17 ม.ค. 2568 | 16:00 น.
ในช่วงเวลาที่ผ่านมาเกิดคำศัพท์ฮิตมากมายในโซเชียลมีเดีย แต่คงหนีไม่พ้นคำพูดติดปากที่พูดไปเรื่อยจนเกิดเป็นกระแสใหม่ ๆ ทั้งคำพูดที่ผู้คนนำมาใช้กันเองจนแพร่หลาย ไปจนถึงคำพูดจากเหล่าอินฟลูอินเซอร์หรือศิลปินชื่อดัง
Wisesight ได้ทำการเก็บข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 – 13 มกราคม 2568 พบว่ามีการพูดถึงคำศัพท์สุดฮิตโดยรวมกว่า 84,553 message ได้รับเอ็นเกจเมนต์รวมกว่า 20 ล้านครั้ง ซึ่งมีอัตราการเติบโตสูงมาก
วันที่ได้รับการพูดถึงมากที่สุดคือวันที่ 5 มกราคม 2568 ซึ่งเป็นวันที่เกิดหลากหลายเหตุการณ์บนโลกออนไลน์ ทั้งโพสต์จากศิลปินและอินฟลูเอนเซอร์ เช่น Khunpol Busofficial, Prin Panissara, และ Tattoo Colour Band รวมถึงคอนเทนต์จากเหล่าแฟนคลับที่นำคำอวยพรปีใหม่ของบิวกิ้นและพีพีมาต่อยอดจนเกิดเป็นคอนเทนต์หลากหลายบนโซเชียลมีเดีย
ช่องทางที่พูดถึงกลุ่มคำศัพท์ฮิตเหล่านี้มากที่สุดคือ TikTok ที่ได้รับความนิยมไปมากถึง 8,311,761 engagement (42.77%) คิดเป็น 813 message โดยเนื้อหาส่วนใหญ่บน TikTok เป็นการเล่าถึงความรู้สึกท้อแท้ในชีวิตและการระบายเชิงตลกขบขันว่า ทำไมเรื่องร้าย ๆ มันถึงเกิดแต่กับเค้า สะท้อนผ่านคีย์เวิร์ด “เกิดแต่กับกู” ที่ได้รับความนิยมมากถึง 3.2M engagment เรามาดูกันว่า มีคำไหนที่น่าสนใจหรือว่าเป็นคำที่เราเคยใช้กันบ้าง
1. คำว่า “ ชีเสิร์ฟ ”
เมื่อสำรวจความคิดเห็นบนโซเชียลมีเดียพบว่า คีย์เวิร์ด “ชีเสิร์ฟ” ได้รับความนิยมมากถึง 6,345,737 engagement คิดเป็น 24,437 message และช่องทางที่ถูกพูดถึงมากที่สุดคือบน TikTok ที่พูดถึงมากกว่า 250 message หรือคิดเป็น 2,249,833 engagement เนื้อหาส่วนใหญ่ที่ถูกพูดถึงนั้นมาจากคอนเทนต์ “ขอให้ชีเสิร์ฟทั้งปี” ของศิลปิน บิวกิ้น พุฒิพงศ์ ซึ่งเหล่าแฟนคลับแซวกันอย่างสนุกสนานว่าเป็นคำอวยพรที่ไม่ได้มีความหมาย แต่ผู้พูดถือคติว่า "ขอพูดไปก่อน" นอกจากนี้ คลิปเดินแบบ Full Turn พร้อมแคปชั่น “ชีเสิร์ฟละ” ของคุณ โยชิ ก็ได้รับ engagement สูงไม่แพ้กัน ด้วยท่าเดินที่โดดเด่นและหุ่นที่จึ้งมาก จนคนบนโซเชียลต่างอดแซวกันว่า “ชีเสิร์ฟหนักมาก”
นอกจากนี้ เนื้อหาส่วนใหญ่ที่มาควบคู่กับ “ชีเสิร์ฟ” คือการชื่นชมว่ามันจึ้งมาก เริ่ด ทั้งจากการแสดงออกหรือการกระทำที่โดดเด่นจนดึงดูดสายตา สร้างความประทับใจ หรือทำออกมาได้อย่างสมบูรณ์แบบ พร้อมเสิร์ฟความปังให้คนบนโซเชียลได้ชมกันอย่างเต็มที่จริง ๆ
2. คำว่า “ เกิดแต่กับกู ”
ในขณะที่คีย์เวิร์ดที่ได้รับความนิยมต่อมาคือ “เกิดแต่กับกู” ได้รับความสนใจอย่างมากไม่แพ้กัน โดยคำนี้ได้รับความนิยมมากถึง 4,976,309 engagement คิดเป็น 24,437 message เนื้อหาส่วนใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับคีย์เวิร์ดนี้มักมาในรูปแบบการตั้งคำถามในเชิงตัดพ้อ เช่น ‘ทำไมเหตุการณ์ร้าย ๆ มันถึงเกิดขึ้นแต่กับฉัน’ หรือการประชดประชันเชิงตลกขบขันว่า ‘ ให้มันเกิดขึ้นแต่กับฉันนี่แหละ’
จากคอนเทนต์ “เกิดแต่กับกู” นี้เอง สะท้อนให้เห็นว่าคนไทย แม้จะเผชิญกับเรื่องราวมากมายเพียงใด แต่ก็ยังคงใช้ความตลกและอารมณ์ขัน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์และการมองโลกในแง่บวกที่เป็นเอกลักษณ์ของคนไทย
3. คำว่า “ มันจะไอนั่น ”
และอีกหนึ่งคำที่ฮิตติดปากไม่แพ้กันคือ “มันจะไอนั่น” ที่ได้รับความนิยมมากถึง 2,963,091 engagement หรือคิดเป็น 14,857 message โดยคำนี้มักถูกใช้ในกลุ่มสาววายที่แสดงความเขินอายหรือฟินกับคู่จิ้น จนทำให้เกิดคอนเทนต์ที่กลายเป็นกระแสและติดเทรนด์บนโซเชียลมีเดียอย่างแพร่หลาย ซึ่งสุดท้ายแล้ว “ไอนั่น” ที่ถูกพูดถึงนั้นจะหมายถึงอะไร ก็ขึ้นอยู่กับจินตนาการและการตีความของเหล่าผู้อ่านเอง
4. คำว่า “ เหยิน ”
เป็นอีกคำที่มาจากเหล่าแฟนคลับที่จิ้นศิลปินจนเกิดเป็นไวรัลคือ “เหยิน” ที่ได้รับความนิยมมากถึง 2,499,656 engagement หรือคิดเป็น 24,486 message โดยความหมายของคำว่า “เหยิน” ในบริบทนี้ หมายถึงอาการเขินมากจนไม่สามารถหุบยิ้มได้จนทำให้ฟันยื่นออกมา ถือเป็นการแสดงออกถึงความฟินหรือความประทับใจในตัวศิลปิน นอกจากนี้ คำว่า “เหยิน” และ “ฮ้อบ” ยังถูกใช้ในสถานการณ์ที่คล้ายคลึงกัน โดยมักมาจากแฟนคลับที่แสดงความเขินหรือความตื่นเต้นผ่านข้อความที่สื่อถึงความชื่นชอบและความประทับใจในศิลปินของพวกเขา จนกลายเป็นเทรนด์ที่ได้รับความนิยมบนโซเชียลมีเดียอย่างกว้างขวาง
5. คำว่า “ ฮ้อบ ”
หากพูดถึงคำที่เป็นไวรัลควบคู่กับคำอย่าง เหยิน, มันจะไอนั่น, และ ชีเสิร์ฟ อีกหนึ่งคำที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กันคือ “ฮ้อบ” ซึ่งมักมีการเขียนในหลากหลายรูปแบบ เช่น ฮ้อบ, ฮว้อป, หรือ ฮ้อป โดยได้รับความนิยมไปมากกว่า 1,889,176 engagement หรือคิดเป็น 14,095 message
รูปแบบการใช้ส่วนใหญ่มักอยู่ในลักษณะการตั้งคำถาม เช่น “มันฮ้อบอ่อออ?” โดยความหมายของ “ฮ้อบ” สื่อถึงความรู้สึกเขินอายจนต้องกลั้นยิ้มหรือฟินไม่ไหว และมักใช้เพื่อแสดงออกถึงความชื่นชอบหรือชื่นชมในตัวศิลปิน ซึ่งสะท้อนถึงอารมณ์สนุกสนานและการอินไปกับโมเมนต์ที่แฟนคลับสร้างขึ้นบนโซเชียลมีเดีย
จะเห็นได้ว่า คำศัพท์มากมายที่ได้รับความนิยมบนโซเชียลมีเดียนั้น มักเกิดจากการผสมผสานหรือดัดแปลงคำจนกลายเป็นไวรัลที่แพร่หลาย บางครั้งอาจมาจากคำติดปากของเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ที่เผยแพร่ออกไปจนกลายเป็นกระแสในวงกว้าง แม้ที่มาของคำเหล่านี้อาจไม่แน่ชัด แต่ส่วนใหญ่มักเริ่มต้นจากกลุ่มพี่ ๆ กะเทย หรือแก๊งแฟนคลับนางงาม ซึ่งมีความสามารถในการสร้างคำใหม่ ๆ และพร้อมเสิร์ฟสีสันให้โซเชียลมีเดีย สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยมักจะนิยมชอบเล่นคำใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มอรรถรสและสร้างอารมณ์ขันในบทสนทนา และในอนาคตเชื่อว่ายังมีคลังคำศัพท์ใหม่ ๆ รอให้ถูกค้นพบและพัฒนาไปสู่ไวรัลที่ช่วยเพิ่มสีสันให้กับโลกโซเชียลอย่างต่อเนื่องแน่นอน