01 เม.ย. 2567 | 17:00 น.
KEY
POINTS
The People จัดงานเสวนา Are You Ready to Go Beyond? ท้าทายขีดจำกัด พร้อมก้าวสู่ความสำเร็จ อัดแน่นไปด้วยการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ท่ามกลางความผันผวนของโลกใบนี้ โดยมีตัวแทนจากหลากอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นภาคการเงินการธนาคาร ภาคธุรกิจ ไปจนถึงเอเจนซี่ผู้คร่ำหวอดในวงการโฆษณามานานกว่าทศวรรษ
วงเสวนานี้เป็นส่วนหนึ่งของ The People Awards 2024 : People Go Beyond งานประกาศรางวัลประจำปีที่จัดโดย The People เป็นครั้งสาม มาพร้อมกับธีม People Go Beyond - ต้นแบบ ‘คน’ ทะยานข้ามขีดจำกัด เพื่อมอบรางวัลให้กับบุคคลแห่งปี ที่ได้ก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเอง และสามารถก้าวเท่าทันโลกที่หมุนเร็วขึ้นทุก ๆ วัน
งานจัดขึ้นในวันพุธที่ 27 มีนาคม 2567 เวลา 14:00 - 17:30 น. ณ คริสตัล บ็อกซ์ (Crystal Box) ชั้น 19 เกษร เออร์เบิน รีสอร์ท (Gaysorn Urban Resort) แยกราชประสงค์ กรุงเทพมหานคร
ภายในงานเสวนา Are You Ready to Go Beyond? มีตัวแทนผู้ที่จะมาบอกเล่าถึงแนวคิดและการปรับตัวเพื่อรับมือกับทุกการเปลี่ยนผ่าน ไม่ให้ยึดติดอยู่กับความสำเร็จเมื่อครั้งเก่าก่อน เริ่มตั้งแต่ อภิฤดี สิงหเสนี Assistant Managing Director จาก KASIKORN Business-Technology Group หรือ KBTG, มัณฑิตา จินดา Founder & Managing Director จาก Digital Tips Academy และ ดิศรา อุดมเดช CEO และ Founder จาก Yell Advertising
อภิฤดี สิงหเสนี Assistant Managing Director จาก KASIKORN Business-Technology Group หรือ KBTG เล่าประสบการณ์ส่วนตัวในการทลายกรอบที่ขีดไว้ว่า เธอเลือกที่จะท้าทายขีดความสามารถของตนเอง โดยกระโดดข้ามสายงานไปทำในอุตสาหกรรมที่เธอไม่ได้มีความถนัดมากนัก แม้ว่าจะจบจากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็ตาม จนกระทั่งสามารถเก็บเกี่ยวความรู้ ความสามารถ และก้าวขึ้นสู่ Assistant Managing Director ของ KBTG ได้ในที่สุด
“เราพยายามท้าทายตัวเองทุกปี งานแรกที่ Go Beyond ของเราคืองานที่ชื่อว่า Seminar onstage จริง ๆ แล้วเรามาจากการทำ class ให้กับผู้ประกอบการ แต่ว่าก็มีอยู่ครั้งนึงที่เราอยากทำอะไรที่สนุก ๆ ก็เลยทำเรื่องของ edutainment เป็นครั้งแรกที่เราไปที่โรงละครสยามพิฆเนศ ทำ Education ให้มันมีมิวสิคัลเข้ามา
“ซึ่งตอนนั้นไม่มีใครรู้ เพราะตอนที่เราพูดบอกกับนักเรียนว่า มันเป็น Edutainment นะ ไม่อยากให้เขาคาดหวังมาก เพราะว่าต้นทุนไม่เยอะ แต่ว่าพอไปทำมันก็เป็นมิวสิคัลโชว์ มันเป็นงานแรกที่เรา Go Beyond เพราะไม่มีใครเคยทำ ไม่มีต้นแบบ เราไม่เคยทำ น้อง ๆ ไม่เคยทำ แล้วเราก็ไม่เคยทำละครเวที แต่เรารังสรรค์ขึ้นมาเป็นละครเวทีนั้น อันนั้นเป็นครั้งแรกที่เราก้าวข้ามกันมา”
“ก่อนจะ Go Beyond เราต้อง with believe คนแรกคือคนไทย ผมอยู่ในอุตสาหรกรมโฆษณามาสิบกว่าปี อย่างหนึ่งที่ได้จากวงการนี้ เรามีบุคลากรที่เก่งระดับโลกเยอะมาก คนไทยได้รางวัลครีเอทีฟระดับโลกเยอะมาก แต่พอเวลาไปดูจะเป็นบริษัทข้ามชาติ แต่เป็นชื่อคนไทย หลายเอเจนซี่เป็นบริษัทต่างประเทศ
“ผมก็เลยมีความเชื่อว่าแล้วทำไมบริษัทโฆษณาไทยถึงไประดับโลกไม่ได้ คนแรกที่เชื่อคือคนไทย เพราะผมเชื่อในศักยภาพ อีกคนก็คือคนในออฟฟิศ ปีนี้ปีที่สิบห้า ตอนแรกที่เราเริ่มต้น เราไม่คิดอะไรมาก แต่พอทำไปเรื่อย ๆ คนของเราเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ พร้อมกับองค์กร
“ประเด็นสำคัญก็คือว่าในการแข่งขันอุตสาหกรรมโฆษณาในประเทศก็ไม่ได้น้อย ดังนั้นผมมองว่าถ้าผมไม่ขยายไปต่างประเทศ สักพักคนเก่ง ๆ ที่อยู่กับองค์กรเขาจะ Hit Ceiling ติดเพดานในการเติบโตขององค์กร นี่เป็นเหตุผลที่เราไปเปิดบริษัทโฆษณาไทยในอีก 6 ประเทศ เป็น First Agency ที่เป็นของคนไทยในต่างแดน”
อภิฤดี สิงหเสนี จาก KBTG กล่าวถึงอีกหนึ่งสิ่งที่ท้าทายไม่แพ้กันขององค์กร คือการนำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นผู้ช่วยคนสำคัญใยการขับเคลื่อนองค์กรให้ Go Beyond ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน แต่สิ่งเหล่านี้จะไม่มีความหมายเลย หาก ‘คน’ หรือผู้ใช้งานมองไม่เห็นความสำคัญของสิ่งที่มีอยู่
“ก่อนจะไปเทคโนโลยี สิ่งนี้จะไม่มีความหมายเลยถ้าไม่มีคน หรือว่ามีเทคโนโลยีดีแต่ว่าคนไม่ใช้ เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญพื้นฐานคือคน คนใส่ใจที่จะใช้ และมีความตระหนักมากพอในการใช้เทคโนโลยีเหล่านั้น
“นอกจากนี้ เรายังคิดถึงการเป็นเบอร์หนึ่งตลอด เราพยายามสื่อสารให้ทีมเราเห็นเป้าด้วยกัน ต้องเป็นอันดับหนึ่งด้วยกัน และเราจะดูในมุมของนวัตกรรมต่าง ๆ ด้วย ว่ามีอะไรบ้างที่เข้ามาประยุกต์แล้วเราจะเป็นที่หนึ่ง หรือแม้แต่ในเรื่องของโครงสร้างต่าง ๆ ขององค์กร
“KBTG เหมือนเป็นกระดูกสันหลัง เราทิ้งคนจุดนี้ไม่ได้ เรามี Theme People Transformations เราทรานส์ฟอร์มตลอดเวลา ไม่รอให้มีสถานการณ์เข้ามาบีบบังคับแล้วเราทำ พัฒนาคน แม้กระทั่งพัฒนาทีม People ด้วยกันเอง เพราะเราก็หยุดไม่ได้เช่นกัน แผนต่าง ๆ เหล่านี้คือสิ่งที่เราพยายามสื่อสาร เพื่อให้ทุกคนมีมายด์เซทว่าเราจะไปเป้าหมาย The Top Organization in Southeast Asia”
เมื่อถามถึงวิธีสร้างความแตกต่างในยุคที่ทุกแพลตฟอร์มต่างแข่งขันกันอย่างหนักหน่วง เธออธิบายว่าจริง ๆ แล้ว ผู้ใช้แพลตฟอร์มในการสื่อสารบางอย่างไปสู่ผู้บริโภค สิ่งสำคัญคือต้องรู้จักและเข้าใจในตัวแพลตฟอร์มที่เลือกใช้
โดยปกติแล้วโซเชียลมีเดีย แพลตฟอร์ม จะแบ่งออกเป็น 2 บ้านใหญ่ ๆ คือ Social Graph กับ Content Graph “Social Graph ก็คือ Facebook สมัยแรก ใครที่เราสนิท เราก็จะเห็นเขาบ่อย ๆ เน้นไปที่เรื่องของความสัมพันธ์เป็นหลัก อันนี้คือยุคแรกของโซเชียลมีเดีย พอมายุคหลังก็มี TikTok เข้ามา มันก็เกิด School of though เราเรียกว่า Content Graph ไม่สนใจแล้วว่าจะรู้จักหรือเปล่า สนใจว่าเราสนใจเรื่องอะไร ยกตัวเองเช่น เรากำลังอินเรื่องแมว ใครก็ตามที่ทำคอนเทนต์นี้เราก็จะเห็น ซึ่งคนที่นำเรื่องนี้คือ TikTok และ X รวมไปถึง Meta”
ส่วนเทรนด์ในอนาคตของโซเชียลมีเดีย แพลตฟอร์ม จะปรับเปลี่ยนไปในทิศทางไหนนั้น มัณฑิตา กล่าวว่าปัจจัยทั้งหลายขึ้นอยู่กับผู้บริโภคเป็นหลัก แต่ ณ เวลาปัจจุบัน รูปแบบของแพลตฟอร์มยังคงเป็นเช่นที่กล่าวไปข้างต้น แต่สิ่งที่ผู้ทำคอนเทนต์ต้องเข้าใจคือ 1. เข้าใจผู้รับสาร คนฟังคือใคร เพื่อให้เข้าใจว่าคอนเทนต์ดังกล่าวต้องการเป็นฮีโร่ของคนกลุ่มไหน และ 2. แพลตฟอร์มทำงานอย่างไร เพื่อให้รู้ว่าในการทำคอนเทนต์แต่ละชิ้นนั้น จะก่อให้เกิดประโยชน์ในแง่ใดบ้าง
“Yell เราใช้คำว่า Underdog Mindset ผมสตาร์ทเดย์วันด้วยแนวคิดนี้ เราต้องทำตัวเป็นผู้ท้าชิงอยู่เสมอ ดังนั้นเวลาที่ออฟฟิศสเกลอัพขึ้น แนวคิดอย่างนี้มันควรจะต้องอยู่ เพราะเมื่อไหร่ก็ตามเราลืมจุดเริ่มต้นของเรา ในการอยากแข่งขัน หรือว่าท้าชิง ผมเชื่อว่าต่อให้มีเทคโนโลยีอะไรที่ดี คนที่ไม่ใช่เขาก็จะหาข้ออ้างให้ดูแย่ได้ทั้งหมด”
พร้อมทั้งเสริมว่าวิธีการรักษาความคิดสร้างสรรค์ของคนในทีมให้สดใหม่อยู่ตลอดเวลานั้น ต้องเกิดจากการเรียนรู้ความผิดพลาด เพราะหากไม่เคยพลาด ความสร้างสรรค์อาจมีรูปแบบซ้ำซากจำเจ
“ต้องถามก่อนว่าเคยทำงานพลาดมั้ย เราเคยทำพลาด แต่การทำพลาดเป็นตัวอนุญาตให้เราเติบโต ทีนี้ประเด็นสำคัญคือในฐานะที่เราบริหารองค์กร เราต้องสร้างพื้นที่ให้คนไม่กลัวที่จะทำงานพลาด แต่เป็นการพลาดที่จำกัดขอบเขตความเสียหายให้ได้ ที่ออฟฟิศเราไม่มีพริวิลเลจ ผมรู้สึกว่าถ้าเราสร้างวัฒนธรรมในองค์กรให้คนกล้าที่จะทำอะไรใหม่ นี่คือสเตปแรกที่จะรักษาความสำเร็จให้อยู่ในองค์กร ดังนั้นต้องให้คนรุ่นใหม่ทำสิ่งที่กล้ามากกว่าเดิม”
ดิศรา อุดมเดช จาก Yell Advertising กล่าวถึงมุมมองในการพัฒนาคนให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงว่า มนุษย์เราผ่านการเปลี่ยนผ่านมาแล้วหลายยุคหลายสมัย หากให้นับย้อนกลับไปคงเป็นเวลาไม่ต่ำกว่าสองหมื่นปี เพียงแค่ในปัจจุบันมีน้อยคนนักที่จะออกมาป่าวประกาศว่าตนผ่านยุคสมัยเหล่านั้นมาได้อย่างไร
“ณ ปัจจุบันไม่มีใครเอามาขึ้นในโซเชียลมีเดียให้เราหวาดกลัวกัน ผมเลยคิดว่าไม่ใช่สิ่งที่เราควรกลัว แต่สิ่งเดียวที่เราต้องทำกับมันคือการเผชิญหน้ากับมัน โดยที่เรารู้ว่าเราทำอะไรอยู่ ถ้าพูดในมุมของการบริหารองค์กร สุดท้ายเราก็ต้องเปลี่ยนแปลง ทำให้ทุกคนเชื่อในองค์กรได้ มันเป็นฐานรากที่สำคัญ เพราะถ้าเกิดว่าเราจัดการฐานรากได้แล้ว เรื่องอื่นที่จะเปลี่ยนแปลงเราเชื่อว่าเขาพร้อมรับมือกับมันได้ และต้องกล้าด้วย อะไรที่ไม่ใช่ก็ไม่ใช่”
ในขณะที่ มัณฑิตา จินดา จาก Digital Tips Academy กล่าวว่า เธอเชื่อในสองสิ่งด้วยกัน สิ่งแรกคือการมี Growth Mindset และอย่างที่สองคือการมีความยืดหยุ่นในการทำงาน
“Growth Mindset คือเรื่องของการมีจิตใจที่เชื่อว่าไม่เป็นไร เราทำพลาดแล้วเราสามารถเติบโตได้ เราสามารถแก้ไขได้ อย่ากลัวหรือโทษตัวเองมากเกินไป เราเจอกับน้องเด็ก ๆ เขาจะโทษตัวเอง บางทีแรงกดดันมันหนักมาก เราพยายามบอกทุกคนว่าเราแก้ไขได้
“เรื่องที่สองคือ Resilience ความอึดถึก เป็นคุณสมบัติสำคัญ เพราะก่อนที่เราจะสำเร็จ ระหว่างทางมีเรื่องที่เราทำไม่สำเร็จรออยู่เต็มไปหมด กว่าที่เราจะเดินจากจุดเอไปจุดบีไม่ได้เกิดขึ้นในชั่วข้ามคืน เพราะฉะนั้นความไม่ยอม ความไม่ปล่อย ความคิดที่ว่าเราต้องทำให้ได้ เราก็พยายามที่จะพูดที่จะกระตุ้นเตือนกันในองค์กร”
ด้าน อภิฤดี สิงหเสนี จาก KBTG ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า การจะก้าวข้ามขีดจำกัดได้นั้น จะต้องพัฒนาสิ่งที่มีอยู่ในองค์กรให้มั่นคงเสียก่อน ไม่อย่างนั้นหากเปิดรับสิ่งใหม่ ๆ เข้ามาอาจสร้างความสั่นคลอนให้บริษัทมากกว่าการก้าวไปข้างหน้า
“Development is on your hands. อยู่ในองค์กรไม่ใช่ว่ารอให้ใครมาป้อน การพัฒนาที่จะ Go Beyond อยู่ที่มือของเรา มีอะไรใหม่ ๆ หน้าที่เราที่จะรับผิดชอบก้าวไปข้างหน้า เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ตลอดเวลา นี่คือสิ่งที่จะทำให้เราอยู่รอด แต่สุดท้ายจะทำสิ่งเหล่านี้ได้ ในฐานะทำงานเรื่องคน เราจะต้องสนุกกับมัน ชีวิตคือการเดินทาง เราต้องต้องสนุกกับชีวิต สนุกกับสิ่งที่เลือก ไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไร”