กางหลักฐาน พิสูจน์ปม ‘ควีนชาร์ล็อตต์’ (Queen Charlotte) เป็นราชินีผิวสีจริงไหม?

กางหลักฐาน พิสูจน์ปม ‘ควีนชาร์ล็อตต์’ (Queen Charlotte) เป็นราชินีผิวสีจริงไหม?

‘ควีนชาร์ล็อตต์’ (Queen Charlotte) ตัวละครใน Bridgerton ซีรีส์ดังของ Netflix ที่ถูกนำมาสร้างเป็นซีรีส์แยกของตัวเองมีผู้ชมสนใจตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ของราชินีองค์นี้ว่าเป็นราชินีผิวสีจริงไหม?

  • ควีนชาร์ล็อตต์ ในสื่อร่วมสมัย และตัวตนจริงในประวัติศาสตร์กลายเป็นที่สนใจของผู้คนภายหลังจากซีรีส์ Bridgerton ได้รับความนิยม
  • นักประวัติศาสตร์หยิบยกหลักฐานสำคัญชิ้นหนึ่งคือภาพวาดที่นำมาใช้เป็นกุญแจในการยืนยันเรื่องเชื้อชาติของควีนชาร์ล็อตต์

บทนำ

เมื่อซีรีส์ชุด ‘Bridgerton’ ใน Netflix ประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยมในการนำพาผู้ชมได้ไปท่องโลกอดีตของราชวงศ์อังกฤษ ก็ได้มีการขยายออกมาทำภาคต่อ โดยมีภาคหนึ่งซึ่งกำลังเป็นที่สนใจคือเรื่องราวของพระนางเจ้าโซฟี ชาร์ล็อทเทอ แห่งเมคเลินบวร์ค-ชเตรลิทซ์ (Sophie Charlotte von Mecklenburg-Strelitz) หรือที่เรียกกันโดยย่อว่า ‘ควีนชาร์ล็อตต์’ (Queen Charlotte) เจ้าหญิงจากเยอรมนีที่กลายมาเป็นพระราชินีแห่งราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์ เมื่อทรงเข้าพิธีอภิเษกสมรสกับพระเจ้าจอร์จที่ 3 (King George III)

ดูเผิน ๆ เหมือนจะเป็นเรื่องราวในแวดวงชนชั้นสูงของอังกฤษและยุโรปที่จะสามารถรับชมได้เหมือนอย่างซีรีส์เรื่องอื่น ๆ อีกทั้งยังมีต้นฉบับนวนิยายอย่างเรื่อง ‘Queen Charlotte: A Bridgerton Story’ (ฉบับแปลภาษาไทย: ‘ควีนชาร์ล็อตต์: เรื่องเล่าราชินีบริดเจอร์ตัน’) ที่รู้จักแพร่หลายมาได้ระยะหนึ่งแล้ว ทว่าฉบับซีรีส์ของช่อง Netflix กำกับการแสดงโดย Tom Verica เขียนบทโดย Julia Quinn และ Shonda Rhimes กลับเลือกที่จะนำเสนอภาพและเรื่องราวเกี่ยวกับควีนชาร์ล็อตต์ในฐานะ ‘ราชินีผิวสี’ (The Black Queen) ต่างจากฉบับนวนิยายที่ตัวเอกเป็นคนผิวขาว     

การหักดิบต้นฉบับนวนิยายครั้งนี้ไม่เพียงผู้กำกับและผู้เขียนบทไม่ถูกตำหนิอย่างรุนแรง กลับมีกระแสตอบรับไปในทางบวกเป็นอย่างมาก เพราะมีงานประวัติศาสตร์นิพนธ์จำนวนหนึ่งรองรับ ทำให้ฉบับซีรีส์ได้รับคะแนนในด้านความสมจริงไปยิ่งกว่า ‘นวนิยายอิงประวัติศาสตร์’

ทว่าก็ใช่ว่า ‘ซีรีส์อิงประวัติศาสตร์’ ฉบับนี้จะไม่มีปัญหา เพราะในหมู่นักประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องเองประเด็นว่า ควีนชาร์ล็อตต์เป็นชาวผิวสี (People of Color) จริงหรือไม่ ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่

ชาร์ล็อตต์ (Charlotte): เป็นใคร มาจากไหน ทำไมได้เป็นราชินีอังกฤษ?

ตามข้อมูลที่เป็นทางการ ซึ่งสารานุกรมเสรี (Wikipedia) ได้นำเสนอเอาไว้ ทำให้ทราบอย่างคร่าว ๆ ว่า พระนางโซฟี ชาร์ล็อทเทอ แห่งเมคเลินบวร์ค-ชเตรลิทซ์ (เยอรมัน: Sophie Charlotte von Mecklenburg-Strelitz) เป็นเจ้าหญิงเยอรมันจากแถบเมคเลินบวร์ค-ชเตรลิทซ์ พระนางเป็นคู่อภิเษกสมรสในสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร โดยถูกส่งมาเข้าพิธีอภิเษกสมรสเมื่อค.ศ. 1761 ขณะนั้นพระนางยังมีพระชนมายุเพียง 17 พรรษา  

การอภิเษกสมรสกับพระเจ้าจอร์จที่ 3 ทำให้พระนางทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น ‘สมเด็จพระราชินีชาร์ล็อตแห่งบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์’ (Queen Charlotte of the Great Britain and Ireland) ต่อมา เมื่อมีการตราพระราชบัญญัติสหภาพ ค.ศ.1800 พระนางทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น ‘สมเด็จพระราชินีแห่งสหราชอาณาจักร’ (Queen of the United Kingdom)  

นอกจากนี้ พระนางยังมีพระอิสริยยศในจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์เป็น ‘สมเด็จพระราชินีแห่งราชอาณาจักรฮันโนเฟอร์’ (Queen of the Hanover Kingdom) หลังพระเจ้าจอร์จที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าผู้ครองฮันโนเฟอร์ทรงขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งฮันโนเฟอร์ด้วยอีกแห่งหนึ่ง เมื่อค.ศ.1814

พระองค์ทรงมีความสนพระทัยดนตรี ทรงให้การสนับสนุนคีตกวีอย่างโยฮันน์ เซบาสเตียน บาค (Johann Sebastian Bach) เป็นอย่างดี นอกจากนั้น พระองค์ยังได้อุปถัมภ์โวล์ฟกัง อมาเดอุส โมสาร์ท (Wolfgang Amadeus Mozart) ขณะที่เขามีอายุได้ 8 ขวบอีกด้วย พระองค์ยังได้สนพระทัยเกี่ยวกับพฤกษศาสตร์ จนเมื่อมีการค้นพบดอกไม้ชนิดใหม่ ดอกไม้ชนิดนี้ซึ่งมีลักษณะนกสยายปีกก็ได้มีชื่อเรียกในเวลาต่อมาว่า ‘ปักษาสวรรค์’ (Bird of Paradise)

 

จาก ‘เมแกน’ (Meghan) ย้อนถึง ‘ชาร์ล็อตต์’ (Charlotte) การเมืองสัญลักษณ์ต่อต้านการเหยียดสีผิว

ก่อนหน้าซีรีส์ชุด Bridgerton ของช่อง Netflix เรื่องของควีนชาร์ล็อตต์ เคยเป็นที่พูดถึงอยู่พอสมควร แต่ไม่ใช่ในสังคมอังกฤษ เป็นที่สหรัฐอเมริกา ประเทศซึ่งมีลัทธิเหยียดสีผิว (Racism) ติดอันดับต้นของโลก 

ควีนชาร์ล็อตต์เป็นบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ที่กลุ่มขบวนการต่อต้านการเหยียดสีผิวใช้เป็นสัญลักษณ์ต่อสู้และเคลื่อนไหวเรียกร้องทางการเมือง ก่อนหน้าที่จอร์จ ฟลอยด์ (George Floyd) กับประโยค “I can’t breathe” จะทรงพลังและมีบทบาทแทนที่

กระแสความนิยมต่อควีนชาร์ล็อตต์ ผลิบานอยู่ในแถบรัฐทางใต้ โดยเฉพาะนอร์ธแคโรไลน่า เมื่อออกจากสนามบินรัฐนอร์ธแคโรไลน่า นักเดินทางทุกคนจะต้องได้เห็นประติมากรรมอนุสาวรีย์รูปควีนชาร์ล็อตต์ยืนตระหง่านเด่นคู่กับสุนัขขนปุยตัวโปรดของพระนาง 

แน่นอนว่าเมื่อพระนางปรากฏรูปอนุสาวรีย์ ภาพวาดเก่า ตลอดจนเรื่องราวควบคู่กับ ‘น้องหมา’ ก็เป็นเหตุให้เรื่องของพระนางเกิดเป็นที่นิยมในหมู่ประชาชนผู้รักหมาในสหรัฐอเมริกาไปด้วย แต่ไม่มากเมื่อเทียบกับที่เป็นกระแสต่อต้านการเหยียดสีผิว 

แม้ว่าปัญญาชน นักการเมืองเสรีนิยม และกลุ่มต่อต้านกษัตริย์นิยมส่วนหนึ่งจะแสดงความวิตกกังวล  เพราะพระนางเป็นมเหสีของพระเจ้าจอร์จที่ 3 กษัตริย์อังกฤษผู้เป็นคู่ปรปักษ์กับการปฏิวัติ ค.ศ.1776 พระนามของพระองค์ก็เคยปรากฏควบคู่กับนามพระสวามีของพระองค์ คล้ายกับที่พระนางมารี อองตัวเน็ต (Marie Antoinette) ปรากฏคู่พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 

แต่เมื่อมีนักประวัติศาสตร์สหรัฐเชื้อสายแอฟริกัน เสนอทฤษฎีว่า พระนางชาร์ล็อตต์เป็นชาวผิวสี สถานภาพของพระนางก็เปลี่ยนไป เมื่อมีการสร้างประติมากรรมรูปพระนางชาร์ล็อตต์ที่รัฐนอร์ธแคโรไลน่า แทนที่จะปรากฏคู่กับพระเจ้าจอร์จที่ 3 ก็มาปรากฏคู่กับสุนัขแสนรักของพระนาง

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทำให้เรื่องของควีนชาร์ล็อตต์ถูกรื้อฟื้นและประดิษฐ์ใหม่ขึ้นอย่างมากนั้นกลับไม่ใช่ซีรีส์ หากแต่เพราะหญิงสาวที่ได้เข้าพิธีอภิเษกสมรสเป็นพระชายาของเจ้าชายแฮร์รี่ ดยุกแห่งซัสเซกซ์ (Prince Harry หรือ เจ้าชายเฮนรี ชาลส์ อัลเบิร์ต เดวิด (Prince Henry Charles Albert David) Duke of Sussex) นั้นคือ เรเชล เมแกน มาร์เคิล (Rachel Meghan Markle) ซึ่งเป็นสาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน 

การที่มีหญิงสาวสามัญชนจากสหรัฐอเมริกา ก้าวเข้าสู่แวดวงชนชั้นสูงของอังกฤษ อาจดูเป็นของแปลกใหม่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในรอบ 2 ศตวรรษที่ผ่านมา ทว่าในเรื่องของควีนชาร์ล็อตต์ก็ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงหรือนำเสนอผ่านสื่อต่าง ๆ ว่า เมแกนไม่ใช่หญิงชาวผิวสีคนแรกที่ได้เข้าสู่พระราชวงศ์อังกฤษ เพราะเจ้าหญิงชาร์ล็อตต์ก็เคยมีชีวิตโลดแล่นและมีบทบาทมากอยู่ในพระราชวงศ์อังกฤษมาก่อนในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19

นัยของการรื้อฟื้นควีนชาร์ล็อตต์ในช่วงเดียวกับที่เมแกนได้เปลี่ยนสถานภาพจากสามัญชนไปเป็นชนชั้นสูงในสังคมผู้ดีอังกฤษนั้น ก็คือการสนับสนุนและสร้างความชอบธรรมแก่เมแกน และในขณะเดียวกันย่อมเป็นความชอบธรรมต่อชนผิวสีไปด้วย ในแง่นี้ประวัติศาสตร์จึงถูกใช้อย่างตัดตอน เสมือนหนึ่งว่าเรื่องของความเป็นคนผิวสีของควีนชาร์ล็อตต์นั้นเป็นเรื่องจริงอย่างสัมบูรณ์ไปแล้ว ทั้งที่ในทางประวัติศาสตร์เรื่องนี้ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่    

เรื่องนี้ยิ่งทวีความสำคัญและเป็นที่พูดถึงมากขึ้นไปอีก เมื่อเมแกนซึ่งอดีตเคยเป็นดารานักแสดงและนักสิทธิมนุษยชน แสดงตัวว่าเป็นตัวแทนเชื่อมต่อสายสัมพันธ์ระหว่างราชวงศ์อังกฤษกับคนผิวสี ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ราชวงศ์อังกฤษไม่ค่อยจะได้คะแนนนิยมจากพวกเขาเท่าไหร่ การที่เมแกนเป็นหญิงชาวผิวสีในหมู่ราชวงศ์คนขาวชาวอังกฤษ ปกติก็ดูเป็นเรื่องยุ่งยากซับซ้อนมากพออยู่แล้ว การเข้าไปข้องเกี่ยวกับการเมืองในเชิงสัญลักษณ์ระหว่างราชวงศ์อังกฤษกับคนผิวสี ยิ่งเป็นเรื่องยุ่งยากซับซ้อนมากขึ้นไปอีก 

ตามมาด้วยเรื่องอื่น ๆ ที่เข้ามาพัวพันจนยุ่งเหยิงชีวิตไปหมด ชีวิตคู่ของทั้งสอง (เจ้าชายแฮร์รีกับเมแกน) ไม่ใช่เรื่องของคนสองคนที่ตัดสินใจร่วมชีวิตด้วยกันอีกต่อไป กลายเป็นเรื่องสาธารณะที่ผู้คนติดตามใคร่รู้ใคร่เห็นจนเหมือนอยู่ในการแสดงละครตลอดเวลา จึงไม่เป็นที่แปลกใจแก่เหล่าผู้ติดตามเรื่องนี้ เมื่อมีข่าวว่าทั้งคู่ได้ตัดสินใจลาออกจากการเป็นสมาชิกของพระราชวงศ์ในที่สุด    

ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ & ทฤษฎีประวัติศาสตร์ของวัลเดส (Valdes's Historical Theory)   

เดิมทีการรับรู้เกี่ยวกับควีนชาร์ล็อตต์ที่มาพร้อมกับความเป็นควีนของอังกฤษยุคพระเจ้าจอร์จที่ 3 ช่วงเดียวกับที่มีการปฏิวัติอเมริกา ค.ศ.1776 ก็เป็นความรับรู้ในแง่ที่ว่าพระนางเป็นคนผิวขาว แต่สีผิวของพระนางก็มาเกิดเป็นประเด็นเมื่อมีนักประวัติศาสตร์อเมริกันเชื้อสายแอฟริกันท่านหนึ่ง นามว่า ‘มาริโอ้ เดอ วัลเดส วาย โคคอม’ (Mario de Valdes y Cocom) ได้เสนอข้อค้นพบจากการศึกษาของตนเมื่อ ค.ศ.1967 ว่าพระนางชาร์ล็อตต์เป็นชาวผิวสี เพราะเป็นเชื้อสายราชวงศ์โปรตุเกสที่มาครองเยอรมนี ราชวงศ์นี้เป็นลูกผสม

ราชวงศ์นี้สืบมาจากพระนางมาร์การิต้า เด คาสโตร เอ ซูซา (Margarita de Castro e Souza) ขุนนางหญิงชาวโปรตุเกสผิวสีที่ถูกส่งมาเยอรมนีเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 15 โดยพระนางสืบเชื้อสายมาจากโอรสลูกผสมที่เกิดจากพระนางโอรูอานา (Ouruana) พระสนมเอกเชื้อสายชาวมัวร์จากแอฟริกาของพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 3 แห่งโปรตุเกส (Afonso III of Portugal)  

ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ทายาทผู้สืบสายของราชวงศ์นี้คนหนึ่งก็คือ เจ้าหญิงชาร์ล็อตต์แห่งเมคเลนบูร์ก-สเตรลิทซ์ เป็นธิดาคนที่ 8 และคนสุดท้องของดยุกชาร์ลส์ หลุยส์ เฟรเดอริก และดัชเชสอลิซาเบธ อัลแบร์ทีน

เมื่ออายุได้ 17 ปี ชาร์ล็อตต์เดินทางจากเยอรมันนีมาเข้าพิธีอภิเษกสมรสกับพระเจ้าจอร์จที่ 3 เชื่อกันว่าพระมารดาของพระเจ้าจอร์จที่ 3 ที่มีชื่อเต็มว่า ‘เจ้าหญิงออกัสตาแห่งแซ็กซ์-โกทา’ เป็นผู้เลือกเฟ้นหาเจ้าสาวมาให้แก่พระโอรสด้วยพระองค์เอง โดยมีพระเชษฐาของเจ้าหญิงชาร์ล็อตต์ ซึ่งเป็นดยุคในขณะนั้นเป็นคนเซ็นทะเบียนสมรสยกชาร์ล็อตต์ให้แก่ราชวงศ์อังกฤษ 

ข้อค้นพบของวัลเดส แน่นอนว่าไม่เป็นที่สบอารมณ์แก่เหล่านักประวัติศาสตร์ผิวขาว มีการตอบโต้ออกมามากมาย เพื่อพิสูจน์และโจมตีงานของวัลเดสว่าไม่เป็นที่น่าเชื่อถือ และเรียกขานกึ่ง ๆ เสียดสีงานดังกล่าวนี้ของวัลเดสว่า เป็นเพียง ‘ทฤษฎีประวัติศาสตร์ของวัลเดส’ (Valdes’s historical theory) 

แม้ว่างานของวัลเดสจะประสบความสำเร็จอย่างมากในการเสนอข้อมูลหลักฐานอย่างน่าเชื่อถือว่าชาร์ล็อตต์สืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์กษัตริย์ของยุโรปที่เป็นลูกผสมคนผิวสีจากแอฟริกาโดยตรง แต่นักประวัติศาสตร์ผิวขาวก็ยืนกรานว่า ช่วงเวลาจากยุคที่พระนางชาร์ล็อตต์เกิดกับยุคสมัยของพระนางโอรูอานานั้นห่างกันกว่า 2 ศตวรรษ เป็นเวลาที่ยาวนานเกินไปจนน่าเชื่อว่าสีผิวของพระนางชาร์ล็อตต์คงจะถูกผสมกลมกลืนจนกลายเป็นคนผิวขาวไปแล้ว 

คงจะไม่เป็นปัญหาถ้าสมัยควีนชาร์ล็อตต์มีเทคโนโลยีการถ่ายภาพ แต่เมื่อยังไม่มี อย่างไรเสีย วัลเดส ก็ตอบโต้นักประวัติศาสตร์ผิวขาวที่พยายามจะด้อยค่าผลงานศึกษาของเขาโดยการใช้หลักฐานจากภาพวาดเสมือนจริง ซึ่งวาดโดยจิตรกรที่มีชีวิตอยู่ร่วมสมัยและทันเห็นพระนางชาร์ล็อตต์ตัวจริงเป็น ๆ       

 

‘ราชินีผิวสี’ (Black Queen) จากหลักฐานภาพวาดร่วมสมัย

วัลเดสได้ศึกษาภาพวาดควีนชาร์ล็อตต์หลายชิ้น แล้วได้เลือกใช้ภาพของอัลลัน รัมเซย์ (Allan Ramsay) จิตรกรชาวสก็อต วาดเมื่อ ค.ศ.1762 เป็นหลักฐานสำหรับการวิเคราะห์ของเขา ปัจจุบัน ภาพประวัติศาสตร์ที่วัลเดส เคยใช้นี้ได้จัดเก็บรักษาและแสดงอยู่ที่ The Mint Museum ในรัฐนอร์ธแคโรไลนา สหรัฐอเมริกา 

วัลเดสเสนอว่า สีผิวของควีนชาร์ล็อตต์ที่รัมเซย์วาดนั้นเข้มกว่าภาพวาดของเชื้อพระวงศ์องค์อื่นในสมัยนั้น ทั้งที่วาดโดยรัมเซย์เองและคนอื่นวาด โดยที่ปกติจิตรกรสมัยนั้นมักจะนิยมวาดสีผิวคนในราชวงศ์ให้ขาวกว่าองค์จริงกันอยู่แล้ว แต่สีผิวของควีนชาร์ล็อตต์ก็ยังเข้มกว่าองค์อื่นอีกอยู่ดี แถมลักษณะรูปร่างของพระองค์ยังตัวเล็กและโครงหน้า ปีกจมูก ริมฝีปาก ก็ล้วนแต่บ่งบอกว่าเป็นลูกครึ่งผิวสี 

วัลเดสยังได้ศึกษาชีวประวัติของรัมเซย์อย่างละเอียด นอกจากพบว่าเขาเป็นจิตรกรมีแนวคิดการวาดภาพเสมือนจริง (portrait) ที่ค่อนข้างใกล้เคียงกับแนวคิดสัจนิยม (Realism) ที่แพร่หลายภายหลังในคริสต์ศตวรรษที่ 19 แล้ว วัลเดสยังพบว่ารัมเซย์เป็นนักต่อต้านการค้าทาสที่กระตือรือร้นอีกด้วย ดังนั้น เขาจึงแตกต่างจากจิตรกรคนอื่น ๆ ที่มักจะวาดภาพของควีนชาร์ล็อตต์ให้เป็นหญิงผิวขาว รัมเซย์ไม่มีอคติจนวาดภาพออกมาบดบังความเป็นคนผิวสีของควีนชาร์ล็อตต์ 

คลิกดูภาพควีนชาร์ล็อตต์ วาดโดยรัมเซย์ที่นี่

แต่ด้วยความที่วัลเดสเสนอชีวประวัติของรัมเซย์ว่าเป็นนักต่อต้านการค้าทาสคนหนึ่งเช่นนั้น ก็ถูกนักประวัติศาสตร์อีกฝ่ายเอาไปอ้างได้ต่อว่า รัมเซย์จะต้องมีอคติจึงวาดภาพควีนออกมาเป็นคนผิวสี ไม่ได้วาดเหมือนจริง แต่ก็เป็นข้อโต้แย้งที่จัดว่าอ่อนกว่าข้อเสนออย่างมาก อีกทั้งนักประวัติศาสตร์ผิวขาวที่เห็นต่างจากวัลเดสก็ยังไม่เคยมีใครเสนอข้อมูลหลักฐานอะไรใหม่ไปกว่าที่วัลเดสเคยเสนอ เมื่อผู้อ่านได้พิจารณาข้อมูลหลักฐานจากทั้งสองฝ่ายแล้ว จึงมีแนวโน้มที่จะเห็นด้วยกับวัลเดส 

ขณะที่เรื่องควีนชาร์ล็อตต์ฉบับนวนิยายเสนอภาพพระนางเป็นคนผิวขาวตามนักประวัติศาสตร์ผิวขาวที่โต้วัลเดส แต่ฉบับซีรีส์ของช่อง Netflix ซึ่งกำลังฉายอยู่นี้อิงตามข้อเสนอและหลักฐานของวัลเดส 

แม้ว่าการใช้หลักฐานจากภาพวาด จะยังมีปัญหาอยู่มากสำหรับการวิเคราะห์และยืนยันข้อสมมติฐานของวัลเดส แต่นักประวัติศาสตร์รุ่นหลังมานี้ หลายคนก็แสดงความเห็นด้วยกับวัลเดส หนึ่งในนั้นคือ เคท วิลเลียมส์ (Kate Williams) นักประวัติศาสตร์อเมริกันชื่อดังในยุคปัจจุบัน 

วิลเลียมส์ได้อธิบายว่า การที่ควีนส์ชาร์ล็อตต์เป็นคนผิวสี มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่นักประวัติศาสตร์ในรุ่นปัจจุบันจะละเลยไปไม่ได้ เพราะเป็นประเด็นปัญหาที่จะนำไปสู่การที่ต้องอธิบายประวัติศาสตร์ยุโรปและอเมริกาใหม่ทั้งหมด เพราะควีนชาร์ล็อตต์เป็นพระอัยกีของควีนวิกตอเรีย เป็นควีนของอังกฤษยุคปฏิวัติอเมริกา ค.ศ.1776  

พระนางยังเป็นพระสหายสนิทกับพระนางมารี อ็องตัวเน็ต ของฝรั่งเศสยุคพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 แม้ว่าทั้งสองจะไม่เคยพบเจอกันมาก่อน แต่ได้ติดต่อปรึกษาหารือกันในเรื่องต่าง ๆ เป็นเวลาหลายปีก่อนที่จะเกิดการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ.1789 และในปีที่เกิดการปฏิวัติฝรั่งเศสนั้น ควีนชาร์ล็อตต์ก็กำลังจัดเตรียมพระราชวังบางแห่งเพื่อให้เป็นที่ประทับแก่พระนางมารี อ็องตัวเน็ต กับพระสวามีที่กำลังจะเสด็จลี้ภัยไปอังกฤษ แต่ถูกพวกหัวรุนแรงจับกุมพระองค์ไปปลงพระชนม์เสียก่อน     

 

‘ราชินีผิวสี’ (Black Queen) กับเบื้องหลังบัลลังก์ของกษัตริย์วิปลาส (Madness king George III) 

ปกติงานของวิลเลียมส์มักจะให้ความสำคัญกับบทบาทสตรีอยู่แล้ว ในส่วนของควีนชาร์ล็อตต์ เขายังได้เสนอว่า ที่เรื่องสีผิวของพระนางมีความสำคัญ ก็เพราะจะเป็นประเด็นเกี่ยวกับโลกทัศน์และวัฒนธรรมของพระนาง หลายอย่างอาจไม่เป็นอย่างที่เคยคิดกัน การที่พระเจ้าจอร์จที่ 3 ในบั้นปลายทรงมีอาการพระสติวิปลาส มีอาการประชวรเป็นโรคทางประสาทจนได้รับฉายาว่า ‘กษัตริย์วิปลาส’ (Madness king) พระอาการประชวรของพระเจ้าจอร์จที่ 3 เป็นปัญหาที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์การแพทย์สมัยนั้นงงงวยเพราะไม่ทราบสาเหตุและไม่ทราบวิธีถวายการรักษา

แต่ในปัจจุบันเชื่อกันว่าพระอาการต่าง ๆ ตรงกับอาการของโรคพอร์ฟิเรีย (Porphyria) ซึ่งเป็นโรคที่อาจจะเกิดจากการที่ร่างกายได้รับสารพิษ การศึกษาเมื่อไม่นานมานี้พบว่ามีสารพิษระดับสูงในเส้นพระเกศาของพระเจ้าจอร์จที่ 3

นักประวัติศาสตร์หลายคนลงความเห็นสรุปว่า พระอาการทางประสาทของพระเจ้าจอร์จที่ 3 เป็นผลจากการที่ทรงเศร้าโศกเสียพระทัยกับการที่อเมริกาประกาศอิสรภาพ แต่ผู้ศึกษาเรื่องของควีนชาร์ล็อตต์จะทราบดีว่าพระเจ้าจอร์จที่ 3 มีพระอาการทางประสาทมาตั้งนานก่อนหน้าที่จะขึ้นครองราชย์แล้ว เดิมมีอาการเป็นครั้งคราวก่อนที่บั้นปลายจะมีอาการถาวร

เมื่อพระอาการทรุดลงเป็นครั้งสุดท้ายจนทรงไม่สามารถปกครองประเทศได้เมื่อปี ค.ศ. 1810 เจ้าชายจอร์จ เจ้าชายแห่งเวลส์ จึงทรงปกครองราชอาณาจักรในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เมื่อพระเจ้าจอร์จที่ 3 สวรรคต เจ้าชายแห่งเวลส์จึงขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าจอร์จที่ 4 แห่งสหราชอาณาจักร

แต่เรื่องที่พระเจ้าจอร์จที่ 3 มีพระอาการสติวิปลาสฟั่นเฟือนนั้นก็เป็นที่รู้กันในหมู่เชื้อพระวงศ์ เดิมทีพระมารดาซึ่งเป็นผู้จัดหาสตรีชั้นสูงจากยุโรปมาอภิเษกสมรสด้วยนั้นก็หวังว่าพระอาการของพระโอรสจะดีขึ้น และคู่ครองที่เฉลียวฉลาดและสมบูรณ์พร้อมจะช่วยพระเจ้าจอร์จที่ 3 ประคับประคองราชบัลลังก์ได้ ซึ่งควีนชาร์ล็อตต์ก็ทำได้ดี นั่นหมายความว่าเบื้องหลังเหตุการณ์สำคัญที่จักรวรรดิอังกฤษมีส่วนพัวพันเมื่อปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 นั้น ตัวจริงในการบริหารจัดการก็คือควีนชาร์ล็อตต์นั่นเอง 

 

บทสรุปและส่งท้าย: ประวัติศาสตร์กับซีรีส์ (หรือว่าชาตินี้เราจะรักกันไม่ได้?)   

ถึงแม้ว่าจะยืนอยู่บนฐานของงานประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญของนักประวัติศาสตร์แอฟริกัน-อเมริกัน อย่างวัลเดส แต่ซีรีส์ไม่เท่ากับประวัติศาสตร์ หรือหากจะเป็นประวัติศาสตร์ก็เป็นประวัติศาสตร์ของซีรีส์เป็นการเฉพาะ ไม่ใช่ประวัติศาสตร์โดยตัวมันเอง 

การมีควีนเป็นคนผิวสีจะช่วยขจัดลัทธิเหยียดสีผิวที่แม้ปัจจุบันสังคมอเมริกันก็แก้ไขเรื่องนี้ไม่ตก ดังที่คาดหวังจริงหรือ? ในเมื่อท้ายสุดแล้วปัญหาอาจไม่ได้อยู่ที่สีผิว หรือพูดง่าย ๆ คือสีผิวที่แตกต่างกันของมนุษย์ไม่ใช่สิ่งที่เป็นปัญหาโดยตัวมันเอง 

ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนผิวสีกับคนขาว จะสามารถแก้ไขได้โดยการชี้ให้เห็นว่าคนผิวสีก็เคยเป็นหรือเคยทำได้ในทุกสิ่งอย่างที่คนขาวทำได้ แค่นั้นหรือ?    

ความเท่าเทียมกันไม่ได้เกิดจากการที่คนทุกคนทำได้เหมือนกันหมด นั่นเป็นไปได้เพียงแค่ทำให้การเหยียดสีผิวทุเลาเบาบางลง แต่ไม่ได้หมายความว่าจะหมดสิ้นไป 

ตรงข้าม การมีคนผิวสีไปอยู่ในตำแหน่งที่ควบคุมบงการชีวิตผู้อื่น บางครั้งผลก็ไม่ได้แตกต่างจากที่คนขาวเคยทำหรือเป็นมาก่อน ตราบใดที่คนผิวสียังคงอยู่ในวัฒนธรรมวิธีคิดของระบบที่คนขาวเป็นใหญ่ มันไม่ใช่เรื่องสีผิว หากแต่เป็นเรื่องการครอบงำทางสังคมวัฒนธรรม 

การมีภาพคนผิวสีแสดงเป็นตัวละครนำเป็นชนชั้นสูงที่ทหารผิวขาวแต่งกายเต็มยศต้องโค้งศีรษะให้ อาจเป็นภาพแปลกตาไม่พบในซีรีส์หรือหนังละครเรื่องใด บางครั้งก็เลยดูเป็นเรื่องตลกเสียดสีไป

ท้ายสุด สิ่งนี้จึงเป็นข้อจำกัดอย่างหนึ่งของการถ่ายทอดประวัติศาสตร์ในรูปแบบซีรีส์รวมทั้งสื่อบันเทิงอื่น ๆ การเปลี่ยนตัวละครยังไม่อาจเท่ากับเปลี่ยนโครงเรื่องหรือระบบทั้งหมดแต่อย่างใด     

 

เรื่อง: กำพล จำปาพันธ์

ภาพ: Netflix

อ้างอิง:

Anonymous. ‘Information About Royal Pomeranians and Queen Victoria Pomeranian Dogs’ in https://pomeranian.org (Searched: May 21, 2023).

Brown, DeNeen L. ‘Britain’s black queen: Will Meghan Markle really be the first mixed-race royal?’ in Washington Post (Published: November 27, 2017).

Jean, Philippe McKenzie. ‘Bridgerton’s Queen Charlotte Was a Real Royal’ in Oprah Daily (Published: May 5, 2023).

Jeffries, Stuart. ‘Was this Britain's first black queen?’ in The Guardian (Published: Mar 21, 2009).

Murphy, Victoria. ‘Prince Harry and Meghan Markle Pay Back all the Public Money Spent on Renovating Frogmore Cottage’ in  Oprah Daily (Published: Sep 8, 2020).

Roberts, Jane. ‘George III and Queen Charlotte : Patronage, Collecting and Court Taste’ in RCT (Searched: May 21, 2023).

Wikipedia. ‘Charlotte of Mecklenburg-Strelitz’ in wikipedia.org (Searched: May 21, 2023).

Wikipedia. ‘George III’ in wikipedia.org (Searched: May 21, 2023).