลวงบุญยวง เชียงแก้ว ผู้ใหญ่บ้านบ้านแม่สวดใหม่ อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นจุดที่จะสร้างสถานีสูบน้ำ และอ่างเก็บน้ำยวม ได้พูดถึงประโยชน์ที่ชาวบ้านในพื้นที่ของเขาจะได้รับหากโครงการผันน้ำยวมแล้วเสร็จ
ไม่ต่างจากสุระ ชาวบ้านบ้านแม่สวดใหม่ที่ทำอาชีพขับเรือรับจ้างแล้วหาปลาในแม่น้ำแถบนี้มาหลายสิบปี ที่พูดอย่างมีอย่างมีความหวังว่าโครงการนี้น่าจะช่วยให้เขามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้เพราะช่วงหลายปีที่ผ่านมาจำนวนปลาที่จับได้ในแม่น้ำยวมมีจำนวนลดลงจนน่าตกใจ
“ปลาน้อยลงกว่าปีก่อน ๆ แต่ก่อนเคยจับได้ทีหนึ่งหลายกิโลกรัม แต่เดี๋ยวนี้บางวันไม่ได้สักตัว ถ้ามีเขื่อนปลาก็น่าจะเยอะ และตัวใหญ่ขึ้น”
เชียงใหม่
น้ำจากแม่น้ำยวมที่สถานีสูบน้ำบ้านแม่สวดใหม่ จะถูกเครื่องสูบน้ำจำนวน 6 เครื่องส่งผ่านอุโมงค์ขนาดใหญ่ที่อยู่ลึกไปในดินหลายร้อยเมตรความยาวกว่า 60 กิโลเมตร โดยมีทางออกอยู่ที่ห้วยแม่งูด ตำบลนาคอเรือ อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่
แม้ประชาชนในพื้นที่บริเวณนี้จะมีความกังวลเรื่องปริมาณน้ำของลำห้วยแม่งูดที่จะเพิ่มสูงขึ้นจากการผันน้ำ แต่ส่วนหนึ่งรู้สึกว่าหากมีน้ำตลอดทั้งปีน่าจะช่วยพวกเขาในเรื่องการทำเกษตรกรรม ซึ่งพ่อหลวงวันชัย สีนวน ผู้ใหญ่บ้านแม่งูด ได้เล่าให้ฟังว่า ลำห้วยแม่งูดในช่วงฤดูฝนมีปริมาณน้ำสูงเกือบทุกปี แต่พอเวลาผ่านไปไม่นานก็จะแห้งจนเดินสัญจรผ่านไปมาได้ ถ้าโครงการผันน้ำเกิดขึ้นแล้วทำให้มีน้ำตลอดทั้งปี จะเป็นประโยชน์กับชาวบ้านในพื้นที่อย่างมาก
“ถ้ามีน้ำมาตลอดก็ดี แต่เขาบอกว่าจะผันมาแค่ช่วงฤดูฝนที่น้ำเยอะอยู่แล้ว”
น้ำจากลำห้วยแม่งูดจะไหลต่อไปรวมกันที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล ซึ่งเดิมมีปริมาณน้ำไม่เต็มความจุ ปริมาณน้ำที่ผันเพิ่มปีละกว่า 1,795.25 ล้านลูกบาศก์เมตรนี้ น่าจะช่วยทำให้ทะเลสาบดอยเต่าได้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง จากนักท่องเที่ยวจำนวนมากที่เดินทางมาพักผ่อน และชมความสวยงามของที่นี่
สามารถ คำจันทร์ หรือที่คนแถวนี้เรียกเขาว่า โจ ดอยเต่า หนุ่มฮิปปี้เจ้าของแพนำเที่ยว และร้านกาแฟบ้านดินอินเดอะดอย พูดถึงอนาคตของดอยเต่าว่าหากที่นี่มีน้ำตลอดทั้งปีกลับจะช่วยให้ทะเลสายดอยเต่ากลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง
“ผมเป็นคนดอยเต่าแต่กำเนิด ระดับน้ำมีผลกับการท่องเที่ยวของที่นี่ ถ้าน้ำเยอะธุรกิจแพนำเที่ยวก็ได้ประโยชน์ เพราะมีรายได้จากนักท่องเที่ยวมากขึ้น”
พิจิตร
น้ำในเขื่อนภูมิพลนอกจากจะถูกนำไปผลิตกระแสไฟฟ้าแล้ว ยังมีหน้าที่สำคัญคือ เป็นน้ำเพื่อการเกษตรกรรมในพื้นที่ท้ายเขื่อน ให้กับเกษตรกรในโครงการกำแพงเพชรกว่า 286,782 ไร่ และโครงการเจ้าพระยาใหญ่ 1,323,244 ไร่ โดยการปริมาณน้ำต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการผันน้ำนี้จะช่วยให้เกษตรกรในพื้นกว่า 1.6 ล้านไร่ มีน้ำชลประทานสำหรับทำการเกษตรในฤดูแล้ง
ตัวแทนเกษตรกรชาวนา อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร อย่างศรชัย สิบหย่อม เกษตรกรตัวจริงที่มีสั่งสมประสบการณ์การทำเกษตรกรรมในพื้นที่ภาคกลางมานานมากกว่า 40 ปี ได้เล่าให้ฟังถึงปริมาณน้ำในแต่ละปีที่ส่งผลกับผลผลิตทางการเกษตรของพวกเขาว่า
“ปัจจัยหลักของเกษตรกรคือ น้ำที่รับมาจากเขื่อนภูมิพล พืชผลทางการเกษตรไม่ว่าจะเป็นข้าว อ้อย ข้าวโพด หรือมันสำปะหลัง ต้องใช้น้ำทั้งหมด ถ้าไม่มีน้ำสำหรับการเพาะปลูกพืชผลก็เสียหายทั้งหมด ทำให้เกษตรกรต้องกู้หนี้ยืมเงินมาลงทุนกันไม่รู้จบ เราเลยอยากให้เขื่อนแม่น้ำยวมมาเติมเขื่อนภูมิพลจะได้มีน้ำสำหรับทำการเกษตรอย่างต่อเนื่อง”
หวัน จุมพรม ชาวบ้านตำบลหนองโสน อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร พูดถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากการผันน้ำในครั้งนี้ไม่ต่างจากศรชัยว่า
“มีอยู่ปีหนึ่งที่ผมลงทุนไป 40 ไร่ แล้วเกิดภัยแล้งพอดี รอบนั้นเสียเงินไปกว่า 2 แสนบาท ต้องยืมเงินมาลงทุนใหม่ เลยอยากฝากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมาดูแลเรื่องการบริหารจัดการน้ำ เพื่อที่เกษตรกรจะได้มีน้ำสำหรับทำการเกษตร”
กรุงเทพมหานคร
น้ำจากแม่น้ำยวมอันอยู่ห่างไกลไหลผ่านอุโมงค์ส่งน้ำมายังอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล ซึ่งส่วนสำคัญที่สุดคือการถูกนำไปใช้ในการเพาะปลูกเพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารให้กับประเทศ ถึง 80% แต่น้ำบางส่วนยังมีประโยชน์ในการใช้ผลักดันน้ำเค็มให้กับแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงที่มีน้ำทะเลหนุนสูง
ความเค็มที่เพิ่มขึ้นของแม่น้ำเจ้าพระยานี้อาจส่งผลกับน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค ของประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑลบางส่วน เนื่องจากแหล่งน้ำดิบที่เป็นเส้นเลือดใหญ่ในการผลิตมีจุดเริ่มต้นที่สถานีสูบน้ำดิบสำแล จังหวัดปทุมธานี ที่แม้ว่าจะที่ห่างจากอ่าวไทยบริเวณปากน้ำกว่า 96 กิโลเมตร แต่บางช่วงเวลาที่น้ำทะเลหนุนสูงส่งผลให้บริเวณนี้มีค่าความเค็มเพิ่มมากขึ้น
โดยน้ำที่ผ่านสถานีสูบน้ำดิบแห่งนี้จะถูกนำไปปรับปรุงคุณภาพเพื่อหล่อเลี้ยงผู้คนกว่า 10 ล้านชีวิต การที่น้ำดิบจากแม่น้ำเจ้าพระยามีค่าความเค็มเพิ่มขึ้นเล็กน้อยแม้จะไม่เกินค่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO) แต่อาจไม่ปลอดภัยสำหรับกลุ่มเสี่ยงทั้ง เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคไต โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิต ที่มีโอกาสได้รับปริมาณโซเดียมเกินปริมาณที่เหมาะสม
การบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทาน โดยเฉพาะแนวคิดในการผันน้ำยวมเพื่อมาเติมให้เขื่อนภูมิพลจึงเป็นทางออกหนึ่งในการแก้ไขปัญหาค่าความเค็มของน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อช่วยให้ประชาชนได้มีน้ำสะอาดที่มีคุณภาพสำหรับอุปโภค และบริโภคตลอดทั้งปี
การเดินทางของหยดน้ำเล็ก ๆ ในแม่น้ำยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน ผ่านหนทางไกลกว่า 700 กิโลเมตร แล้วไหลลงทะเลที่อ่าวไทย ก่อนจะระเหยขึ้นไปรวมตัวกันเป็นเมฆก้อนใหญ่รอวันกลั่นตัวกลับมาเป็นฝนคืนสู่พื้นดินอีกครั้งนี้ สามารถสร้างประโยชน์ให้กับผู้คนมากมายหลาย 10 ล้านชีวิตตลอดเส้นทางที่ผ่าน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร สร้างอาชีพ หล่อเลี้ยงชีวิตให้มีความหวัง ช่วยให้มีใครหลายคนมีน้ำสะอาดที่มีคุณภาพสำหรับดื่มกิน และช่วยสร้างความมั่นคงทางด้านน้ำให้กับประเทศไทย แล้วนี่คือประโยชน์ที่มองไม่เห็นของโครงการผันน้ำยวมที่หลายคนอาจยังไม่รู้