30 ก.ย. 2567 | 12:00 น.
จากสถานการณ์ด้านการศึกษาและการเรียนรู้ของประเทศไทย พบว่า สังคมไทยขาดองค์ความรู้เกี่ยวกับผู้เรียน โรงเรียนยังมองเห็นความแตกต่างหลากหลายของผู้เรียน และยังมีการลงทุนในการศึกษาในระบบที่ไม่สอดคล้องกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของเยาวชนในยุคถัดไป จึงเสนอให้หน่วยงานต่าง ๆ ด้านการศึกษาเร่งดำเนินการศึกษาลักษณะและความต้องการของผู้เรียนในยุคถัดไป กลไกการเรียนรู้ ทรัพยากร และบุคลากรที่เหมาะสมต่อผู้เรียนในยุคถัดไป และพื้นที่สาธารณะที่ปลอดภัยและมีเสรีภาพที่เหมาะสมต่อการเรียนรู้โดยธรรมชาติ
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2567 คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานวันคล้ายวันสถาปนาคณะฯ ครบรอบปีที่ 10 ภาย ใต้ชื่องาน “หนึ่งทศวรรษวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์” ภายในงานประกอบด้วยการเสวนาหัวข้อ “มองภาพอนาคตการศึกษาไทย” การจัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) หัวข้อ “อคติทางวัฒนธรรมกับการพัฒนาการศึกษาไทย” โดย โครงการห้องเรียนวัฒนธรรม ความร่วมมือระหว่าง ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) และคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มธ. ณ อาคารสิริวิทยลักษณ์ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มธ. (ศูนย์รังสิต)
ภายในการเสวนา “มองภาพอนาคตการศึกษาไทย”
ร่วมเสวนาโดย รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี ประธานคณะกรรมการอำนวยการโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และอดีตคณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ รศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคุณณิชา พิทยาพงศกร นักวิจัยอิสระและที่ปรึกษาด้านการพัฒนาองค์กรและการเรียนรู้ ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.อดิศร จันทรสุข คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ ผู้ร่วมเสวนาได้ให้ข้อคิดเห็นและผลสำรวจเกี่ยวกับแนวทางพัฒนาการศึกษา รวมถึงการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในด้านการศึกษาและการเรียนรู้ของประเทศไทยในอนาคต ซึ่งครอบคลุมมุมมองเกี่ยวกับสถานการณ์ของการศึกษาไทยในปัจจุบัน แนวโน้มสำคัญของโลกและสังคมไทย (Mega Trends) ตลอดจนการคาดการณ์ถึงฉากทัศน์ของการศึกษาไทยในอนาคต
รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี ประธานคณะกรรมการอำนวยการโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และอดีตคณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ กล่าวถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยว่า “ตอนนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญกับสถานการณ์ผู้เรียนลดลง หลายโรงเรียนขนาดเล็กอยู่ในเกณฑ์ต้องปิดโรงเรียน แต่พบว่าโรงเรียนนานาชาติคนแข่งขันกันเปิด ทั้งขยายห้องเรียน และพ่อแม่ก็อยากไปซื้อบริการการศึกษาที่เป็นนานาชาติมากขึ้น บางโรงเรียนขนาดกลางเปิดสาขาย่อยจำนวนมากเพื่อเตรียมนักเรียนเข้าสู่มหาวิทยาลัย มีการแข่งขันกันอย่างดุเดือดขึ้นมาก นอกจากนี้ยังมีนักเรียนที่ไม่ต้องการหรือไม่มีโอกาสเข้าสู่ระบบโรงเรียนทั่วไป อยากชวนคิด 2-3 ประเด็น ประเด็นที่หนึ่ง สังคมถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีที่เข้ามาทะลุทะลวงระบบการเรียนรู้ของมนุษย์อย่างรุนแรงและรวดเร็วในทุกวิชา ประเด็นที่สอง ภาพความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่กำลังสูงขึ้นเรื่อย ๆ ถ่างขึ้นเรื่อย ๆ ประเด็นที่สาม ผู้เรียนในแต่ละยุคมีวิธีคิดที่มีความแตกต่างกันอย่างมาก การใช้ระบบการเรียนรู้แบบเดิมจะไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป เราจะเห็นความตึงเครียดระหว่างสิ่งหนึ่งกับอีกสิ่งหนึ่งที่มากขึ้นเรื่อย ๆ ผู้เรียนจำนวนหนึ่งต้องการจะหลุดออกไปจากระบบเดิม และมีความรู้ที่ได้จากสื่อที่หลากหลาย จึงต้องการความรู้อีกรูปแบบหนึ่ง งานวิจัยจึงต้องต่อสู้เพื่อช่วงชิงพื้นที่ในด้านวิธีคิดในสังคม ขยายพรมแดนในเชิงปฏิบัติ ทำความเข้าใจว่าระบบวิธีคิดที่ดีต่อคนยุคถัดไปคืออะไร และคนที่เป็นครูต้องหน้าตาเป็นอย่างไรจึงจะสอดคล้องกับผู้เรียนในยุคถัดไป”
ในขณะเดียวกัน รศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เสริมในประเด็นด้านความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองกับการศึกษาว่ามีผลสืบเนื่องกันว่า “การศึกษามีความเกี่ยวข้องกับการเมืองของไทยอย่างมาก การศึกษาเป็นทั้งที่มาของความขัดแย้ง เป็นประเด็นของความขัดแย้ง และเป็นทางออกของความขัดแย้ง คนรุ่นใหม่มองว่าการศึกษาคือการลงทุนจริง ๆ เขามีความคาดหวังต่อการศึกษาสูงมาก เขาตัดสินใจแล้วว่าถ้าการเรียนไม่ตอบโจทย์การทำมาหากินได้ เขาจะไปทำอย่างอื่น การชุมนุมทางการเมืองได้เปลี่ยนวิธีคิดของคนรุ่นใหม่ไปทั้งยุคสมัย เขาเชื่อและมั่นใจว่าคนทุกคนสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้ ประเทศไทยยังไม่มีนักการเมืองที่สนใจด้านการศึกษาอย่างจริงจังแล้วได้เป็นรัฐบาล เพราะโดยปกตินโยบายต่าง ๆ ที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในประเทศได้อย่างจริงจังจะต้องถูกนำไปใช้อย่างน้อย 2 สมัย ดังนั้นนักการเมืองจึงต้องจริงจังกับการศึกษา คณะนี้ที่นี่สร้างการเปลี่ยนแปลงด้วยการยกระดับการศึกษาให้เป็นการเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมือง การศึกษาต้องเป็นอย่างนี้คือสร้างความหวังทางการเมือง ไม่ใช่แค่ผลิตครูและบุคลากรทางการศึกษา”
ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้มุมมองด้านการลงทุนในการศึกษาว่า “การศึกษาคือเทคโนโลยีในมุมของนักเศรษฐศาสตร์ ประเทศไทยตอนนี้มีโรงเรียนที่คอยสอนทักษะต่าง ๆ เต็มไปหมด แต่ทักษะเหล่านี้ควรจะสามารถพัฒนาในพื้นที่สาธารณะได้ ปัญหาคือพื้นที่สาธารณะยังไม่ปลอดภัยและไม่มีเสรีภาพเพียงพอ เราจึงขาดการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ หากเรามีพื้นที่สาธารณะที่ปลอดภัยและมีเสรีภาพที่มากเพียงพอ เราจะสามารถลดต้นทุนที่ต้องใช้ในการศึกษาได้เยอะมาก ผู้เรียนจะสามารถเรียนรู้ได้อย่างที่ตัวเขาเป็น การขยับออกไปให้พื้นที่สาธารณะเป็นพื้นที่การเรียนรู้ได้จริงจะช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้วย ตอนนี้พื้นที่สาธารณะยังเป็นพื้นที่ของนายทุนอยู่ ซึ่งเป็นปัญหาที่จะทำให้ความเหลื่อมล้ำด้านการเรียนรู้ยังมากขึ้นไปอีกเรื่อย ๆ ถ้าการศึกษาถูกกระจายมากพอ อาจต้องอาศัยแผนที่ดีที่นำเทคโนโลยีมาช่วยลดความเหลื่อมล้ำเหล่านี้”
นอกจากนี้ คุณณิชา พิทยาพงศกร นักวิจัยอิสระและที่ปรึกษาด้านการพัฒนาองค์กรและการเรียนรู้ ยังให้มุมมองที่น่าสนใจเกี่ยวกับบทบาทของโรงเรียนในยุคถัดไปว่า “เรื่องที่น่าประหลาดใจคือโรงเรียนไทยไม่ได้รองรับความแตกต่างหลากหลาย เราทุกคนเกิดมาแตกต่างกัน แต่เมื่อเข้าโรงเรียนเราไม่ได้มองเห็นความหลากหลายเหล่านั้น เราสอนเหมือนกันหมดและให้ทุกคนมีทักษะเหมือนกันหมด เราจึงถามคำถามให้นักเรียนได้เห็นว่าแต่ละคนมี I Want (ความต้องการ) และ I Can (มีความสามารถ) ถ้าผู้อำนวยการโรงเรียนและคนทำงานด้านการศึกษามองเห็นว่าผู้เรียนต้องการอะไรและมีความสามารถอะไร จะสามารถตอบความต้องการของผู้เรียนแต่ละคนได้มากขึ้น ถ้าเขาไม่รู้ว่าผู้เรียนต้องการอะไร เขาจะเอามาแต่คำสำคัญที่เขาได้รับมอบมา จะติดอยู่ในคำและติดอยู่ในรูปแบบที่เชื่อเอาเองว่าจะปลอดภัย แล้วจะยิ่งทำให้เขาไม่อยากจะเปิดตาออกไปดูเด็กนักเรียน ปัญหาในการศึกษาของไทยมาจากปีศาจไร้หน้า ที่ไร้หน้าเพราะในแต่ละนโยบายเรามักจะหาไม่เจอว่าจะต้องให้ใครจัดการ ระบบตอนนี้มีความแตกเป็นเสี่ยง ๆ นักเรียนมีความแตกต่างกันเยอะมาก โรงเรียนจึงต้องเป็นสถานที่ที่ทำให้ผู้เรียนมีสุขภาวะที่ดี ต้องสอนสุขภาวะทางสังคมและอารมณ์ (social-emotional wellbeing) และเป็นผู้เชื่อมต่อการเรียนรู้จากแหล่งต่าง ๆ เราต้องการคนที่รู้ว่ามีโอกาสอยู่ตรงไหนบ้างในโลก รู้ว่าผู้เรียนแต่ละคนต้องการอะไร แล้วช่วยเขาเชื่อมโยง”
นอกจากนี้ภายในงานยังมีกิจกรรมการอบรมเชิงปฏิบัติการ หัวข้อ “อคติทางวัฒนธรรมกับการพัฒนาการศึกษาไทย” ผศ.ดร.ไอยเรศ บุญฤทธิ์ ผู้อำนวยการโครงการวิจัยและพัฒนาหลักสูตร “ห้องเรียนวัฒนธรรม” เพื่อการเรียนรู้อยู่ร่วมสำหรับการจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ความร่วมมือระหว่าง ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) และ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงกิจกรรมที่เกิดขึ้นว่า กิจกรรมนี้เป็นการชวนให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้มองเห็น วิเคราะห์ และวิพากษ์แนวคิดเบื้องหลังเกี่ยวกับอคติที่ว่าด้วยเรื่องของการประกอบสร้างความคิด การประกอบสร้างความหมาย ที่ส่งผลต่อการปฏิบัติต่อกันและกันอย่างไม่เท่าเทียมในพื้นที่การศึกษา
ผศ.ดร.อดิศร จันทรสุข คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า จากการก่อตั้งคณะวิทยาการเรียนรู้ฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2557 คณะฯ ได้ดำเนินการอย่างเข้มข้นเพื่อพัฒนา “นิเวศการเรียนรู้” ที่สนับสนุนการเรียนรู้ของผู้คนในสังคม โดยนำภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างการเรียนรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งครอบครัวและชุมชน ซึ่งทำให้เกิดการเรียนรู้และโครงการต่าง ๆ ทั้งในและนอกห้องเรียน รวมทั้งสนับสนุนให้ผู้เรียนแต่ละคนพัฒนาสมรรถนะที่เหมาะสมต่อการใช้ชีวิตในอนาคต มุ่งสู่วิสัยทัศน์ “สถาบันการศึกษาชั้นนำที่ขับเคลื่อนสังคมด้วยการเรียนรู้” การดำเนินงานดังกล่าวยังได้รับการดำเนินงานผ่านโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งตั้งมั่นอยู่บนแก่นของการศึกษาที่เชื่อมั่นในกระบวนการพัฒนามนุษย์อย่างเป็นองค์รวม โดยใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือเติมเต็มศักยภาพของผู้เรียน และมีเป้าหมายเพื่อ “สร้างองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมและการพัฒนากระบวนการเรียนรู้อย่างเป็นองค์รวม”
“เราเชื่อว่าสังคมจะไปรอด เราจะต้องให้ความสำคัญกับ Learning หรือการเรียนรู้ในสังคม สิ่งสำคัญที่คณะพยายามทำมาตลอดคือการสร้างสังคมแห่งการเคารพและเรียนรู้ร่วมกัน สร้างสังคมที่เป็นธรรม ในวาระครบรอบ 10 ปีแห่งการก่อตั้งคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ คณะยังคงมุ่งมั่นที่จะผลักดันการทำงานทั้งในด้านการบริการวิชาการ และการบริการสังคม เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคมในด้านการเรียนรู้ให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้นต่อไป” คณบดีกล่าว
จากงาน “หนึ่งทศวรรษวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์” ครบรอบ 10 ปีแห่งการสถาปนาคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาจสรุปได้ว่า การศึกษาของไทยจำเป็นที่จะต้องมีความเป็นรูปธรรม ทั้งในด้านนโยบาย ผู้รับผิดชอบ และเป้าหมายของการปฏิบัติ ในขณะเดียวกันการศึกษาจะต้องทลายกรอบของการเรียนรู้ให้เป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างเสรีในวิถีชีวิต มีการทำงานร่วมกันระหว่างคนทั้งในระบบการศึกษาและระบบอื่น ๆ เพื่อให้การศึกษาสามารถขับเคลื่อนด้วยความรักที่ทุกคนมีต่อคนในรุ่นถัดไปอย่างแท้จริง