30 เม.ย. 2567 | 20:03 น.
KEY
POINTS
‘แอ๊ดชื่อดัง’ ในแวดวงบันเทิงไทยมี 2 - 3 คน หนึ่งคือ ‘แอ๊ด สุรชัย สมบัติเจริญ’ ศิลปินนักร้องทายาทราชาลูกทุ่ง ‘สุรพล สมบัติเจริญ’ อีก ‘แอ๊ด’ แน่นอน ต้องเป็น ‘ยืนยง โอภากุล’ หรือ ‘แอ๊ด คาราบาว’
ส่วนอีก ‘แอ๊ด’ อาจไม่ใช่คนในวงการเพลงโดยตรง แต่ชื่อเสียงเรียงนามของเขา คนต่างจังหวัดจำนวนมากรู้จักดี เขามีสมญานามว่า ‘แอ๊ด เทวดา’
แม้ฉากช่วงห้วงชีวิตของ ‘แอ๊ด เทวดา’ จะไม่โด่งดังหรือโลดแล่นแบบคนในวงการดนตรี ทว่าสีสันไลฟ์สไตล์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเป็น ‘นวัตกรบันเทิง’ และความเป็น ‘The Greatest Showman’ ในความหมายของคณะเร่ นำหนังไปฉายให้คนภูธรห่างไกลความเจริญได้เสพสื่อบันเทิงผ่านเทคโนโลยีล้ำยุค เป็นความตื่นตาตื่นใจที่มาก่อนกาล
ปี พ.ศ. 2541 มีการเปิดตัวโรงภาพยนตร์ IMAX แห่งแรกในประเทศไทย ที่เมเจอร์รัชโยธิน แม้ว่าก่อนหน้านั้น IMAX ในต่างประเทศได้เปิดมานานแล้ว คือตั้งแต่ปี ค.ศ. 1968 (พ.ศ. 2511) ที่ประเทศแคนาดา
ทว่าสำหรับประเทศไทย การเริ่มต้นของ IMAX ที่แสนตื่นตาตื่นใจสำหรับคนกรุงฯ ในปี พ.ศ. 2541 เป็นเรื่องธรรมดาสำหรับคนชนบท ที่เคยรับชม ‘จอยักษ์ผ่าโลก’ และ ‘จอโค้งเรดาร์’ ฝีมือของ ‘แอ๊ด เทวดา’
‘จอยักษ์ผ่าโลก - จอโค้งเรดาร์’ ในตำนาน ‘แอ๊ด เทวดา’ กว้างถึง 42 เมตร สูงถึง 18 เมตร ต้องต่อนั่งร้านที่ไปทำงานสูงถึง 13 ชั้น ทำให้ในบางครั้งคนงานของ ‘แอ๊ด เทวดา’ ถึงกับประสบอุบัติเหตุ บาดเจ็บ และเสียชีวิต
ส่วนพื้นที่ของจอมีขนาด 800 ตารางเมตร ซึ่งหากเทียบกับ IMAX ในห้างสรรพสินค้าสยามพารากอนที่สูง 19.9 เมตร และกว้าง 27.3 แล้ว จอหนังของ ‘แอ๊ด เทวดา’ กินขาด เพราะมีขนาดใหญ่กว่าถึง 2 เท่า ระบบแสง – สี - เสียงงานสร้างอลังการดาวล้านดวง
นอกจากนี้ยังมีระบบแสงสว่างกว่า 10,000 โวลต์ เรียกได้ว่า สามารถฉายข้ามแม่น้ำน่าน โดยในตำนานการฉายหนังเรื่อง ‘มหาราชดำ’ ในงานฉลองครบรอบครองราชย์ 400 ปี สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมื่อปี พ.ศ.2533 ได้รับการบันทึกลงในกินเนสบุ๊ก ว่ามีคนชมภาพยนตร์ในวันนั้นมากถึง 25,000 คน
แต่ปรากฏว่า ทั้งจอและอุปกรณ์การฉายหนังที่มีอยู่ไม่สามารถฉายได้ เพราะมีข้อจำกัดทั้งเรื่องระยะแสง ระยะเสียงที่สะท้อนจากแม่น้ำ แรงลมต่าง ๆ ทำให้ต้องดัดแปลงจอและเครื่องฉายแบบแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อให้ภาพ และเสียง ออกมาคมชัด
‘แอ๊ด เทวดา’ ได้ประยุกต์ไม้อัดทาสี 116 แผ่นให้รับเสียงสะท้อน ทดลองก่อนฉายจริงเกือบ 1 เดือน เพื่อให้ภาพและเสียงออกมาคมชัดที่สุด ตามมาตรฐาน ‘แอ๊ด เทวดา’
นับเป็นเพียงครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ กับการฉายหนังข้ามแม่น้ำน่าน หลังจากที่ ‘แอ๊ด เทวดา’ ได้ทำไว้แล้ว ยังไม่เคยมีใครเคยทำได้อีกเลย
นอกจากนี้ ‘แอ๊ด เทวดา’ ยังสร้าง ‘นวัตกรรมจอภาพ’ ที่เรียกว่า ‘จอบรอนซ์สะท้อนแสงจอแรกของโลก’ ฉายหนังเรื่อง ‘จอมดาบทะลุฟ้า’ ซึ่งเป็นหนังสามมิติ โดยผู้ชมต้องสวมแว่นสามมิติก่อนเข้าดู ซึ่งถือว่าทันสมัยใหม่ก่อนกาลที่สุดในยุคนั้น
ในส่วนของการขนย้ายอุปกรณ์เพื่อออกเดินทางเร่ฉายหนังในแต่ละครั้งของ The Greatest Showman ที่ชื่อ ‘แอ๊ด เทวดา’ ต้องใช้รถบรรทุก 10 ล้อ กว่า 20 คัน กลายเป็นคาราวานหนังกลางแปลงขนาดยาวและใหญ่ที่สุดในประเทศ
นอกจากนั้น เอกลักษณ์อีกอย่างที่เป็นที่จดจำของคนดูคือทีมงานจะตัดผมสั้นเหมือนทหารเกณฑ์ คือหัวเกรียนทุกคน โดยการฉายหนังแต่ละครั้งจะมีสปอนเซอร์ยักษ์ใหญ่ให้การสนับสนุน เช่น ไทยน้ำทิพย์ หรือลีเวอร์ บราเธอร์ส เป็นต้น
‘แอ๊ด เทวดา’ มีหลายชื่อ เช่น วัชรพล ลิมปะพันธุ์, คำรณ หน่ายจันทร์, อรรถพล ลิมปะพันธุ์ เกิดเมื่อวันที่ 4 เมษายน ปี พ.ศ. 2490 ที่อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์
วัยเยาว์ของ ‘แอ๊ด เทวดา’ เกิดมาในครอบครัวยากจน ช่วงเรียนมัธยมถึงขนาดต้องเดินเท้าเปล่าไปโรงเรียน หลังจบ ม.6 ไปสมัครเป็นตำรวจตระเวนชายแดน เพื่อหวังจะได้เงินมาจุนเจือครอบครัว
ประสบการณ์ตอนที่รับราชการเป็นตำรวจพลร่ม ค่ายนเรศวร อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ผ่านการฝึกหลักสูตรการก่อวินาศกรรมจากโอกินาว่า ประเทศญี่ปุ่น อีกทั้งยังเป็น ‘ตชด.เจนศึก’ ผ่านการรบมาหลายสมรภูมิ ทั้งเวียดนาม ลาว และกัมพูชา
ระหว่างเป็นตำรวจได้เริ่มจัดรายการประกวดร้องเพลง และได้เริ่มใช้ชื่อ ‘แอ๊ด เทวดา’ เหตุผลที่ใช้นามสกุลว่า ‘เทวดา’ เพราะตอนนั้นเป็นตำรวจพลร่ม จึงต้องปิดบังอาชีพเสริม ซึ่งการปิดบังชื่อจริง และการแอบรับงานในวงการบันเทิง ทำให้มีเรื่องระหองระแหงกับกับผู้บังคับบัญชา จนท้ายที่สุดต้องตกงาน จึงหันไปทำธุรกิจส่วนตัว
ภายหลังออกจากอาชีพตำรวจ ก็ได้ไปเป็นนักจัดรายการวิทยุอาชีพอย่างเต็มตัว โดยใช้ชื่อว่า ‘แอ๊ด เทวดาหน้าลิง’ จนกระทั่งธุรกิจเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ต่อมาได้สมรสกับนางจินตนา ศรีรอด หรือ ‘ป้าเม้า’ มีบุตรธิดาร่วมกัน 2 คน
‘แอ๊ด เทวดา’ ถือเป็นผู้บุกเบิกวงการหนังเร่ของไทยคนหนึ่ง หากใครที่ได้ชมภาพยนตร์เรื่อง ‘มนต์รักนักพากย์’ ก็คงจะได้เห็นบรรยากาศส่วนหนึ่งของแวดวงหนังเร่ หรือ ‘หนังกลางแปลง’ ที่ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า ‘หนังขายยา’
โดย ‘หนังกลางแปลง’ เป็นสื่อสารมวลชนรูปแบบหนึ่งซึ่งสร้างความบันเทิงให้กับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะชาวบ้านร้านตลาด และชาวชนบทที่อยู่ห่างไกลความเจริญ ซึ่งทุกวันนี้ ‘หนังกลางแปลง’ ได้กลายเป็นความทรงจำดี ๆ ของหลาย ๆ คน
และ ‘แอ๊ด เทวดา’ ได้กลายเป็นหนึ่งในรายชื่อที่ถูกจดจำในฐานะ ‘ตำนานเจ้าพ่อหนังกลางแปลง’ ผู้โด่งดังในแวดวงหนังจอยักษ์ ที่ตั้งฉายอยู่กลางทุ่งนา และเรือกสวนผลไม้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฉายหนังข้ามแม่น้ำ
‘แอ๊ด เทวดา’ ถือเป็น ‘ตำนานหนังกลางแปลง’ ตัวจริงเสียงจริง จอหนังกลางแปลงของ ‘แอ๊ด เทวดา’ มีฉายาว่า ‘จอซูเปอร์ลูกทุ่ง’ ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ก่อนที่จะขยายเป็นจอขนาดใหญ่ที่เรียกกันว่า ‘จอยักษ์ผ่าโลก’ คือสูงเท่ากับตึก 4 ชั้น กว้างเท่ากับตึก 10 ห้อง
อย่างไรก็ดี การขึง ‘จอยักษ์ผ่าโลก’ เป็นไปด้วยความยากลำบาก ทำให้เกิดเหตุการณ์ที่น่าสลดใจ ที่ตำบลโคกกลอย อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา มีพนักงานที่กำลังขึ้นจอเสียชีวิตจากเหตุการณ์นั้นถึง 3 คน และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกหลายคน
‘แอ๊ด เทวดา’ จึงแก้ไขปัญหาด้วยการประดิษฐ์คิดค้น ‘จอโค้งเรดาร์’ ขึ้นมา โดยเป็นจอที่มีลักษณะโค้ง 2 จอหันหลังชนกันเพื่อกระจายแรงลมทุ่งที่พัดเข้ามาปะทะจอทำให้เกิดความปลอดภัยมากขึ้น
ที่สำคัญ ‘จอโค้งเรดาร์’ ยังสามารถฉายหนังได้พร้อมกันทั้ง 2 จอ และมีขนาดใหญ่มาก จนกินเนสบุ๊คบันทึกสถิติว่า ‘จอโค้งเรดาร์’ เป็น ‘จอหนังกลางแปลงที่ใหญ่ที่สุดในโลก’ กว้าง 42 เมตร สูง 18 เมตร ใหญ่กว่า IMAX ในประเทศไทยทั้งหมด การขึงจอต้องใช้นั่งร้านสูงถึง 13 ชั้น พื้นที่ของจอมีขนาด 756 ตารางเมตร
แม้จะประสบความสำเร็จบนเส้นทางบันเทิง แต่บนถนนชีวิตของ ‘แอ๊ด เทวดา’ ได้เผชิญหน้ากับมรสุมที่พัดโถมเข้ามา เมื่อต้องถูกผูกโซ่ตรวนเดินเข้าตะราง ขณะตกเป็นผู้ต้องหา คดีร่วมฆ่าโดยเจตนาคอลัมนิสต์ ‘เหล็กเพชร’ หรือ ‘วิทูรย์ กวยะปาณิก’ อดีตหัวหน้าข่าวภูมิภาค หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
โดย ‘ราชาหนังกลางแปลง’ ที่ชื่อ ‘แอ๊ด เทวดา’ ต้องติดคุกระหว่างดำเนินคดีนาน 1 ปี 10 เดือน ศาลจึงอนุญาตให้ประกันตัวชั่วคราว และเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2538 ศาลฎีกา จึงมีคำพิพากษายกฟ้อง โดยยืนตามศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์
หลังพ้นมลทิน ‘แอ๊ด เทวดา’ กลับมาทำเครือข่ายวิทยุชุมชนในนาม ‘โลกสีขาว วิทยุเพื่อสังคม’ ถ่ายทอดผ่านดาวเทียมจากห้องส่งที่ตลาดโคกมะตูม ผ่านคลื่น AM จำนวน 9 สถานี ครอบคลุมพื้นที่กว่า 50 จังหวัด
ในบั้นปลายชีวิต ‘แอ๊ด เทวดา’ ได้หันไปจับธุรกิจเคมีเพื่อการเกษตรที่จังหวัดพิษณุโลก ก่อนเสียชีวิตอย่างสงบเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม ปี พ.ศ. 2561 ปิดตำนาน 71 ปี ‘แอ๊ด เทวดาประกันคุณภาพ’ หนังกลางแปลงจอยักษ์ ‘จอยักษ์ผ่าโลก - จอโค้งเรดาร์’ และตำนานการฉายหนังข้ามแม่น้ำน่าน
โดยในปี พ.ศ. 2558 ในงานประเพณีแข่งเรือได้มีการนำหนังกลางแปลงมาฉายข้ามแม่น้ำน่านอีกครั้ง แต่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วย เพื่อเป็นการย้อนอดีต และประกาศเกีรยติยศ ‘แอ๊ด เทวดา’ เจ้าพ่อหนังกลางแปลง ‘จอยักษ์ผ่าโลก-จอโค้งเรดาร์’ อันลือลั่นนั่นเอง
เรื่อง: จักรกฤษณ์ สิริริน
ภาพ: Nation Photo