09 ธ.ค. 2564 | 13:34 น.
สงครามสามก๊กระหว่างวุยก๊กของโจโฉ จ๊กก๊กของเล่าปี่ และง่อก๊กของซุนกวน ถือเป็นสงครามที่กินเวลายาวนานกว่าครึ่งศตวรรษ ทั้งสามก๊กล้วนทุ่มสุดแรงเพื่อชัยชนะของฝ่ายตน แม้จะแลกมาด้วยชีวิตจำนวนมหาศาลก็ตาม แต่ท้ายที่สุด ชัยชนะกลับไม่ตกอยู่ในมือของใครเลย ผู้ที่รวบรวมแผ่นดินที่ชิงกันไปมาด้วยเลือดเนื้อและชีวิตกลับกลายเป็น ‘สุมาอี้’ (Sima Yi) ที่เป็นทั้งที่ปรึกษาวุยก๊กที่โจโฉไม่เคยไว้ใจ เป็นทั้งคู่ปรับตลอดกาลที่ขงเบ้งมิอาจเอาชนะได้ และเป็นคนที่ชิงแผ่นดินของตระกูลโจที่สืบต่อกันมากว่า 4 รุ่นโดยการรัฐประหารภายในวันเดียว จิ้งจอกเหลียวหลัง
ลูกต้องเชื่อพ่อ สุมาอี้มันไว้ใจไม่ได้ อย่าให้มันได้คุมทหาร
ตาคมเหมือนเหยี่ยว เหลียวหลังดั่งหมาป่า และเก็บงำอารมณ์ปานหินผาคือลักษณะของคนประเภทเจ้าเล่ห์เพทุบายที่สังเกตได้จากสุมาอี้ โจโฉไม่เคยไว้ใจจิ้งจอกตนนี้ เพราะสัมผัสได้ถึงการใหญ่ที่ถูกซุกซ่อนอยู่ภายในใจ โดยปกติคนประเภทนี้ล้วนหัวขาดด้วยเงื้อมมือโจโฉไปเสียก่อน แต่ไม่ใช่กับสุมาอี้ นอกจากจะเป็นคนเฉียบแหลมที่มีค่ายิ่งในกลียุคอย่างสามก๊ก สุมาอี้ก็ตระหนักดีถึงข้อเท็จจริงว่า ตนกำลังเอาชีวิตลงไปเล่นกับอะไร การทำงานกับโจโฉก็เปรียบเสมือนเอาหัวเข้าไปอยู่ในปากเสือ การป่าวประกาศหรือแม้กระทั่งการสำแดงความสามารถของตนอย่างเกินหน้าเกินตาเป็นสิ่งที่ไม่น่าพึงกระทำนัก สุมาอี้รู้ตัวดีและทำตัวเองให้ ‘Low Profile’ อยู่เสมอ ด้วยเหตุนี้จึงไม่แปลกว่าวีรกรรมของสุมาอี้จึงไม่ผุดออกมาในสมัยของโจโฉสักเท่าไร แต่กลับค่อย ๆ ผงาดในรุ่นลูกรุ่นหลานแทน เอียวสิ้ว (Yang Xiu) ก็คือหนึ่งในปราชญ์ผู้เป็นที่ปรึกษาของโจโฉที่มีปัญญาหลักแหลม แต่น่าเสียดายที่ตัวเขาเองกลับเลือกสนอง ‘อีโก้’ โดยการแสดงว่าตนมีปัญญาที่รู้เท่าทันแผนการของนายใหญ่อย่างโจโฉ แทนที่จะเก็บเงียบอย่างสุมาอี้ แม้จะมีปัญญาที่ปราดเปรื่องเหมือนกัน แต่เขาทั้งสองต่างกันตรงที่ว่า คนหนึ่งมีหัว อีกคนหนึ่ง...ไม่ รู้ฟ้าไม่สู้รู้ตน เผาทัพแฮหัวตุ้น (Xiahou Dun) ขุนพลตาเดียวแห่งวุยก๊กจนแหลกสลายที่พุ่งพกบ๋อง ยั่วยุจิวยี่ (Zhou Yu) แม่ทัพผู้ปราดเปรื่องแห่งง่อก๊กจนกระอักเลือดตายอย่างทระนง หรือแม้กระทั่งรบทางใจกับเบ้งเฮ็ก (Meng Huo) จนกบฏชาวม่านทางใต้ของเสฉวนสงบลง ผลงานเหล่านี้ล้วนเป็นของนักปราชญ์ผู้หยั่งรู้ฟ้าดินอย่าง ‘จูกัดเหลียง’ (Zhuge Liang) หรือที่เราอาจจะรู้จักกันในนาม ‘ขงเบ้ง’ แห่งจ๊กก๊ก แม้จะไร้เทียมทานในกลอุบายการรบมากเพียงใด แต่ความหวังของจ๊กก๊กในการที่จะฟื้นฟูราชวงศ์ฮั่นจากทรราชโจโฉยังคงเป็นเพียงภาพฝันที่วาดทิ้งไว้ ณ ภูเขาโงลังกั๋ง และหนึ่งในผู้ที่ยืนขวางกั้นระหว่างจ๊กก๊กกับความสำเร็จคงเป็นใครไปไม่ได้นอกเสียจากสุมาอี้ “ขงเบ้งคาดถูกว่าเราจะชิงเกเต๋ง วิเศษจริง ๆ” “ท่านพ่อเอาแต่ยกย่องข้าศึก ชิงเกเต๋งมันจะไปยากอะไร” ขงเบ้งและสุมาอี้เปรียบเสมือนคู่ปรับตลอดกาล ดั่งขาวและดำ แสงสว่างและความมืด ไฟและน้ำ แม้คู่ปรับคนก่อนของขงเบ้งอย่างจิวยี่จะมีปัญญาที่หลักแหลม แต่จิ้งจอกแห่งวุยผู้นี้ต่างออกไป สุมาอี้ตระหนักถึงความปราดเปรื่องของขงเบ้งและความสามารถที่ด้อยกว่าของตน ทั้งสองได้ประลองปัญญาผ่านการซ้อนกลศึกกันไปมาหลายคราในช่วงที่ขงเบ้งบุกวุยก๊กผ่านกิสาน แต่ชัยชนะก็ตกเป็นของมังกรหลับเสียส่วนใหญ่ หากไม่นับศึกเกเต๋ง ซึ่งมาจากการช่วงใช้คนผิดโดยขงเบ้ง ที่มอบหมายหน้าที่ปกป้องยุทธภูมิสำคัญให้ศิษย์ไฟแรงคนสนิทอย่าง ‘ม้าเจ๊ก’ (Ma Su) ผู้เอาชีวิตเป็นประกัน ขงเบ้งได้กำชับอย่างจริงจังในหลักการตั้งค่ายที่จะสามารถชนะศึก แต่ดูเหมือนว่า ‘อีโก้’ และความรู้ของม้าเจ๊กทำให้เขาทะนงตนว่าเก่งในหลักพิชัยสงครามจนบดบังสภาพความเป็นจริงและไม่ฟังคำกำชับของอาจารย์ เพราะคิดว่าวิธีของตนถูก ท้ายที่สุดจึงโดนจิ้งจอกแห่งวุยอย่างสุมาอี้ล้อมตัดเสบียงจนแตกพ่ายกลับไปจ่ายค่าเสียหายที่ประกันไว้ด้วยชีวิตของตน
ขงเบ้งทำกลลวงเราครั้งนี้รู้มิทันเลย อันตัวเรามีปัญญาน้อย ซึ่งจะทำศึกไปเบื้องหน้านั้นยากที่จะประมาณกลศึกขงเบ้งได้
หลายครั้งกับการเสียรู้ให้ขงเบ้งได้สอนสุมาอี้ว่าตัวเขาเองไม่มีความสามารถพอที่จะรู้เท่าทันขงเบ้งเลยแม้แต่น้อย สุมาอี้รู้ดีและยอมรับอย่างเข้าใจ ด้วยจุดนี้เองที่ทำให้ขงเบ้งมิอาจปราบสุมาอี้ได้อย่างศัตรูคนก่อน ๆ การจะบุกวุยก๊ก ขงเบ้งต้องล่อให้สุมาอี้ยกทัพมาสู้กับตน เพราะในสถานการณ์ที่เป็นอยู่ การเข้าตีขณะที่อีกฝ่ายยังคงตั้งรับคือชัยชนะที่เป็นไปไม่ได้ กลายเป็นเรื่องยากสำหรับขงเบ้งที่จะล่อสุมาอี้ออกจากถ้ำ หลังจากที่ทำให้จิ้งจอกตนนี้เข็ดหลาบ โดยเฉพาะหลังจากเหตุการณ์การซ้อนกลของขงเบ้ง ณ ช่องเขาเซียมก๊กที่สุมาอี้รวมถึงลูกชายทั้งสองเกือบถูกเผาทั้งเป็น แต่ดูเหมือนว่าตระกูลสุมาคืออาณัติแห่งสวรรค์ของแผ่นดินจีนอย่างแท้จริง ท่ามกลางไฟที่กำลังห้อมล้อมแผดเผาไพร่พลของกองทัพสุมาอี้ผู้หลงกล ฝนห่าใหญ่ก็ตกลงมารดสามพ่อลูกและกองทัพที่นั่งยอมรับชะตากรรมให้รอดพ้นจากกองไฟที่มาจากแรงเฮือกสุดท้ายของขงเบ้งอย่างหวุดหวิด ประสบการณ์เฉียดตายนี้เปรียบเสมือนฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้สุมาอี้ไม่กล้าประลองปัญญากับขงเบ้งอีก และยืนหยัดจะตั้งรับไม่รบ แม้จะถูกถากถาง ยั่วยุ และถึงขั้นส่งเสื้อผ้าสตรีให้สวมใส่เพื่อ (ในขนบจารีตในยุคนั้นถือว่าเป็นการเหยียดหยามว่าขี้ขลาดไม่กล้าออกรบ) แต่ดูเหมือนว่ากลอุบายของขงเบ้งที่เคยใช้สำเร็จมาโดยตลอด กลับใช้ไม่ได้ในครั้งนี้ เหล่าแม่ทัพนายกองล้วนเกรี้ยวโกรธกับการกระทำหยามเกียรติของจ๊กก๊ก แต่สุมาอี้กลับใส่ชุดเหล่านั้นอวดขุนพลทั้งหลายอย่างใจเย็น ถ้อยคำถากถางหรือการกระทำหมิ่นเกียรติไม่สามารถทำอะไรสุมาอี้ได้เลย ดูเหมือนว่าคราวนี้สุมาอี้ไม่ได้เพียงแต่ชนะขงเบ้ง แต่ยังชนะ ‘อีโก้’ ของตัวเขาเองด้วย ในเวลาต่อมาขงเบ้งก็จากไปเนื่องจากปัญหาสุขภาพ กองทัพจ๊กก๊กจึงต้องถอยร่นกลับราชธานีเซงโต๋ (เฉิงตู) ด้วยความล้มเหลว และการใหญ่ของพระเจ้าอาเล่าปี่ที่ฝากฝังไว้กับผู้หยั่งรู้ฟ้าดินจึงมิอาจบรรลุได้และร่วงหล่นอยู่ที่หน้าค่ายของสุมาอี้ บุคคลที่รู้จักประเมินตัวเองและไม่ให้ ‘อีโก้’ มีอำนาจเหนือความเป็นจริง รัฐประหารตระกูลโจ หลังจากพระจักรพรรดิโจยอย (Cao Rui) หลานชายแท้ ๆ ของโจโฉสิ้นพระชนม์ลง ‘โจฮอง’ (Cao Fang) ราชบุตรจึงขึ้นครองราชย์ต่อแม้อายุยังเยาว์ อำนาจจึงตกไปอยู่กับผู้สำเร็จราชการแทนทั้งสอง นั่นก็คือสุมาอี้ และมี ‘โจซอง’ (Cao Shuang) บุตรชายแท้ ๆ ของโจจิ๋นแม่ทัพใหญ่เป็นผู้ช่วยสำเร็จราชการ โจซองทั้งริษยาทั้งไม่ไว้วางใจสุมาอี้ที่มีบารมีและสร้างผลงานได้เด่นเหนือตน ผสานกับคำยุยงจากที่ปรึกษาว่าสุมาอี้มีใจกำเริบสูงศักดิ์ โจซองจึงประเมินว่าในภายภาคหน้าสุมาอี้จะเป็นภัยต่ออำนาจของตนอย่างแน่แท้ เขาจึงเกลี้ยกล่อมให้จักรพรรดิโจฮองเลื่อนขั้นสุมาอี้เป็นราชครู ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ไร้อำนาจทางการทหาร มีเพียงบารมีเท่านั้น เป็นระยะเวลากว่าสิบปีที่โจซองกุมอำนาจและยกตนเทียบเท่าจักรพรรดิ แถมยังเสพแต่สุราเคล้านารีไม่ว่างเว้น ไม่สนใจการบ้านการเมือง ในขณะที่สุมาอี้ซุ่มแกล้งป่วยคิดการใหญ่อย่างลับ ๆ อยู่ที่บ้านของตน ครั้งหนึ่งโจซองจะเดินทางออกนอกเมืองไปพักผ่อนล่าสัตว์ แต่ยังคงระแวงสุมาอี้ จึงส่งคนไปเยี่ยม พบว่าสุมาอี้ป่วยหนัก หูหนวกฟังไม่รู้ภาษา กินข้าวก็ไหลออกจากปาก จะตายวันตายพรุ่งไม่อาจคาดเดาได้ รู้อย่างนั้นโจซองจึงโล่งอกและพาจักรพรรดิและพี่น้องขุนนางคนสนิทออกไปเที่ยวอย่างสบายใจ
ข้าตวัดกระบี่เพียงครั้งเดียว แต่รู้ไหมว่าลับมาสิบกว่าปีแล้ว
เมื่อรู้ข่าวว่าโจซองและพรรคพวกเดินทางออกนอกเมือง สุมาอี้ที่ผมหงอกสยายดั่งคนป่วยใกล้ตายก็ลุกขึ้นสดใส พลันเรียกรวมกองกำลังทหารขุนนางคนสนิทและเริ่มสั่งการ ภายในเช้าวันนั้น คลังแสง คลังเสบียง และจวนของโจซองและพี่น้องถูกล้อมทั้งหมด ประตูเมืองถูกสั่งปิดตาย ห้ามเข้า-ออก สุมาอี้ไม่รอช้ารีบเดินทางเข้าเฝ้ากวยทายเฮาผู้เป็นเสด็จแม่ของจักรพรรดิ และแจ้งเจตจำนงว่าทำเพื่อประโยชน์สุขของจักรพรรดิ เพราะโจซองดูเหมือนจะเป็นขบถต่อแผ่นดิน และนับตั้งแต่เหตุการณ์ครั้งนั้น อำนาจของตระกูลโจที่สั่งสมมาตั้งแต่รุ่นทวดก็มลายหายและกลายเป็นหุ่นเชิดให้ตระกูลสุมาต่อไป ภายหลังจากที่สุมาอี้เสียชีวิต สุมาสู (Sima Shi) และ สุมาเจียว (Sima Zhao) ลูกชายทั้งสองที่ถูกบ่มเพาะโดยสุมาอี้อย่างมีคุณภาพก็ครองอำนาจใหญ่แห่งวุยก๊ก และต่อมาสุมาเจียวก็สามารถปราบจ๊กก๊กลงได้ ท้ายที่สุดสุมาเอี๋ยน (Sima Yan) บุตรชายของสุมาเจียวก็ปราบง่อก๊กพร้อมโค่นราชวงศ์วุยสายเลือดของโจโฉและสถาปนาราชวงศ์จิ้น ผนวกดินแดนสามก๊กเป็นหนึ่ง และจบความขัดแย้งที่ปะทุมากว่าครึ่งศตวรรษลง เป็นสิบปีที่อดใจรออย่างอดทน เป็นสิบปีที่แสร้งป่วยอย่างน่าเวทนา เป็นสิบปีที่นั่งลับดาบอย่างอุตสาหะ ครั้นถึงเวลานำกระบี่ออกจากฝัก ตวัดเพียงครั้งเดียว อำนาจของตระกูลโจก็ขาดไม่เหลือชิ้นดี ดูเหมือนว่าทุกคนล้วนมองสุมาอี้ออกทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นโจโฉ ขงเบ้ง หรือแม้กระทั่งโจซอง แต่คนที่มองสุมาอี้ได้ทะลุปรุโปร่งกว่าใครอื่นก็คือตัวสุมาอี้เอง หากไม่สามารถประเมินตัวเองได้อย่างจริงแท้ สุมาอี้อาจไม่อยู่เป็นผู้วางรากฐานให้สุมาเอี๋ยน หลานชายได้ขึ้นเถลิงอำนาจสถาปนาราชวงศ์จิ้นและรวมสามก๊กเป็นหนึ่ง แต่เขาอาจถูกกำจัดด้วยความหวาดระแวงของโจโฉ ด้วยปัญญาของขงเบ้ง หรือด้วยอำนาจในมือโจซองไปเสียก่อนอย่างแน่แท้ มีหลายคนในวรรณกรรมสามก๊กที่จบชีวิตตนเองด้วย ‘อีโก้’ แน่นอนว่าสุมาอี้ไม่ใช่หนึ่งในนั้น ตรงกันข้าม เขากลับสยบมันได้อย่างอยู่หมัด และด้วยเหตุนี้เองทำให้เขาคือผู้ชนะแห่งสามก๊กที่แท้จริง *ยึดตามบทประพันธ์ ‘สามก๊ก’ ฉบับของหลอกว้านจง เป็นหลัก โดยมีบางเนื้อหาคำพูดบางส่วนนำมาจากสามก๊กฉบับละครโทรทัศน์ ปี พ.ศ. 2537 (1994) และ ฉบับละครโทรทัศน์ ปี พ.ศ. 2553 (2010) เรื่อง: รัฐฐกรณ์ ศิริฤกษ์ ภาพ: สามก๊ก ฉบับละครโทรทัศน์ ปี พ.ศ. 2553 / Three Kingdoms (TV Series) (2010) อ้างอิง: สามก๊ก ฉบับสมบูรณ์ (พ.ศ. 2487) โดย หลัว กวั้นจง, แปลโดย เจ้าพระยาพระคลัง (หน) ปรัชญาคำคมสามก๊ก โดย สาละ บุญคง -- กรุงเทพฯ : ก้าวแรก, 2557 ด้านมืดในสามก๊ก ตอน ชำแหละหัวใจคนร้อยเล่ห์โจโฉ โดย เอก อัคคี : สำนักพิมพ์โมโนโพเอท, 2559 สามก๊ก (ละครโทรทัศน์ พ.ศ. 2537) ผลิตโดยสถานีวิทยุโทรทัศน์กลางแห่งประเทศจีน สามก๊ก (ละครโทรทัศน์ พ.ศ. 2553) ผลิตโดย Beijing Gallop Horse Film & TV Production https://www.youtube.com/watch?v=6HYGC6bLKOw https://inf.news/en/history/514347c74d31437a22e413a555f97970.html https://daydaynews.cc/en/history/87609.html