แฮร์รี สไตลส์: นำเทรนด์แต่งตัวแนว ‘แอนโดรจีนัส’ แฟชั่นกับความงามที่ไม่ระบุเพศ

แฮร์รี สไตลส์: นำเทรนด์แต่งตัวแนว ‘แอนโดรจีนัส’ แฟชั่นกับความงามที่ไม่ระบุเพศ

'แฮร์รี สไตลส์' นักร้องและแฟชั่นไอคอน ผู้นำเทรนด์การแต่งตัวแนว ‘แอนโดรจีนัส’ ที่แสดงให้เห็นว่าแฟชั่นไม่ได้แบ่งเพศ ผู้ชายไม่ได้ถูกจำกัดให้ใส่ได้เฉพาะเสื้อผ้าของผู้ชายเท่านั้น เพราะชีวิตของเราสามารถจะแต่งตัวให้มันสนุกกว่าที่เป็นอยู่ได้

ความหลากเลื่อนของความหมายได้ก่อกำเนิดความหลากหลายขึ้นมาในโลกใบนี้ เส้นแบ่งต่าง ๆ ที่เคยชัดเจนได้เริ่มเลือนลางลง อย่างเช่นในเรื่องของเพศที่ในปัจจุบันไม่ได้มีเพียงแค่เพศชายและเพศหญิงอย่างที่เคยเข้าใจมา แต่ยังคงมีกลุ่มผสมที่มีความหลากหลายทางเพศ LGBTQ+ รวมถึงกลุ่มคนที่ไม่ระบุรสนิยมทางเพศอีกด้วย

แน่นอนว่าเส้นแบ่งเหล่านี้ ไม่ได้จางหายไปเพียงแค่ในเรื่องรสนิยมทางเพศ ในวงการแฟชั่นก็เช่นกัน เทรนด์การแต่งตัวแนวแอนโดรจีนัส (Androgynous) หรือ แฟชันที่ไม่ระบุเพศ ได้กลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง โดย “แฮร์รี สไตลส์” (Harry Styles) นักร้องชาวอังกฤษวัย 26 ปี เจ้าของเพล “Watermelon Sugar” และ “Adore You” ที่แสดงให้เห็นว่าแฟชั่นไม่ได้แบ่งเพศ ผู้ชายไม่ได้ถูกจำกัดให้ใส่ได้เฉพาะเสื้อผ้าของผู้ชายเท่านั้น

ชีวิตของเราสามารถจะแต่งตัวให้มันสนุกกว่าที่เป็นอยู่ได้…

แฮร์รี ได้รับเลือกจาก Lyst เว็บไซต์แฟชันชื่อดังให้เป็นผู้ทรงอิทธิพลในการแต่งตัว (Power Dressers) แห่งปี 2020 เนื่องจากมีผู้คนจำนวนมากค้นหาเสื้อผ้าและเครื่องประดับที่เข้าสวมใส่ในมิวสิควิดีโอของเขา ไม่ว่าจะเป็นเบลเซอร์สีฟ้าและสีเทอร์ควอยซ์ หมวกบักเก็ตสีเหลือง จากเพลง “Golden” และแฟชั่นวินเทจจากเพลง “Watermelon Sugar” รวมไปถึงสร้อยคอไข่มุก เครื่องประดับที่เขาใส่ประจำก็ได้รับความนิยมด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้เสื้อคาร์ดิแกนแบรนด์เจดับเบิลยู แอนเดอร์สัน (JW Anderson) ที่เขาใส่ระหว่างขึ้นซ้อมโชว์ในรายการ The Today Show ได้กลายเป็นไวรัล และกลายเป็นชาเลนจ์ #HarryStylesCardigan ในแอปพลิเคชันติ๊กต่อก (TikTok) อีกด้วย

 

อย่างไรก็ตาม แฮร์รีมีชื่อเสียงในการแต่งตัวมาตั้งแต่สมัยที่เขายังเป็นสมาชิกวง One Direction ในปี 2013 เขาได้รับรางวัล The Fashion Awards ในสาขา British Style Award Brought to You by Vodafone รวมไปถึงได้รับเลือกจากนิตยสารโว้กอังกฤษ (British Vogue) และ จีคิวอังกฤษ (British GQ) ให้ติด 1 ใน 50 หนุ่มแต่งตัวดีเสมอมา

เขาเริ่มผสานแต่งตัวแนวแอนโดรจีนัส (Androgynous) หรือ แฟชันที่ไม่ระบุเพศ ที่ผสานทั้งความเป็นหญิงและความเป็นชายในช่วงปี 2017 ช่วงที่อัลบั้มชุดแรกของเขาวางแผง โดยในช่วงนั้น เขามักใส่ชุดสูทแบบยูนิเซ็กส์ (unisex) สีสันสดใส และปรับมาเป็นชุดสูทลายพิมพ์ดอกไม้ในช่วงหลัง

แต่เขากลายเป็นที่จับตามองและเป็นแฟชั่นไอคอนหลังจากการไปเดินพรมแดงในงาน MET Gala 2019 ด้วยชุดเบลาส์ (blouse) ซีทรูสีดำ เข้าชุดกับกางเกงเอวสูงขาบาน รองเท้าบูทส้นสูง และเพิ่มความโด่ดเด่นด้วยต่างหูมุก แม้อาจจะไม่ได้เป็นลุคที่จัดจ้าน ฉูดฉาด แต่สามารถสร้างความประหลาดใจและประกาศต่อคนทั้งโลกว่า เพศไม่ใช่อุปสรรคในการแต่งตัว ดังที่เขาเคยให้สัมภาษณ์กับ The Face ไว้ว่า

“อะไรคือความเป็นชาย อะไรคือความเป็นหญิง อะไรคือสิ่งที่ผู้ชายควรใส่ อะไรคือสิ่งที่ผู้หญิงควรใส่ ตอนนี้มันไม่เส้นแบ่งแบบนั้นแล้ว”

เขายังกล่าวกับ The Guardians ในบทสัมภาษณ์เมื่อปีที่แล้วอีกว่า “ถ้าผมเจอเสื้อตัวหนึ่งที่น่ารักมาก แล้วมีคนมาบอกว่านี่สำหรับผู้หญิงนะ ผมจะตอบกลับว่า แล้วไงหละ? มันไม่ได้ทำให้ผมอยากใส่เสื้อตัวนั้นลดลงเลย ผมว่านะ การที่เรารู้สึกดีกับตัวเอง มันจะทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้น”

นอกจากนี้ แฮร์รี เพิ่งสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ด้วยการเป็นผู้ชายคนแรกที่ได้ชึ้นปกนิตยสารโว้ก (Vogue) นิตยสารแฟชั่นที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ฉบับเดือนธันวาคมเพียงคนเดียวโดยที่ไม่ได้คู่กับผู้หญิง โดยหน้าปกนั้นเขาใส่ชุดชาตรีสีฟ้าของกุชชี (Gucci) สวมทับด้วยเบลเซอร์สีดำ และแฟชั่นเซ็ตภายในเล่มนั้นเขาได้สวมใส่เสื้อผ้าของทั้งผู้ชายและผู้หญิงที่ผสมผสานกันได้อย่างลงตัว ทั้ง คริโนไลน์ (crinoline) หรือที่รู้จักในนามกระโปรงสุ่มไก่ยุควิคตอเรีย คิลต์ (kilt) กระโปรงพับจีบของชาวสก็อตแลนด์ และกระโปรงถักไหมพรม

หลังจากที่ปกโว้กฉบับนี้ได้เผยแพร่ลงบนอินเทอร์เน็ต ได้เกิดดราม่าขึ้น โดย แคนดิซ โอเวนส์ นักเคลื่อนไหวและนักกิจกรรมฝ่ายอนุรักษ์นิยมได้ออกมาโจมตีแฮร์รีผ่านทางทวิตเตอร์ส่วนตัว เกี่ยวกับการแต่งกายของเขาบนปกโว้กอย่างเผ็ดร้อนว่า

“ไม่มีสังคมใดสามารถอยู่รอดได้ โดยปราศจากผู้ชายที่แข็งแกร่ง โลกตะวันออกรู้เรื่องนี้ดี แต่ในโลกตะวันตก ผู้ชายของพวกเราถูกใส่ความเป็นหญิงเข้ามาอย่างเหลือล้น ในขณะเดียวกันเด็ก ๆ ของเราก็ถูกบ่มเพาะด้วยพวกมาร์กซิสม์ นี่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่มันเป็นการโจมตีอย่างเปิดเผย โปรดนำชายชาตรีกลับมา”

ทวีตดังกล่าวก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาถึงสิทธิในการแต่งตัวและความเป็นชายชาตรีที่แคนดิซกล่าวถึงคืออะไรกันแน่ โดยมีคนดังหลายคนออกมาตอบโต้แคนดิซและสนับสนุนแฮร์รีอย่างมากมาย เช่น

อเล็กซานเดรีย โอคาซีโอ-คอร์เทซ (Alexandria Ocasio-Cortez) สมาชิกผู้แทนราษฏรสหรัฐอเมริกา จากรัฐนิวยอร์กได้พูดถึงลุคของแฮร์รีบนปกโว้กผ่านทางอินสตาแกรมส่วนตัวว่า “องค์ประกอบความเป็นชายและความเป็นหญิงในแฟชั่นเซ็ตนั้นมีความสมดุลและสวยงาม ทรงผมและแจ็คเก็ตที่เขาสวมใส่ทำให้ฉันนึกถึงเจมส์ ดีน”

เธอยังกล่าวอีกว่า ที่บางคนรู้สึกไม่พอใจกับปกโว้กฉบับนี้เป็นเพราะพวกเขาไม่สามารถยอมรับและเรียนรู้ความลื่นไหลทางเพศในสังคม และปกโว้กนี้ได้ไปกระตุ้นความโกรธหรือความไม่แน่ใจในลักษณะความเป็นชายและความเป็นหญิงที่พวกเขาได้เรียนรู้มา

“หากเป็นเช่นนั้นแล้ว (พวกเขา) ควรจะนั่งคิดเกี่ยวกับมัน ทำความเข้าใจ และเรียนรู้เกี่ยวกับมัน”

ขณะที่เอไลจาห์ วูด (Elijah Wood) นักแสดงชื่อดังได้ทวีตว่า “ผมว่าคุณคงเข้าใจความหมายของคำว่า ผู้ชาย (man) ผิดไปแล้วล่ะ ความเป็นชาย (masculine) มันไม่สามารถทำให้เป็นผู้ชายได้หรอก ที่จริงมันไม่เกี่ยวกับเลยด้วยซ้ำ”

จามีลา จามิล (Jameela Jamil) นักแสดงสาว ได้ทวีตปกป้องแฮร์รีด้วยเช่นกัน โดยกล่าวว่า “แฮร์รี สไตลส์มีความเป็นลูกผู้ชายมาก เพราะลูกผู้ชายคือการที่คุณจะเป็นอะไรก็ได้ แต่ไม่ใช่พวกที่เชื่อถือไม่ได้ เกลียดผู้หญิง พวก toxic แฮร์รีเค้าสมบูรณ์แบบ 104 เปอร์เซ็นต์เลยละ เขาเหมาะสมที่ได้ขึ้นปกแล้ว”

ส่วนแฮร์รีเองได้ตอบกลับด้วยการโพสต์รูปเขาในอินสตาแกรมส่วนตัวด้วยรูปตัวเขาที่กำลังกินกล้วยในชุดสูทสีฟ้าพร้อมแคปชัน “โปรดนำชายชาตรีกลับมา” อันเป็นข้อความที่แคนดิซทวีตถึงเขานั่นเอง นอกจากนี้เขายังให้สัมภาษณ์กับ Variety เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวว่า

“การที่ไม่ใส่เสื้อผ้าบางชิ้นเพราะว่ามันคือเสื้อผ้าผู้หญิง เท่ากับว่าคุณกำลังปิดโอกาสที่จะได้ลองเสื้อผ้าดี ๆ สิ่งที่น่าตื่นเต้นสำหรับตอนนี้คือ เราสามารถสวมใส่เสื้อผ้าที่เราชอบได้ ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นชาย หรือ หญิง เส้นแบ่งเหล่านี้มันกำลังจางลงเรื่อย ๆ”

แม้ว่าจะเกิดดราม่าขึ้นแต่โว้กฉบับดังกล่าวกลับขายดีเป็นเทน้ำเทท่า จนต้องมีการตีพิมพ์เพิ่ม ซึ่งยิ่งเป็นการสนับสนุนแนวคิดการแต่งตัวแนวแอนโดรจีนัส (Androgynous)

อย่างไรก็ตาม ในวงการเพลงการแต่งตัวแนวแอนโดรจีนัส (Androgynous) นั้น แฮร์รี ไม่ใช่ผู้ริเริ่ม แต่มีมานานแล้ว ตั้งแต่สมัยยุค 70-80 เราสามารถเห็นแฟชั่นสไตล์นี้ได้จาก ปรินซ์ (Prince) เดวิด โบวี (David Bowie) และแอนนี เลนนิกซ์ (Annie Lennox) จากวงยูรีธมิกส์ (Eurythmics) รวมไปถึงเฟรดดี เมอร์คิวรี (Freddie Mercury) และ เอลตัน จอห์น (Elton John) ที่ใช้เสื้อผ้าสร้างสีสันให้แก่ผู้ชม ศิลปินเหล่านี้ล้วนเป็นแรงบันดันดาลให้กับแฟชั่นของแฮร์รีทั้งสิ้น

“สมัยที่ผมเป็นเด็ก ตอนที่ผมได้เห็นพวกเขาใส่เสื้อผ้าแบบนั้น ผมแทบจะไม่เชื่อสายตาตัวเอง มาถึงตอนนี้ผมอยากจะใส่เสื้อผ้าที่โดดเด่น ฉูดฉาด แบบนั้นบ้าง และผมไม่ได้รู้สึกประหลาดที่จะสวมใส่มันด้วย ถ้าผมได้ใส่เสื้อผ้าเจ๋ง ๆ มันเหมือนได้ใส่ชุดซุปเปอร์ฮีโร่ เสื้อเป็นสิ่งที่เราสามารถสนุกไปกับมันได้ สามารถทดลองกับมันได้ เล่นกับมันได้”

แน่นอนว่าการที่แฮร์รีแต่งกายในลักษณะนี้ ย่อมมีคนตั้งคำถามเกี่ยวกับรสนิยมทางเพศของเขา แม้ว่าที่ผ่านมาเขาจะเคยคบกับ เทย์เลอร์ สวิฟต์ (Taylor Swift) แคนดัลล์ เจนเนอร์ (Kendall Jenner) และ คามิลล์ โรว์ (Camille Rowe) มาแล้วก็ตาม

“ไม่ใช่ว่าผมไม่ตอบเรื่องนี้เพราะผมไม่อยากตอบ หรือเพราะมันเป็นเรื่องของผม แต่ผมไม่ตอบเพราะคงไม่มีใครสนใจเรื่องแบบนี้กันหรอก แล้วถ้าถามว่าที่ผมเลือกที่จะสร้างความคลุมเครือทางเพศแบบนี้ เพื่อต้องการทำให้คนสนใจในตัวผมหรอ ผมตอบได้เลยว่าไม่ใช่ เพราะในแง่ของการทำเพลงและการแต่งตัว ผมมักตัดสินจากคนที่อยากผมร่วมงานด้วย ไม่ใช่เพราะมันทำให้ผมดูเป็นเกย์ เป็นสเตรจ หรือเป็นไบ แต่เพราะผมทำเพราะผมคิดว่ามันดูเท่ต่างหาก แล้วยิ่งไปกว่านั้น ไม่รู้สิ ผมแค่รู้สึกว่ารสนิยมทางเพศมันเป็นอะไรที่น่าสนุก เอาจริง ผมเองก็พูดไม่ได้หรอกว่าผมเคยคิดมันจริงจังไปมากว่านี้” แฮร์รีให้สัมภาษณ์กับ The Guardians

เขายังกล่าวอีกว่า มันคงเป็นเรื่องงี่เง่ากับการต่อว่าผู้คนที่ถามเกี่ยวกับรสนิยมทางเพศของเขา ในเมื่อเขาเลือกที่จะกล้าเข้ามาอยู่ในวงการบันเทิง “ผมเคารพคนที่เข้ามาถาม และผมหวังว่า พวกเขาจะเคารพเหมือนกันถ้าเขาเกิดเขาไม่ได้คำตอบที่ต้องการ”

แฮร์รีเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนกลุ่ม LGBTQ+ มาตลอด เขามักจะนำธงสีรุ้งขึ้นไปบนเวทีคอนเสิร์ตของเขาเสมอ รวมถึงเคยผลิตเสื้อคอลเลคชันพิเศษในช่วงเดือนมิถุนายน ที่ถือว่าเป็นเดือนของ LGBTQ+ โดยรายได้ทั้งหมดได้นำไปมอบให้กับ GLSEN (Gay, Lesbian & Straight Education Network) องค์กรการศึกษาที่รณรงค์เรื่องหยุดการเหยียด การใช้ความรุนแรง และการกลั่นแกล้งที่มีพื้นฐานมาจากรสนิยมทางเพศ อัตลักษณ์ทางเพศ และการแสดงออกทางเพศ

“ผมอยากให้ทุกคนรู้สึกดีในสิ่งที่ตัวเองเป็น ผมรู้ดีว่าในฐานะชายผิวขาวอย่างผมคงจะไม่สามารถเข้าใจว่าผู้ชมแต่ละคนผ่านอะไรมาบ้าง ผมก็จะไม่พยายามพูดว่า ผมเข้าใจคุณนะ แต่ผมจะทำให้พวกเขารู้ว่า ยังมีคนเห็นเขานะ เขาไม่ได้อยู่คนเดียว”

ดังที่เขาเคยพูดบนเวทีคอนเสิร์ตที่สตอกโฮล์มว่า “ต่อให้คุณเป็นคนผิวดำ เป็นคนผิวขาว เป็นเกย์ หรือชายจริงหญิงแท้ ไม่ว่าจะคุณจะเป็นใคร หรือว่าอยากจะเป็นอะไร ผมจะคอยสนับสนุนคุณ ผมรักพวกคุณทุก ๆ คน”

มาถึงตอนนี้ แฮร์รี เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า เราสามารถสวมใส่เสื้อผ้าแบบไหนก็ได้ เพราะการแฟชั่นและการแต่งตัว นั้นไม่ได้ถูกยึดโยงด้วยรสนิยมทางเพศ หรือ ลักษณะความเป็นชายและลักษณะความเป็นหญิง ขอเพียงแค่เราสนุก มั่นใจ และมีความสุขไปกับเสื้อผ้าที่เราสวมใส่ก็เพียงพอแล้ว
 

เรื่อง: กฤตพล สุธีภัทรกุล

อ้างอิง:

https://www.harpersbazaar.com/.../how-to-dress-like.../
https://www.insider.com/harry-styles-gender-fluid-fashion...
https://www.insider.com/harry-styles-supported-lgtbqia...
https://www.lyst.co.uk/year-in-fashion-2020/#power-dressers
https://www.thecrimson.com/.../wthh-candance-owens-harry.../
https://theface.com/.../harry-styles-feature-interview...
https://www.theguardian.com/.../harry-styles-sexual...
https://www.theguardian.com/.../how-harry-styles-became...
https://twitter.com/RealCandaceO/status/1327691891303976961
https://www.today.com/.../harry-styles-responds-candace...
https://www.usmagazine.com/.../harry-styles-is-proud-of.../
https://variety.com/.../harry-styles-fine-line-hitmaker.../
https://www.vogue.com/.../harry-styles-cover-december-2020