‘แรงบันดาลใจ’ คีย์หลักการทำธุรกิจของ ‘เครือสหพัฒน์’ ศึกษา เรียนรู้ จากปรมาจารย์รุ่นสู่รุ่น

‘แรงบันดาลใจ’ คีย์หลักการทำธุรกิจของ ‘เครือสหพัฒน์’ ศึกษา เรียนรู้ จากปรมาจารย์รุ่นสู่รุ่น

‘พิภพ โชควัฒนา’ ทายาทคนที่ 3 จากบริษัทในเครือสหพัฒน์ หนึ่งในผู้อยู่เบื้องหลังงานสหกรุ๊ปแฟร์ วางแผนและจัดกิจกรรมมาตลอด 5 ปี แนวคิด เรื่องราว และ DNA ของคนสหพัฒน์แบบรุ่นสู่รุ่น

KEY

POINTS

  • สหกรุ๊ปแฟร์ ครั้งที่ 28 ปีนี้ จัดขึ้นในธีม Fair & Fest เนรมิตทั้งงานแฟร์และกิจกรรมทุกวัยไว้ด้วยกัน
  • พิภพ โชควัฒนา ทายาทรุ่น 3 บุคคลเบื้องหลังที่เข้ามาช่วยงานสหกรุ๊ปแฟร์ ตั้งแต่ 5 ปีก่อน
  • 2 หลักคำสอนจากผู้ก่อตั้ง ดร.เทียม โชควัฒนา แนวคิดที่ส่งต่อคนสหพัฒน์ จนถึงปัจจุบัน

“จริง ๆ ต้องพูดว่าเครือเรามีปรมาจารย์อยู่เยอะ”

ทายาทรุ่น 3 ของอาณาจักรธุรกิจยักษ์ใหญ่อย่างสหพัฒน์ ‘พิภพ โชควัฒนา’ ที่เข้ามาเป็นส่วนสำคัญอีกคนหนึ่งที่ช่วยดูแลและทำให้อาณาจักรแห่งนี้เติบโตขึ้นแข็งแรง และคงรักษาตำแหน่งการเป็นบริษัทตัวแทนจำหน่ายสินค้าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยต่อไปอีกนานแสนนาน

เขาได้เปิดใจกับ The People ด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม เมื่อพูดถึงวันวานในยุคแรก ๆ ของ ‘สหพัฒน์’ ก่อนจะใช้คำว่า ‘อาณาจักร’ อย่างทุกวันนี้

‘แรงบันดาลใจ’ คีย์หลักการทำธุรกิจของ ‘เครือสหพัฒน์’ ศึกษา เรียนรู้ จากปรมาจารย์รุ่นสู่รุ่น

รวมไปถึงการเป็นผู้นำในการสร้างตำนาน ‘งานแฟร์’ ที่คนไทยรอคอยว่า เซอร์ไพรส์ในแต่ละปีจะมีอะไรบ้าง โดยปีนี้ก็ล่วงเลยมาเป็นปีที่ 28 แล้วแน่นอนว่า สหกรุ๊ปแฟร์ กลายเป็นอีกหนึ่งงานมหกรรมไอคอนิกที่เพิ่มบรรทัดฐานใหม่ให้กับงานรูปแบบนี้ในเมืองไทยให้สเปเชียลขึ้นทุกปี

อย่างปีนี้ก็เป็นปีแรกที่ เครือสหพัฒน์จะมาในคอนเซปต์ Fair & Fest คือมีทั้งกองทัพสินค้าแบรนด์ดัง ๆ ในเครือ และเพิ่มความพิเศษด้วยการเนรมิตให้งานนี้เป็นทั้งแฟร์และเฟสติวัลในงานเดียว

การเติบโตของเครือสหพัฒน์ ตั้งแต่ผู้บุกเบิก ‘เจ้าสัวเทียม โชควัฒนา’ การเดินทางตลอด 82 ปีนับตั้งแต่ก่อตั้งขึ้นในปี 1942 สู่รุ่นที่ 3 ‘พิภพ โชควัฒนา’ การเรียนู้และศึกษาที่ส่งต่อผ่านแต่ละเจเรเนชั่น ตกผลึกและขัดเกลาแนวคิดในแต่ละรุ่นอย่างไร ติดตามบทสัมภาษณ์เต็มจาก ‘พิภพ โชควัฒนา’ ทายาทรุ่นที่ 3 ของเครือสหพัฒน์

DNA ของสหพัฒน์

ถึงแม้ว่า ‘พิภพ’ ได้เข้ามาช่วยงานในเครือสหพัฒน์เกิน 20 ปีแล้ว แต่เขายังจำช่วงเวลาแห่งความสนุกในวันแรก ๆ ที่เข้ามาทำงานได้ดี

“ถ้าถามเมื่อ 20 ปีก่อนจะสนุกกว่านี้นะ ตอนที่เข้ามาทำงานใหม่ ๆ แต่สำหรับการเปลี่ยนแปลงของแต่ละรุ่นที่เข้ามาทำงานนั้น ผมมองว่า คนรุ่นเดิมทำมาดีมาก ๆ อยู่แล้ว คือสามารถสร้างสิ่งที่เรียกว่า inspiration ให้กับคนรุ่นต่อไปได้ สามารถปลูกฝังความเป็นเราได้ค่อนข้างชัดเจนมาก ยกตัวอย่าง ถ้าพูดถึงเรื่องความซื่อสัตย์ มันไม่ได้อยู่แค่คำพูดนะ แต่มันอยู่ในเครือว่า เราทำเพื่อสังคมกันอย่างไร”

“คือเราพูดถึงสังคมกันก็ประมาณปี 2008-2009 ใช่ไหมครับ ที่คนเริ่มคุยถึงสังคมกันเยอะ ๆ ช่วงแรก ๆ ปี 2000 จะเป็นเรื่อง CSR เสร็จแล้วก็เป็น ESG แต่ถ้าดูจากประวัติของเรา จะเห็นว่า ดร.เทียม พูดเรื่องนี้ตั้งแต่ปี 1984 มั้ง มีบันทึกภาพ มีวิดีโอสามารถย้อนกลับไปดูได้”

“โอ้โห เราพูดเรื่องพวกนี้ตั้งแต่ยุคนั้นเลยเหรอ คิดมาไกลมากแล้ว ถึงได้มองว่า inspiration ของคนรุ่นเดิมเนี่ย เป็นคีย์หลักของกลุ่มในสหพัฒน์นะครับ”

‘แรงบันดาลใจ’ คีย์หลักการทำธุรกิจของ ‘เครือสหพัฒน์’ ศึกษา เรียนรู้ จากปรมาจารย์รุ่นสู่รุ่น

พิภพ ได้เล่าถึงวิธีการของตัวเองตั้งแต่ที่เข้ามาช่วยงานช่วงแรก ๆ ว่า เขาจะเริ่มจากการเรียนรู้และศึกษาจากคนรุ่นเดิมก่อน จากนั้นก็มาดูว่า เราทำอะไรกันไปแล้วบ้าง และเราพอจะหยิบอะไรมาต่อยอดได้บ้าง

“ด้วยความที่ผมมาทาง IT ผมจบมาจาก MIS แล้วได้มีโอกาสทำงานอยู่ที่อเมริกาอยู่ แต่ก็ไม่นาน ฉะนั้น ผมมองว่า ของบางอย่างแต่ละยุค ถ้าเอามาผสมกันก็น่าจะได้ประโยชน์ค่อนข้างเยอะ ซึ่งช่วงแรก ๆ มีประเด็นเรื่อง IT ผมก็เข้ามาปรับปรุงค่อนข้างเยอะ”

‘แรงบันดาลใจ’ คีย์หลักการทำธุรกิจของ ‘เครือสหพัฒน์’ ศึกษา เรียนรู้ จากปรมาจารย์รุ่นสู่รุ่น

การปรับปรุงระบบ IT ในความหมายของ พิภพ เป็นการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น เพราะมีหลายสิ่งที่คนรุ่นเก่า ๆ เริ่มทำ และทำได้ดีอยู่แล้ว เช่น ยุคของ ‘บุณยสิทธิ์’ ลูกชายคนที่ 3 ของ ดร.เทียม ที่เป็นคนแรก ๆ ในการเอา mainframe เข้ามาทำงาน แล้วก็สามารถสร้าง network ระหว่างกรุงเทพฯ ทั้งยังเป็นคนแรกที่เปิดศูนย์อุตสาหกรรมอยู่ที่ศรีราชาด้วย

“เราพูดถึงหลากหลายมิติของการทำงานในเครือนะครับ จริง ๆ ต้องบอกว่าเรามีปรมาจารย์เยอะ ซึ่งผมก็เป็นส่วนเพิ่มในมุมทางด้านของ IT ที่เราถนัดมากกว่า แล้วก็มาช่วยเสริมเรื่องของประเภทสินค้า เพราะเป็นสิ่งที่เราคิดว่าตอบโจทย์และต่อยอดได้ดี”

โดยเขาได้พูดถึง ‘นิวซิตี้’ บริษัทในเครือสหพัฒน์ที่ปีนี้ครบรอบ 60 แล้ว ในฐานะที่เขานั่งเป็นประธานบริหาร พยายามเปิดโอกาสให้สินค้าประเภทอื่น นอกเหนือจาก ‘ถุงน่อง’ โดยใช้ Know-How ในแง่ของเทคโนโลยีการผลิตหรือวิธีการ แล้วนำสิ่งเหล่านั้นมาต่อยอดเป็นสินค้าประเภทอื่น ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นถุงน่องอย่างเดียวเช่นเดิม

พิภพ ได้ขยายสินค้าไปกลุ่ม innerwear (ชุดชั้นใน) โดยต่อยอดไปประเภทสินค้า พวกชุดชั้นใน seamless เพิ่มประสบการณ์ให้ผู้บริโภคคนไทย

“ประเภทสินค้าที่แตกจาก category เดิม แต่ know-how เหมือนกัน เช่น ถุงน่อง ชุดชั้นใน เสื้อผ้า เสื้อยืด แม้ว่าจุดเริ่มต้นของในเครือ ช่วงแรก ๆ เราอาจจะมองถึงเรื่องของอาหาร มองเรื่องสินค้านำเข้า แต่ช่วงหลัง ๆ ที่เริ่มนำเข้าสินค้าได้สักพักหนึ่ง ก็เริ่มมองหาพาร์ทเนอร์ และเปิดโรงงาน และพยายาม customized สินค้าให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคมากขึ้น จนกระทั่งสหพัฒน์ ก็เปลี่ยนผ่านยุคสู่ยุค ที่รวมไปถึงเรื่องของช่องทางการขาย IT และดิจิทัล”

‘แรงบันดาลใจ’ คีย์หลักการทำธุรกิจของ ‘เครือสหพัฒน์’ ศึกษา เรียนรู้ จากปรมาจารย์รุ่นสู่รุ่น

 

เรื่องเฟลกับธุรกิจเป็นของคู่กัน

ปัจจุบันบริษัทในเครือสหพัฒน์กว่า 200 บริษัท โดยมีรายการสินค้ากว่า 600 BU ไม่แปลกที่จะครองมาร์เก็ตแชร์ในตลาดส่วนใหญ่ แต่ใครจะคิดว่า สมัยก่อนบริษัทในเครือของสหพัฒน์มีมากกว่านี้เยอะมาก ๆ ซึ่งก็มีทั้งคนที่ทันชื่อแบรนด์บางแบรนด์ และก็ไม่เคยได้ยินมาก่อน

“ถ้าย้อนไปเมื่อ 40 ปีก่อน เรามีบริษัทมากกว่านี้ด้วยซ้ำ แต่ยุคสมัยผ่านไปก็ต้องมีเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ หนึ่งในธุรกิจที่อยู่ในเครือเราในอดีตอย่าง Konica ถ้าอายุไม่ถึงจะไม่เข้าใจเลยว่าคืออะไร เพราะบางคนก็จะคิดว่ามันคือ แบรนด์เครื่องถ้ายเอกสารเหรอ แต่จริง ๆ แล้วมันคือ ฟิล์ม เมื่อก่อนเราทำเรื่องของแล็บด้วย แต่ก็ไม่ค่อยมีใครรู้ และทุกวันนี้ Konica คือใคร อาจจะไม่มีใครเชื่อว่า มันคือบริษัท ซันเวนดิ้ง เทคโนโลยี”

พิภพ ได้พูดในมุมส่วนตัวถึงการเข้ามารับช่วงต่อในบริษัทในเครือสหพัฒน์ว่ามีความกดดันหรือไม่ อย่างไร เขาบอกว่า แทบไม่กดดันเพราะเครือสหพัฒน์ไม่ได้เป็นองค์กรแบบ top down แล้วก็มีบริษัทในเครือค่อนข้างเยอะ วิธีการปรับตัวที่ดีที่สุดที่เขาเรียนรู้มาก็คือ “ไม่ต้องคิด...ให้ทำเลย”

ด้วยความที่เขามองตัวเองว่า ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญตั้งแต่แรก และเขาก็วางตัวเองเป็น ‘น้ำไม่เต็มแก้ว’ เสมอ เพื่อที่จะได้เรียนรู้ และกอบโกยความรู้ใหม่ ๆ จากคนเก่ง ๆ ดังนั้น สิ่งแรกที่เขาทำและคิดก็คือ ใช้เวลาดูก่อนว่า ในส่วนไหนคืออะไร แล้วต้องดูว่าจุดไหนที่ควรต้องเสริม จุดไหนที่ดีอยู่แล้ว หมายความว่า ถ้าจุดที่ดีอยู่แล้วก็ต้องดันให้สูงขึ้นให้ดีขึ้นกว่านี้ แต่ก็ต้องมีจังหวะในการดันเพื่อให้มันดีขึ้นอีก เป็นอีกมิติหนึ่งที่ต้องเรียนรู้

เขาได้ยกตัวอย่าง การต่อยอดจากถุงน่องเป็นชุดชั้นในในแบรนด์ที่คนไทยรั้กอยู่แล้วว่า สิ่งนี้คือการต่อยอดเพื่อใช้พลังน้อยหน่อยแต่ทำให้สินค้าดีขึ้นได้ สำหรับคนสหพัฒน์ คำพูดติดปากที่มักจะอยู่ในใจทุกคนก็คือ ‘เร็วช้าหนักเบา’

หมายถึงว่า ถ้าจะดันสินค้าหรือแบรนด์ไหน ควรใช้แรงที่น้อยกว่า ดันในจังหวะที่ถูกต้อง และต้องรู้จริงว่าเราเลือกดันสินค้าที่มีดีมานด์จริง ๆ ซึ่งคำว่า ‘เร็วช้าหนักเบา’ คำสอนนี้มาจากอดีตประธานบริหาร ดร.เทียม ส่วนคำสอนที่ 2 ที่พิภพ พูดถึงก็คือ “ผิดได้ ไม่เป็นไร ให้ผิดเป็นครู แต่อย่าผิดครั้งที่ 2”

“ดร.เทียม มักจะสอนว่า ผิดคือต้นทุนที่ดีที่สุด แต่ถ้าต้องการลบต้นทุน จะต้องแชร์ความรู้พวกนี้ให้คนอื่นต่อ เพื่อให้คนอื่นไม่ผิดด้วย นั่นจะทำให้ต้นทุนมันต่ำลงไปด้วย”

 

สหกรุ๊ปแฟร์ ผลงานชิ้นโบว์แดง

“ปีแรกที่จัดงานนี้ ก็คือปี 1997 ด้วยเหตุผลก็คือ ในยุคนั้นคนไทยอาจจะนิยมในเรื่องของการบริโภคสินค้านำเข้า ค่าเงินก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ถึงจุดจุดหนึ่งที่ค่าเงินเปลี่ยน สหพัฒน์ก็อาจจะมีมุมมองในเรื่องของการส่งออกมากขึ้น ซึ่งงานปีแรกเราคงจะเน้นเรื่องสหกรุ๊ป export fair สเกลก็ไม่ได้ใหญ่ขนาดนี้นะครับ”

ก่อนที่ พิภพ จะเข้ามาช่วยการจัดงานสหกรุ๊ปแฟร์ ‘ธรรมรัตน์ โชควัฒนา’ ผู้บริหารใหญ่ของ WACOAL เป็นประธานจัดงานมาตลอด ซึ่งตอนนี้ก็เป็นปีที่ 5 แล้วที่พิภพ ได้เข้ามาช่วยจัดงาน ซึ่งเขาได้แชร์ว่า ในแต่ละปีก็จะมีความคิด วิธีการทำหรือการจัดให้มีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ อย่างในยุคแรก ๆ ที่สหกรุ๊ปแฟร์ ก็จะเป็นเพียงงานสินค้าราคาพิเศษ

จนมาปี 2020 ยุคที่ TikTok เริ่ม ๆ เข้ามา สหกรุ๊ปแฟร์ ก็มาคู่กับงานแฟชั่นโชว์ ที่คนไทยจำภาพกันได้ แต่พอยุคหลัง ๆ การรับรู้ของคนเริ่มมากขึ้น สหกรุ๊ปแฟร์ จึงมีอะไรหลากหลายขึ้น มีการเชิญ influencers มาร่วมงาน, มีการจัดกิจกรรมที่เอื้อต่อคนหลาย ๆ วัย เพราะสหพัฒน์ต้องการให้งานนี้ เป็นอีกหนึ่งงานที่ครอบครัวสามารถมาด้วยกันได้

‘แรงบันดาลใจ’ คีย์หลักการทำธุรกิจของ ‘เครือสหพัฒน์’ ศึกษา เรียนรู้ จากปรมาจารย์รุ่นสู่รุ่น

“สิ่งที่เราพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงในปีที่แล้ว เราพบว่า ครอบครัวมาด้วยกันมากขึ้น คือทั้งคุณปู่ คุณย่า พ่อแม่ ลูกมาร่วมงานกัน ใครที่สนใจอาหารก็ไปอาหาร คนสนใจสัมมนาก็ไปสัมมนา ลูก ๆ สนใจคอสเพลย์ก็ไปคอสเพลย์ มีกิจกรรมต่าง ๆ ครบถ้วนกันทุกคน”

“ในมุมส่วนตัวผมว่า มันเป็นมุมมองที่ดีนะ คือคุณพ่อเข็นคุณปู่ อย่างเนี้ยนะ แล้วก็มีหลานเดินตามไปด้วย นี่เป็นบรรยากาศที่ดี แล้วก็เป็นจุดเริ่มต้นที่เรามองว่า เราไม่ควรจะจัดแค่คำว่า ‘แฟร์’ ปีนี้ มันก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นของสหกรุ๊ปแฟร์ ที่พ่วงคำว่า ‘fest’ เพื่อจะดึงบรรยากาศพวกนี้เข้ามาร่วมกันให้ได้มากขึ้น”

“กิจกรรมมันจะมีเยอะหน่อย ตอบโจทย์คนอีกหลาย ๆ กลุ่มเลย จริง ๆ นอกเหนือจากกิจกรรมประเภทที่มีการแข่งเต้น แล้วมีเรื่องของการ VTuber มีโอเดนย่าการ์ดพลัง มีวงดนตรีมาเล่น เราจะมีพื้นที่ townhall นะครับ แล้วก็มีบรรยากาศที่มีพวก art toys อยู่ในพื้นที่ด้วยครับ”

ก่อนจะปิดท้ายบทสัมภาษณ์ พิภพ ได้เปิดประเด็นเรื่องการ MOU ที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ด้วย ว่าเครือสหพัฒน์จะมี MOU เฉพาะปีนี้ประมาณ 16 ตัว ซึ่งสหพัฒน์ในอนาคตอาจจะไม่ใช่แค่เพื่อบริษัทในเครือเท่านั้น แต่จะมุ่งไปทางสังคมเพื่อคนไทย

ส่วนมุมมมองเรื่อง AI หรือ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ สำหรับพิภพ เขามองว่า เป้าหมายที่สำคัญที่สุดของ AI ก็คือ ‘การลดต้นทุน’ ทำให้สินค้าราคาดีขึ้น ทั้งยังยกตัวอย่าง ‘มาม่า’ ว่าช่วงแรก ๆ ที่ผลิตออกมา ราคาแพงกว่าบะหมี่ชามนึงด้วยซ้ำ แต่ว่าปัจจุบันราคามาม่า 1 ห่อถูกกว่าเมื่อก่อนเยอะ

“สุดท้าย การทำธุรกิจไม่ว่าจะประสบความสำเร็จ หรือ ล้มเหลว อยู่ที่มุมมอง ไม่ใช่ว่าทุกที่ ทุกคน ทุกบริษัทจะสำเร็จเสมอไป เราเองก็ไม่ใช่ ต้องถามตัวคุณเองว่า คุณหมกหมุ่นกับสิ่งนั้นมากพอหรือไม่ ผู้บริหารหลาย ๆ คน พวกเขาไม่ใช่แค่รักในตัวสินค้า แต่ต้องหมกหมุ่นกับมันเลย ถึงจะทำให้มันเกิดขึ้นได้ อย่าง สตีฟ จ็อบส์ ที่เขาไม่ล้มเลิกไปกลางทาง คุณต้องหลงใหล และไม่ยอมแพ้”