24 ธ.ค. 2561 | 18:02 น.
- ไม่มีบันทึกหลักฐานชนิดใดที่บอกชัดเจนว่า วันที่ 25 ธันวาคม คือวันประสูติของพระเยซู
- มีหลายสันนิษฐานที่อธิบายว่า ทำไมวันที่ 25 ธันวาคม จึงกลายเป็นวันประสูติของพระเยซู ซึ่งเป็นเรื่องที่นำมาสู่การเฉลิมฉลองช่วงเทศกาล คริสต์มาส ในเวลาต่อมา
วันที่ 25 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันที่ชาวคริสต์ทั่วโลกร่วมกันฉลองวันคล้ายวันประสูติของ ‘พระเยซู’ รวมไปถึงคนนอก เนื่องจากมันได้กลายเป็นประเพณีสากลที่ญาติมิตร เพื่อนฝูง และคนรัก จะได้ใช้โอกาสนี้เพื่อพบปะกัน (ด้วยความที่มันเป็นวันหยุด) นอกเหนือไปจากเรื่องของการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา
แต่วันที่ 25 ธันวาคม เป็นวันประสูติของพระเยซูจริงหรือ?
เรื่องนี้คงไม่มีใครรู้แน่ชัด เพราะไม่มีหลักฐานร่วมสมัยบันทึกเอาไว้เลยว่าพระองค์ประสูติวันไหน แม้แต่ในกอสเปลของนักบุญทั้งหลายในพระคัมภีร์ไบเบิลก็ไม่มีฉบับไหนที่บอกว่าพระเยซูประสูติวันที่ 25 ธันวาคม ยิ่งในยุคต้น ๆ ของศาสนาคริสต์ การฉลองวันคล้ายวันเกิดให้กับพระเยซู นักบุญหรือผู้สละชีพให้กับศาสนายังถูกมองว่าเป็นพิธีกรรมของพวกนอกรีต ทั้งยังเห็นว่าควรจะฉลองวันครบรอบวันตายเสียมากกว่าวันเกิด
แล้ววันที่ 25 ธันวาคม กลายมาเป็นวันประสูติพระเยซูได้ยังไง?
มีผู้สันนิษฐานว่า ชาวคริสต์อาจจะเอาเทศกาลฉลองของพวกเพแกน (Pagan ผู้นับถือเทพเจ้าหลายองค์ ซึ่งไม่ใช่ ‘พระเจ้าที่แท้จริง’ ในสายตาชาวคริสต์) อย่างเทศกาลแซตเทอร์นาเลีย (Saturnalia) ที่ฉลองกันตั้งแต่ช่วงกลางเดือนธันวาคมไปจนถึงวันที่ 23 ธันวาคม มาแปลงให้เป็นเทศกาลคริสเตียน โดยโยงให้เป็นวันประสูติของพระเยซูรึเปล่า?
ศาสตราจารย์ เดียร์เมด แมคคัลลอก (Diarmaid MacCulloch) ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ศาสนจักรแห่งมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดในประเทศอังกฤษ ให้ความเห็นว่า ไม่น่าจะเป็นไปได้ที่ชาวคริสต์จะไปเอาประเพณีนี้ของเพแกนมาสวมหัวให้เป็นคริสเตียน เพราะงานฉลองนี้เริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นเดือนธันวาคม และนักเขียนชาวคริสต์ก็ไม่เคยกล่าวถึงเรื่องนี้มาก่อน
ข้อสันนิษฐานต่อมาก็คือ ชาวคริสต์ไปเอาวันหยุดของชาวโรมัน ‘dies solis invicti nati’ หรือ วันกำเนิดแห่งดวงอาทิตย์ที่ไม่มีผู้ใดเอาชนะได้ (day of the birth of the unconquered sun) เพื่อเป็นการฉลองการกลับมาของ ‘ดวงอาทิตย์’ หลังวันเหมายัน (winter soltice) วันที่กลางคืนยาวนานที่สุดในฤดูหนาว ซึ่งเป็นสัญญาณของฤดูใบไม้ผลิที่ใกล้จะมาถึง มาเป็นวันประสูติของพระเยซู เพื่อจูงใจให้ชาวโรมันเปลี่ยนศาสนาหรือไม่?
ในข้อนี้ แมคคัลลอกให้ความเห็นว่า ชาวคริสต์เอาวันนี้มาใช้เป็นวันฉลองวันคล้ายวันเกิดของพระเยซู ก่อนหน้าที่จักรพรรดิโรมันจะหันมานับถือคริสต์ซะอีก (เซ็กตุส ยูลีอุส แอฟริกานุส, Sextus Julius Africanus นักประวัติศาสตร์ชาวคริสต์ได้เขียนไว้ตั้งแต่ปี 221 ว่า วันเกิดของพระเยซูคือวันที่ 25 ธันวาคม ขณะที่จักรพรรดิคอนสแตนติน จักรพรรดิคริสเตียนคนแรกสั่งให้ยุติการกดขี่ชาวคริสต์ตามประกาศแห่งมิลานเมื่อปี 313) มันจึงไม่น่าจะใช่ไอเดียของฝ่ายอาณาจักรที่จะเอามาใช้โน้มน้าวพลเมืองให้เปลี่ยนศาสนา แต่การที่วันทั้งสองมันตรงกันพอดีก็น่าจะมีส่วนช่วยให้วันนี้กลายเป็นวันฉลองที่ได้รับความนิยมได้ง่ายกว่า
ส่วนเหตุผลจริง ๆ ที่ชาวคริสต์เลือกวันที่ 25 ธันวาคม เป็นวันประสูติของพระคริสต์นั้น แมกคัลลอกเชื่อว่า เหตุผลทางศาสนาคือเหตุผลสำคัญที่สุด โดยมีอยู่สองทฤษฎีที่น่ารับฟัง
ทฤษฎีแรก มาจากการที่ศาสนิกในยุคต้นเชื่อว่า พระเยซูก็คือ ‘อดัมคนใหม่’ ที่จะมาไถ่บาปจากการกระทำของ ‘อดัม’ ในสวนเอเดน เบื้องแรกจึงถือเอาว่าวันที่ 25 มีนาคม คือวันประสูติของพระเยซู เพราะมันคือวันแรกของฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งเชื่อมโยงกับอดัมและเรื่องราวของการสร้างโลก
แต่ เซ็กตุส ยูลีอุส แอฟริกานุส เสนอว่า วันที่ 25 มีนาคม น่าจะเป็นวันที่พระองค์ ‘ปฏิสนธิ’ ในครรภ์มากกว่า ต้องนับอีก 9 เดือนถึงจะเป็นวันประสูติของพระองค์จริง ๆ ซึ่งก็ตรงกับวันที่ 25 ธันวาคมนั่นเอง
ส่วนอีกทฤษฎีหนึ่ง อ้างหลักฐานตามพระคัมภีร์ที่บอกว่าพระเยซูสิ้นพระชนม์ตรงกับวันปัสคา (Passover) ผู้รู้สมัยนู้นก็คงจะแปลงวันดังกล่าวจากปฏิทินจันทรคติยิวมาเป็นสุริยคติออกมาตรงกับวันที่ 25 มีนาคม แล้วชาวยิวโบราณก็เชื่อกันว่า ศาสดาพยากรณ์มีวันเกิดและวันตายตรงกัน เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์ในวันที่ 25 มีนาคมแล้ว พระองค์ก็ต้อง ‘ปฏิสนธิ’ ในครรภ์ตรงกับวันเดียวกันนี้ ซึ่งก็จะประสูติตรงกับวันที่ 25 ธันวาคมพอดี (อ้างอิงจาก BBC)
ด้วยเหตุนี้จึงอาจกล่าวได้ว่า ความเชื่อที่ว่าวันประสูติของพระคริสต์ตรงกับวันที่ 25 ธันวาคม อาจจะไม่ได้มาจากปัจจัยเชิงข้อเท็จจริง แต่เป็นการใช้เหตุผลในเชิงเทววิทยาของปราชญ์ชาวคริสต์ (ซึ่งสำหรับศาสนิกบางคนอาจถือว่ามันเป็นข้อเท็จจริงก็ได้)
และแม้ว่ามันจะมาจากความเชื่อและการใช้เหตุผลของชาวคริสต์โดยแท้ แต่การเฉลิมฉลองของชาวคริสต์ในวันนี้ก็ได้รับอิทธิพลจากกลุ่มความเชื่ออื่นอย่างเลี่ยงไม่ได้ (รวมถึงกลุ่มเพแกน) และธรรมเนียมหลายอย่างก็เป็นของใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นานนี้ เช่นการประดับบ้านด้วยต้นสน บันทึกที่เก่าที่สุดของธรรมเนียมนี้อยู่ช่วงศตวรรษที่ 15 ส่วนการมอบของขวัญให้กับคนในครอบครัวก็เพิ่งจะถือปฏิบัติกันเป็นหลักเป็นฐานช่วงปลายศตวรรษที่18 เท่านั้น (อ้างอิงจาก Britannica)