เจาะลึก ‘ช้างสยาม’ เดินทางไปต่างแดน จากสมัยอยุธยา ถึงรัตนโกสินทร์

เจาะลึก ‘ช้างสยาม’ เดินทางไปต่างแดน จากสมัยอยุธยา ถึงรัตนโกสินทร์

เจาะลึกเรื่องราวของ ‘ช้างสยาม’ ตั้งแต่การถูกส่งเป็นเครื่องราชบรรณาการ ก่อนจะกลายเป็นสินค้าส่งออก เครื่องมือทางการเมืองทั้งในประเทศและต่างประเทศ กระทั่งถึงบทบาททูตสันถวไมตรี ที่กำลังถูกตั้งคำถามว่า เป็นการละเมิดสิทธิสัตว์หรือไม่?

  • การใช้ช้างเป็น ‘ทูตสันถวไมตรี’ ได้รื้อฟื้นขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 4 หลังจากสูญหายไปนานตั้งแต่สิ้นรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์เป็นต้นมา  
  • ‘ช้างบรรณาการ’ ที่รัชกาลที่ 4 ส่งไปฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ. 2403 กลับต้องพบชะตากรรมถูกนายทหารที่ปารีสสังหารในอีก 10 ปีต่อมา เพื่อนำเอาเนื้อไปปรุงอาหารในช่วงที่มีวิกฤตเศรษฐกิจ  

ผู้คนในสังคมยุคปัจจุบันอาจจะงุนงงสงสัยว่า ช้าง ‘พลายศักดิ์สุรินทร์’ เดินทางไปศรีลังกาทำไม และเหตุใดถึงต้องจัดหาเครื่องบินไปรับกลับจนกลายเป็นข่าวใหญ่ครึกโครม ตามมาด้วยเสียงตำหนิติเตียนต่าง ๆ นานากรณีที่พ่อพลายของเราได้รับการดูแลไม่ค่อยดีเท่าไรนัก เมื่อครั้งอยู่ศรีลังกา

นอกจากพลายศักดิ์สุรินทร์ที่ศรีลังกา รัฐบาลไทยยังเคยส่งช้างไปอยู่ต่างประเทศในฐานะ ‘ทูตสันถวไมตรี’ อีกหลายเชือก บางเชือกล้มไปแล้ว เช่น ‘ฮานาโกะ’ ที่ถูกส่งไปปลอบใจเด็ก ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากสงครามโลกที่ประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น  

22 ปีที่พลายศักดิ์สุรินทร์ไปอยู่ศรีลังกา อาจเป็นระยะเวลาที่ดูยาวนานสำหรับยุคปัจจุบัน ทว่ามิได้ยาวนานเท่าไรเลยเมื่อเทียบกับประวัติศาสตร์อันยาวนานของการส่งช้างสยามไปต่างแดน

บทความนี้จะสำรวจเรื่องราวการส่งช้างออกไปต่างประเทศ ตามที่ปรากฏในเอกสารหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ก่อนที่จะพิจารณาว่าถึงคราวที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงแล้วหรือยัง สำหรับประเพณีโบราณที่กลายมาเป็นการทรมานสัตว์ดังในปัจจุบัน  

เจาะลึก ‘ช้างสยาม’ เดินทางไปต่างแดน จากสมัยอยุธยา ถึงรัตนโกสินทร์

แรกเริ่มสยามส่งช้างไปจีน 

‘หมิงสือลู่’ หรือ ‘จดหมายเหตุจีนราชวงศ์หมิง’ เป็นเอกสารที่กล่าวถึงการส่งช้างไปต่างแดนของสยาม น่าจะเป็นครั้งแรก โดยส่งไปจีนเมื่อ พ.ศ. 1920 ในรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 (ขุนหลวงพะงั่ว) เป็นระยะเวลาห่างจากปีสถาปนากรุงศรีอยุธยาเพียง 27 ปี  อาจมีการส่งไปก่อนหน้านั้นแล้วบ้าง แต่เมื่อไม่ปรากฏในเอกสารหลักฐานอื่น จากหลักฐาน ณ ขณะที่มีอยู่ในปัจจุบัน จึงต้องลงมติว่า พ.ศ. 1920 เป็นปีแรกที่สยามส่งช้างไปต่างแดนเป็นครั้งแรกไปพลาง ๆ ก่อน จนกว่าจะมีหลักฐานอื่น  

ใน ‘หมิงสือลู่’ พบว่าในบรรดารายการเครื่องราชบรรณาการที่สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 ทรงส่งไปเมืองจีนนั้นมีของอยู่ 4 รายการด้วยกันคือ ช้าง, งาช้าง, พริกไทย และไม้ฝาง จะเห็นได้ว่าในของ 4 อย่างนี้มีช้างและของเกี่ยวกับช้างอยู่ถึง 2 รายการ อีกทั้งช้างยังปรากฏเป็นลำดับแรกในรายการเครื่องราชบรรณาการที่ส่งไปจีนในครั้งนั้นอีกด้วย สะท้อนความสำคัญของช้างในกระบวนการส่งเครื่องราชบรรณาการไปจีน ซึ่งสยามปฏิบัติกันสืบเรื่อยมา เพิ่งจะยกเลิกไปในสมัยรัชกาลที่ 4

ไม่ปรากฏในหลักฐานว่าสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 ทรงส่งช้างไปเมืองจีนเป็นจำนวนกี่เชือก แต่ในอีก 10 ปีต่อมา คือใน พ.ศ. 1930 ซึ่งอยุธยายังคงอยู่ในช่วงรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 นั้น ปรากฏว่าอาณาจักรเจินล่า (หรือ ‘เจนละ’ หมายถึงกัมพูชา) ซึ่งเป็นคู่แข่งของอยุธยา ได้ส่งช้างไปจีนเป็นจำนวนกว่า 59 เชือก 

สะท้อนว่าชาวขะแมร์มีความชำนาญและศักยภาพในการจับช้างมากกว่าชาวเสียมหรือสยาม อาจเป็นเพราะช่วงนั้นเขตที่ราบสูงโคราช - เขาพนมดงเร็ก (ดงรัก) ยังขึ้นกับกัมพูชา เลยได้ทรัพยากรช้างจากชาวกูยมาก สภาพการณ์นี้เปลี่ยนไปเมื่อสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) นำทัพไปพิชิตอาณาจักรเมืองพระนครของกัมพูชา และบ้านเมืองในเขตอีสานใต้ต่างอ่อนน้อมและหันมาเข้ากับอยุธยา หลังจากนั้นเป็นต้นมาสยามจึงกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตและค้าช้างในภูมิภาคแทนที่กัมพูชา และอยุธยาก็ได้เกิดมีเพนียดคล้องช้างขึ้นแห่งแรกคือ ‘เพนียดวัดซอง’ (ไม่ปรากฏซากโบราณสถานในปัจจุบัน) 

คำสำคัญที่เกี่ยวข้องอย่างคำว่า ‘เพนียด’ ที่หมายถึง คอก, รั้ว, หรือที่ล้อมจับ ก็เป็นคำภาษาขะแมร์ - กูย  สันนิษฐานว่าเริ่มใช้ตั้งแต่ในรัชกาลเจ้าสามพระยา ภายหลังจากที่มีการกวาดต้อนเอาชาวกัมพูชาที่ชำนาญการจับช้างเข้ามาในอยุธยา วิธีการจับช้างแบบ ‘จับเพนียด’ นับว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ที่อยุธยานำเข้าจากกัมพูชามาปรับประยุกต์ใช้  

ถัดจากปี พ.ศ. 1920 อีก 11 ปีต่อมา ตกถึงรัชกาลสมเด็จพระราเมศวร เมื่อ พ.ศ. 1931 สยามก็ได้ส่งช้างไปจีนอีกครั้ง คราวนี้ส่งไปมากถึง 30 เชือก พร้อมกับทาสอีก 60 คน คาดว่าเป็นควาญช้าง 2 คนต่อช้าง 1 เชือก อาจารย์ ดร.วินัย พงศ์ศรีเพียร ในฐานะบรรณาธิการหนังสือแปล ‘หมิงสือลู่ - ชิงสือลู่’ ได้ทำเชิงอรรถอธิบายนัยตรงนี้ไว้ว่า “แต่เดิมเราเข้าใจว่าไทยส่งช้างไปขายยังอินเดียแห่งเดียว แต่การส่งช้างจำนวนถึง 30 เชือก เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องราชบรรณาการแก่จีน ถือว่าเป็นเรื่องแปลก เช่นเดียวกับการถวายทาสชาวต่างประเทศ 60 คน” 

นั่นเพราะก่อนหน้าการปรากฏของเอกสารจีนราชวงศ์หมิง (หมิงสือลู่) เรื่องราวการส่งช้างไปต่างประเทศจะเป็นเอกสารตะวันตก ตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมจนถึงสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ เป็นเรื่องราวการส่งออกช้างไปยังเมืองท่าทางตอนใต้ของอินเดีย แต่เมื่อหมิงสือลู่ได้รับการแปลถ่ายทอดเป็นภาษาไทยเมื่อไม่นานมานี้ จึงมีการปรับความเข้าใจใหม่ว่า ก่อนหน้าที่จะส่งช้างไปอินเดียนั้น สยามเคยส่งช้างไปจีนด้วย แต่เรื่องราวตรงนี้ขาดหายไป จากเอกสารหมิงสือลู่ - ชิงสือลู่ จะพบว่าหลังสิ้นรัชกาลสมเด็จพระราเมศวรก็ไม่ปรากฏว่าสยามจะเคยส่งช้างไปจีนอีกเลย

อาจเพราะราชวงศ์ชิงที่มีอำนาจหลังสิ้นยุคหมิงไม่นิยมช้าง แต่นิยมม้ามากกว่า โดยเฉพาะม้าเปอร์เซียที่ขุนนางและพ่อค้าสังกัดกรมท่าขวานำเข้ามาอยุธยาก่อนจะส่งต่อไปให้กับจีน ในจดหมายเหตุจีนก็จะพบการส่งม้าจากอยุธยาไปยังปักกิ่งอยู่จนถึงสมัยอยุธยาตอนปลาย ประกอบกับความยุ่งยากในการขนส่ง ช้างซึ่งกินระวางพื้นที่บนเรือสำเภามาก แม้จะมีเทคโนโลยีเรือกำปั่นของชาติยุโรปเกิดขึ้นแล้ว แต่กฎหมายจีนอนุญาตเฉพาะเรือสำเภาแบบจีนเท่านั้นที่มีสิทธิ์จอดเทียบท่าเรือจีนที่มณฑลเทียนสินได้ ทำให้เกิดอุปสรรคในการขนส่งช้าง เพราะไม่สามารถใช้เรือกำปั่นตะวันตกได้    

การส่งช้างกว่า 30 เชือกไปจีนในรัชกาลสมเด็จพระราเมศวร ดูเผิน ๆ เหมือนเป็นการแข่งขันกับกัมพูชาที่ปีก่อนได้ส่งไปกว่า 59 เชือก แต่ตัวเลข 30 จะมาเป็นตัวเลขเพื่อแข่งขันกับตัวเลข 59 ได้อย่างไร  ถ้าจะแข่งกับกัมพูชาจริง สมเด็จพระราเมศวรก็น่าจะส่งไป 60 เชือกเป็นอย่างน้อย อย่างไรก็ตาม พ.ศ. 1931 ที่สมเด็จพระราเมศวรทรงส่งช้าง 30 เชือกไปจีนนั้น เป็นปีที่ทรงกลับมาขึ้นครองราชย์ที่อยุธยาอีกเป็นหนที่ 2 หลังจากที่ต้องยอมถอนตัวออกจากอยุธยาไปลพบุรีในครั้งแรก  

ดังนั้นการส่งช้าง 30 เชือก ถ้าจะมองในแง่การแข่งขัน ก็ควรจะเป็นการแข่งขันกับรัชกาลที่แล้วอย่างสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 (พะงั่ว) จากตรงนี้แม้เอกสารจะมิได้ระบุไว้ว่าในการส่งช้างไปจีนครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 1920 นั้นสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 ทรงส่งไปกี่เชือก การที่สมเด็จพระราเมศวรทรงส่งไป 30 เชือก ก็อาจสะท้อนว่าสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 อาจจะเคยส่งไปน้อยกว่า 30 เชือกก็เป็นได้  

การที่รัชกาลสมเด็จพระราเมศวรเป็นยุคอยุธยาตอนต้นที่สามารถส่งออกช้างได้มากที่สุด อาจจะเกี่ยวกับการที่ทรงมีรากฐานอยู่ที่เมืองลพบุรี ซึ่งเป็นแหล่งคล้องช้างสำคัญมากของสยาม และผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการคล้องช้างได้มากของลพบุรีนี้เอง อาจเป็นเหตุปัจจัยให้สมเด็จพระราเมศวรยอมถอยกลับลพบุรี  เมื่อต้องเลือกระหว่างไปคล้องช้างที่ลพบุรีกับการขึ้นครองราชย์ที่อยุธยาแต่ต้องเผชิญสงครามกับฝ่ายราชวงศ์สุพรรณภูมิที่นำโดยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 

ทั้งนี้เพื่อให้จีนรับรองอำนาจของราชวงศ์ลพบุรีของสมเด็จพระราเมศวรเหนือราชวงศ์สุพรรณภูมิของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1  แต่สิ่งที่ราชวงศ์สุพรรณภูมิส่งไปจีนในเวลาต่อมานั้นเหนือชั้นกว่าการส่งช้างไปมาก เพราะเป็นการส่ง ‘ลกเจ้าควนอิน’ ยุพราชอย่างเจ้านครอินทร์ (สมเด็จพระนครินทราธิราชในเวลาต่อมา) เดินทางไปเมืองจีนเพื่อเจริญสัมพันธไมตรีโดยตรง  

อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่ปรากฏว่าสยามอยุธยาจะเคยส่งช้างไปเมืองจีนอีกนับแต่สิ้นรัชกาลสมเด็จพระราเมศวรเป็นต้นมา เอกสารพระราชพงศาวดารอยุธยายังคงกล่าวถึงการเสด็จประพาสคล้องช้างของกษัตริย์อยุธยาอยู่อีกหลายต่อหลายรัชกาลต่อมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ช้างมีบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนผ่าน เช่น กรณีที่ขุนวรวงศาธิราชถูกฝ่ายขุนพิเรนทรเทพดักซุ่มสังหารโดยการหลอกให้ไปคล้องช้าง และจากที่มีคติความเชื่อเรื่อง ‘ช้างแก้ว’ คู่บุญบารมีพญาจักรพรรดิราช ที่กำหนดให้ ‘ช้างเผือก’ เป็นตัวแทน นำมาสู่ชนวนเหตุสงครามระหว่างอยุธยากับพม่า เมื่อพระเจ้าบุเรงนองส่งราชสาส์นมาขอช้างเผือก แต่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิไม่สามารถจัดส่งไปให้ เพราะจะเท่ากับยอมเป็นเมืองขึ้นของพม่า เป็นสงครามที่นำความเปลี่ยนแปลงใหญ่หลวงมาให้แก่อยุธยา เพราะเป็นสงครามคราวเสียกรุงครั้งที่ 1 พ.ศ. 2112   

อยุธยากับการค้าช้างฝั่งมหาสมุทรอินเดีย

การส่งช้างไปต่างประเทศได้เปลี่ยนจากส่งไปจีนมาเป็นการส่งไปอินเดียในราวพุทธศตวรรษที่ 22 การจับช้างป่ามาฝึกให้เชื่องเพื่อใช้แรงงานด้านต่าง ๆ ยังมีอยู่ต่อมา โดย ‘โยสต์ เชาเต็น’ (Joost Chouten) พ่อค้าฮอลันดาที่เข้ามาในสมัยพระเจ้าทรงธรรมถึงพระเจ้าปราสาททอง ได้มีบันทึกว่า “พระเจ้าแผ่นดินสยามทรงมีช้างเชื่องมากกว่า 3,000 เชือก อยู่ตามส่วนต่าง ๆ ของราชอาณาจักร”  

การส่งช้างไปมหาสมุทรอินเดียเกิดเป็นกิจการใหญ่โตขึ้นในสยามตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระนารายณ์เป็นต้นมา เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่บริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ (The British East India Company หรือ EIC) ได้ยึดเมืองมัทราสเป็นเมืองขึ้น (ปัจจุบันคือเมืองเจนไน แคว้นทมิฬนาฑุ ประเทศอินเดีย) แล้วแผ่ขยายอิทธิพลขึ้นไปยังตอนบนของอินเดีย  

EIC ต้องการช้างมากสำหรับการคมนาคมขนส่งสินค้าจากตอนในของอินเดียลงมายังเมืองท่าทางใต้ฝั่งมหาสมุทร และสำหรับการทำสงครามขยายอำนาจของอังกฤษเข้าไปในอินเดีย ด้วยความที่ช้างสยามมีคุณสมบัติพิเศษอย่างหนึ่ง คือไม่กลัวเสียงปืนใหญ่ EIC จึงติดต่อขอซื้อช้างสยามมาก  

ในอินเดียและศรีลังกาเอง มหาราชาแคว้นต่าง ๆ ทั้งที่นับถือพราหมณ์ฮินดู พุทธ และที่นับถืออิสลาม ต่างก็เป็น ‘ลูกค้า’ รับซื้อช้างจากอยุธยา ยิ่งเมื่ออยุธยามีขุนนางและพ่อค้าชาวเปอร์เซียเข้ามาตั้งรกรากอยู่มาก คนเหล่านี้ก็เป็นตัวแทนในการติดต่อประสานระหว่างอยุธยากับอินเดีย การส่งช้างไปอินเดียจึงดำเนินไปได้ด้วยดี เป็นกิจการที่รุ่งเรืองทำกำไรให้แก่ชนชั้นนำอยุธยาอย่างมหาศาล  

ดีมานด์ช้างที่เพิ่มขึ้นแบบเท่าทวีคูณนี้เอง เป็นเหตุปัจจัยสำคัญหนึ่งของการเสด็จฯ ไปประทับที่เมืองลพบุรีของสมเด็จพระนารายณ์ เพราะลพบุรีเป็นแหล่งคล้องช้างสำคัญของสยาม มีเพนียดคล้องช้างอยู่หลายแห่ง ทั้งในเขตเมืองทางทิศตะวันออก (ประตูเพนียด เมืองลพบุรี) ที่ทะเลสาบชุบศร ข้างพระที่นั่งไกรสรสีหราช และที่ตำบลเพนียดใน อ.โคกสำโรง (ศูนย์กลางอยู่ที่วัดราชบรรทม อ.โคกสำโรง จ.ลพบุรี) เช่นเดียวกับรัชกาลสมเด็จพระราเมศวร  

รวมถึงบริเวณย่านที่มีกิจกรรมการคล้องช้างหลายแห่งในภาคกลาง ภาคตะวันตก ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน ต่างก็มีการขยับขยายในช่วงเวลาดังกล่าว เมื่อมีดีมานด์ช้างมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเมืองวิเศษไชยชาญ, สุพรรณบุรี, ราชบุรี, กาญจนบุรี, เพชรบุรี, กุยบุรี (ในประจวบคีรีขันธ์), สรรคบุรี, นครสวรรค์, สระบุรี, นครนายก, ประจิณ (ปราจีนบุรี), จันทบุรี เป็นต้น  

นอกจากลพบุรี บริเวณที่มีการขยายตัวเพื่อรองรับกิจกรรมการคล้องช้างมากก็มีนครนายก ซึ่งที่บ้านนามีเพนียดอยู่ 2 แห่ง คือที่ตำบลป่าขะและวัดโรงช้าง นครนายกที่บ้านนาตั้งอยู่ชายดงป่าเขาคอก เป็นแหล่งที่ช้างป่าลงมาหาอาหาร เมื่อจับช้างได้จากบริเวณนี้ก็สามารถส่งช้างเข้ามากรุงศรีอยุธยาได้สะดวก โดยใช้เส้นทางเลียบคลองป่าขะมายังบ้านสร้าง (บ้านช้าง) ในเขตทุ่งอุทัยของอยุธยา ที่อยุธยาเอง ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ก็ได้มีการยุบเพนียดวัดซอง ก่อตั้งเพนียดแห่งใหม่ขึ้นที่ตำบลสวนพริก ทางทิศเหนือริมคลองบางขวด ซึ่งเป็นบริเวณที่ติดต่อกับลพบุรีและนครนายกได้สะดวก       

บันทึกของ ‘นิโกลาส์ แชรแวส’ (Nicolas Gervais) บาทหลวงชาวฝรั่งเศสที่เข้ามาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ได้กล่าวถึงความสำคัญของการจับช้างเพื่อส่งออกในช่วงเวลาดังกล่าวเอาไว้ดังนี้ “สิ่งที่พระองค์ (หมายถึง สมเด็จพระนารายณ์ - ผู้อ้าง) โปรดมากที่สุดก็คือการล่าเสือและคล้องช้าง ซึ่งพระองค์มักจะทรงบำเพ็ญอยู่โดยปรกติตลอดเวลาที่ประทับอยู่ ณ เมืองละโว้ กล่าวคือระหว่างเดือนพฤศจิกายนจนถึงปลายเดือนกรกฎาคม หรือกระทั่งต้นเดือนสิงหาคม ไม่มีพระมหากษัตริย์พระองค์ใดจะทรงชำนิชำนาญและทรงโชคดีเท่าพระองค์ ด้วยไม่มีสักปีหนึ่งที่พระองค์จะทรงล่าช้างได้น้อยกว่าสามร้อยเชือก” 

ในจำนวน 300 เชือกที่จับได้มาแต่ละปีนั้น “ทรงมีรับสั่งให้ฝึกเชือกที่มีรูปพรรณดีไว้ใช้ราชการส่วนพระองค์ แล้วพระราชทานช้างเชือกอื่น ๆ ให้แก่ขุนนางที่โปรดปรานผู้อยู่ใกล้ชิด หรือพระราชทานให้แก่ผู้ที่ประกอบหิตานุหิตประโยชน์ถวายพระองค์ท่านเป็นอย่างมากที่สุด แล้วก็ขายเชือกที่เหลืออยู่ให้แก่ชาวต่างประเทศ ซึ่งนำไปจนถึงเมืองมะหง่ล (Mogol) (อินเดียภายใต้ราชวงศ์โมกุล - ผู้อ้าง) หรือในอาณาจักรที่ใกล้เคียง”  

อย่างไรก็ตาม เบื้องหลัง 300 เชือกที่ได้มานั้น บาทหลวงแชรแวสได้ระบุถึงความยากลำบากแก่ไพร่ในการจับช้างไว้ด้วย เช่นว่า “งานพระสำราญของพระเจ้าแผ่นดินในกีฬาล่าสัตว์นี้ นำความลำบากมิใช่น้อยมาให้แก่ราษฎรจำนวน 30,000 คนที่ต้องโดยเสด็จ มีอยู่มากหลายที่ต้องล้มตายไปเพราะความเหน็ดเหนื่อย ลางเหล่าต้องวิ่งขับต้อนสัตว์อยู่ในป่าทั้งกลางวันและกลางคืน เพื่อแสวงหาแหล่งสัตว์และขับต้อนมันออกมาจากแหล่งนั้น ลางเหล่าก็ทำหน้าที่ปราบพื้นที่และล้อมรั้วหรือทำเพนียด เพื่อป้องกันมิให้สัตว์หลบหนีไปได้ ต่างคนต่างมีหน้าที่ของตนเป็นประจำและต้องทำกันอย่างสุดเรี่ยวสุดแรงทีเดียว ซึ่งถ้าไม่เอาใจใส่หรือกระทำผิดเพียงนิดเดียว ก็เป็นที่แน่ว่าจะได้รับการลงทัณฑ์ทันทีจากพนักงานเจ้าหน้าที่ควบคุมการปฏิบัติงานนั้น” 

การจับช้างป่ามาฝึกให้เชื่องซึ่งต้องอาศัยกำลังไพร่พลขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 30,000 คน นำมาซึ่งการกดขี่แรงงานไพร่ที่มากขึ้นด้วย  กระทั่งนำไปสู่การก่อกบฏของไพร่ที่มีคนจับช้างมีส่วนพัวพัน อย่างเช่นกรณีกบฏธรรมเถียร ซึ่งรวบรวมกำลังคนจากนครนายก ก่อนจะยกมาตีกรุงศรีอยุธยา ถึงแม้แกนนำกบฏจะอ้างตัวเป็นชนชั้นนำผู้หนึ่งในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ที่มาต่อต้านพระเพทราชากับหลวงสรศักดิ์ แต่ทว่าการที่ธรรมเถียรได้รับการสนับสนุนจากไพร่จับช้างในหัวเมืองตะวันออก และมีลักษณะเป็นการก่อกบฏของไพร่ตามแบบฉบับขบวนการผู้มีบุญ ก็เป็นสิ่งสะท้อนอยู่โดยนัยว่า กบฏธรรมเถียรเป็นกบฏต่อต้านระบบที่แฝงมากับการต่อต้านตัวบุคคล  

โดยบุคคลที่เข้ามามีอำนาจใหม่หลังการยึดอำนาจที่ลพบุรีเมื่อ พ.ศ. 2231/ค.ศ. 1688 นั้นก็ไม่ใช่ใครอื่น เป็นเจ้ากรมคชบาล (กรมช้าง) เพียงแต่เป็นกลุ่มที่มีฐานอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะแถบวิเศษไชยชาญถึงสุพรรณบุรี ไม่ได้คุมหัวเมืองตะวันออกที่โดยทางการแล้วถูกโอนย้ายสังกัดจากออกญากลาโหม ตำแหน่งซึ่งถูกยกเลิกไป มาเป็นออกญาพระคลัง นั่นยังหมายความว่ากิจการคล้องช้างในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ได้ขยายไปยังหน่วยงานอื่นเป็นผู้กระทำการด้วย แม้กรมคชบาลจะยังคงเป็นหน่วยงานหลักด้านนี้อยู่ก็ตาม  

โดยปกติแล้ว เจ้าพนักงานในกรมคชบาลจะคัดเลือกจากชายฉกรรจ์ฝีมือดีและมีความชำนาญเฉพาะด้านที่เกี่ยวข้องกับการจับช้าง กลุ่มคนที่มีบทบาทจึงมักเป็นคนจาก 3 กลุ่มชาติพันธุ์คือ ไม่มอญก็เขมร ไม่เขมรก็กูย (หรือกวย) แต่ส่วนใหญ่ที่มีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ นับตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระนารายณ์เป็นต้นมา มักจะเป็นชาวกูย ขณะที่คนกรมคชบาลที่เป็นฝ่ายพระเพทราชากับหลวงสรศักดิ์ ส่วนใหญ่เป็นมอญ ดังนั้นกรณีการรัฐประหาร พ.ศ. 2231 ตลอดจนถึงการก่อกบฏธรรมเถียรในเวลาต่อมา จึงสะท้อนความขัดแย้งภายในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจับช้างและเป็นเรื่องผลประโยชน์ที่เกี่ยวเนื่องกับการค้าช้างโดยตรง กล่าวคือรัฐประหารของพระเพทราชานั้นได้รับการสนับสนุนจากพวกมอญจับช้าง ขณะที่กบฏธรรมเถียรมีกูยเข้าร่วม  

ถึงแม้ฝ่ายกูยจะพ่ายแพ้ไปในการกบฏ แต่น่าสังเกตว่าไม่เพียงนครนายกที่เป็นแหล่งรวบรวมกำลังคนของธรรมเถียรจะไม่ถูกกองทัพอยุธยายกติดตามมาทำลายล้าง ตรงกันข้ามกลับปรากฏว่าในรัชกาลต่อมาคือพระเจ้าเสือ ได้ให้ความสำคัญกับการคล้องช้างที่นครนายกมาก มีการฟื้นฟูเพนียดคล้องช้างขึ้นใหม่ที่ตำบลป่าขะ  จนถึงรัชกาลสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ การปรับปรุงวัดมเหยงคณ์เป็นแหล่งต่อเรือกำปั่นเพื่อบรรทุกช้างส่งออก ก็สะท้อนความสำคัญที่มากขึ้นของนครนายก เพราะวัดมเหยงคณ์อยู่ในเส้นทางเชื่อมระหว่างอยุธยากับนครนายกและปราจีนบุรี ซึ่งเป็นแหล่งคล้องช้างสำคัญของหัวเมืองตะวันออก   

บทบาทของชาวกูยที่มีต่อการจับช้างนี้เองภายหลังถูกนำไปผูกสร้างเป็นตำนานเรื่องเล่าว่าด้วยวีรบุรุษทางวัฒนธรรม (Cultural hero) อย่างเรื่องของ ‘ตากะจะ’ กับลูกหลานในการสร้างบ้านแปงเมืองขึ้นในเขตอีสานใต้ รวมถึงเรื่องราวของ ‘สองพี่น้อง’ ผู้ติดตามช้างเผือกของพระเจ้าเอกทัศน์จากอยุธยามาจนถึงอีสาน ภายหลังมีผู้นำเอาสองพี่น้องไปแต่งเสริมเติมความใหม่ให้กลายเป็นรัชกาลที่ 1 กับกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท (บุญมา) ไปอีก

อย่างไรก็ตามทั้งเรื่องตากะจะกับบุตรชายและสองพี่น้องตามช้างเผือกนี้ล้วนเป็นเรื่องเล่าภายหลัง ทั้งนี้ชาวกูยมีบทบาทแน่ไม่เป็นที่กังขา เพียงแต่บรรพชนชาวกูยผู้เกี่ยวข้องกับการส่งช้างไปเป็นส่วยบรรณาการไปให้อยุธยาส่งออกไปขายต่างประเทศอีกต่อหนึ่งนี้ เป็นประชาชนคนธรรมดาสามัญชนที่ไม่ปรากฏชื่อเสียงเรียงนาม ก่อให้เกิดช่องว่างทางประวัติศาสตร์สำหรับการเติมชื่อบุคคลและเรื่องเล่าลงไปในภายหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นเรื่องเล่าที่แสดงให้เห็นสายสัมพันธ์เกี่ยวโยงกันระหว่างอีสานกับรัฐส่วนกลาง จึงไม่แปลกที่จะกลายไปเป็นเรื่องเล่าเพื่อการสร้างความชอบธรรมแก่รัฐสยามในการผนวกอีสานไปจากล้านช้างในเวลาต่อมา

ความรู้ในการจับสัตว์ใหญ่อย่างช้างมาฝึกจนเชื่องไว้ใช้งานประหนึ่งเป็นเพื่อนคู่ทุกข์คู่ยากของมนุษย์ผู้เป็นเจ้าของนั้น ไม่ว่ามองจากมุมไหนก็เป็นความรู้ระดับชั้นสูง ผ่านประสบการณ์ฝึกฝนและเรียนรู้จนชำนาญมาไม่รู้กี่รุ่น แต่เมื่อชนชั้นนำสยามมีเป้าหมายจะผนวกรวมศูนย์อำนาจสู่ส่วนกลาง พวกเขาก็กลับสร้างวาทกรรมเหยียดกลุ่มคนเหล่านี้โดยการเรียกว่า ‘เขมรป่าดง’ ทำนองเป็นคนป่า คนดง ไม่มีความรู้ศิวิไลซ์ บดบังความจริงที่ว่าความรู้บางอย่างที่สืบทอดมาจากหมู่ชาติพันธุ์เก่าแก่ในอีสานนั้นเป็นสิ่งที่สูญหายไปจากภาคกลางและภาคอื่น ๆ ปราศจากการสนับสนุนจากกลุ่มชาติพันธุ์ในอีสาน ที่ไหนเลยเมืองหลวงของสยามทั้งอยุธยาและกรุงเทพฯ จะมีสินค้าส่วยจากอีสานไปส่งออกยังต่างประเทศได้มากดังที่ปรากฏในหลักฐานเอกสารต่างๆ  

เมืองหลวงไม่ว่าแห่งใดของภูมิภาคอุษาคเนย์ในอดีต ล้วนแต่มีลักษณะคล้ายคลึงกันอยู่อย่างตรงที่ไม่สามารถผลิตสินค้าส่งออกได้ด้วยตนเอง สินค้าที่จัดส่งออกไปขายยังต่างประเทศล้วนแต่ได้จากหัวเมืองหรือมีแหล่งผลิตจากหัวเมือง เมืองหลวงจะได้สินค้าเหล่านี้ก็โดยวิธีการทางอำนาจปกครองที่ไม่อยู่ในรายการผูกขาดของหลวงก็ได้มาโดยวิธีการที่เมืองหลวงจะมีตลาดสำหรับรับซื้อสินค้าจากหัวเมือง หรือไม่อีกวิธีหนึ่งก็คือให้อภิสิทธิ์แก่ชาวจีน ไม่ถูกสักเลขเป็นไพร่ จึงไม่อยู่ติดที่สามารถเดินทางค้าขายได้ทั่วราชอาณาจักร พ่อค้าชาวจีนจึงเป็นผู้มีบทบาทในการนำสินค้าจากหัวเมืองเข้ามาสู่ส่วนกลาง และในทางตรงข้ามก็เป็นผู้นำเอาสินค้าจากส่วนกลางที่ได้มาจากต่างประเทศไปกระจายสู่ผู้บริโภคในหัวเมือง        

ช. ช้าง (ไม่) วิ่งหนี & ช้างกับคน : มนตร์คาถาและสายสัมพันธ์   

เนื่องจากการทำงานในกรมช้างเต็มไปด้วยภยันตราย พลาดหมายถึงเสียชีวิตได้ทันที คนจับช้างจึงเป็นกลุ่มคนที่จะต้องมีเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจเพื่อความกล้าหาญและความชำนาญการมากเป็นพิเศษ ‘The Ship of Sulaiman’ (สำเภากษัตริย์สุลัยมาน) เอกสารของคณะทูตเปอร์เซียที่เข้ามาในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ มีโอกาสได้พบเห็นบุคลากรของกรมช้างในอยุธยาและลพบุรี ได้มีบันทึกกล่าวถึงพวกเขาด้วยความประทับใจและยกย่องชื่นชม เช่นว่า “บางคนมีความสามารถในการใช้เวทมนตร์คาถามากที่สามารถกล่อมช้างดุ ๆ ให้เชื่องได้ ซึ่งธรรมดาต้องใช้เวลาสองสามปี เพียงแต่จ้องตาสะกดจิตเท่านั้น ช้างป่าก็เชื่องยิ่งกว่าช้างที่ถูกฝึกเสียอีก แล้วพวกหมอช้างเหล่านี้ก็เอาช้างไปขาย ได้กำไรมาก” 

เรื่องที่เจ้ากรมช้างผู้หนึ่งสามารถกระทำรัฐประหารตั้งราชวงศ์ใหม่ได้สำเร็จเมื่อ พ.ศ. 2231 ไม่เป็นเรื่องประหลาดมหัศจรรย์อันใดเลย ถึงแม้ว่าเจ้ากรมคนดังกล่าวนี้ (ออกพระเพทราชา) จะมีตำแหน่งเป็นเพียง ‘ออกพระ’ ไม่ได้เป็น ‘พระยา’ หรือ ‘เจ้าพระยา’ หรือ ‘ออกญา’ เสียด้วยซ้ำ ทั้งนี้เพราะความสำคัญของช้างและกรมช้างที่มีต่อสังคมในยุคสมัย ผู้มีบทบาทควบคุมกิจการเกี่ยวกับช้าง จึงเป็นผู้มีอำนาจบารมีเป็นที่เกรงขามของผู้คน  

รวมถึงเรื่องที่บุตรชายของเจ้ากรมช้างอย่าง ‘นายเดื่อ’ หรือ ‘หลวงสรศักดิ์’ (พระเจ้าเสือ) ต่อให้ไม่มีเรื่องเล่าลือว่าเป็นโอรสลับของสมเด็จพระนารายณ์ ลำพังการเป็นขุนนางที่มีบทบาทในกรมช้าง  ก็ได้การเคารพยกย่องเป็นผู้มีบุญวาสนามากพออยู่แล้วในตัว เรื่องราวชีวิตโลดโผนต่าง ๆ นานาของหลวงสรศักดิ์ อาจไม่เป็นเรื่องแปลกประหลาดอย่างใด หากพิจารณาว่าบุคคลผู้นี้เป็นผู้นำของคนจับช้าง ซึ่งมีความกล้าหาญชาญชัยมากวิทยาคุณเป็นพิเศษอยู่แล้ว     

ชาวสยามนั้นผูกพันกับช้าง ไม่ใช่เพียงเพราะคติความเชื่อ ช้างอยู่ในพระสุบินนิมิตของพระนางสิริมหามายาในคืนวันก่อนที่พระพุทธองค์จะประสูติ หากแต่เพราะคติความเชื่อมาพร้อมกับวิถีชีวิตที่สัมพันธ์กับช้างในระดับชีวิตประจำวัน เรื่องนี้ไม่พลาดสายตาของชาวต่างชาติที่เข้ามาสังเกตและบันทึกวิถีชีวิตของชาวอยุธยา ‘ซิมง เดอ ลาลูแบร์’ (Simon de La Loubère) ได้กล่าวถึงความผูกพันระหว่างช้างกับคนในสมัยอยุธยาเอาไว้ เช่นว่า “ชาวสยามพูดถึงช้างราวกับว่าช้างนั้นเป็นมนุษย์ เขาเชื่อว่าช้างมีความรู้สึกนึกคิดกอปรด้วยเหตุผลอันสมบูรณ์อย่างยิ่ง และได้เล่าเรื่องเกี่ยวกับความช่างรู้ของช้างให้ฟังมากมาย ยังขาดอยู่แต่ชั่วมันพูดไม่ได้เท่านั้น” 

เจาะลึก ‘ช้างสยาม’ เดินทางไปต่างแดน จากสมัยอยุธยา ถึงรัตนโกสินทร์ การส่งช้างไปฝรั่งเศสครั้งแรกในสมัยสมเด็จพระนารายณ์   

ก่อนหน้านี้มีความเชื่อว่า อยุธยาส่งช้างไปไกลสุดทางทิศตะวันตกเพียงที่อินเดีย การส่งไปยุโรปเพิ่งจะเกิดมีในสมัยรัชกาลที่ 4 แต่มีข้อมูลหลักฐานที่ระบุว่าช่วงที่ความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับฝรั่งเศสรุ่งเรืองถึงขีดสุดในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ ก็ได้เคยมีการส่งช้างไปฝรั่งเศสเช่นกัน นับเป็นการส่งช้างไปยุโรปเป็นครั้งแรกเท่าที่มีหลักฐานปรากฏ และถือเป็นการส่งช้างสยามไปไกลที่สุดเท่าที่เคยทำมา แต่แน่นอนว่า การทำหน้าที่ทูตของพ่อพลายและแม่พังในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ย่อมแตกต่างกับสมัยรัชกาลที่ 4  

นอกเหนือจากที่เป็นหลักฐานกล่าวถึงการส่งช้างไปฝรั่งเศสแล้ว ลาลูแบร์ยังได้เล่าถึงพิธีกรรมก่อนนำช้างขึ้นเรือไปเอาไว้อีกด้วย เช่นว่า “เขาได้จัดลำเลียงลูกช้าง 3 เชือก ซึ่งสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามตรัสให้ส่งไปพระราชทานแด่พระเจ้าหลานยาเธอแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (ฝรั่งเศส) (คือพระราชนัดดาของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 - ผู้อ้าง) ทั้ง 3 พระองค์ไปลงเรือ ครั้นคนสยาม 3 คนที่นำช้างมาส่งถึงเรือกำปั่นคณะอัครราชทูตแล้ว ก็รำพันร่ำลาลูกช้างทั้ง 3 เชือกประหนึ่งว่ามันเป็นเพื่อนของพวกเขา”  

อย่างไรก็ตาม การทูตที่มีช้างเป็นสื่อกลางเช่นในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์นี้มิได้มีการปฏิบัติสืบเนื่องต่อมา แม้ว่าสมเด็จพระเพทราชาจะพยายามฟื้นความสัมพันธ์กับฝรั่งเศส แต่ไม่เป็นผล  ฝรั่งเศสได้บทเรียนอย่างมากแล้วจากกรณีการปฏิวัติผลัดแผ่นดินเมื่อ พ.ศ. 2231 ประกอบกับรัชสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 มีความต่อเนื่องยาวนานมาก เมื่อแรกเริ่มยุคราชวงศ์บ้านพลูหลวงนั้นที่ฝรั่งเศสก็ยังเป็นยุครัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14  

การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายในมีผลต่อการทูตของสยามมาแต่ไหนแต่ไร เมื่อสิ้นราชวงศ์ปราสาททอง การทูตผ่านช้างก็ยุติลง  การส่งช้างไปต่างประเทศหลังจากนั้นเป็นไปด้วยเหตุผลอย่างอื่น  เช่น การส่งเป็นสินค้าออกโดยมีคู่ค้าสำคัญคือบริษัท EIC ที่อินเดีย  ยังคงดำเนินสืบเนื่องต่อมาจนถึงสมัยต้นรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 2  แต่การทูตผ่านช้างที่ยุติไปหลังสิ้นรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ เพิ่งจะถูกรื้อฟื้นขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 4  ภายใต้บริบทสังคมโลกยุคล่าอาณานิคม  

การต่อเรือกำปั่นและขุดคลองเพื่อ ‘เคลียร์ทาง’ ให้ช้างไป ‘เมืองเทศ’ สมัยสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ

การค้าฝั่งตะวันออกที่มีจีนเป็นตลาดใหญ่ ซึ่งราชวงศ์ที่ปกครองอยุธยาหลังการปฏิวัติ 1688 ให้ความสำคัญเรื่อยมานั้น จำเป็นต้องใช้เรือสำเภาเป็นพาหนะขนส่ง ไม่ใช่เพราะสมรรถนะของเรือประเภทนี้ เพราะในสมัยนั้นได้เกิดมีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าล้ำยุคสมัยไปกว่าเรือสำเภาเกิดขึ้นมาได้ระยะหนึ่งแล้ว คือ เรือกำปั่นแบบตะวันตก แต่เพราะกฎหมายต้าชิงอนุญาตให้เฉพาะเรือแบบจีนเท่านั้นที่สามารถจะแล่นเข้ามาจอดเทียบท่าเรือของจีนได้ จึงทำให้เกิดอุปสรรคในการขนส่งช้างไปเมืองจีน ประกอบกับการส่งช้างไปจีนไม่ได้ผลกำไรมากเท่าส่งไปอินเดียและศรีลังกา  

แต่สำหรับการค้าฝั่งตะวันตกที่สยามทำกับอินเดียและศรีลังกา ผ่านเมืองท่ามะริด มิได้ถูกจำกัดประเภทเทคโนโลยีเหมือนอย่างการค้ากับจีน ดังนั้น ราชสำนักสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ ซึ่งเป็นอีกยุคที่มีการค้าช้างกับฝั่งตะวันตกมาก จึงได้มีการสร้างอู่ต่อเรือกำปั่นขึ้นที่กรุงศรีอยุธยา โดยใช้บริเวณแหล่งน้ำที่ล้อมรอบวัดมเหยงคณ์ วัดสิงห์นารายณ์ วัดช้าง วัดสีกาสมุด เป็นอู่ต่อเรือกำปั่น โดยมี ‘โกษาธิบดี’ (เจ้าพระยาพระคลัง) เป็นผู้ควบคุมดูแล ดังที่พระราชพงศาวดารได้ระบุเป็นเหตุการณ์สำคัญควบคู่กับการบูรณปฏิสังขรณ์วัดมเหยงคณ์เมื่อ พ.ศ. 2264 ดังนี้ “ทรงพระกรุณาตรัสสั่งโกษาธิบดีให้ต่อกำปั่น 3 หน้า ปากกว้าง 6 วา แล้วทรงพระกรุณาตรัสสั่งให้ติดสมอ ณ วัดมเหยงคณ์ ต่อกำปั่น 5 เดือนเศษจึ่งสำเร็จแล้ว ๆ ให้ใช้ใบออกไป ณ เมืองมะริด แล้วให้ประทุกช้างออกไปจำหน่าย ณ เมืองเทศ 40 ช้าง” 

คำว่า ‘เมืองเทศ’ ความหมายอย่างกว้าง ๆ ก็ตรงกับคำว่า ‘ต่างประเทศ’ ในปัจจุบัน แต่ความหมายอย่างแคบคำนี้พบใช้เป็นคำคู่สำหรับเรียกชาวต่างชาติบางกลุ่มโดยเฉพาะ เช่นคำว่า ‘แขกเทศ’  ซึ่งเป็นคำที่อยุธยาใช้เรียกกลุ่มคนในแถบมหาสมุทรอินเดีย คำนี้และความหมายที่สื่อเช่นนี้ใช้อยู่ต่อมาจนถึงต้นรัตนโกสินทร์ ดังจะเห็นได้จากวรรณกรรมเรื่อง ‘นิราศเมืองเทศ’ แต่งเมื่อ พ.ศ. 2336 (สมัยรัชกาลที่ 2) ก็เป็นวรรณกรรมเล่าเรื่องการส่งช้างไปขายที่อินเดีย เป็นต้น    

เรื่องที่อยุธยาสร้างอู่ต่อเรือกำปั่นขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าท้ายสระนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ระดับภูมิภาค แต่ตลอดที่ผ่านมายังไม่เคยมีการดำเนินงานทางโบราณคดีเกี่ยวข้องแต่อย่างใดเลย โบราณคดีใต้น้ำที่อยุธยายังคงหมกมุ่นอยู่กับลำน้ำสามสายที่ล้อมรอบกรุง ไม่ได้มีการขุดสำรวจค้นหาอู่ต่อเรือกำปั่นที่มีหลักฐานลายลักษณ์อักษรระบุเอาไว้อย่างชัดเจนนี้แต่อย่างใดเลย  

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีวิสัยทัศน์เห็นแต่วัดกับวัง นักโบราณคดีไทยก็ดูแต่อิฐกับปูน จนป่านนี้อยุธยาจึงยังไม่มีแหล่งเรียนรู้อู่ต่อเรือกำปั่นที่ในอดีตคือกุญแจหนึ่งที่ไขไปสู่ความมั่งคั่งของกรุงศรีอยุธยา เมื่อจะศึกษาในเรื่องนี้แหล่งแรกและเกือบจะเป็นแหล่งเดียวที่ผู้คนจะนึกถึงได้ยังคงเป็นอู่ต่อเรือสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ที่จันทบุรี โดยหารู้ไม่ว่าที่อยุธยาก็มีอู่ต่อเรือแบบนั้นเช่นกัน นอกเหนือจากที่มีความรู้ว่ามีอู่ต่อเรือซ่อมเรือของอยุธยาอยู่ที่คลองตะเคียนและคลองเมืองตรงเยื้องใกล้กับวัดเชิงท่า

นอกจากเป็นที่มาของอุตสาหกรรมต่อเรือกำปั่นในอยุธยาแล้ว  การค้าช้างยังส่งผลอย่างสำคัญต่อการปรับปรุงเส้นทางคมนาคมสำคัญอย่างแม่น้ำลำคลอง ในปีเดียวกับที่มีการเปิดอู่ต่อเรือกำปั่นขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าท้ายสระนั้น ยังได้มีการเกณฑ์ไพร่จาก 7 หัวเมือง คือ นนทบุรี, สมุทรปราการ, สมุทรสงคราม, สาครบุรี (สมุทรสาคร), เพชรบุรี, ราชบุรี, นครชัยศรี ไปขุดคลองโคกคาม (โคกขาม) ที่เคยขุดมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าเสือ แต่ยังไม่แล้วเสร็จบริเวณที่ขุดต่อออกมาจากที่เคยขุดสมัยพระเจ้าเสือนั้นคาดว่าคือคลองตรงเส้นที่เป็นคลองมหาชัยในปัจจุบัน  

ประเด็นของการขุดคลองเส้นนี้ (คลองโคกขาม - คลองมหาชัย) คือการสร้างเส้นทางเดินเรือเชื่อมระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำท่าจีน ก่อนตัดขึ้นเหนือเข้าสู่แม่น้ำแม่กลองไปเมืองราชบุรี กาญจนบุรี และมะริด ตามลำดับ ขนาดความกว้างเพื่อเรือใหญ่แล่นไปมาได้สะดวก การมีเส้นทางเชื่อมตัดตรงระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำท่าจีน ส่งผลอย่างสำคัญต่อการขยายตัวของบ้านเมืองบริเวณฝั่งแม่น้ำท่าจีนกับแม่น้ำแม่กลองในเวลาต่อมา นั่นหมายถึงว่าการค้าช้างกับต่างประเทศเป็นปัจจัยให้เกิดการสร้างบ้านแปงเมืองใหม่ อย่างไรก็ตามความมั่งคั่งรุ่งเรืองอันนี้เป็นสิ่งที่ชนชั้นนำต้นกรุงรัตนโกสินทร์พยายามจะสืบทอดแต่ไม่ประสบความสำเร็จ  

เพนียดคล้องช้างใหม่ (สมัยรัตนโกสินทร์) ในพื้นที่อยุธยา (กรุงเก่า)  

การจับช้างมาฝึกใช้งานนั้นตามตำรามีอยู่ด้วยกัน 3 วิธี คือ (1) ‘วังช้าง’ (จับช้างมาทั้งโขลง) (2) ‘โพนช้าง’ (จับเฉพาะบางเชือกจากในป่า) (3) ‘จับเพนียด’ คือวิธีต้อนโขลงช้างจากป่ามาเข้าคอกที่เรียกว่า ‘เพนียด’ (ภาษาขะแมร์) และคัดเลือกจับเอาเฉพาะบางเชือก ทั้ง 3 วิธีล้วนแต่อันตราย พลาดถึงตายทั้งนั้น แต่วิธีที่ถือกันว่าปลอดภัยที่สุดคือ ‘จับเพนียด’ จึงมีการสร้างสถานที่สำคัญและเป็นที่ตั้งทำการของกรมช้างด้วยเรียกว่า ‘เพนียดคล้องช้าง’ ในภาคกลางพบแหล่งโบราณสถานประเภทนี้อยู่เพียงที่อยุธยา ลพบุรี และนครนายก (ที่เมืองอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี มีสถานที่ที่เรียกว่า ‘คอกช้างดิน’ และที่ตั้งอยู่เมืองเพนียดที่จันทบุรีนั้นไม่ใช่เพนียดคล้องช้างเป็นสระบาราย) 

แหล่งเรียนรู้เรื่องเกี่ยวกับเพนียดและการจับคล้องช้างที่รู้จักกันนั้นอยู่ที่อยุธยา ไม่ใช่เพนียดเก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา เป็นเพนียดที่มีการสร้างขึ้นใหม่ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 1 บนพื้นที่เดิมของเพนียดคล้องช้างเก่าสมัยอยุธยา ซึ่งพังเสียหายไปกับสงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 พ.ศ. 2310 ไปแล้ว 

เดิมทีนโยบายสร้างเพนียดและฟื้นกรมช้างขึ้นใหม่นี้เป็นพระราชดำริมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ได้มีการสำรวจบัญชีช้างทั่วราชอาณาจักร แล้วพบว่ามีช้างเหลืออยู่น้อย จึงเกิดแนวคิดว่าจะต้องฟื้นกรมช้างเพื่อดำเนินการจับช้างป่ามาฝึกไว้ใช้งาน  เพียงแต่ในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ เป็นช่วงที่มีการศึกสงครามมาก และขาดแคลนบุคลากรทางด้านนี้ ยังไม่พร้อมที่จะสร้าง มาพร้อมเมื่อปลายรัชกาลแล้วก็กลับต้องมีการผลัดแผ่นดินมาเป็นรัชกาลที่ 1 เสียก่อน  

สมัยรัชกาลที่ 1 มีความพร้อมมากขึ้น เพราะตั้งแต่ปลายสมัยธนบุรี เจ้าพระยาจักรี (รัชกาลที่ 1) กับเจ้าพระยาสุรสีห์ (กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท) ได้เป็นแม่ทัพยกไปตีล้านช้าง เสด็จกลับผ่านมาทางอีสานใต้ ได้กวาดเอาหมอช้างควาญช้างและครูช้างจากอีสานลงมาส่วนกลางหลายคน แน่นอนว่าส่วนใหญ่เป็นคนกูย  รัชกาลที่ 1 ทรงพระราชทานพระราชโอรสให้ฝึกวิชาช้างจากครูช้างเหล่านี้ ครั้งนั้นมีพระราชโอรสองค์หนึ่งเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า  แกล้วกล้าและเชี่ยวชาญวิชาช้างมากกว่าทุกองค์ที่ร่วมเรียนวิชาช้างมาด้วยกัน ผ่านพิธีครอบครูเป็นครูช้างองค์แรก เจ้านายพระองค์นั้นคือ ‘พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงเทพพลภักดิ์’ รัชกาลที่ 1 ทรงแต่งตั้งให้เป็นเจ้ากรมช้างคนแรกของรัตนโกสินทร์ พร้อมกับที่ตั้งกรมช้างขึ้นใหม่ที่อยุธยาเมื่อ พ.ศ. 2327 

การตั้งกรมช้างและสร้างเพนียดคล้องช้างขึ้นใหม่ เพียง 2 ปีหลังการสถาปนากรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวง ย่อมสะท้อนการเล็งเห็นความสำคัญของการคล้องช้างในหมู่ชนชั้นนำสยามสมัยนั้นเป็นอย่างดี ทั้งนี้อาจเพราะชนชั้นนำสยามรุ่นนั้นยังทันเห็นความมั่งคั่งรุ่งเรืองจากการส่งออกช้างใน ‘ยุคบ้านเมืองดี’ แต่ทุกอย่างไม่เป็นดังหวัง แม้จะเกิดมีเพนียดคล้องช้างและกรมช้างขึ้นใหม่แล้ว การส่งออกช้างไปต่างประเทศของยุคกรุงเทพฯ กลับทำไม่ได้ดังที่เคยทำในสมัยอยุธยา ทั้งนี้เพราะการเสียเมืองท่ามะริดไปพร้อมกับทวายและตะนาวศรี เมื่อ พ.ศ. 2336    

ถึงแม้ว่าหลังจากนั้นมา สยามจะยังคงสามารถทำการค้ากับอินเดียและลังกา โดยอาศัยบทบาทของนครศรีธรรมราช แต่การเดินทางก็ไม่สะดวก มีอุปสรรคและใช้เวลามาก เนื่องจากลมมรสุมไม่อำนวย ต่างกันลิบกับเส้นทางแม่น้ำเจ้าพระยา - ท่าจีน - แม่กลอง - มะริด ที่สามารถจัดส่งสินค้าไปได้ตลอดปี การส่งช้างหลวงกับดีบุกไปขายให้กับอังกฤษที่อินเดียใต้เมื่อ พ.ศ. 2362 (สมัยรัชกาลที่ 2) ตามความปรากฏในวรรณกรรมเรื่อง ‘นิราศเมืองเทศ’ ถ้าไม่ใช่การส่งช้างไปขายที่อินเดียเป็นครั้งสุดท้าย ก็เป็นการส่งช้างไปแถบนั้นหนึ่งในจำนวนไม่กี่ครั้งที่สยามในสมัยต้นรัตนโกสินทร์จะสามารถกระทำได้  

บทบาทของกรมช้างและเพนียดคล้องช้างหลังจากนั้นก็เปลี่ยนมาเป็นการจับช้างเพื่อวัตถุประสงค์ที่จะได้มีช้างไว้ใช้งานในกิจการภายใน ไม่ว่าจะเป็นการคมนาคม การขนส่ง การเกษตร สงคราม และพระราชพิธี ก่อนที่การจับช้างที่เพนียดคล้องช้างอยุธยาจะกลายเป็น ‘มหรสพ’ สำหรับราษฎรและอาคันตุกะชาวต่างชาติมารับชมการแสดงเพื่อความบันเทิงในเวลาต่อมา ซึ่งนั่นก็เป็นอันว่าการค้าช้างกับต่างประเทศที่ดำเนินมายาวนานในสมัยอยุธยานั้นได้สิ้นสุดลงไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ช้างกับวิถีการทูตแบบไทยสยามยุคล่าอาณานิคม

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ในช่วงหลังคริสต์ศตวรรษที่ 19 จะเป็นช่วงที่ดีมานด์ช้างสยามในต่างประเทศจะลดลงจนไม่คุ้มทุนที่จะดำเนินการได้ต่อ และบทบาทหน้าที่ของกรมช้างก็ได้เปลี่ยนไปสู่การจัดแสดงมหรสพแล้ว ความสำคัญของช้างในทางเกียรติยศก็ยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะเมื่อชาติตะวันตกเข้ามามีบทบาทในฐานะมหาอำนาจในอุษาคเนย์แทนที่จีน การส่งช้างไปต่างประเทศด้วยเหตุผลทางการทูต ใช้ช้างเป็น ‘ทูตสันถวไมตรี’ ก็ได้รื้อฟื้นขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 4 หลังจากสูญหายไปนานตั้งแต่สิ้นรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์เป็นต้นมา  

ตรงนี้นับเป็นจุดเปลี่ยนในประวัติศาสตร์การส่งช้างไปต่างประเทศอย่างสำคัญ ตรงที่ในสมัยอยุธยานั้นเหตุผลในการส่งช้างไปต่างประเทศก็เพื่อการค้าเป็นหลักใหญ่ใจความที่สุด ช้างที่ถูกจับมาฝึกจนเชื่องแล้วถือเป็นสินค้าขายได้กำไรงาม  

นอกจากนี้ยังมีเหตุผลอื่นอีกที่เกิดขึ้นควบคู่กับเหตุผลทางการค้าคือ การส่งออกไปเพื่อเป็นบรรณาการแก่รัฐที่มีอำนาจมากกว่า เช่นการส่งช้างไปถวายแด่จักรพรรดิจีน ช้างเป็นเครื่องแสดงออกถึงอำนาจบารมี โดยเฉพาะช้างเผือก ถือเป็น ‘ช้างแก้ว’ คู่บุญบารมีของพญาจักรพรรดิราช 

เมื่อพระเจ้าบุเรงนองส่งสาส์นมาขอช้างเผือกกับสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ แต่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิไม่สามารถส่งช้างเผือกไปให้ได้ เนื่องจากนั่นจะเท่ากับยอมรับอำนาจของพระเจ้าบุเรงนอง ก็นำไปสู่สงครามระหว่างอยุธยา - พม่า ในศึกคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 1 พ.ศ. 2112    

แต่ในช่วงหลังบริบททางสังคมวัฒนธรรมและลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเปลี่ยนไปในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ความเป็นจักรพรรดิราชแบบดั้งเดิมได้เสื่อมคลายลง รัชกาลที่ 4 ก็สามารถส่งช้างไปต่างประเทศด้วยเหตุผลเพื่อเป็นบรรณาการได้โดยที่ประเทศผู้รับไม่ใช่จีนเหมือนดังในอดีต  

หลังจากจีนแพ้สงครามฝิ่น ชนชั้นนำสยามก็เริ่มเห็นเป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่า โลกเปลี่ยนไปแล้ว จีนไม่ใช่มหาอำนาจที่สยามจะต้องแสดงความอ่อนน้อมด้วยอีกต่อไป มหาอำนาจอันดับต้นได้เปลี่ยนจากจีนเป็นชาติตะวันตก ซึ่งกำลังล่าอาณานิคมอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เวลานั้น รัชกาลที่ 4 จึงได้ส่งช้างไปยังยุโรปและอเมริกา  

ดังที่ทราบกันดีว่า เกมที่ชนชั้นนำสยามเลือกที่จะเล่นสำหรับในเวทีการเมืองระหว่างประเทศยุคล่าอาณานิคมคริสต์ศตวรรษที่ 19 นั้น เป็นเกมของการประนีประนอมและเลือกรับดัดแปลงสมดังที่พระราชปรารภสุดท้ายของรัชกาลที่ 3 ทรงเคยพระราชทานไว้ คือ “ให้เรียนรู้จากเขา แต่อย่าให้นับถือหรือเลื่อมใสไปเสียทีเดียว” พูดง่าย ๆ ก็คือลอกเลียนวิธีการของเจ้าอาณานิคมมาปรับใช้ และด้วยวิถีทางดังกล่าวนี้ก็เป็นที่เชื่อแน่ว่า ชนชั้นนำสยามจะร่วมอยู่ในห่วงโซ่อาหารลำดับต้นในโลกอาณานิคมไปด้วย ไม่ใช่ผู้ถูกยึดครองเหมือนอย่างชาติที่ตกเป็นอาณานิคม  

แม้ไม่ใช่ยุคที่ทำสงครามชนช้างกันไปนานแล้ว ช้างก็ยังคงมีบทบาทในการกอบกู้บ้านเมืองของสยามยุคตะวันตกล่าอาณานิคม เพราะช้างถูกใช้ในทางการทูตโดยเริ่มตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา ภายใต้อารมณ์ความรู้สึกที่แสดงออกถึงความเป็นผู้ปกครองชนชาติศิวิไลซ์ไปด้วยนั้น เจือปนด้วยอารมณ์ความรู้สึกว่าตนเองก็เป็นเจ้าอาณานิคมเช่นเดียวกับผู้ปกครองชาวชาติตะวันตก ในแง่นี้ความเก่าแก่โบราณถูกนำเอามาใช้อ้างอิงเพื่อแสดงความศิวิไลซ์ภายใต้ระเบียบโลกใหม่ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 นั้นด้วย

เมื่อรู้สึกว่าถูกอังกฤษคุกคามหรืออังกฤษเข้ามามีบทบาทมากนับแต่การทำสนธิสัญญาเบาริงเมื่อ พ.ศ. 2398 ตัวเลือกแรกที่ชนชั้นนำสยามมองเห็นศักยภาพที่จะ ‘ถ่วงดุล’ อังกฤษได้เป็นอย่างดีนั้นคืออเมริกา จึงได้ส่งช้างไปเป็นทูตสันถวไมตรีกับประธานาธิบดี ‘อับราฮัม ลินคอล์น’ แต่เมื่อลินคอล์นปฏิเสธที่จะรับช้างไว้ ซึ่งนัยคือปฏิเสธบทบาทที่ชนชั้นนำสยามชักชวนให้มาเล่น เพราะเป็นเวลาที่ลินคอล์นยังยุ่งอยู่กับกิจการภายในของสหรัฐฯ ที่กำลังคุกรุ่นด้วยเรื่องทาส และด้วยเรื่องทาสนี้เอง ทำให้อเมริกายุคนั้นไม่ไว้วางใจที่จะคบหากับสยาม และเชื่อว่าสยามโดยวิถีวัฒนธรรมเป็นพวกที่จะเข้ากับอังกฤษมากกว่าอเมริกา

แน่นอนว่าเรื่องไม่อยากคบกับสยามด้วยเหตุผลทำนองดังที่กล่าวมานี้ ย่อมเป็นเหตุผลที่ไม่ปรากฏเป็นทางการในเอกสารจดหมายตอบกลับมายังราชสำนักรัชกาลที่ 4 ในเอกสารประธานาธิบดีลินคอล์น ระบุเหตุผลที่ไม่รับเอาช้างสยามว่า เป็นเพราะสภาพภูมิอากาศไม่เหมาะแก่การเลี้ยงช้าง และการขนส่งด้วยเครื่องจักรไอน้ำมีประสิทธิภาพกว่าช้าง แต่หากสังเกตเอกสารรายงานของทูตสหรัฐฯ ที่เข้ามาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 จะเห็นว่ามีการวิพากษ์วิจารณ์สยามต่าง ๆ นานา ประเด็นสำคัญนั้นอยู่ที่ข้อสรุปที่ว่าสยามไม่น่าคบหาเพราะเป็นสังคมมีทาส ซึ่งในขณะเมื่อทูตอเมริกันเข้ามาพบเห็นนั้นสยามยังมิได้มีท่าทีว่าจะปลดปล่อยทาส การเลิกทาสนั้นเกิดในสมัยรัชกาลที่ 5 ดังที่ทราบกัน  

เมื่ออเมริกาไม่เล่นด้วย ตัวเลือกลำดับต่อมาจึงตกเป็นของฝรั่งเศส  ราชสำนักรัชกาลที่ 4 จึงได้ส่งช้างไปฝรั่งเศส ด้วยความที่ชาวฝรั่งเศสยังพอหลงเหลือความทรงจำเกี่ยวกับสัมพันธภาพอันงดงามและน่ามหัศจรรย์ในยุคพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 กับสมเด็จพระนารายณ์ ฝรั่งเศสจึงได้ช้างจากสยามในยุคสาธารณรัฐเฉกเช่นที่เคยได้ในยุครุ่งเรืองของสมบูรณาญาสิทธิราชย์  

อีกทั้งยังเป็นยุคที่มหาอำนาจในยุโรปต่างแสวงหาเมืองขึ้นและความสัมพันธ์กับรัฐโพ้นทะเล การตอบรับเป็นไมตรีกับสยามที่ส่งช้างมามอบให้นั้นนับเป็นเรื่องน่ายินดี ถึงจะรู้ดีว่านั่นอาจเป็นการตกลงเล่นบทคานอำนาจหรือถ่วงดุลกับอังกฤษ แต่ ณ โมเมนต์นั้นฝรั่งเศสก็แสดงตัวเป็นปฏิปักษ์และแข่งขันกับอังกฤษอยู่ก่อนแล้วด้วย จึงไม่เป็นปัญหาอย่างใด    

แต่แล้ว ‘ช้างบรรณาการ’ ที่รัชกาลที่ 4 ส่งไปฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ. 2403 กลับต้องพบชะตากรรมถูกนายทหารที่ปารีสสังหารในอีก 10 ปีต่อมา เพื่อนำเอาเนื้อไปปรุงอาหารในช่วงที่มีวิกฤตเศรษฐกิจ  การจากไปของช้างบรรณาการทั้ง 2 เชือก ถึงจะเป็นไปอย่างเงียบ ๆ แน่นอนย่อมไม่มีจดหมายแจ้งบอกมายังราชสำนักสยาม ซึ่ง ณ พ.ศ. 2413 อันเป็นปีที่ช้างบรรณาการทั้งสองมีลมหายใจอยู่เฮือกสุดท้ายนั้น สยามได้ผลัดแผ่นดินมาเป็นรัชกาลที่ 5 ได้ 2 ปีแล้ว  และราชกิจการบริหารแผ่นดินตกอยู่ในมือของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ถึงแม้ว่าการฆ่าล้มช้างสยามที่กรุงปารีสไปทำสตูเนื้อ ชจะปรากฏเป็นภาพข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ ก็หาได้รับความสนใจจากสยามเวลานั้นแต่อย่างใดไม่  

บนทางแพร่งระหว่าง ‘สันถวไมตรี’ กับ ‘ทรมานสัตว์’ เมื่อโลกเปลี่ยนไป (แต่) การทูตของไทยยังไม่ยอมเปลี่ยนแปลง 

ไม่เป็นที่แน่ชัดว่า การจากไปของช้างบรรณาการส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์สยาม - ฝรั่งเศสที่เลวร้ายลงหลังกรณีวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 อย่างไร ที่แน่ ๆ หากช้างบรรณาการยังอยู่จนถึงช่วงเวลาดังกล่าว อาจจะยังพอมีสิ่งมีชีวิตที่ช่วยให้เจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสเล็งเห็นมิติที่เป็นมิตรภาพที่ดีต่อกันขึ้นบ้าง ไม่มากก็น้อย 

ยังไม่ต้องพูดถึงบทบาทในตำนานประวัติศาสตร์อย่างการกอบกู้บ้านเมืองของสมเด็จพระนเรศวร การใช้ช้างเป็นทูตเพื่อเอกราชปรากฏเป็นรูปธรรมภายใต้ยุคอาณานิคมในสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา ทำให้ช้างกลายเป็นสัญลักษณ์ประจำชาติ ปรากฏในธงชาติก่อนหน้าธงไตรรงค์ที่เรียกว่า ‘ธงช้างเผือก’  

แต่ก็นั่นแหละ ภายใต้ภารกิจเพื่อศาสนาและชาติบ้านเมือง ชะตากรรมของช้างบรรณาการฝรั่งเศสควรนับเป็นอีกกรณีตัวอย่างหนึ่ง  ก่อนหน้าที่จะมีกรณีที่น่าเศร้าอย่าง ‘ช้างฮานาโกะ’ ที่ล้มที่ญี่ปุ่น  หรืออย่างกรณี ‘พลายศักดิ์สุรินทร์’ ที่ถูกส่งไปเพื่อภารกิจของชาติไทย แต่ต้องไปทนทุกข์ทรมานในนามพิธีกรรมทางพุทธศาสนาในต่างประเทศ  

เจาะลึก ‘ช้างสยาม’ เดินทางไปต่างแดน จากสมัยอยุธยา ถึงรัตนโกสินทร์

จากประวัติศาสตร์การส่งช้างไปต่างประเทศ จะพบว่าช้างทำคุณประโยชน์แก่บ้านเมืองนี้มาอย่างยาวนาน โดยที่พวกเขาไม่เคยได้เรียกร้องสิทธิของตนเอง พวกที่เคลมการทำคุณประโยชน์แก่บ้านเมืองในเรื่องนี้กลับเป็นหน่วยงานที่เพิ่งก่อตั้งหลังการปฏิรูปสมัยรัชกาลที่ 5 อย่างกองทัพทหารประจำการ เพียงแต่ช้างพูดไม่ได้  ยึดอำนาจไปจากผู้อื่นยิ่งไม่เป็น          

การใช้สัตว์ในทางการทูตเช่นที่ปฏิบัติกันมาในอดีต โดยเฉพาะยุคที่โลกยังปกคลุมด้วยลัทธิอาณานิคม สำหรับยุคปัจจุบันนี้ยังควรปฏิบัติกันสืบต่อไปอีกหรือ? ในเมื่ออีกมิติหนึ่งมันเป็นการทรมานสัตว์ ต่างประเทศเขามีแนวคิดว่าด้วยสิทธิสัตว์ (Animal right) แต่ก็นั่นแหละในประเทศโลกที่สามที่แม้แต่สิทธิของคน (Human right) ยังไม่ยอมรับรู้หรือปฏิบัติกันเท่าไรเลย นับประสาอะไรกับสิทธิของสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่นที่พูดภาษามนุษย์ไม่ได้  

ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับต่างประเทศ โดยวิธีที่ใช้สัตว์เป็น ‘ทูตสันถวไมตรี’ ในอีกด้านหนึ่งกลับกลายเป็นประวัติศาสตร์ของการทรมานสัตว์ไปด้วยอย่างไม่ควรจะเป็น  แน่นอนประเทศอื่นก็ทำ ตัวอย่างเช่น จีนที่ส่งหมีแพนด้าไปทั่วโลก แต่วัฒนธรรมแบบนี้ก็ถึงคราวที่ควรจะต้องปรับเปลี่ยนได้แล้วหรือยัง?  

น่าสังเกตด้วยว่าประเทศที่ยังคงประเพณีใช้สัตว์ในทางการทูตเช่นที่จีนกับไทยกระทำนี้มักเป็นประเทศที่ยังปกครองในระบอบเผด็จการอำนาจนิยม ในขณะที่ประเทศที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย มีผู้นำจากการเลือกตั้งตามปกติ มักจะเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวสนับสนุนแนวคิดสิทธิสัตว์มีบทบาทอยู่ด้วย บางอย่างเมื่อถึงเวลาต้องเปลี่ยน แต่ถูกฉุดรั้งไว้ไม่ให้เปลี่ยน จะส่งผลเสียมากกว่าผลดี    

ธรรมดาสัตว์ย่อมรักชีวิต และทุกชีวิตก็ย่อมไม่ปรารถนาจะพบโศกนาฏกรรมห่างบ้านไกลเมืองจากถิ่นที่อยู่ที่ตนกำเนิดมาหรือคุ้นเคย การพลัดพรากจากครอบครัวและญาติมิตรเป็นความทุกข์ของมนุษย์ฉันใด สัตว์ก็มีชีวิตจิตใจเช่นเดียวกัน การปฏิบัติต่อสัตว์มีความสำคัญในฐานะด้านกลับที่แสดงให้เห็นความเป็นมนุษย์ของเราเอง

ในแวดวงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศซึ่งกอปรด้วยบุคลากรผู้มีความรู้และสติปัญญามากมาย ณ ปัจจุบันกาลนี้ ไม่น่าที่จะไม่คิดพิจารณาเห็นได้ว่า การเชื่อมสายสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่กระทำโดยวิถีทางการทรมานสัตว์นั้นยังเป็นสิ่งจำเป็นอยู่หรือไม่? เป็นไปได้อย่างไรที่จะไม่มีหนทางอื่นหรือสิ่งใดจะมาทดแทนวิธีโบราณเช่นนี้ได้อีกแล้วอย่างนั้นหรือ?          

 

ภาพ: เพจเฟซบุ๊ก ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จ.ลำปาง The Thai Elephant Conservation Center Lampang และ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช   

อ้างอิง:

กำพล จำปาพันธ์. คชายุทธ์-พุทธ์ชาติ์: ยุทธหัตถีและสงครามบนหลังช้าง/พุทธศาสนากับความเป็นชาติในประวัติศาสตร์ศรีลังกา อุษาคเนย์ และสยาม. พิษณุโลก: สถานอารยธรรมศึกษาโขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2558. 

กำพล จำปาพันธ์. อยุธยา: จากสังคมเมืองท่านานาชาติสู่มรดกโลก. นนทบุรี: มิวเซียมเพรส, 2559. 

ไกรฤกษ์ นานา. “‘ช้างบรรณาการ’ จากรัชกาลที่ 4 จบชีวิตที่ร้านขายเนื้อกรุงปารีส!?” ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนกันยายน 2559 https://www.silpa-mag.com/history/article_2902 (เผยแพร่เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2566). 

จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์. ‘ช้างเป็นสินค้า: ค้าช้างสมัยอยุธยา’ ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 25, ฉบับที่ 3 (มกราคม 2547), หน้า 114 - 122. 

เชาเต็น, โยสต์. ‘เรื่องเกี่ยวกับราชอาณาจักรสยามในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมและสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง’ แปลโดย สมศรี เอี่ยมธรรม ใน รวมเรื่องแปลหนังสือและเอกสารทางประวัติศาสตร์ชุดที่ 1. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2555. 

แชรแวส, นิโกลาส์. ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม (ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช). แปลโดย สันต์ ท. โกมลบุตร, นนทบุรี: ศรีปัญญา, 2550. 

ทวีศิลป์ สืบวัฒนะ. “สาเหตุที่ ปธน. ‘ลินคอล์น’ ปฏิเสธ ‘ช้างพระราชทาน’ จากรัชกาลที่ 4” ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2531 https://www.silpa-mag.com/history/article_10868 (เผยแพร่เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2566).  

พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม). นนทบุรี: ศรีปัญญา, 2551. 

พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม). นนทบุรี: ศรีปัญญา, 2553.

ไม่ระบุนามผู้แต่ง. ‘นิราศเมืองเทศ’ ใน รวมนิราศเบ็ดเตล็ด. กรุงเทพฯ: องค์การค้าของคุรุสภา, 2528. 

ไรท์, ไมเคิล. ‘พระเจ้าช้างเผือกและการค้าช้าง’ มติชนสุดสัปดาห์. ปีที่ 7, ฉบับที่ 319 (12 ตุลาคม 2529), หน้า 32 - 33. 

ลาลูแบร์, มงซิเออร์ เดอ. จดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม. แปลโดย สันต์ ท. โกมลบุตร, นนทบุรี: ศรีปัญญา, 2552. 

วรางคณา นิพัทธ์สุขกิจ. หนังกวาง ไม้ฝาง ช้าง ของป่า: การค้าอยุธยาสมัยพุทธศตวรรษที่ 22 - 23. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, 2550. 

วินัย พงศ์ศรีเพียร (บก.). หมิงสือลู่ - ชิงสือลู่ : บันทึกเรื่องจริงแห่งราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิง ตอนว่าด้วยสยาม. กรุงเทพฯ: มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ, 2565. 

สำเภากษัตริย์สุลัยมาน (The Ship of Sulaiman). แปลโดย ดิเรก กุลสิริสวัสดิ์, กรุงเทพฯ: มติชน, 2545.  

สิริเซนา, ดับบลิว. เอ็ม. (W. M. Sirisena). ศรีลังกาและอุษาคเนย์: ว่าด้วยความสัมพันธ์ทางการเมือง ศาสนา และวัฒนธรรม (Sri Lanka and South-East Asia). นครปฐม: สาละพิมพการ, 2563. 

อมรวงศ์วิจิตร, หม่อม (ม.ร.ว.ปฐม คเนจร). พงศาวดารหัวเมืองมณฑลอีสาน. กรุงเทพฯ: วัชรินทร์การพิมพ์, 2539. 

DeMello, Margo. Animals and Society: An Introduction to Human-Animal Studies. Columbia University Press, 2012. 

Michelson, Brittany. Voices for Animal Liberation: Inspirational Accounts by Animal Rights Activists. Sky horse, 2020. 

Safina, Carl. Beyond Words: What Animals Think and Feel. Picador (Reprint edition), 2016.

Sorenson, John. Constructing Ecoterrorism: Capitalism, Speciesism and Animal Rights. Fernwood Publishing, 2006. 

Timofeeva, Oxana. The History of Animals: A Philosophy. Bloomsbury Academic, 2018. 

Yong, Ed. An Immense World: How Animal Senses Reveal the Hidden Realms Around Us. Random House, 2022.