‘กรมหลวงชุมพร’ เจ้านายมีพระนาม ‘ชุมพร’ แต่แทบไม่เกี่ยวกับเมืองชุมพร ทำไมเป็นเช่นนั้น?

‘กรมหลวงชุมพร’ เจ้านายมีพระนาม ‘ชุมพร’ แต่แทบไม่เกี่ยวกับเมืองชุมพร ทำไมเป็นเช่นนั้น?

‘กรมหลวงชุมพรฯ’ เจ้านายที่ทรงมีบทบาทเกี่ยวกับการบุกเบิกการทัพเรือไทย มีฐานอยู่ที่ชลบุรี เดิมอยู่บางพระ ต่อมาย้ายไปสัตหีบ แต่แทนที่จะได้พระนาม ‘กรมหลวงชลบุรี’ หรือ ‘กรมหลวงสัตหีบ’ เหตุใดพระองค์กลับมีพระนาม ‘กรมหลวงชุมพร’?

  • ‘กรมหลวงชุมพร’ เจ้านายที่เป็นที่รู้จัก มีประชาชนเคารพและนับถือมากที่สุดอีกพระองค์หนึ่ง 
  • ตลอดช่วงที่ทรงมีพระนาม ‘ชุมพร’ กลับไม่ได้เกี่ยวข้องกับเมืองชุมพร เรื่องนี้มีนัยที่สะท้อนแง่มุมต่าง ๆ หลายด้าน

เคยสงสัยไหมว่า เจ้านายพระองค์หนึ่งทรงมีบทบาทเกี่ยวกับการบุกเบิกการทัพเรือไทย ซึ่งมีฐานอยู่ที่ชลบุรี เดิมอยู่บางพระ ต่อมาย้ายไปสัตหีบ แต่แทนที่จะได้พระนาม ‘กรมหลวงชลบุรี’ หรือ ‘กรมหลวงสัตหีบ’ เหตุใดพระองค์กลับมีพระนามที่เป็นที่รู้จักกันดีว่า ‘กรมหลวงชุมพร’

บทความนี้จะสืบค้นที่มาที่ไปและนัยความหมายของการพระราชทานพระอิสริยศหรือเฉลิมพระนามเจ้านายโดยให้มีชื่อเมืองอยู่ในพระนาม 

ในบรรดาเจ้านายชั้นสูงรุ่นหลังสถาปนารัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา จะเห็นได้ว่า ‘พระเจ้าบรมบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์’ นับเป็นเจ้านายที่พระนามเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ชาวบ้านประชาชน ถ้าไม่นับชั้นพระมหากษัตริย์อย่างรัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 6 หรือรัชกาลที่ 9 แล้ว ต้องบอกว่ากรมหลวงชุมพรฯ เป็นเจ้านายในราชวงศ์จักรีที่ทรงพระ ‘ป็อปปูลาร์’ มากที่สุด มีศาลเคารพอยู่ทั่วไปหมดในแถบภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และภาคใต้ตอนบน ถ้านับย้อนไปไกลกว่าสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นรองก็แต่สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ

ที่ว่ารู้จักกันดีนั้น บ้างเรียกพระองค์อย่างคุ้นเคยว่า ‘เสด็จเตี่ย’  บ้างก็เรียกว่า ‘เจ้าพ่อกรมหลวงชุมพร’ บ้างก็ว่า ‘เจ้าฟ้าจอมอาคม’ ฯลฯ เรื่องของพระองค์มาพร้อมกับอิทธิปาฏิหาริย์ รวมความแล้วที่ว่ารู้จักนั้นคือในฐานะ ‘ผีบรรพชน’ (Ancestor worship) และ ‘วีรบุรุษทางวัฒนธรรม’ (Cultural hero) เป็นเรื่องสถานะหลังความตายของบุคคล ไม่ใช่ในแง่การศึกษาทางประวัติศาสตร์

แน่นอนว่ากองทัพเรือเป็นผู้มีบทบาทสร้างความหมายและตัวตนให้แก่พระองค์ การสร้างอัตลักษณ์กองทัพเรือไทยผ่านกรมหลวงชุมพรฯ ในฐานะเจ้านายที่เข้าถึงชาวบ้านประชาชนมีความสัมพันธ์กับสถานะของกองทัพเรือช่วงหลังทศวรรษ 2490 ซึ่งเป็นช่วงที่กองทัพเรือประสบวิกฤติอย่างมากหลังจากกบฏแมนฮัตตัน นำมาสู่การยกย่องเป็น ‘พระบิดาแห่งกองทัพเรือไทย’ 

หลังรัฐประหาร พ.ศ.2490 หน่วยงานหลายแห่งต่างหันไปสร้างอัตลักษณ์ผ่านการยกย่องเจ้านายในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กองทัพเรือเองมีการยกย่องกรมหลวงชุมพรฯ ก็เป็นช่วงเดียวกับที่เริ่มปิดฉากการเล่าเรื่องบทบาทของคณะราษฎรสายทหารเรืออย่างหลวงสินธุสงครามชัย (สินธุ์ กมลนาวิน) หลวงศุภชลาศัย (บุง ศุภชลาศัย) หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ (ถวัลย์ ธารีสวัสดิ์) เป็นต้น 

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของกรมหลวงชุมพรฯ ก่อนที่จะทรงมีพระนามหลักที่ว่า ‘กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์’ ทรงเคยมีพระนามประจำพระองค์มาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์อีกพระนามหนึ่งว่า ‘พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์’ และที่จัดเป็นความ ‘พีคในพีค’ ก็คือทรงได้รับสถาปนาพระอิสริยยศเป็น ‘กรมหลวง’ ก็เมื่อพ.ศ.2463 (สมัยรัชกาลที่ 6) ก่อนสิ้นพระชนม์เพียง 3 ปี

ก่อนหน้านั้น สมัยรัชกาลที่ 5 ทรงมีพระอิสริยยศเป็น ‘กรมหมื่น’ มาตั้งแต่ พ.ศ.2447 พระนาม ‘พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์’ ไม่เป็นที่รู้จัก (ยกเว้นแต่เรื่องที่ทรงเป็นต้นราชสกุลอาภากร) กลายเป็นว่าพระนามหลักที่เป็นที่รู้จักนั้นกลับเป็นพระนามควบพระอิสริยยศที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งโดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ซึ่งมีเรื่องเล่าลือว่าทรงมีความขัดแย้งไม่ลงรอยกัน จนกระทั่งต้องออกจากราชการไปเป็น ‘หมอพร’ อยู่พักหนึ่ง 

คำถามคือ ทำไมรัชกาลที่ 5 จึงโปรดให้พระราชโอรสที่ทรงกรมมีพระอิสริยยศโดยมีชื่อหัวเมือง ทั้งที่ไม่ได้ครองหัวเมืองหรือเกี่ยวข้องกับเมืองนั้นเลย และการที่มีเจ้านายชั้นสูงมีชื่อหัวเมืองอยู่ในพระนามสำหรับยุคที่กำลังมีการรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลางอย่างในสมัยรัชกาลที่ 5 นั้นมีนัยอะไรที่เกี่ยวข้องซ่อนอยู่หรือไม่ อย่างไร? 

 

พระนาม

พระนามและพระอิสริยยศที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชบิดาของพระองค์เมื่อ พ.ศ.2447 นั้นคือ ‘กรมหมื่นชุมพรเขตต์อุดมศักดิ์’ เพราะในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อเจ้านายชั้นพระราชโอรสทรงกรม จะโปรดตั้งพระนามให้มีชื่อหัวเมืองสำคัญในราชอาณาจักร เมื่อ ‘พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์’ จบการศึกษากลับมาเข้ารับราชการเป็นเจ้าทรงกรมแล้วก็จึงตั้งให้เป็น ‘กรมหมื่นชุมพรเขตต์อุดมศักดิ์’ ตามธรรมเนียมนี้  ซึ่งเป็นธรรมเนียมใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 5

แตกต่างจากกรณีพระราชโอรสในรัชกาลที่ 4 จะพบพระนามที่ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งด้วยพระนามต่าง ๆ อาทิ จุฬาลงกรณ์ (รัชกาลที่ 5), จันทรมณฑล, จาตุรนต์รัศมี, ภาณุรังสีสว่างศ์ เมื่อทรงกรมก็จะแต่งตั้งให้มีพระนาม อาทิ สรรพสิทธิประสงค์, เทวะวงศ์วโรปการ, วชิรญาณวโรรส, นราธิปประพันธ์พงศ์, ดำรงราชานุภาพ, พิทยลาภพฤฒิธาดา, นริศรานุวัดติวงศ์ เป็นต้น 

รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชโอรสและพระราชธิดารวมทั้งสิ้น 77 พระองค์ พระราชโอรสและพระราชธิดาที่ได้รับการสถาปนาให้เป็นเจ้าต่างกรมทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายในมีทั้งสิ้น 23 พระองค์ ซึ่งพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์เป็นเจ้านายพระองค์สุดท้ายใน 23 พระองค์ดังกล่าวนี้ตามลำดับคือ: 

(1) กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร (กรุงเทพ/รัตนโกสินทร์) 
(2) กรมหลวงสงขลานครินทร์ (สงขลา) 
(3) กรมขุนชัยนาทนเรนทร (ชัยนาท) 
(4) (เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์) กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร (เพชรบุรี) 
(5) กรมขุนพิจิตรเจษฏ์จันทร์ (พิจิตร) 
(6) กรมขุนสวรรคโลกลักษณวดี (สวรรคโลก) 
(7) (พระองค์เจ้าชายกิติยากรวรลักษณ์) กรมพระจันทบุรีนฤนาท (จันทบุรี)
(8) กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (ราชบุรี) 
(9) กรมหลวงปราจิณกิติบดี (ปราจิณ/ปราจีนบุรี) 
(10) (พระองค์เจ้าชายจิรประวัติวรเดช) กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช (นครไชยศรี) 
(11) (สมเด็จเจ้าฟ้าชายบริพัตรสุขุมพันธ์) กรมพระนครสวรรค์วรพินิต (นครสวรรค์) 
(12) (พระองค์เจ้าชายบุรฉัตรไชยากร) กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน (กำแพงเพชร)
(13) (สมเด็จเจ้าฟ้าชายสมมติวงศ์วโรทัย) กรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์ (นครศรีธรรมราช)
(14) (พระองค์เจ้าชายเพ็ญพัฒนพงศ์) กรมหมื่นมหินพิไชยมหินทโรดม (พิไชย)
(15) (สมเด็จเจ้าฟ้าชายยุคลทิฆัมพร) กรมหลวงลพบุรีราเมศร์ (ลพบุรี) 
(16) (พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์) กรมพระยาชัยนาทนเรนทร (ชัยนาท)  
(17) (สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงมาลินีนพดารา ศิรินิภาพรรณวดี) กรมขุนศรีสัชนาลัยสุรกัญญา (ศรีสัชนาลัย) 
(18) (สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงนิภานภดล วิมลประภาวดี) กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี (อู่ทอง) 
(19) (สมเด็จเจ้าฟ้าชายอัษฎางค์เดชาวุธ) กรมหลวงนครราชสีมา (นครราชสีมา) 
(20) (สมเด็จเจ้าฟ้าชายจุฑาธุชธราดิลก) กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย (เพชรบูรณ์) 
(21) พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 (สมเด็จฯ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์) กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา (สุโขทัย) 
(22) (สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ) กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ (พิษณุโลก)
(23) (พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์) กรมหมื่นชุมพรเขตต์อุดมศักดิ์ (ต่อมา พ.ศ.2463 ได้เลื่อนเป็น ‘กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์’) (ชุมพร) 

ทั้งนี้ ‘กรมหมื่นชุมพรเขตต์อุดมศักดิ์’ นับเป็นพระราชโอรสองค์สุดท้ายที่รัชกาลที่ 5 ทรงแต่งตั้งตามธรรมเนียมดังกล่าวนี้ อนึ่งการที่ทรงพระราชทานพระอิสริยยศเช่นนี้ แม้ว่าเหตุผลที่เป็นทางการตามประกาศเฉลิมพระยศเจ้านายจะระบุเอาไว้ว่า

“เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ปรับปรุงระบอบการปกครองหัวเมือง พระองค์จึงมีพระราชดำริว่า ‘พระราชโอรสและพระราชธิดาในพระองค์ ควรจะมีพระนามเป็นเกียรติแก่เมืองต่างๆ ในสยามรัฐสีมาอาณาจักร’ ” 

ในส่วนของพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ที่ได้รับพระราชทานเปลี่ยนพระนามใหม่เป็น ‘กรมหมื่นชุมพรเขตต์อุดมศักดิ์’ เมื่อ พ.ศ.2447  ก็ทรงให้เหตุผลเอาไว้ว่า

“ทรงพระราชดำริว่า พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ ได้เสด็จไปทรงศึกษาวิชชาการในประเทศยุโรปจนได้เข้าฝึกหัดในการทหารเรือ ได้เสด็จลงประจำเรือจนเสร็จวิธีเรียน ครั้นเมื่อเสด็จพระราชดำเนิรประพาศประเทศยุโรป ได้เสด็จมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทณเกาะลังกา ได้เสด็จลงเรือพระที่นั่งมหาจักรี ทรงถือท้ายเรือพระที่นั่งด้วยพระองค์เอง ครั้นเมื่อเสด็จกลับเข้ามากรุงเทพมหานครก็ได้ทรงรับราชการในกรมทหารเรือสืบมาจนบัดนี้ มีวัยวุฒิปรีชาสามารถอาจหาญในวิชชาการทางที่ทรงร่ำเรียนมา สมควรที่จะมีพระเกียรติยศเป็นพระองค์เจ้าต่างกรมพระองค์หนึ่งได้”

เมื่อได้เลื่อนเป็น ‘กรมหลวง’ ใน พ.ศ.2463 ก็คงพระนามตามเดิมที่มีคำว่า ‘ชุมพร’ จึงเป็น ‘กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์’ เหตุผลที่ให้ไว้ตามประกาศก็ทำนองเดียวกับในประกาศฉบับ พ.ศ.2447 เพียงแต่คราวนี้เป็นเหตุผลสืบเนื่องจากความดีความชอบจากการเสด็จไปรับเอาเรือรบหลวง ‘พระร่วง’ ซึ่งเป็นเรือรบที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเรี่ยไรเงินจากข้าราชการและประชาชนจัดหาซื้อมาจากประเทศอังกฤษ นำมาถวายเป็นพระเกียรติแด่รัชกาลที่ 6 โดยตรง ดังความในประกาศที่ระบุเอาไว้ดังนี้: 

“เมื่อปี พ.ศ.2460 ได้ทรงเลื่อนยศเป็นนายพลเรือโท และในปีนี้เองได้ทรงเลื่อนขึ้นเป็นนายพลเรือเอก และเป็นผู้แทนคณะกรรมการราชนาวีสมาคมแห่งกรุงสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ออกไปจัดซื้อเรือรบหลวง “พระร่วง” ณ ประเทศอังกฤษ และทรงอุตสาหะนำเรือรบหลวง “พระร่วง” เข้ามาสู่กรุงเทพพระมหานครด้วยพระองค์เอง ได้มาถึงโดยสวัสดิภาพ เป็นความชอบพิเศษของพระองค์อีกส่วนหนึ่ง... สมควรที่จะทรงสถปานาไว้ในตำแหน่งพระองค์เจ้าต่างกรมผู้ใหญ่พระองค์ 1 ได้”  

แม้ว่าแรกเริ่มเดิมทีรัชกาลที่ 5 จะทรงให้เหตุผลของการพระราชพระนามว่า “เป็นเกียรติแก่เมืองต่างๆ ในสยามรัฐสีมาอาณาจักร” แค่นั้นไม่มีอะไร แต่งานที่แปลและปรับปรุงจากวิทยานิพนธ์ของไชยันต์ รัชชกูล เรื่อง “อาณานิคมสมบูรณาญาสิทธิราชย์: การก่อรูปรัฐไทยสมัยใหม่จากศักดินานิยมสู่ทุนนิยมรอบนอก” (ฉบับพิมพ์ภาษาอังกฤษชื่อ “The Rise and Fall of the Thai Absolute Monarchy: Foundations of the Modern Thai State from Feudalism to Peripheral Capitalism” by Chaiyan Rajchagool) ตั้งข้อสังเกตว่า หัวเมืองต่าง ๆ ที่รัชกาลที่ 5 ทรงตั้งให้แก่พระราชโอรสของพระองค์นั้น ครอบคลุมอยู่เพียงหัวเมืองในราชอาณาจักรอยุธยาตามที่ปรากฏในบันทึกของซิมง  เดอ ลาลูแบร์ (Simon de La Loubère) ซึ่งเข้ามาสยามพร้อมกับคณะทูตพิเศษในสมัยสมเด็จพระนารายณ์  

ถึงแม้ว่าอังกฤษจะมีตัวอย่างการตั้งพระราชวงศ์อังหัวเมืองเช่นกัน เช่นมี Duke of Edinburgh, Prince of Wales, Duke of York, Duchess of Cambridge ฯลฯ แต่ก็ไม่ปรากฏว่าเป็นการลอกเลียนแบบอังกฤษแต่อย่างใด ถึงแม้ว่ารูปแบบการจัดการปกครองที่เกิดจากการปฏิรูปรัชกาลที่ 5 นั้นจะแสดงให้เห็นอิทธิพลของอาณานิคมแบบอังกฤษอยู่หลายประการก็ตาม อาจารย์ไชยันต์ ตั้งข้อสังเกตว่า การตั้งพระอิสริยยศแก่พระราชโอรสในรัชกาลที่ 5 นั้นอ้างอิงย้อนหลังกลับไปที่อยุธยา จึงไม่มีหัวเมืองอีสาน ล้านนา และปัตตานี  อยู่ในลิสต์พระนาม ซึ่งนั่นสะท้อนอยู่โดยนัยว่า ‘สยามรัฐสีมาอาณาจักร’ ตามความรับรู้ของชนชั้นนำสยามสมัยรัชกาลที่ 5 เดิมก็มีขอบเขตอยู่เพียงเท่านั้น ไม่รวมอีสาน ล้านนา และปัตตานี

หัวเมืองในลิสต์ ‘สยามรัฐสีมาอาณาจักร’ ที่ทรงนำมาตั้งพระอิสริยศ ได้แก่ กรุงเทพ (รัตนโกสินทร์), สงขลา, ชัยนาท, เพชรบุรี, พิจิตร. สวรรคโลก, จันทบุรี, ราชบุรี, ปราจิณ (ปราจีนบุรี), นครไชยศรี, นครสวรรค์, กำแพงเพชร, ศรีธรรมราช (นครศรีธรรมราช), พิไชย, ลพบุรี, ศรีสัชนาลัย, อู่ทอง, นครราชสีมา, เพชรบูรณ์, สุโขทัย, พิษณุโลก, ชุมพร เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า ใต้สุดคือสงขลา, เหนือสุดคือศรีสัชนาลัย, ตะวันออกสุดคือทางทะเลคือจันทบุรี ทางบกคือปราจิณหรือปราจีนบุรี, ตะวันตกสุดคือราชบุรี, อีสานสุดแค่นครราชสีมา บางเมืองสำคัญอย่างสุพรรณบุรี ถูกแทนที่ด้วยเมืองอู่ทอง (กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี) ซึ่งเป็นเมืองโบราณที่เพิ่งมีการค้นพบโดยสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพครั้งดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 นั้นเอง

อาณาเขต ‘สยามรัฐสีมาอาณาจักร’ ดังกล่าวนี้เริ่มปรากฏในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เป็นช่วงที่มีการผนวกรวมแคว้นสุโขทัยเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรอยุธยา รวมถึงมีการขยายอำนาจลงไปคุกคามรัฐมลายูและสิงหปุระ (สิงคโปร์) โดยอาศัยความร่วมมือจากนครศรีธรรมราชและสงขลา และก็เป็นรัชกาลที่มีการปฏิรูปการปกครองปรับปรุงแก้ไขกฎหมายตราสามดวง

 

ทำไมจึงต้องอ้างอิงกลับไปที่อยุธยา?

น่าสังเกตว่า ปีที่รัชกาลที่ 5 ทรงริเริ่มพระราชทานพระอิสริยยศแก่พระราชโอรสที่ทรงกรมในรัชกาลพระองค์  มักจะเป็นปีหลัง พ.ศ.2429 ในปีดังกล่าวนี้มีเหตุให้ต้องทรงศึกษาตำรากฎหมายและขนบธรรมเนียมเก่าเกี่ยวกับพระราชโอรสจากยุคกรุงศรีอยุธยาค่อนข้างมาก เนื่องจากเป็นปีที่จะทรงสถาปนาตำแหน่ง ‘สยามมกุฎราชกุมาร’ เป็นทางการ เป็นครั้งแรกที่มีการประกาศกฎหมายชัดเจนว่าผู้ที่จะสืบราชสมบัติ จะต้องเป็นพระราชโอรสองค์โต

ขณะที่ก่อนหน้านั้นมีจารีตให้สิทธิแก่พระราชอนุชาค่อนข้างมาก เจ้านายพระองค์แรกที่ได้รับตำแหน่งนี้คือ ‘เจ้าฟ้าวชิรุณหิศ’ ต่อมาเมื่อพ.ศ.2437 ก็ได้ทรงแต่งตั้ง ‘เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ’ (รัชกาลที่ 6) ขึ้นดำรงตำแหน่งนี้แทนเจ้าฟ้าวชิรุณหิศที่ทรงสิ้นพระชนม์ไป

ตามกฎหมายเก่าอย่างกฎมณเฑียรบาลกรุงศรีอยุธยา จะมีธรรมเนียมการตั้งพระราชโอรสให้ไปครองหัวเมือง แบ่งเป็นหัวเมืองชั้นเอก หัวเมืองชั้นโท และหัวเมืองชั้นตรี เรียงตามลำดับ พระราชโอรสองค์สำคัญที่อยู่ในเกณฑ์จะขึ้นครองราชย์สืบไปได้นั้นจะต้องครองหัวเมืองชั้นเอก เช่น เมืองสุพรรณบุรี, ลพบุรี, พิษณุโลก เป็นต้น ถือเป็นการส่งเจ้าไป ‘ฝึกทดลองงาน’ ไปในตัว 

ระบบนี้จึงเป็นหลักประกันว่าเจ้านายที่จะสืบราชสมบัติต่อนั้นจะเป็นผู้ที่มีพระปรีชาสามารถและสั่งสมบุญบารมีจากการครองหัวเมืองมาแล้วระดับหนึ่ง ไม่ใช่อยู่ดี ๆ เกิดในเศวตฉัตรแล้วก็จะต้องได้เป็นแน่

แต่ระบบนี้ในอีกด้านก็ก่อปัญหาภายในจนต้องมีการปรับปรุงแก้ไขอยู่หลายช่วงเหมือนกัน เพราะผู้ที่สั่งสมบุญบารมีจากหัวเมืองได้มากนั้น  มิใช่จะมีแต่เจ้านายชั้นพระราชโอรส บ่อยครั้งที่พระราชอนุชาสะสมมามากกว่า กรุงศรีอยุธยาจึงมักเผชิญปัญหาการปีนเกลียวและขับเคี่ยวกันระหว่างเจ้านายสายพระราชโอรสกับสายพระราชอนุชา จนนำไปสู่การกบฏ รัฐประหาร ปราบดาภิเษก หลายครั้งด้วยกัน

ต่อมาในสมัยสมเด็จพระนเรศวร ซึ่งเป็นช่วงที่มีศึกสงครามมาก พระองค์ต้องการหลักประกันให้หัวเมืองสามารถระดมกำลังมาช่วยเมืองหลวงในการทำศึกได้มีประสิทธิภาพและทันท่วงทีมากขึ้น จึงเปลี่ยนมาตั้งให้ขุนนาง (ที่เป็นขุนศึกซึ่งทรงไว้วางพระราชหฤทัย) เป็นเจ้าเมืองสำคัญแทนที่เจ้านายเชื้อพระวงศ์ แต่นั่นกลับกลายเป็นจุดเริ่มของปัญหาใหม่คือการสะสมอำนาจและบารมีของขุนนาง กระทั่งเกิดขุนนางที่สามารถท้าทายพระราชอำนาจและโค่นล้มราชวงศ์เก่าเปลี่ยนราชวงศ์ใหม่ อาทิ จากราชวงศ์สุโขทัยเป็นราชวงศ์ปราสาททอง และจากราชวงศ์ปราสาททองเป็นราชวงศ์บ้านพลูหลวง เป็นต้น

รัชกาลสมเด็จพระเจ้าบรมโกศซึ่งเป็นยุคสมัยในความทรงจำของชนชั้นนำรัตนโกสินทร์ในฐานะ ‘ยุคบ้านเมืองดี’ เป็นยุคที่เกิดจากการเปลี่ยนผ่านเมื่อปลาย พ.ศ.2275 ถึงต้น พ.ศ.2276 เป็นช่วงเดียวกับที่เกิดสงครามกลางเมืองชิงบัลลังก์กันระหว่างวังหน้าภายใต้เจ้าฟ้าพร (สมเด็จพระเจ้าบรมโกศ) กับวังหลังภายใต้เจ้าฟ้าปรเมศร์กับเจ้าฟ้าอภัย โดยนัยก็คือเป็นศึกชิงอำนาจกันระหว่างเจ้านายชั้นพระราชอนุชา (สมเด็จพระเจ้าบรมโกศ) กับเจ้านายชั้นพระราชโอรส (เจ้าฟ้าปรเมศร์กับเจ้าฟ้าอภัย)

สมเด็จพระเจ้าบรมโกศเมื่อขึ้นครองราชย์จึงทรงพยายามแก้ไขปัญหานี้โดยการแต่งตั้งพระราชโอรสที่เกิดจากพระสนมเป็น ‘เจ้านายทรงกรม’ ตัดกำลังและบารมีของพระราชโอรสองค์โตอย่างเจ้าฟ้าเอกทัศ (สมเด็จพระเจ้าเอกทัศ) แต่ความวุ่นวายก็เกิดขึ้นอีกเมื่อสมเด็จพระเจ้าบรมโกศสวรรคต วังหน้ากับวังหลังก็ทำศึกกันอีก 

วังหน้านำโดยเจ้าฟ้าดอกเดื่อ (สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร) กับกรมขุนอนุรักษ์มนตรี (สมเด็จพระเจ้าเอกทัศ) วังหลังนำโดย ‘เจ้าสามกรม’ (กรมหมื่นจิตรสุนทร กรมหมื่นสุนทรเทพ และ กรมหมื่นเสพภักดี) กลายเป็นศึกระหว่างพระราชโอรสที่เกิดจากพระมเหสี (วังหน้า) กับพระราชโอรสที่เกิดจากพระสนม (เจ้าสามกรม/วังหลัง) 

แม้จะทรงปรารถนาให้พระราชโอรสของพระองค์ได้มีอำนาจวาสนาสืบไปภายหน้า ตามประสาพ่อที่อยากเห็นลูกได้ดีมีสุข แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงตระหนักว่าไม่อาจฟื้นคืนระบอบให้พระราชโอรสไปครองหัวเมืองเหมือนดังในอดีต อีกทั้งการมีเจ้านายทรงกรมจนสะสมบุญบารมีมากนั้นก็เป็นอันตราย เพราะจะนำไปสู่การสู้รบแย่งชิงกันวุ่นวายดังเช่นที่เกิดในสมัยกรุงศรีอยุธยา แม้จะอ้างอิงขนบธรรมเนียมกรุงศรีอยุธยา แต่ไม่อาจนำเอาระบบเก่าของกรุงศรีอยุธยากลับมาใช้ได้อย่าง ‘เต็มสตรีม’ จึงออกมาในรูปของการเฉลิมพระราชอิสริยยศคือเป็นพระยศอันเป็นเกียรติแต่เพียงในนามเท่านั้น  มิได้มีอำนาจจริงที่สัมพันธ์กับหัวเมืองในพระนาม

เหตุนี้กรมหลวงชุมพรฯ ตลอดพระชนม์ชีพทรงมีพระประวัติสัมพันธ์กับหัวเมืองต่าง ๆ ก็เฉพาะในกรุงเทพฯ และภาคกลาง แถบชัยนาท นครสวรรค์ และบทบาทในกิจการกองทัพเรือก็เน้นประทับอยู่ที่ชลบุรี แรกเริ่มอยู่ที่บางพระ ต่อมาย้ายไปสัตหีบ เพิ่งจะเสด็จไปเกี่ยวข้องกับชุมพรก็ในปลายพระชนม์แล้ว แต่ส่วนใหญ่ตลอดช่วงที่ทรงมีพระนาม ‘ชุมพร’ นั้นกลับไม่มีความเกี่ยวข้องกับเมืองชุมพร เช่นเดียวกับเจ้านายองค์อื่น ๆ (อีกกว่า 22 พระองค์ตามรายพระนามข้างต้น) ส่วนใหญ่ก็มิได้มีพระประวัติเกี่ยวข้องกับหัวเมืองที่ทรงได้รับพระราชทานพระอิสริยยศ 

อย่างไรก็ดี การที่ทรงมีชื่อหัวเมืองอยู่ในพระนามยศ ทำให้เมือง (หรือจังหวัด) ที่ติดโผอยู่ในพระนาม มีความชอบธรรมที่จะอ้างอิงพระนามเจ้านายพระองค์นั้นมาสร้างอัตลักษณ์แก่เมือง/จังหวัดได้ในภายหลัง  ดังปรากฏการสร้างศาลและอนุสาวรีย์ต่าง ๆ หรืออย่างการ Identify กับพระนาม ‘กรมหลวงสุโขทัยฯ’ (รัชกาลที่ 7) โดยมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เป็นต้น

 

เรื่อง: กำพล จำปาพันธ์
ภาพ: กรมหลวงชุมพรฯ ไฟล์ public domain

อ้างอิง:

กฎหมายตรา 3 ดวง เล่ม 1. กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ, 2548.  

คเณศ กังวานสุรไกร. “ประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่าด้วยพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พ.ศ. 2466-2536” ปริญญานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, 2563. 

จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. ธรรมเนียมราชตระกูลในกรุงสยาม. นนทบุรี: โครงการคัดสรรหนังสือ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2549.

จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงวิจารณ์เรื่องพระราชพงศาวดารกับเรื่องราชประเพณีการตั้งพระมหาอุปราช. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้ง, 2542. 

ไชยันต์ รัชชกูล. อาณานิคมสมบูรณาญาสิทธิราชย์: การก่อรูปรัฐไทยสมัยใหม่จากศักดินานิยมสู่ทุนนิยมรอบนอก (The Rise and Fall of the Thai Absolute Monarchy: Foundations of the Modern Thai State from Feudalism to Peripheral Capitalism). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์อ่าน, 2560. 

พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ พระประวัติและพระปรีชา จากการค้นคว้าและค้นพบใหม่ทั้งในประเทศไทยและสหราชอาณาจักร. กรุงเทพฯ: มูลนิธิราชสกุลอาภากร, 2558. 

เรื่องเฉลิมพระยศเจ้านาย เล่ม 1 (ฉะบับมีรูป). พิมพ์พระราชทานในการพระราชพิธีสถาปนาพระอิสริยศักดิ์และบำเพ็ญพระราชกุศลฉลองพระชนมายุ 6 รอบ 
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา วันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2538, กรุงเทพฯ: อัมรินทร์พริ้นติ้ง, 2538. 

เรื่องเฉลิมพระยศเจ้านาย เล่ม 2 (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม). กองทัพเรือพิมพ์ถวายสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา เนื่องในพระราชพิธีสถาปนาพระอิสริยศักดิ์และบำเพ็ญพระราชกุศลฉลองพระชนมายุ 6 รอบ วันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2538, กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์กรุงเทพฯ, 2538