13 ก.พ. 2567 | 13:05 น.
KEY
POINTS
จากกรณีที่ผู้สื่อข่าวประชาไท-ช่างภาพอิสระถูกจับกุม วันที่ 12 ก.พ. 2567 เนื่องจากการรายงานข่าวนักกิจกรรมพ่นสีกำแพงวัง เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2566 ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยเผยว่า การจับกุมนักข่าวในประเทศไทยเมื่อเร็ว ๆ นี้ถือเป็นการละเมิดเสรีภาพของสื่อโดยตรง และทำลายหลักการสำคัญของสิทธิมนุษยชน ทุกวันนี้ทวีปเอเชียถูกจัดอันดับว่าเป็นทวีปที่มีจำนวนนักข่าวถูกจำคุกมากที่สุดในโลก
ซึ่งการกระทำของประเทศไทยในครั้งนี้ เป็นการตอกย้ำถึงความเลวร้ายของสถานการณ์การละเมิดสิทธิในทวีปเอเชียอย่างชัดเจนมากที่สุดทั่วโลก เพราะความพยายามของรัฐบาลในการแจ้งข้อกล่าวหา ไม่เพียงแต่เป็นการจำกัดการส่งต่อข้อมูลข่าวสารเท่านั้น แต่เป็นการทำลายความหลากหลายและความอดทนอดกลั้นต่อผู้เห็นต่างในสังคม ซึ่งชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลกำลังตราหน้านักข่าวว่าเป็นอาชญากรหรือเป็นฝ่ายตรงข้าม แทนที่จะมองว่าพวกเขาเหล่านั้นคือส่วนสำคัญในการเป็นกระบอกเสียงของผู้คนในสังคม การกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐในครั้งนี้จะนำไปสู่การสร้างวาทกรรมที่เป็นอันตรายต่อผู้เห็นต่างและทำลายหลักการความรับผิดรับชอบในสังคม
ปิยนุช ย้ำในข้อเรียกร้องว่า
“รัฐบาลจะต้องปล่อยตัวนักข่าวและช่างภาพที่ถูกดำเนินคดี ยุติการกระทำทั้งหมดที่เป็นการพยายามปิดปากทั้งคู่ เคารพเสรีภาพของสื่อโดยทันที รวมทั้งต้องให้หลักประกันในการคุ้มครองนักข่าวจากการถูกข่มขู่ คุกคาม ปฏิบัติตามหลักนิติรัฐโดยใช้กฎหมายที่ชอบธรรม และคืนความเป็นธรรมให้กับผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ขอยืนหยัดเคียงข้างสื่อมวลชนในการทำงานเพื่อเปิดเผยข้อเท็จจริง และเป็นสักขีพยานต่อปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคม”
ข้อมูลพื้นฐาน
เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567 ผู้สื่อข่าวประชาไท และช่างภาพอิสระ ถูกจับกุมโดยตำรวจนอกเครื่องแบบก่อนถูกนำตัวไปที่สถานีตำรวจพระราชวัง ซึ่งเป็นสถานีท้องที่ พร้อมแจ้งข้อกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุเเละพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.2504 มาตรา 32 เเละพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 โดยมีอัตราโทษสูงสุดตามความผิดในพระราชบัญญัติเเรกเป็นโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 700,000 บาท ทั้งนี้ ทั้งสองถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้สนับสนุนให้เกิดการกระทำความผิดดังกล่าว โดยอาจต้องได้รับโทษ 2 ใน 3 ของโทษสูงสุดที่กำหนดไว้
ภายหลังจากการเเจ้งข้อกล่าวหาเสร็จสิ้น พนักงานสอบสวนไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในชั้นสอบสวน ทำให้ผู้สื่อข่าวประชาไทถูกนำตัวไปควบคุมที่สถานีฉลองกรุง ส่วนช่างภาพอิสระถูกนำตัวไปควบคุมที่สถานีทุ่งสองห้อง เพื่อขออำนาจศาลฝากขังระหว่างการสอบสวนในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2567
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2567 มีผู้สื่อข่าวอิสระอย่างน้อยสองคน ถูกบุคคลที่สามทำร้ายร่างกายบริเวณสถานีรถไฟฟ้าสยาม หลังการแถลงข่าวของนักกิจกรรม ทั้งที่มีตำรวจปฏิบัติหน้าที่อยู่ในบริเวณดังกล่าว