รพ.ศิริราช เปิดตัวโครงการใหม่ช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์จากต่างประเทศ

รพ.ศิริราช เปิดตัวโครงการใหม่ช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์จากต่างประเทศ

โรงพยาบาลศิริราชเปิดตัวโครงการ ‘ก้าวแรกของพระบรมศาสดา’ อีกหนึ่งโปรเจกต์ที่ช่วยพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ในต่างประเทศให้มีศักยภาพมากพอในการดูแลคนไข้ของตัวเอง

มากกว่า 100 ปี ที่โรงพยาบาลศิริราชดูแลรักษาคนไข้มาอย่างยาวนาน ทั้งยังเป็นโรงเรียนแพทย์แห่งแรกของประเทศไทยที่ผลิตแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์อย่างต่อเนื่องจนมีศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ทั้งหมด 17 ศูนย์ และยังมีศูนย์ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมที่ช่วยดูแลคนไทยทุกชนชั้นฐานะอย่างเท่าเทียม รวมถึงคนไทยตามพื้นที่ห่างไกลในภูมิภาคต่างๆ ด้วยเทคโนโลยีการผ่าตัดชั้นสูง 

รวมถึงยังมอบองค์ความรู้ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ต่างชาติที่เข้ามาเรียนด้ว ไม่ว่าจากภูฏาน เนปาล เมียนมาร์ กัมพูชา อินโดนีเซีย หรือมาเลเซีย เมื่อเรียนจบแล้วพวกเขาก็กลับไปทำงานในประเทศของตน แต่ในบางประเทศพวกเขาไม่สามารถใช้ศักยภาพที่ร่ำเรียนไปดูแลรักษาคนไข้ได้เต็มที่ ทางศิริราชจึงทำโครงการ ‘ก้าวแรกของพระบรมศาสดา’ ช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์มีศักยภาพเพียงพอที่จะดูแลประชาชนของพวกเขาเองได้ โดยโครงการนี้เป็นโครงการแรกของศิริราชที่ ‘มอบความรักให้แก่มนุษยชาติ’ (Love for Humanity by Siriraj) ส่งมอบให้แก่ประเทศเนปาล

รพ.ศิริราช เปิดตัวโครงการใหม่ช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์จากต่างประเทศ

“เรามีนิมิตว่าพระพุทธองค์เริ่มก้าวแรกที่ลุมพินี ประเทศเนปาล และบังเอิญว่าเราได้รับเชิญจากหมอกระดูกของเนปาลให้ไปบรรยาย ไปสอนเขา เพื่อให้เขาได้รู้จัก ได้เห็น ได้ทำ และเริ่มตั้งต้น โครงการนี้จึงเกิดขึ้น เพราะว่าเราอยากไปช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้าน ให้ประชาชนของเขาได้รับโอกาส ให้เขาได้เรียนรู้ ได้พัฒนาจากสิ่งที่ประเทศไทยมอบให้” ศ.นพ. กีรติ เจริญชลวานิช หัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์และกายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะประธานโครงการฯ กล่าว 

หลังจากนั้นประธานโครงการฯ จึงแนะนำให้ไปกราบขอความช่วยเหลือจาก หลวงพ่อสุธรรม สุธัมโม (พระราชวชิรธรรมาจารย์) เจ้าอาวาสวัดป่าบ้านตาด และหลวงพ่ออินทร์ถวาย สันตุสสโก (พระราชภาวนาวชิรากร) เจ้าอาวาสวัดป่านาคำน้อย 

“ไปกราบเรียนว่าเราจะมีทีมแพทย์ไปช่วยในลักษณะนี้ ซึ่งท่านก็เห็นด้วย เพราะเป็นการตอบแทนกตัญญูสถานที่ประสูติของพระพุทธองค์ ท่านจึงจัดทอดผ้าป่าให้ เพื่อเป็นกองทุนในการดำเนินโครงการ ไปผ่าตัด ไปสอน ไปแลกเปลี่ยนความรู้กับแพทย์ชาวเนปาล”

รพ.ศิริราช เปิดตัวโครงการใหม่ช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์จากต่างประเทศ อีกทั้งยังให้เข้าไปนมัสการหลวงพ่ออนิลมาน ธมฺมสากิโย (พระธรรมศากยวงศ์วิสุทธิ์) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ซึ่งเป็นชาวเนปาลที่ลุมพินีโดยกำเนิด เชื้อสายกบิลพัศดุ์ด้วย

“ท่านก็เข้ามาช่วยเหลือประสานโครงการให้เกิดความสำเร็จ เรื่องของการเตรียมความพร้อม มีการจัดทีมแพทย์ คัดกรองผู้ป่วย ทางทีมโรงพยาบาลเตรียมสถานที่ โฮสต์คือโรงพยาบาลเนปาลและแพทย์เนปาลก็ต้องมีการประสานกัน และเมื่อเดือนกรกฎาคมเราได้ไปคัดกรองผู้ป่วยกัน มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาจากเรา 703 คน แล้วคัดกรองผู้ป่วยที่จะเข้าโครงการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม 35 คน”

ในส่วนทีมแพทย์ของโรงพยาบาลศิริราช ประกอบด้วย ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ วิสัญญีแพทย์ พยาบาลปฏิบัติการ และนักกายภาพบำบัดรวมกว่า 30 คนก็เตรียมตัวเดินทางไปเมืองลุมพินี วันที่ 1-6 ตุลาคม 2566 ที่กำลังจะถึงนี้

ศ.นพ.กีรติกล่าวเสริมเรื่องนี้ว่า “วงการแพทย์ไทยมีศักยภาพในการรักษาโรคข้อเข่าข้อสะโพก รวมถึงมีเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย มีประสิทธิภาพ แต่การไปเนปาลในครั้งนี้มีอุปสรรคและข้อจำกัดที่ต้องฟันฝ่ามากมาย ทั้งเรื่องของภาษา เครื่องมือแพทย์ และการขนส่ง รวมถึงบุคลากรของเราที่ไม่สามารถไปกันได้ครบทีม และยังต้องเตรียมการถ่ายทอดความรู้ทางวิชาการอีกต่อหนึ่งด้วย”

แต่หัวใจสำคัญของโครงการนี้คือ เมื่อผู้ป่วยเข้าโครงการแล้วต้องกลับมามีชีวิตได้ตามปกติ และปลอดภัยจากการผ่าตัด ทุกคนเลยจำเป็นต้องเตรียมพร้อมให้ดีที่สุดก่อนออกเดินทาง 

“เราจะใช้เวลาในการผ่าตัดสองวัน ตรวจดูแลผู้ป่วยหลังผ่าตัดอีกสองวัน  ระหว่างนั้นก็จะมีการเรียนการสอนด้วย แพทย์ที่มาเรียนกับเรา เข้าเคสกับเราก็จะเรียนกันแบบ on the job เลย คือเรียนกันหน้างาน ทั้งงานวิสัญญี ผ่าตัด พยาบาล กายภาพ การเรียนรู้การถ่ายทอดอาจไม่ใช่ครั้งเดียวจบ แต่อย่างน้อยมันก็จะกระตุ้น จุดประกายให้เขาเห็นว่ามีอย่างนี้เกิดขึ้นในโลกแล้ว และเขามีส่วนร่วมในการทำให้เป็นไปได้และเป็นจริง แล้วเขาก็จะไปต่อยอดที่จะเรียนรู้เพิ่มเติม”

รพ.ศิริราช เปิดตัวโครงการใหม่ช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์จากต่างประเทศ ส่วนการดูแลหลังผ่าตัด  ศ.นพ.กีรติบอกว่า ระยะหลังผ่าตัดใหม่สำคัญมาก เพราะอาจมีภาวะแทรกซ้อนไม่พึงประสงค์จนทำให้คนไข้เสียชีวิตจากลิ่มเลือดอุดตันในปอด หรือหัวใจขาดเลือด ดังนั้น 1-2 วันหลังผ่าตัดจะมีทีมแพทย์คอยเฝ้าดูแล ช่วยเหลือ มีโรงพยาบาลขนาดใหญ่และไม่ไกลจากลุมพินีคอยซัพพอร์ต ในระยะฟื้นตัวหลังจากที่ทีมแพทย์เดินทางกลับเมืองไทยแล้ว จะมีแพทย์อีกท่าน-สองท่านที่คอยดูแลประสานงานต่างๆ จนกว่าคนไข้จะเดินได้ กลับบ้านได้

“โครงการก้าวแรกของพระบรมศาสดาที่เนปาลเป็นโครงการแรก ซึ่งต้องก้าวข้ามกรอบความคิดของเราว่า เราจะช่วยเหลือคนชาติอื่นไหม อันนี้คือความท้าทายอย่างหนึ่ง เพราะทีมแพทย์ก็ยังต้องถามตัวเองว่า เงินตรงนี้เราจะเอามาช่วยคนไทยดีไหม เงินตรงนี้สามารถช่วยคนไทยได้ตั้งเยอะ จะคุ้มกว่าหรือเปล่า แต่ท้ายที่สุดเราก็ตอบตัวเองได้ว่า ไม่ว่าเงินมากหรือน้อยหนึ่งชีวิตที่เขาได้รับไป สำหรับคนที่ขาดแคลน มันมีคุณค่ามหาศาล มากกว่าจำนวนเงินที่เรามอบให้ และอีกอย่างหนึ่ง ในส่วนของคนไทยนั้นเราก็ทำอยู่แล้ว ตลอดสิบปีที่ผ่านมาเราทำโครงการมาประมาณ 20 ครั้งแล้ว แต่ครั้งนี้เราต้องการจะตอบแทนพระพุทธองค์ที่ได้สร้างศาสนาพุทธขึ้นที่นั่น และได้มอบความรักที่ยิ่งใหญ่ต่อมนุษยชาติโดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติ ศาสนา หรือชนชั้นวรรณะเลย” 

รพ.ศิริราช เปิดตัวโครงการใหม่ช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์จากต่างประเทศ

ขณะเดียวกันในประเทศไทยกำลังก้าวสู่สังคมสูงอายุ และส่วนใหญ่พบว่า ผู้สูงอายุจะเป็นโรคเกี่ยวกับข้อและกระดูกที่เสื่อมลงตามวัย  ศ.นพ.กีรติให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า 

“คนสูงอายุส่วนใหญ่เป็นโรคเกี่ยวกับข้อและกระดูก เพราะความเสื่อมของอวัยวะที่มาตามวัย โครงสร้างกระดูกเป็นหลักในการใช้ชีวิตประจำวัน  ไม่ว่ากระดูกสันหลัง กระดูกขา กระดูกข้อเข่าข้อสะโพก กระดูกข้อมือ ถูกใช้ในชีวิตประจำวัน แล้วยังมีข้อต่อ เอ็น กล้ามเนื้อที่ต้องทำงานทุกวันอีก รวมถึงระบบเส้นประสาท ที่วันหนึ่งจะต้องมีปัญหาเกิดขึ้น และอีกด้านหนึ่งของผู้สูงอายุคือกลุ่มวัยทำงาน ก็จะมีโรคที่อุบัติใหม่ อย่างออฟฟิศซินโดรม เดี๋ยวนี้คนส่วนใหญ่เป็นกันแทบทั้งนั้น เนื่องจากเราใช้ชีวิต มีไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนแปลงไป เพราะฉะนั้นอัตราการใช้บริการของหมอกระดูกจึงเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย”

“ในผู้ป่วยข้อเข่าข้อสะโพกมีประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ที่จะต้องเข้ารับการรักษาผ่าตัด อีก 50-70 เปอร์เซ็นต์ต้องเข้ารับการตรวจเพื่อดูแลรักษา หมายความว่าพอเป็นปุ๊บเขาจะมาหาหมอแล้ว ต้องมาปรึกษาแพทย์ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะต้องผ่าตัด แค่ประมาณหนึ่งในสามหรือสี่เท่านั้นที่ต้องผ่าตัด”

รพ.ศิริราช เปิดตัวโครงการใหม่ช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์จากต่างประเทศ ประธานโครงการกล่าวอีกว่า โรงพยาบาลศิริราช แพทย์ผ่าตัดข้อเข่าเฉลี่ยปีละประมาณหมื่นกว่าข้อ และปัจจุบันกำลังพร้อมกับผลิตบุคลากรที่มีความสามารถตามอุบัติเหตุที่เพิ่มขึ้นเช่นกันกระจายในพื้นที่ต่างๆ เพื่อดูแลอย่างทั่งถึง

“ค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดแพง ข้อละ 6-7 หมื่นบาท เราจึงต้องยกทีมไปหาคนไข้ชายขอบที่เขาขาดแคลนทุนทรัพย์ ไปมอบให้เขา อย่างน้อยๆ ก็เราอาจเป็นหยดน้ำหยดเล็กๆ ที่เขาขาดแคลน แต่เรายินดีที่จะมอบให้เท่าที่เราทำได้ ในเมืองไทยเราทำโครงการอย่างน้อยปีละ 2-3 ครั้ง คนไข้ก็ไม่ต้องมาถึงนี่ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย และเราสามารถทำเป็นมูลนิธิ เป็นสะพานบุญให้กับผู้มีจิตศรัทธา มอบต่อให้กับโรงพยาบาลในพื้นที่ ประชาชนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย โรงพยาบาลก็ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพราะเราไปบริจาคให้กับโรงพยาบาล เราช่วยกันในระบบเพื่อให้ทุกฝ่ายอยู่รอดกันให้ได้”

สำหรับผู้มีจิตศรัทธาที่ประสงค์จะร่วมเป็นผู้มอบความรักให้กับเพื่อนมนุษย์โดยไม่แบ่งเชื้อชาติและชนชั้น สามารถร่วมบริจาคได้ที่บัญชี “วัดป่าบ้านตาดเพื่อผู้ยากไร้และกระดูก” ธนาคารไทยพาณิชย์ เลขที่บัญชี 510-458808-1 และที่ “ศิริราชมูลนิธิ” ธนาคารไทยพาณิชย์ เลขที่บัญชี 016-300049-4