ชะตากรรมของ ‘แกรี โบลตัน’ เจ้าของสตาร์ตอัพทำ ‘GT200’ เครื่องตรวจจับระเบิดเก๊

ชะตากรรมของ ‘แกรี โบลตัน’ เจ้าของสตาร์ตอัพทำ ‘GT200’ เครื่องตรวจจับระเบิดเก๊

‘แกรี โบลตัน’ คือชายที่เป็นเจ้าของสตาร์ตอัพที่ขาย ‘GT200’ เครื่องตรวจจับระเบิดเก๊ ซึ่งมีหลายหน่วยงานในหลายประเทศหลงเชื่อ จัดซื้อไปด้วยงบประมาณมหาศาล

“สสารทุกอย่างในโลกมนุษย์มันจะมีสนามแม่เหล็กของมันซึ่งจะแตกต่างกัน หลักการของการใช้เครื่อง GT200 นี่ก็คือ เราจะตรวจหาอะไหล่ เราก็เอาสารชนิดนั้นมาทำเป็นเซ็นเซอร์การ์ดแล้วใส่เข้าไปในนี้ ซึ่งก็จะมีสนามแม่เหล็กเกิดขึ้น สมมติว่าเราใส่เรื่องของยาเสพติด ยาไอซ์เข้าไป เมื่อเครื่องทำงานมันก็จะไปตรงกับยาไอซ์ซึ่งอยู่ในภูมิประเทศที่เรากำลังหา เนื่องจากมีสนามแม่เหล็กที่ตรงกัน ตัวเสาสัญญาณก็จะเบนไปหา” 

พ.อ. (ยศในขณะนั้น) สรรเสริญ แก้วกำเนิด ให้สัมภาษณ์ในรายการสรยุทธ์เจาะข่าวเด่น เมื่อปี 2012 อธิบายหลักการการทำงานของเครื่องตรวจจับสสารสารพัดอย่างในจักรวาล ‘GT200’ อย่างมั่นใจ

ก่อนที่ในปีต่อมา แกรี โบลตัน (Gary Bolton) นักธุรกิจชาวอังกฤษเจ้าของผลิตภัณฑ์ตัวนี้ จะถูกศาลอังกฤษพิพากษาจำคุก 7 ปี จากข้อหาฉ้อโกงขายอุปกรณ์ที่เขาอ้างว่าสามารถตรวจได้ทั้งระเบิด ยาเสพติด หรืองาช้าง โดยพัฒนามาจากเครื่องหาลูกกอล์ฟ แต่จริง ๆ เป็นแค่กล่องพลาสติกติดเสาอากาศที่ไม่มีแผงวงจรอะไรทั้งสิ้น 

โบลตันสามารถหากำไรจากผลิตภัณฑ์ชิ้นนี้ได้นานกว่าสิบปี โดยมีเจ้าหน้าที่ของอังกฤษบางส่วนให้การสนับสนุน โดยเฉพาะสำนักงานการค้าและการลงทุนแห่งสหราชอาณาจักรที่ช่วยโบลตันหาลูกค้าในต่างประเทศ แม้ก่อนหน้านั้นจะมีผลการทดสอบแสดงให้เห็นว่ามันไม่สามารถทำงานได้อย่างที่อวดอ้างเลยก็ตาม

เบื้องต้น โบลตันตั้งบริษัท Global Technical ขึ้นในปี 1997 อีกสองปีต่อมา เขาจ้างให้หน่วยงานวิศวกรรมเพื่อสนับสนุนการส่งออกของกองทัพอังกฤษมาช่วยตรวจสอบการทำงานของเครื่องต้นแบบ GT200 ของเขาที่ใช้ชื่อว่า ‘Mole’ ด้วยเงิน 500 ปอนด์ ผลปรากฏว่าความแม่นยำของมันอยู่ที่ราว 30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เขาจึงทำการแก้ไขข้อความในเอกสารว่า ‘แม่นยำสูงมาก’ แล้วเอาผลิตภัณฑ์ของเขาไปออกโรดโชว์ในอีกหลายประเทศ 

รายงานของรัฐบาลอังกฤษซึ่งทาง The Guardian ได้มาจากการยื่นคำร้องตามกฎหมายว่าด้วยเสรีภาพในข้อมูลข่าวสาร กล่าวว่า หลังมีการเปิดตัวต่อสาธารณะปรากฏว่า เจ้าเครื่องตรวจจับที่ว่านี้ได้รับความสนใจจากสาธารณะค่อนข้างมาก หน่วยวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ของสำนักงานตำรวจ (PSDB) กับหน่วยงานวิจัยทางการทหารของอังกฤษ (DSTL) จึงร่วมกันจัดงานทดสอบเครื่องตรวจล้ำสมัยที่ว่า และ Global Technical ของโบลตันก็เสนอเอาผลิตภัณฑ์เข้าทดสอบในเดือนกันยายน 2001

ทางหน่วยวิจัยกล่าวว่า Mole’ ไม่มีแหล่งจ่ายพลังงาน อ้างกันว่ามันอาศัยพลังงานจากไฟฟ้าสถิตที่มาจากร่างกายของผู้ใช้ การทำงานภายในของตัวอุปกรณ์ถูกเก็บเป็นความลับอย่างมิดชิด แต่มีการกล่าวว่ามันทำงานโดยอาศัยหลักการ การสั่นพ้องของโมเลกุล หลักการซึ่งต้องกล่าวไว้ก่อนว่า ไม่เป็นที่รู้จักในแวดวงวิทยาศาสตร์กระแสหลัก”

โจทย์ที่ใช้ในการทดสอบครั้งนี้คือ ให้ตรวจหาระเบิดพลาสติกปริมาณ 500 กรัมที่ซ่อนอยู่ในกล่อง 10 กล่องซึ่งวางอยู่บนพื้น การทดสอบทำทั้งหมด 80 รอบ ครึ่งหนึ่งเป็นการตรวจสอบโดยที่ผู้ตรวจจับไม่รู้ที่ซ่อน แต่ผู้ประเมินรู้ที่ซ่อน และอีกครึ่งหนึ่ง ทั้งผู้ตรวจจับและผู้ประเมินต่างก็ไม่รู้ว่าระเบิดถูกซ่อนไว้ที่ไหน (ให้คนกลางอีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้วาง เพื่อดูความแตกต่างว่า หากผู้ประเมินรู้ที่ซ่อนจะมีผลต่อความสำเร็จของผู้ตรวจจับหรือไม่)

ผลการทดสอบปรากฏว่ามันไม่ได้ดีไปกว่าการเดา (ในการตรวจที่ต่างฝ่ายต่างไม่รู้ที่ซ่อนมีความแม่นยำแค่ 9 เปอร์เซ็นต์)

“เราจึงให้ผลสรุปว่า อุปกรณ์นี้ตรวจจับระเบิดไม่ได้ มันไม่เพียงไม่สามารถทำงานได้ในทางทฤษฎีเท่านั้น ในทางปฏิบัติก็ไม่ได้เช่นกัน

“'โมล' ยังมีลักษณะที่คล้ายกันอย่างมากกับอุปกรณ์ที่เรียกว่า 'Quadro Tracker' ซึ่งถูกสั่งห้ามขายในสหรัฐฯ เมื่อปี 1996 หลังศาลกลางสหรัฐฯ มีคำสั่งว่ามันเป็นของต้มตุ๋น แม้ว่า PSDB จะมิได้ถอนชิ้นส่วนของโมล แต่ Quadro Tracker ถูกตรวจสอบอย่างละเอียดโดย FBI ซึ่งพบว่ามันเป็นเพียงกล่องเปล่า ส่วนแผงวงจรมีการใส่ภาพสำเนาของรูประเบิดและยาเสพติด”

แม้จะมีการสรุปโดยทางหน่วยวิจัยของตำรวจอังกฤษตั้งแต่ปี 2001 แล้วว่า อุปกรณ์ของโบลตันไม่สามารถตรวจจับระเบิดได้จริง และมีการส่งหนังสือเตือนการใช้งานอุปกรณ์ชิ้นนี้ออกไป แต่ตอนนั้นหน่วยงานราชการของอังกฤษยังไม่ทำงานแบบบูรณาการเท่าไรนัก อุปกรณ์ของโบลตันนอกจากจะผ่านมือเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงของอังกฤษจำนวนไม่น้อยแล้ว มันยังได้รับการสนับสนุนให้เป็นสินค้าส่งออกโดยมีหลักฐานเป็นอีเมลโต้ตอบระหว่างโบลตันกับหน่วยงานส่งเสริมการค้าและการลงทุน (UKTI) และสถานทูตอังกฤษในเม็กซิโก 
และก็ไม่ได้มีแต่เม็กซิโกที่หลงเชื่อซื้อเครื่องตรวจจับสารพัดนึกของโบลตันที่ทำตลาดใหม่ในชื่อ GT200 แต่ยังมีฟิลิปปินส์ ปากีสถาน จีน อินเดีย สิงคโปร์ อียิปต์ ตูนีเซีย รวมถึงประเทศไทย 

GT200 มีราคาขายปลีกที่เครื่องละ 5,000 ปอนด์ (ราว 1.9 แสนบาท) แม้จะมีต้นทุนจริงต่ำกว่า 5 ปอนด์ ที่น่าทึ่งกว่านั้นก็คือ มีหน่วยงานของรัฐบาลบางแห่งยอมซื้อมันด้วยราคาสูงถึง 500,000 ปอนด์ต่อเครื่อง (19 ล้านบาท) ส่วนของไทยนั้นมีการใช้อยู่ในหลายหน่วนงาน หน่วยงานแรกที่สั่งซื้อคือกองทัพอากาศเมื่อปี 2005 ส่วนหน่วยงานที่สั่งซื้อมากที่สุดคือกองทัพบกคิดเป็น 90 เปอร์เซ็นต์ มีราคาเฉลี่ยต่อเครื่องที่ 950,000 บาท (บีบีซีไทย)

หลังค้าขายมาได้นานนับสิบปีโบลตันก็ถูกฟ้องคดีในอังกฤษ ในความผิดที่เกิดขึ้นระหว่างปี 2007 ถึง 2012 ข้อเท็จจริงที่รับฟังในศาลก็คือ โบลตันไม่มีพื้นฐานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ งานวิจัย การอบรมอะไรด้านความมั่นคง อุปกรณ์ของเขาก็เป็นเพียงกล่องมีมือจับติดเสาอากาศ ข้างในมีเพียงแผ่นพลาสติกไม่กี่ชิ้น ศาลชี้ว่าการกระทำของโบลตันสร้างอันตรายอย่างร้ายแรงให้กับผู้อื่น และสร้างความเสื่อมเสียให้กับอังกฤษเมื่อเขาหลอกใช้หน่วยงานของรัฐเป็นเครื่องมือในการโฆษณา ว่าแล้วจึงมีคำพิพากษาเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2013 ให้เขารับโทษจำคุกเป็นเวลา 7 ปี (The Guardian) 

โบลตันไม่ใช่ชาวอังกฤษคนเดียวที่หากินกับเครื่องตรวจระเบิดเก๊ เดือนพฤษภาคมปีเดียวกัน เจมส์ แมคคอร์มิก (James McCormick) เจ้าของเครื่องตรวจจับระเบิดที่ทำงานคล้าย ๆ กัน และเคยทำงานร่วมกับโบลตันมาก่อนก็โดนโทษจำคุกไป 10 ปี จากการขายเครื่องตรวจจับลักษณะคล้าย ๆ กัน โดยลูกค้าใหญ่คือรัฐบาลอิรักที่หมดเงินไปกว่า 53 ล้านปอนด์ (ราว 2 พันล้านบาท)
 
ส่วนในเมืองไทย แม้จะมีการเปิดโปงในอังกฤษกันไปแล้วแต่ความพยายามที่จะใช้งานเครื่องมือชิ้นนี้ก็ยังคงมีอยู่ แม้ในเดือนสิงหาคมปี 2018 สุรศักดิ์ คีรีวิเชียร คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก็ยังออกมาให้ความเห็นว่า การวินิจฉัยว่าถูกหรือผิดเป็นเรื่องยาก เพราะบางครั้งไม่ได้อยู่ที่มูลค่าของเครื่อง แต่เป็นเหมือนความเชื่อ เหมือนพระเครื่อง ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่นำไปใช้แล้วเขารู้สึกคุ้มค่า แต่บางส่วนก็มองว่าราคาเครื่องไม่น่าจะแพงขนาดนั้น

อย่างไรก็ดี ในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน ศาลแขวงดอนเมืองมีคำพิพากษาคดีฉ้อโกงเครื่องตรวจจับอาวุธ GT200 ให้จำคุก สุทธิวัฒน์ วัฒนกิจ ผู้บริหารของ เอวิเอ แซทคอม จำกัด เป็นเวลา 9 ปี จากการหลอกขายเครื่องมือดังกล่าวให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ทำให้เกิดความเสียหายราว 6.8 ล้านบาท ซึ่งจำเลยอุทธรณ์คดีต่อ โดยอ้างว่าตนเป็นเพียงตัวแทนจำหน่ายที่ขายของให้ตามสเปกที่สั่ง เมื่อของที่สั่งมาถึงก็ถูกส่งไปยังกองทัพทันที ทางบริษัทจึงไม่มีโอกาสทดสอบ (Fox News) 

ขณะที่ทางกองทัพซึ่งที่ผ่านมาออกมาปกป้องการสั่งซื้อและการใช้งานอุปกรณ์ชิ้นนี้อยู่หลายครั้ง แม้ปัจจุบัน (2562) จะยุติการสั่งซื้อและปลดประจำการ GT200 ไปแล้ว แต่ก็ยังไม่มีความเคลื่อนไหวว่าจะออกมาร่วมเอาผิด และเรียกค่าเสียหายกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสั่งซื้ออุปกรณ์ชิ้นนี้หรือไม่