16 ก.ย. 2566 | 15:59 น.
- The Standard จัดนิทรรศการที่ Siam Paragon โดยส่วนหนึ่งของงานมีวงเสวนาแลกเปลี่ยนเรื่องความแตกต่างของวัยและความคิดของคนแต่ละรุ่น
- พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล มองว่า หากตัวเองขายวิญญาณ จะได้เป็นนายกฯ ไปแล้ว แต่คิดว่าไม่สามารถทำแบบนั้นได้
ความแตกต่างหลากหลายคือธรรมชาติอย่างหนึ่งของโลกใบนี้ แต่ดูเหมือนว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผู้คนแต่ละรุ่นพบว่าตัวเองอยู่ท่ามกลางความแตกต่างทางแนวคิด ประสบการณ์ของคนแต่ละรุ่น แต่ละวัย ซึ่งสัมผัสเหตุการณ์ต่าง ๆ มาคนละแบบเริ่มสังเกตถึงความแตกต่างที่ส่งผลกระทบต่อการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างกันมากขึ้น
หลายองค์กรสนใจปรากฏการณ์เหล่านี้ อีกหนึ่งองค์กรสื่ออย่าง THE STANDARD หยิบประเด็นนี้มาพูดคุยเพื่อสำรวจความเจ็บปวด เข้าใจความต่าง และหาทางออก เพื่อให้คนแต่ละรุ่นอยู่ร่วมกันได้ จัดเป็นงานเสวนา พูดคุยกันในหัวข้อ Understand the Difference: เห็นต่างแต่อยากเข้าใจ เป็นงานเสวนาเปิดนิทรรศการ Generation Hope ในวันที่ 16 กันยายน 2566 ที่ชั้น 4 ของ Siam Paragon
งานเสวนามี เคน - นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ เป็นผู้ดำเนินรายการ พูดคุยกับ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล, สรกล อดุลยานนท์ เจ้าของนามปากกา หนุ่มเมืองจันท์ และ เอม - ภูมิภัทร ถาวรศิริ นักแสดงอิสระ
นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ กล่าวถึงนิทรรศการนี้ว่า เริ่มจากเห็นความแตกต่างระหว่างรุ่น ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ แต่ละรุ่นเติบโตในสถานการณ์ต่างกัน แต่ช่วงหลายปีที่ผ่านมา พบปรากฏการณ์ต่าง ๆ มากมายซึ่งทำให้เกิดเหตุการณ์อันหลากหลายตามมา เมื่อทำงานในฐานะสื่อ จึงคิดว่าน่าสนใจที่จะหยิบปรากฏการณ์นี้มาพูดคุยกัน
บทสนทนาในวงเสวนาเริ่มจาก สรกล อดุลยานนท์ กล่าวถึงสภาพบริบทในช่วงที่ตัวเองเติบโตขึ้นมาว่า เมื่อสมัยเป็นนักศึกษา อยู่ในยุคนายกฯ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ในยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ สภาพครึ่งใบยิ่งกว่าในวันนี้ สมัยที่เรียนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จบออกมาแล้วเป็นช่วงเศรษฐกิจย่ำแย่ พยายามหางานทำให้ได้
ด้านเทคโนโลยียุคนั้นยังอยู่ในสังคมอนาล็อก โฟนลิงก์ยังไม่มี คนในสังคมรอคอยกันได้สบายมาก
ในมุมมองส่วนตัวของนักเขียนนามปากกาหนุ่มเมืองจันท์ คิดว่า ไม่ได้ถึงกับต้องการสังคมที่เปลี่ยนแบบพลิกไปขั้นรุนแรง ขอให้ขยับตัวไปเป็นประชาธิปไตยเต็มใบมากขึ้น
“เราไม่ได้คิดถึงปรับโครงสร้าง...ขอให้ขยับตัวจากการที่ทหารมีบทบาทในทางการเมือง มาสู่ประชาธิปไตยที่เต็มใบมากขึ้น ประชาธิปไตยเต็มใบในยุคที่ผมทำงาน อยู่ได้แค่แป๊ปเดียวคือพลเอกชาติชาย”
ประสบการณ์จากมุมมองของพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกลเล่าออกมาว่า ยุคของเขาเป็นยุคโฟนลิงก์, PCT, ยุคภาพยนตร์ แฟนฉัน ยุควงพาราด็อกซ์ (Paradox) วงซิลลี ฟูลส์ (Silly Fools) ยังอยู่ใต้ดิน เมื่อมีประสบการณ์ไปอยู่ที่ต่างประเทศ ความแตกต่างที่สัมผัสไม่ได้เป็นเรื่องของวัย (generation gap) แต่เป็นเรื่องวัฒนธรรม (culture gap) เมื่อเทียบกันระหว่างในประเทศอื่นที่ไปอยู่อาศัยกับประเทศไทย
อีกช่วงของงานเสวนา พิธา ตอบคำถามเรื่องทางออกในการเดินหน้าท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายว่า เรื่องของการเมืองคือเรื่อง ใครได้อะไร เมื่อไหร่ หากการเมืองดี ระบบดี มีรัฐสภาให้ถกกัน การเข้าสู่อำนาจให้ประชาชนตัดสิน ถ้าระบบเป็นอย่างนั้นจริง ถ้าเข้าไปแล้วทำไม่ดี ผ่านไป 4 ปี ประชาชนก็เลือกคนใหม่ และเสนอแนวคิดส่วนหนึ่งคือ ถ้าจะแก้ปัญหาคน ต้องแก้ที่ระบบ
ในช่วงท้ายของงาน เคน นครินทร์ ถามถึงความรู้สึกของพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เมื่อรู้ว่าตัวเองไม่ได้เป็นนายกฯ รู้สึกสิ้นหวังหรือไม่
พิธา ตอบทันทีว่า ไม่เลย พร้อมอธิบายว่า คาดหวังมาก่อน และเป็นการบริหารจัดการความคาดหวังของตัวเอง ซึ่งจริง ๆ แล้ว สื่อมวลชนและองค์กรสื่อหลายแห่งสามารถเป็นสักขีพยานได้ว่า เคยตอบคำถามว่า ถ้าไม่ได้เป็นนายกฯ ยังจะแข่งขันอยู่ไหม ถ้าเกิดมีมือที่มองไม่เห็นมาทำให้เกิดผลที่ไม่ได้คิดในการเลือกตั้ง จะสู้ต่อไหม ซึ่งเคยตอบคำถามเหล่านี้ไปก่อนที่ผลเลือกตั้งจะออกมา
“ฉะนั้น มันคือความตรงไปตรงมา ความต่อเนื่องก่อนและหลังเลือกตั้ง ถ้าถามว่า ก่อนเลือกตั้ง ผมมีฉากทัศน์ที่ผมจะต้องมาทำอย่างนี้อยู่ไหม (ชี้นิ้วลงไปที่บริเวณที่นั่งอยู่บนเวที) มี คราวนี้มันมีขึ้น มีมาก มีน้อย...
จริง ๆ ถ้าเกิดผมขายวิญญาณ ผมเป็นนายกฯ ไปแล้ว จริง ๆ เพียงแต่ว่าผมทำแบบนั้นไม่ได้เท่านั้นเอง พอเข้าใจตัวเองว่าลิมิตของตัวเองอยู่ไหน...คุณรู้ว่าต้องเซย์โนกับตัวเองแบบไหน คุณหลับสบายทุกคืนแน่นอน” พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ กล่าว
ขณะที่ตัวแทนของคนรุ่นใหม่อย่างเอม - ภูมิภัทร ถาวรศิริ กล่าวว่า รุ่นนี้ไม่ค่อยมีความหวัง ส่วนตัวเองเกิดมากับวิกฤตต้มยำกุ้ง เผชิญกับความผิดหวังมาจนมันกลายเป็น Norm (บรรทัดฐาน) ไม่เข้าใจว่าการเมืองดีคืออะไร เห็นการรัฐประหารตั้งแต่อายุ 10-11 ขวบ ในวันนั้นมองเหตุการณ์และเข้าใจในแบบที่เกิด และเจออีกครั้งในอีกวัยหนึ่ง
“มันพาเราไปในทิศทางนั้น ทิศทางนี้ เราต้องปรับตัวกับมันให้ได้ ไม่อย่างนั้นก็กลายเป็นคนแก่ไปเลย”
เอม เล่าว่า เรื่องเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปบังคับให้ต้องวิ่ง ถ้าไม่วิ่ง จะต้องถอยกลับไปข้างหลัง เพราะเพื่อนและคนอื่นในโลกวิ่งกันหมด รู้สึกว่าเกิดมาพร้อมความกดดัน ความผิดหวัง แต่ข้อดีคือ ชินกับมัน อย่างไรก็ตาม ยังไม่มั่นใจว่า ความชินที่รู้สึกเป็นข้อดีทั้งหมดหรือไม่