สามก๊ก : วัฏจักรของแผ่นดินกับ ‘อำนาจ’ ที่ไม่เข้าใครออกใคร

สามก๊ก : วัฏจักรของแผ่นดินกับ ‘อำนาจ’ ที่ไม่เข้าใครออกใคร

สำรวจวัฏจักรของแผ่นดินผ่านประโยคแรกของนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ ‘สามก๊ก’ (The Romance of the Three Kingdoms) ที่สะท้อนให้เห็นถึงวังวนที่วนเวียนในความขัดแย้งของสังคมมนุษย์ตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน

คำโบราณว่า สถานการณ์ในแผ่นดินนี้ เมื่อแตกแยกมานานก็จักรวมสมาน รวมสมานมานานก็จักแตกแยก

 

หากใครเป็นคนหนึ่งที่เคยได้ชมสามก๊กฉบับซีรีส์ที่รัฐบาลจีนลงทุนผลิตอย่างใหญ่โตเมื่อปี 1994 ก็คงจะคุ้นหูกับประโยคข้างต้นดี เพราะถ้อยคำข้างต้นคือกลุ่มประโยคแรกที่ถูกกล่าวขึ้นก่อนที่ความระส่ำระสายของแผ่นดินจะปะทุขึ้น (อีกครั้ง) ในยุคสามก๊ก 

แม้ว่าจะมีรูปประโยคหรือคำที่แตกต่างกันไปในเรื่องราวแต่ละเวอร์ชัน ไม่ว่าจะเป็นหนังสือฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน), ฉบับดั้งเดิมที่แปลเป็นภาษาอังกฤษโดย มาร์ติน พาลเมอร์ (Martin Palmer) หรือไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวของสามก๊กในแบบฉบับอื่น ๆ (ที่บางแบบก็อาจจะไม่ได้มีประโยคดังกล่าวอยู่เลยเสียด้วยซ้ำ) แต่ใจความสำคัญของประโยคดังกล่าวและหน้าที่ของมันในฐานะ ‘ธีม’ หลักของนวนิยายอิงประวัติศาสตร์นามว่า ‘สามก๊ก’ (The Romance of the Three Kingdoms) ล้วนคงเดิม

‘เมื่อรวมจึงแยก เมื่อแยกจึงรวม’

 

นอกจากเล่ห์ร้อยกล คนร้อยเหลี่ยม, การบริหารผู้คน หรือพิชัยสงครามที่สอดแทรกเป็นองค์ประกอบและสีสันสำคัญภายในเรื่องราวของสามก๊ก แก่นเรื่องหลักที่ทำหน้าที่เสมือนเป็นธรรมชาติความเป็นไปของแผ่นดินใต้หล้า คือ ‘ความไม่จีรัง’ ในมิตร - ศัตรู และ ‘ความจีรัง’ ในวัฏจักรของสงครามและความสงบของบ้านเมือง

ในวันที่แผ่นดินจีนปกคลุมไปด้วยความลำบากแร้นแค้นและไฟความยุ่งเหยิงจากราษฎรที่ปฏิเสธจะขอทนกับสภาพความเป็นอยู่จนลุกฮือกลายเป็น ‘กบฏโจรโพกผ้าเหลือง’ (Yellow Turban Rebellion) ที่นำโดย ‘เตียวก๊ก’ (Zhang Jiao) ถือเป็นหมุดหมายสำคัญของการเปลี่ยนผ่านระหว่างยุคที่รวมสมานไปสู่วันที่แตกแยกได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะการก้าวเข้ามาของ ‘ตั๋งโต๊ะ’ (Dong Zhou) ที่เป็นเหมือนชนวนที่จะนำไปสู่ความแตกแยกที่ใหญ่กว่าเดิม

เขาคือผู้ปกครองจากหัวเมืองอันไกลโพ้นที่กรีธาทัพเข้าเมืองหลวงตามคำเรียกร้องเพื่อ ‘ปราบกบฏ’ จากคำเชื้อเชิญของ ‘โฮจิ๋น’ (He Jin) การเดินทางเข้ามาของเขา ในทีแรกเปรียบเสมือนอัศวินขี่ม้าขาวเข้ามากอบกู้สถานการณ์และ ‘สยบ’ ความวุ่นวายที่อุบัติขึ้นจากทั้งสองฝ่าย แต่เมื่ออำนาจได้หลุดเข้าไปอยู่ในมือ จากผู้ถูกมองว่าเป็นอัศวินที่จะมากอบกู้สถานการณ์ กลับเผยธาตุแท้และกลายเป็นทรราชที่โหดเหี้ยมที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์

แต่ภายหลังจากที่ตั๋งโต๊ะขึ้นครองอำนาจและข่มเหงผู้ขัดขืนตามครรลองของเผด็จการ ก็เป็นเชื้อเพลิงที่จะบันดาลให้เหล่าผู้ ‘จงรักภักดี’ รวมตัวกันเป็นกลุ่มเพื่อต่อต้านการปกครองของตั๋งโต๊ะจนประกอบกันเป็นหนึ่งจนได้นามว่า ‘กองทัพ 18 หัวเมือง’ ที่ประกอบไปด้วยตัวละครสำคัญมากมาย ไม่ว่าจะเป็น โจโฉ เล่าปี่ ซุนเกี๋ยน อ้วนเสี้ยว อ้วนสุด โตเกี๋ยม กองซุนจ้าน และอีกมากมาย

ด้วยอุดมการณ์เดียวกันที่มุ่งหวังจะปราบทรราชที่แข็งแกร่งอย่างตั๋งโต๊ะจึงทำให้พวกเขาสามารถผนึกกำลังกันเป็นหนึ่งได้ในที่สุด แต่หากใครที่เคยได้อ่านหรือชมเรื่องราวของสามก๊กมาก่อนแล้วก็คงจะคุ้นหูกับตัวละครทั้งหลายที่ผมได้เอ่ยไปเมื่อสักครู่ดี ว่าเพียงเวลาไม่นาน พันธมิตรที่ร่วมแรงร่วมใจกันไปถึงเป้าหมายนั้น จะแตกแยกกันเป็นเศษเสี้ยวมากกว่าเดิมเสียอีก

กรณีที่เห็นได้ชัดก็คงเป็นความบาดหมางระหว่าง ‘ซุนเกี๋ยน’ (Sun Jian) และ ‘อ้วนสุด’ (Yuan Shu) ที่คนหนึ่งก็มักใหญ่ใฝ่สูงเมื่อได้ครองตราหยกอันเป็นสัญลักษณ์ของจักรพรรดิ ส่วนอีกคนก็ริษยาที่มีใครสักคนก้าวหน้าไปได้เร็วกว่าตน จนกลายเกิดเป็นการขัดแข้งขัดขาที่จะทำให้อุดมการณ์ตั้งต้นเลือนหายไป และทำให้ความมุ่งหวังที่ตั้งมาทั้งหมดแหลกสลายลง

ท้ายที่สุดแล้ว ไม่เพียงแค่ซุนเกี๋ยนและอ้วนสุดเท่านั้นที่ผันแปรจากพันธมิตรสู่ศัตรู ไม่ว่าจะเป็น กองซุนจ้าน - อ้วนเสี้ยว, อ้วนเสี้ยว - โจโฉ, โจโฉ - โตเกี๋ยม, โจโฉ - เล่าปี่, โจโฉ - อ้วนสุด… ไม่เพียงแต่พันธมิตรเก่าที่กำเนิดขึ้นและแตกกันเป็นเสี่ยง ๆ เท่านั้น แม้แต่คู่พ่อ - ลูกบุญธรรมอย่างตั๋งโต๊ะและลิโป้ก็ยังล่มสลายลงเพราะแตกคอกันเองเช่นเดียวกัน 

แต่เมื่อแตกแยกก็จักรวมสมาน ฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้มีเพียงการแตกแยกกันเท่านั้น เพราะในบางคราว บางคนที่ก่อนเคยรบราฆ่าฟันกันอย่างเหี้ยมโหดก็ผันแปรเป็นมิตรกันได้อย่างไม่น่าเชื่อ ยกตัวอย่างเช่น ลิโป้ (Lu Bu) และ เล่าปี่ (Liu Bei) ก่อนที่ท้ายที่สุดจะถูกลิโป้หักหลังอยู่ดี

ในช่วงแรกของเรื่องราวสามก๊ก แผ่นดินจีนนั้นแตกเป็นเสี่ยง ๆ ที่รบราฆ่าฟันกันเองนับสิบก๊กสิบเหล่า ก่อนที่จะค่อย ๆ สมานกันทีละนิดจนเหลือเพียงแค่สามก๊ก ซึ่งประกอบไปด้วย วุย ง่อ และจ๊ก (โจโฉ ซุนกวน และเล่าปี่) ดังที่เราทราบกันดี 

ยุทธศาสตร์สามก๊ก’ คือแผนยุทธศาสตร์ที่ยอดกุนซืออย่าง ‘ขงเบ้ง’ (Zhuge Liang) ออกแบบออกมาเพื่อมุ่งหวังให้เล่าปี่ได้สามารถตั้งตัวและกอบกู้ราชวงศ์ฮั่นให้กลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง โดยปัจจัยสำคัญที่จะบรรลุเป้าหมายนี้ได้ก็ต้อง ‘ร่วมมือ’ กับซุนกวนเพื่อต้านโจโฉ

ทั้งซุนและเล่าเริ่มต้นความสัมพันธ์ระหว่างสองฝ่ายอย่างฉันมิตร จนสามารถสยบทัพเรือของโจโฉได้อย่างราบคาบ แต่การยืมเมืองเกงจิ๋ว ที่ฝ่ายเล่าปี่ไม่ยอมคืน กลับกลายเป็นชนวนเหตุสำคัญที่ทำให้มิตรภาพนี้พังราบคาบและพลิกให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่ายพลิกจาก ‘มิตรแท้’ เป็น ‘ศัตรูถาวร’ โดยเฉพาะกับตอนที่ซุนกวนสั่งประหาร ‘กวนอู’ (Guan Yu)
.
ตลอดเรื่อง เราจะได้เห็นวัฏจักรของมิตรภาพที่ผันแปรเปลี่ยนแปลงไม่จบสิ้น เมื่อรวมกันเป็นหนึ่งก็ต้องแตกกันเป็นสองหรือมากกว่า และเมื่อแตกแขนงเป็นหลายก็ย่อมสมานกันเป็นหนึ่งเดียวท้ายที่สุด เรื่องราวของสามก๊กดำเนินไปเช่นนี้เรื่อยมา แม้ว่า โจโฉ ซุนกวน และเล่าปี่จากไปแล้ว จนท้ายที่สุด แม้ว่า ‘สุมาเอี๋ยน’ (Sima Yan) หลานของ ‘สุมาอี้’ (Sima Yi) สามารถรวบรวมแผ่นดินจีนเป็นหนึ่งได้สำเร็จ แต่เขาก็ต้องเผชิญกับชะตาที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง เมื่อความแตกแยกกลับมาอีกครั้ง

เรื่องราวของสามก๊กได้ทำการสอดแทรกบทเรียนหลากหลายอย่างในการเป็นมนุษย์ของคนเรา ไม่ว่าจะเป็นเสน่ห์ในความไม่สมบูรณ์ของการเป็นมนุษย์, เล่ห์เหลี่ยมของสังคมที่ซับซ้อนไม่รู้จบ, วิธีการบริหารคน หรือแนวคิดอีกมากมายที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เรื่องราวของสงคราม แต่ข้อคิดหนึ่งที่เด่นชัดและสะท้อนมาถึงปัจจุบันได้อย่างชัดเจนที่สุดก็คงหนีไม่พ้นความอนิจจังของ มิตรภาพและความขัดแย้ง

สามก๊กทำให้เราได้เห็นว่าแม้ว่าความสามัคคีกันนั้นเป็นเรื่องเปราะบางเสียเหลือเกินเมื่อต้องเผชิญกับความหอมหวานของอำนาจ คนที่ต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กันมาก็สามารถแปรเปลี่ยนเป็นศัตรูตัวฉกาจได้อย่างง่ายดาย ตลอดเรื่องราว ประโยคแรกในบทแรกสุดของนวนิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่องนี้ไม่เคยจางหายไปแม้แต่น้อยนิด ตั้งแต่บทแรกจนถึงบทสุดท้าย

แท้จริงแล้ว วัฏจักรนี้ถือกำเนิดขึ้นมาก่อนยุคสามก๊กเสียด้วยซ้ำ และแม้ว่ายุคสามก๊กได้ผ่านพ้นไปแล้ว มันก็ยังคงเดิมอยู่ และดูเหมือนว่าบางทีมันก็เป็นเช่นนั้นมาถึงปัจจุบัน ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘อำนาจ’ หรือ ‘เงินตรา’ เป็นสิ่งที่ไม่เข้าใครออกใคร และมันถือเป็นส่วนสำคัญในการเร่งปฏิกิริยาให้วัฏจักรเหล่านี้เกิดขึ้น 

แต่หากมองอีกมุมหนึ่ง วัฏจักรนี้ก็อาจจะเป็นสันดานของมนุษย์ที่คงอยู่ตลอดมาและ (อาจจะ) ตลอดไป…


ภาพ : Getty Images

อ้างอิง
สามก๊ก ฉบับละครโทรทัศน์ (1994)
สามก๊ก ฉบับสมบูรณ์ (พ.ศ. 2487) โดย หลัว กวั้นจง, แปลโดย เจ้าพระยาพระคลัง (หน)