11 ก.ย. 2567 | 11:30 น.
ชลิดา เอื้อบำรุงจิต ผู้อำนวยการ หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า หอภาพยนตร์(องค์กรมหาชน) เกิดจากการผลักดันของกลุ่มคนเล็ก ๆ ที่มีความเชื่อและความศรัทธา เห็นความสำคัญของการอนุรักษ์สื่อโสตทัศน์ไว้เป็นมรดกภาพยนตร์และบันทึกความทรงจำของประวัติศาสตร์ ได้ร่วมมือกันผ่านกระบวนการต่อสู้มากมายกว่าจะมาถึงวันนี้ จนได้รับการยอมรับจากนานาประเทศด้านประสบการณ์ มาตรฐาน และความสามารถ หอภาพยนตร์ของไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมใหญ่สมาพันธ์หอภาพยนตร์นานาชาติ FIAF Congress 2024 เมื่อเดือนเมษายน 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นครั้งแรกของประเทศไทย อันเป็นหมุดหมายสำคัญในวาระฉลอง 40 ปีของการต่อตั้งหอภาพยนตร์ฯ
ผลงานหลังจากเป็นเจ้าภาพจัดงาน FIAF Congress 2024 นับเป็นความภาคภูมิใจขององค์กรฯ เพราะผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 200 คน จาก 80 ประเทศทั่วโลก ต่างให้การยอมรับหอภาพยนตร์ ของไทยว่าทำงานด้านอนุรักษ์ได้มาตรฐานระดับนานาชาติ
“คงไม่มีอะไรน่ายินดีไปกว่า การได้รับการยอมรับของคนในวงการเดียวกัน จากการทำงานที่เราให้ความสำคัญกับมาตรฐานด้านการอนุรักษ์มาตั้งแต่ต้น ส่งผลให้เกิดผลงานที่ดี สามารถอนุรักษ์สิ่งต่าง ๆ ได้จำนวนมาก เมื่อเพื่อนในวงการที่มาจากยุโรป อเมริกา ละตินอเมริกา แอฟริกา ฯลฯ มาเห็นด้วยตาตัวเอง เมื่อทุกคนกลับไปแล้วเกิดการพูดถึง บอกต่อ นี่คือซอฟต์พาวเวอร์อย่างหนึ่งที่ไม่ต้องโปรโมท”
ชลิดา เสริมว่า เมื่อพูดถึงซอฟต์พาวเวอร์หลายคนมองที่ปลายทาง แต่งานของหอภาพยนตร์เป็นต้นธารของซอฟต์พาวเวอร์ เพราะงานของหอภาพยนตร์มีสาระอยู่ที่การอนุรักษ์ภาพยนตร์ และการนำภาพยนตร์ทั้งเก่าและใหม่มาเผยแพร่เพื่อสร้างความรู้ เสริมสร้างความหลากหลายของจินตนาการและรสนิยม โดยเฉพาะการทำหน้าที่เป็นแหล่งเรียนรู้ สร้างความเข้มแข็งให้วัฒนธรรมการชมภาพยนตร์ (หรือ audience development) โดยเฉพาะกับเด็กและเยาวชน เช่น เด็กบางคนอาจมีประสบการณ์การดูหนังครั้งแรกที่นี่ ก่อนเข้าดูหนังจึงมีการสอนเรื่องมารยาทของการดูหนังร่วมกับคนอื่น รวมไปถึงมีกิจกรรมชวนพูดคุยหลังดูหนัง เพื่อรับฟังสิ่งที่เด็กได้เรียนรู้จากหนัง โดยไม่มุ่งเน้นการสอน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ทำให้ผู้ชมรุ่นเยาว์รู้จักคิดไตร่ตรองกับสิ่งที่เห็นอันเป็นพื้นฐานของการสร้างวัฒนธรรมภาพยนตร์ที่แข็งแรง และเป็นกลไกลสำคัญซอฟต์พาวเวอร์ที่สามารถต่อยอดในเรื่องเศรษฐกิจและความคิดสร้างสรรค์ ทั้งในมุมผู้สร้างและผู้ชมภาพยนตร์ ซึ่งสำหรับกิจกรรม “โรงหนังโรงเรียน” นี้ได้รับความนิยมและมีคิวเต็มและยาวไปถึงอีกสองเดือนข้างหน้าแล้ว
ทางด้าน โดม สุขวงศ์ ผู้ก่อตั้งหอภาพยนตร์ กล่าวเสริมในวาระครบรอบ 40 ปีว่า หอภาพยนตร์ในเวลานี้ เติบโตจากจุดเริ่มต้นไปไกลมาก โดยส่วนตัวแล้วไม่รู้สึกเป็นห่วงหรือกังวลกับหอภาพยนตร์อีกแล้ว เพราะมีคนรุ่นใหม่มาสานต่อและทำได้ดี จากการทำงานอนุรักษ์สื่อภาพเคลื่อนไหว ก็ได้ขยายบทบาทเพิ่มให้เป็นแหล่งเรียนรู้เพื่อให้เกิดปัญญา ซึ่งก็ทำกันแล้วจนสัมฤทธิ์ผล เห็นได้จากกิจกรรมโรงหนังโรงเรียน ที่ปลูกฝังจากเด็กและเยาวชน เปิดโอกาสให้พวกเขาได้เข้ามาดูหนัง เพื่อจะได้ซึมซับงานศิลปะผ่านสื่อภาพยนตร์ได้อย่างแท้จริง
“หนังเป็นสื่อครองโลกทุกวินาทีจะมีภาพยนตร์ฉายอยู่ที่หนึ่งที่ใดของโลกใบนี้เวลาคนดูหนัง
หรือภาพเคลื่อนไหว จึงเต็มไปด้วยความรู้ ข้อมูล ข่าวสาร ผมอยากให้เรารู้จักดู เพราะสื่อภาพยนตร์เป็นได้ทั้ง 2 ทาง คือทำลายและสร้างสรรค์ อยากให้ใช้ประโยชน์จากภาพยนตร์ให้เกิดปัญญามากที่สุด” คุณโดม กล่าวในตอนท้าย
สำหรับประชาชนทั่วไปที่สนใจและอยากเข้าไปเที่ยวหรือเยี่ยมชมหอภาพยนตร์ อยากดูหนัง อยากร่วมกิจกรรมหรือใช้บริการด้านอื่น ๆ สามารถติดต่อขอเข้าชมหอภาพยนตร์ได้ที่
เว็บไซต์ : https://www.fapot.or.th
FB : www.facebook.com/pages/หอภาพยนตร์-องค์การมหาชน
tiktok : @horpapayon
Instragram : @thaifilmarchive