17 ก.พ. 2566 | 19:45 น.
- ‘คาร์ล ลาเกอร์เฟลด์’ เป็นผู้ทรงอิทธิพลคนหนึ่งในวงการแฟชั่นของโลก โดยเขาเกิดที่ เมืองฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี โดยมีสูติบัตร 2 ใบ
- การเข้าร่วมการแข่งขัน International Woolmark Prize และได้รับรางวัลชนะเลิศการออกแบบเสื้อโค้ท เป็นจุดเริ่มต้นการสร้างชื่อในวงการแฟชั่นของเขา
- คาร์ลได้ทำงานให้แบรนด์แฟชั่นชั้นสูงหลายแห่ง เช่น Chloé, Krizia, Charles Jourdan และฟื้นคืนชีพให้กับแบรนด์ CHANEL
สุภาพบุรุษคนหนึ่งมาพร้อมเสื้อคลุมสีดำทึบ แว่นกันแดดสีดำมืด ถุงมือสีดำปี๋ ตัดกับเผ้าผมสีขาวปนเทา สุภาพบุรุษคนนี้มีชื่อว่า ‘คาร์ล ลาเกอร์เฟลด์ (Karl Lagerfeld)
ใครที่ติดตามโลกแฟชั่น น้อยคนที่จะไม่รู้จักชื่อนี้ เพราะเขาได้ทิ้งผลงานน่าประทับใจและคาแรคเตอร์อันเย้ายวนที่คนรุ่นหลังต้องศึกษาไว้ เขาคือดีไซเนอร์มือทองของชาแนล และได้รับสมญานาม ‘ราชาแห่งแฟชั่น’ (King of Fashion)
คาร์ลเกิดที่เมืองฮัมบูร์ก (Hamburg) ประเทศเยอรมนี แต่ตำนานคนนี้มีสูติบัตร 2 ใบ โดยใบหนึ่งเกิดเมื่อปี 1933 อีกใบหนึ่งเกิดเมื่อปี 1938 แต่ตัวเขาเองภายหลังระบุกับสื่อว่าเกิดปี 1935 แม้แต่ปีเกิดก็ทำให้เขามีเรื่องเล่าที่แตกต่างจากบุคคลอื่นทั่วไปแล้ว
เขาเกิดในครอบครัวมีอันจะกิน พ่อเป็นเจ้าของโรงงานผลิตและนำเข้านมข้นหวาน ความที่ไม่ต้องดิ้นรนทำมาหากินหรือคร่ำครวญว่าจะมีกินมื้อหน้าไหม คาร์ลจึงมีเวลาและทรัพยากรมากพอที่จะหันไปสนใจเรื่อง ‘ศิลปะแฟชั่น’ ตั้งแต่ยังเยาว์วัย
เขาชอบทุกอย่างที่เป็น ทัศนศิลป์ (Visual Arts) ชอบไปยืนในห้องโถงของพิพิธภัณฑ์มากกว่าห้องเรียนในโรงเรียน ชอบวาดรูปขณะที่เพื่อน ๆ ออกไปวิ่งเล่นตามประสาเด็ก แน่นอนว่ายุคนั้น ‘ฝรั่งเศส’ สถาปนาตัวเองเป็นศูนย์กลางโลกแฟชั่นแล้ว คาร์ลจึงร่ำเรียน ‘ภาษาฝรั่งเศส’ ตั้งแต่เด็ก โดยมีเป้าหมายหวังให้เป็นเครื่องมือในการเข้าใจโลกแฟชั่นอย่างถ่องแท้
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ปะทุขึ้น เมืองฮัมบูร์กแปรสภาพเป็นสมรภูมิรบ และนั่นทำให้เด็กชายคาร์ลต้องหนีย้ายและหมกตัวอยู่ในบ้านของครอบครัวที่ชนบทห่างไกลจากเมืองใหญ่ที่สุ่มเสี่ยงเกิดอันตราย ในชีวิตที่เงียบสงบของชนบท เขาหมดเวลาไปกับนิตยสารแฟชั่นและของสวย ๆ งาม ๆ
นอกจากนี้ ยังมีสายตาแห่งการช่างสังเกต โดยมักมองดูพิจารณาการแต่งกายของผู้คนท้องถิ่นละแวกบ้าน และวิพากษ์วิจารณ์ไปต่าง ๆ นานา
เมื่อสงครามสงบลง คาร์ลกลับมาบ้านเกิดและเข้าเรียนตามปกติ เขาจบการศึกษาด้านการวาดภาพและประวัติศาสตร์
คาร์ลอินปารีส
ปี 1953 เขามีโอกาสย้ายถิ่นฐานและได้ไปใช้ชีวิตที่ ‘ปารีส’ สมใจหวังจริง ๆ เพียง 2 ปีให้หลัง เขามีโอกาสไปร่วมแข่งงานประกวด International Woolmark Prize และชนะเลิศการออกแบบเสื้อโค้ท (Coat Design) เป็นความสำเร็จแรกที่เริ่มสร้างชื่อในวงการ
จนปีต่อมาดีไซเนอร์ชื่อดังอย่าง ‘ปิแอร์ บัลแมง’ (Pierre Balmain) ก็ได้ว่าจ้างเขามาร่วมงานเป็นผู้ช่วยสมัครเล่น ชีวิตอีกทศวรรษจากนี้ในปารีส เขาจะได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์จากศูนย์กลางโลกแฟชั่นแห่งนี้
ปี 1964 เขาจากปารีสเพื่อไปศึกษาต่อด้านประวัติศาสตร์ศิลป์วิทยา (Art History) ที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี อีกหนึ่งศูนย์กลางแฟชั่นเคียงคู่ปารีส ที่นั่นเอง เขามีโอกาสทำงานฟรีแลนซ์ให้กับแบรนด์แฟชั่นชั้นสูงหลายแห่ง เช่น Chloé, Krizia, Charles Jourdan และ Valentino
แต่ละแบรนด์ล้วนมีเอกลักษณ์ สินค้าหลัก และกลุ่มลูกค้าหลักแตกต่างกันในรายละเอียด จึงเป็นความท้าทายให้คาร์ลได้ฝึกปรือทักษะและเพิ่มพูนประสบการณ์จากการทำงานแฟชั่นที่หลากหลาย
ด้วยศักยภาพของเขา ทำให้เขาได้รับการว่าจ้างเป็นที่ปรึกษาแก่ FENDI แบรนด์แฟชั่นชั้นสูงจากอิตาลี และเป็นผลงานของคาร์ลเองที่ปรับภาพลักษณ์แบรนด์ให้ทันสมัยผ่านงานออกแบบเสื้อขนสัตว์ (Fur) เขายังเป็นผู้ริเริ่มการใช้วัตถุดิบที่แปลกใหม่และแตกต่างจากคู่แข่งมาทำเสื้อขนสัตว์ (เช่น ขนกระต่ายและขนกระรอก) มาถึงตรงนี้ ชื่อของ คาร์ล ลาเกอร์เฟลด์ ได้มีจุดยืนอย่างสง่าผ่าเผยในวงการแฟชั่นเป็นที่เรียบร้อย
ชาแนลเกิดใหม่
ปี 1983 ชาแนล (CHANEL) ได้ว่าจ้างคาร์ลให้มาปรับภาพลักษณ์แบรนด์ ชาแนลในยุคนั้นไม่ใช่ชาแนลที่รุ่งโรจน์เหมือนสมัยนี้ แต่ถูกมองว่าเป็นแบรนด์ ‘ใกล้ตาย’ ด้วยซ้ำ เนื่องมาจากผู้ก่อตั้งได้เสียชีวิตไปแล้ว และแนวทางดีไซน์ของแบรนด์มีกลิ่นอายที่สูงส่งเกินกว่าที่กลุ่มลูกค้าจะซื้อมาสวมใส่ได้บ่อย ๆ ในชีวิตประจำวัน
เขายังปรับแต่งดีไซน์ ‘โลโก้’ ชาแนลที่เป็นตัวอักษร ‘C’ ไขว้กัน 2 ตัวให้มีความทันสมัยขึ้น และนำไปประทับอยู่บนผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ของแบรนด์ เช่น กระเป๋าถือใบเล็ก เป็นการออกแบบที่เรียบง่ายอย่างเหลือเชื่อ แต่สะท้อนอัตลักษณ์แบรนด์ สวยหรูน่าจดจำ ยกระดับภาพลักษณ์ จนเป็นกรณีศึกษาแก่ดีไซเนอร์นักออกแบบโลโก้แบรนด์รุ่นหลังทุกยุคสมัยจากนั้นมา
คาร์ลยังมีอิทธิพลต่อทิศทางแฟชั่นของชาแนลมหาศาล เขาออกแบบเสื้อผ้าพร้อมใส่ (Ready-to-wear) ที่เป็นรากฐานสไตล์ของแบรนด์มาจนถึงทุกวันนี้ มีการปรับให้ใช้งานได้จริงในชีวิตประจำวัน เหมาะทั้งกับการทำงานแบบมืออาชีพ ออกท่องเที่ยว หรือรับประทานดินเนอร์กึ่งทางการ เช่น ปรับกระโปรงให้สั้นลง เพิ่มความสูงให้ส้นสูง ลดความกว้างช่วงไหล่ของเสื้อให้เล็กลง โดยรวมเป็นการยกระดับความเซ็กซี่ที่ยังแฝงความเรียบหรูดูแพงของแบรนด์
ถ้าสุภาพสตรีในวันนี้โหยหาและปรารถนาทุกอย่างที่เป็นชาแนล ก็ขอให้ระลึกถึงชื่อคาร์ล ลาเกอร์เฟลด์ ผู้รังสรรค์และวางรากฐานมันขึ้นมา
การประสบความสำเร็จในการปรับภาพลักษณ์ ไม่ได้เพียงแค่ชุบชีวิตและปูทางให้ชาแนลกลายเป็นแบรนด์หรูแถวหน้าของโลก แต่ได้สร้างชื่อเสียงให้คาร์ล ลาเกอร์เฟลด์ กลายเป็นแฟชั่นดีไซเนอร์แถวหน้าของโลกอย่างเป็นทางการ! คาร์ลและชาแนลจะยังคงทำงานร่วมกันตราบจนวันสุดท้ายของชีวิตเขา
อิทธิพลทางความคิด
เราอาจคิดว่า คาร์ลจำกัดตัวเองอยู่แต่แฟชั่นชั้นสูง? เปล่าเลย
เขาเปิดกว้างด้านแฟชั่นมาก ๆ ตัวอย่างคือปี 2004 เขาได้ไปคอลแลปส์กับ H&M แบรนด์ฟาสต์แฟชั่น เพื่อออกสินค้า limited edition ซึ่งขายดีเทน้ำเทท่า นี่ยังเป็นการคอลแลปส์กับดีไซเนอร์ชั้นนำ (Designer collaboration) เป็นครั้งแรกของ H&M ด้วย! ซึ่งหลังจากนั้นเราจะเริ่มเห็นแบรนด์ฟาสต์แฟชั่นอื่น ๆ เริ่มทำตามกัน (เช่น Uniqlo คอลแลปส์กับแฟชั่นดีไซเนอร์ Jil Sander)
คาร์ลยังมีอิทธิพลทางความคิดกับคนนอกวงการศิลปะแฟชั่น ทั้งในมิติของการสร้างแบรนด์ตัวตน (Personal branding) ที่โดดเด่นแตกต่าง แม้แต่สีผมของเขา มองเผิน ๆ คือสีขาว แต่เจ้าตัวเปิดเผยว่าคือสีเทา (Grayish) ต่างหาก
หรือความคิดทัศนคติที่ตรงไปตรงมาซึ่งประยุกต์ใช้กับเรื่องอื่นในชีวิตได้ไม่น้อย เขามีคาแรคเตอร์ศิลปิน พูดจาโผงผางแต่จริงใจ คนไหนที่เขามองว่าไม่ค่อยฉลาดหลักแหลม คนไหนที่ไม่ชอบเป็นการส่วนตัว หรือมีมุมมองด้านการเมืองและรสนิยมทางเพศที่เปิดเผย
ตัวอย่างประโยคเด็ดของเขา
“สำหรับหนังสือทุกเล่มที่คุณซื้อ คุณควรจะซื้อเวลาเพื่ออ่านมันด้วย” เพราะหลายคนซื้อหนังสือมากองไว้แต่ไม่เคยมีเวลาได้อ่านมัน
“ผมสนใจแค่ความเห็นของตัวเองเท่านั้น” ในมุมหนึ่ง เป็นการมั่นใจในจุดยืนความคิดของตัวเอง (แต่ก็ต้องระวังไม่ให้อีโก้เกินไปเวลาประยุกต์ใช้)
แม้จะเพียบพร้อมชาติตระกูลดี และประสบความสำเร็จจนมีเงินทองล้นเหลือแล้ว เขายังทำงานหนัก โดยบางปีได้ปล่อยคอลเลกชันมากถึง 16 คอลเลกชัน ดูเหมือนว่างานและชีวิตคือสิ่งเดียวกัน นอกจากงานหลักด้านออกแบบเสื้อผ้าแฟชั่นแล้ว คาร์ลยังมีงานอดิเรกอีกหลายอย่างที่ตั้งใจทำจนเป็น ‘มืออาชีพ’ หาเลี้ยงชีพได้ เช่น การถ่ายรูป ที่มีฝีมือถึงขั้นถ่ายงานโฆษณาให้กับ CHANEL หรือมีคุณภาพจนสามารถนำไปตีพิมพ์ในนิตยสารแฟชั่นชั้นสูงต่าง ๆ เช่น VOGUE
คาร์ล ลาเกอร์เฟลด์ เสียชีวิตที่กรุงปารีสเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ปี 2019 เมืองเดียวกับที่เขาเคยปรารถนาจะมาเมื่อครั้งยังเด็ก และเมืองเดียวกับที่ร่างของเขาได้จากไป
แต่สิ่งที่ไม่จากไปแน่นอนคือ ผลงานแฟชั่นที่ทั้งวางรากฐาน สร้างแรงบันดาลใจ หรือชุบชีวิตให้กับแบรนด์อีกหลายแบรนด์ชั้นสูงมาถึงทุกวันนี้
คาร์ล ลาเกอร์เฟลด์…ราชันแห่งโลกแฟชั่น
.
ภาพ : Getty Images
.
อ้างอิง
.