18 ต.ค. 2567 | 15:50 น.
กองทัพภาพยนตร์คุณภาพจากทั่วโลก เตรียมกระตุ้น “Soft Power” ด้านภาพยนตร์ให้แก่ประเทศไทยสู่สากล ในงานเทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพฯ ครั้งที่ 16 “World Film Festival of Bangkok” ระหว่างวันที่ 7-17 พ.ย. 2567 ณ โรงภาพยนตร์เอสเอฟ เวิลด์ซีเนม่า เซ็นทรัลเวิลด์ พบกับที่สุดเทศกาลภาพยนตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อผลักดันอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของประเทศไทย ได้ขยายเครือข่ายเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ขยายโอกาสในการตลาดภาพยนตร์นานาชาติ และให้ผู้ชมได้แลกเปลี่ยนความรู้ทางวัฒนธรรม ผ่านเนื้อหาของภาพยนตร์จากนานาประเทศ พบกับกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้ประเทศ
คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟท์พาวเวอร์แห่งชาติ (Thailand Creative Culture Agency หรือ THACCA) กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม, เอส เอฟ คอร์ปอเรชั่น, กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์, สายการบิน EVA AIR, Thai Lion Air, Air Asia, China Southern Airlines และสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย สนับสนุนการจัดงาน เทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพฯ ครั้งที่ 16 มุ่งขับเคลื่อนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย ให้ได้รับการยอมรับและแข่งขันได้ในเวทีโลก
ในงานแถลงข่าวเทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพฯ ครั้งที่ 16 ได้รับเกียรติจาก นายประสพ เรียงเงิน อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานเปิดงาน โดยคณะผู้จัดงาน นายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ ที่ปรึกษาพิเศษ เนชั่น กรุ๊ป นางสุวรรณี ชินเชี่ยวชาญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานการปฏิบัติการ เอส เอฟ คอร์ปอเรชั่น ม.ร.ว.เฉลิมชาตรี ยุคล ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ด้านภาพยนตร์ ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ Mr. Jackie Kang กรรมการบริหาร อีวีเอ แอร์เวย์ส คอร์ปอเรชั่น Ms. Zhao Yang กรรมการบริหาร ไชน่า เซาเทิร์น แอร์ไลน์ ประเทศไทย คุณแพรวรำไพ แสงทอง ผู้จัดการแผนกการสื่อสารการตลาด ไทยไลอ้อนแอร์ ผู้บริหารของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ร่วมงาน ณ โรงภาพยนตร์เอสเอฟ เวิลด์ ซีเนม่า ชั้น 9 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์
นายประสพ เรียงเงิน อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) กล่าวว่า รัฐบาลตั้งเป้าผลักดันอุตสาหกรรม Soft Power ทั้ง 11 สาขา โดยนำความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรมและเทคโนโลยี มาประยุกต์กับทุนทางวัฒนธรรมของประเทศไทย เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการของประเทศ ซึ่งอุตสาหกรรมภาพยนตร์เป็นหนึ่งในโยบายขับเคลื่อน Soft Power ของรัฐบาลตามยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ Thailand creative content agency (THACCA) กับ 11 กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในปี 2567 กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม(สวธ.) จึงร่วมกับคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านภาพยนตร์ สนับสนุนภาพยนตร์ไทยเข้าร่วมเทศกาลภาพยนตร์ในต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยให้เป็นที่รู้จักในระดับสากล และสอดคล้องกับนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาล
อธิบดีสวธ.กล่าวอีกว่า รัฐบาลและกระทรวงวัฒนธรรม มีแผนการสนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยในอีกหลายมิติ เช่น การสนับสนุนการผลิตภาพยนตร์ไทย การพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมภาพยนตร์และการสนับสนุนให้เกิดเทศกาลภาพยนตร์ในประเทศและต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมศักยภาพและความสามารถของผู้สร้างภาพยนตร์ไทยในการแข่งขันในตลาดโลก เพราะการส่งเสริมภาพยนตร์ไทยไม่เพียง แต่เป็นการโปรโมทวัฒนธรรมไทยให้เป็นที่รู้จักในระดับสากล แต่ยังเป็นการเสริมสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ และเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาที่ยิ่งยืน อีกด้วย
ด้าน ผู้อำนวยการเทศกาล (Festival Director) ในครั้งนี้ นายดรสะรณ โกวิทวณิชชา’ ได้กลับมาทำหน้าที่ อีกครั้ง หลังจากประสบความสำเร็จในเทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพฯครั้งที่ 15 ได้กล่าวว่า สำหรับธีมของเทศกาลฯ ครั้งที่ 16 นี้ คือ 'New Horizon’ สื่อถึงการมองไปสู่การแสวงหาขอบฟ้าใหม่ๆ เป็นการสื่อถึงการเดินหน้าที่จะทำในสิ่งใหม่ๆ ก้าวสู่สิ่งใหม่ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยในอนาคต อันจะปรากฏในการจัดเทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพฯครั้งต่อๆ ไป และในการคัดสรรภาพยนตร์ในครั้งนี้ ยังคงเน้นภาพยนตร์ที่มีคุณภาพจากทุกทวีปทั่วโลกมากกว่า 80 เรื่อง จากกว่า 35 ประเทศ มานำเสนอแก่ผู้ชมชาวไทย โดยมุ่งเน้นการนำเสนอภาพยนตร์จากผู้กำกับรุ่นใหม่จากทั่วทุกมุมโลกที่มีผลงานโดดเด่น รวมถึงผลงานภาพยนตร์ไทยจากผู้กำกับไทยรุ่นใหม่ที่มีความน่าสนใจ ซึ่งกลุ่มภาพยนตร์จากนานาชาติชุดแรกที่เปิดเผยในงานนี้จำนวน 11 เรื่อง คือ The Lost Princess Thailand, Happyend (Japan), Poojar, Sir (Nepal, United States, Norway), All We Imagine as Light (Nepal, United States, Norway, Luxembourg), Mongrel (Taiwan, Singapore, France), Grand Tour (Portugal, Italy, France), Harvest (United Kingdom, Germany, Greece, France, United States), Shambhala (Nepal, France, Norway, Turkey, Hong Kong, Taiwan, United States, Qatar), April (Georgia, Italy, France), Viet and Nam (France, Switzerland, Lichtenstein, Vietnam), Rivulet of Universe - มันดาลา
ทั้งนี้ นายดรสะรณ ยังเปิดเผยภาพยนตร์ไทยที่จะถูกฉายเป็นภาพยนตร์เปิดเทศกาล ได้แก่ “อรุณกาล” โดย นายศิวโรจณ์ คงสกุล ผู้กำกับและเขียนบทภาพยนตร์อรุณกาล และน.ส. พิมพกา โตวิระ โปรดิวเซอร์ภาพยนตร์อรุณกาล ถือว่าเป็นภาพยนตร์ไทยที่ได้รับเสียงตอบรับที่ดีในเวทีโลก อย่าง เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติซาน เซบาสเตียน สเปน (San Sebastian Film Festival 2024) และเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองปูซาน เกาหลีใต้ (Busan International Film Festival)
ด้าน ‘เนชั่น กรุ๊ป’ ผู้ริเริ่มจัดงานเทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพฯ ตั้งแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน ได้จัดเป็นครั้งที่ 16 ยังคงร่วมมือกับพันธมิตรอย่าง เอส เอฟ คอร์ปอเรชั่น, THACCA และกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้ให้สัมภาษณ์ถึงความรู้สึกที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของประเทศไทยกำลังจะจัดขึ้นอีกครั้งและเป็นความหวังให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ทั้งด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว
นายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ ที่ปรึกษาพิเศษ เนชั่น กรุ๊ป กล่าวว่า “หวังว่าการสนับสนุนจากรัฐบาล คณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์เป็นการสนับสนุนอย่างจริงจัง คิดว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนางานฟิล์มเฟสติวัลในระดับภูมิภาค เพราะในอาเซียนถือว่า เราสามารถจัดภาพยนตร์จากหลากหลายประเทศเข้าร่วมมากที่สุด ต่อเนื่องมากที่สุด และการจัดเทศกาลครั้งนี้หวังว่า จะมีคนรุ่นใหม่เข้ามาชมภาพยนตร์และตื่นตัวมากขึ้น”
ด้าน นางสุวรรณี ชินเชี่ยวชาญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานการปฏิบัติการ เอส เอฟ คอร์ปอเรชั่น พันธมิตรที่ให้การสนับสนุนโรงภาพยนตร์ในการจัดเทศกาลมาอย่างต่อเนื่อง เปิดเผยว่า “การจัดเทศกาลภาพยนตร์ที่ยิ่งใหญ่และต่อเนื่องจำเป็นมากที่ต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ในปีนี้ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม รวมถึงกองทุนพัฒนาสื่อฯให้การสนับสนุน รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ประชาชน นักเรียน รวมถึงผู้ที่สนใจเรื่องฟิล์ม มีโอกาสชมภาพยนตร์มากขึ้น และหวังว่าจะได้รับการสนับสนุนทุกๆปี และสำหรับราคาบัตรภาพยนตร์ในเทศกาล ราคา 150 บาท บัตรนักเรียน-นักศึกษา ราคา 120 บาท”
ด้าน ม.ร.ว.เฉลิมชาตรี ยุคล ประธานอนุกรรมการคณกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟท์พาวเวอร์แห่งชาติด้านภาพยนตร์ ละคร ซีรี่ส์และแอนนิเมชั่น เปิดเผยว่า “นโยบายสำคัญของ THACCA ในส่วนของภาพยนตร์มี 4 เสา คือ ผู้สร้าง ได้ทำ ได้ฉาย รวมถึงมี ผู้ลงทุน ทำอย่างไรให้ว่าการจัดเทศกาลกระตุ้นการลงทุนได้ ทำให้ผู้ลงทุนมองเห็นคุณค่าและมูลค่า ต่อมาคือ ผู้ชม สามารถเสพความหลากหลายของวัฒนธรรม ทำให้เราเข้าใจโลกทัศน์ได้กว้าง ซึ่งเทศกาลช่วยด้านนี้ได้มาก สุดท้ายคือ ภาครัฐ สนับสนุนเทศกาลให้ต่อเนื่อง โดยเทศกาลมีพื้นที่ให้รัฐพูดคุยต่อเนื่อง เพื่อสร้างมูลค่าและนโยบาย ส่วนรัฐต้องผลักดันเรื่องนี้หนักขึ้น จนเกิดความร่วมมือ นี้คือ 4 เสาสำคัญ”
ด้าน ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ หลังจากที่เคยสนับสนุนเทศกาลฯในปี 2565 แล้วนั้น ในปีนี้ยังให้การสนับสนุนต่อเนื่อง เพื่อร่วมผลักดันอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในประเทศไทย “การส่งเสริมสนับสนุนของไทยที่ผ่านมาไม่มีความชัดเจน ทั้งที่ภาพยนตร์ไทยมีความพร้อม ซึ่งผมเชื่อว่า ตอนนี้ภาครัฐกำลังพยายามส่งเสริมอยู่ ส่วนในภาคของประชาชน ผมอยากให้มาชมหนังกันเยอะๆ แล้วจะได้รู้ว่า คนมีความต้องการอยู่ มีความกระตือรือร้นและสนใจ เพื่อผลักดันในด้านนโยบายต่อไป”
สำหรับ “เทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพมหานคร” ครั้งที่ 16 หรือ “World Film Festival of Bangkok 2024” กำหนดจัดระหว่างวันที่ 7 - 17 พฤศจิกายน 2567 ณ เอส เอฟ เวิลด์ ซีเนม่า เซ็นทรัลเวิลด์ ผู้ที่สนใจติดตามเพิ่มเติมได้ที่ www.worldfilmbangkok.com หรือ Facebook Page: World Film Festival of Bangkok | Instagram: WorldFilmBangkok