ไมค์ มิลเลอร์ : ชาวอเมริกันผู้เป็นที่รักของคนเรียนภาษาญี่ปุ่นทั่วโลก

ไมค์ มิลเลอร์ : ชาวอเมริกันผู้เป็นที่รักของคนเรียนภาษาญี่ปุ่นทั่วโลก

ไมค์ มิลเลอร์ (Mike Miller) ตัวละครหลักในตำราเรียนสุดคลาสสิก 'มินนะ โนะ นิฮงโกะ' เขาคือชาวอเมริกันที่จะมาเป็นตัวแทนชาวต่างชาติในจำลองใช้ชีวิตในประเทศญี่ปุ่น เพื่อทำให้ผู้เรียนเข้าใจวัฒนธรรมของประเทศแห่งนี้มากยิ่งขึ้น

สำหรับผู้เรียนภาษาญี่ปุ่นทั่วโลก ทั้งในประเทศไทย และในต่างประเทศ เมื่อทุกคนได้ยินประโยคแนะนำตัว

“วะตะชิวะ มะอิคุ มิล่า เดะซุ (わたしはマイク・ミラーです)” ที่เป็นประโยคแนะนำตัวของคุณไมค์ มิลเลอร์

ทุกคนก็จะหวนระลึกถึงอดีตตอนที่ตัวเองกำลังเริ่มเรียนภาษาญี่ปุ่นกันอยู่เป็นจำนวนมาก (จะระลึกถึงความสุข หรือระลึกถึงความทรมานในการเรียน ก็แล้วแต่คน :P )

โดยคุณไมค์ มิลเลอร์ (Mike Miller) เป็นชาวอเมริกันซึ่งเป็นตัวละครหลักในตำราเรียนสุดคลาสสิก “มินนะ โนะ นิฮงโกะ” เรียกว่าถ้าประเทศไทยพูดถึงตำราเรียนภาษาไทยสุดคลาสสิกคือ มานี มานะ ปิติ ชูใจ

ฝั่งของตำราเรียนภาษาญี่ปุ่นสำหรับชาวต่างชาติก็จะมีคุณไมค์ มิลเลอร์เป็นตัวเอกระดับตำนานเช่นกัน

ตำราเรียนเล่มนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี ค. ศ. 1998 และโด่งดังระดับตำนานจนได้รับการแปลเป็นอีกหลายสิบภาษาทั่วโลกทั้งถูกลิขสิทธิ์และผิดลิขสิทธิ์

โดยในประเทศไทยมีตัวแทนผู้ได้รับอนุญาตให้ตีพิมพ์จำหน่ายได้ถูกลิขสิทธิ์คือ สำนักพิมพ์ภาษาและวัฒนธรรม

ในเครือสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) หรือ ส. ส. ท. แต่ของญี่ปุ่นและของไทยมีจุดต่างที่ชัดเจนมากคือ ของญี่ปุ่นจะมีเพียง 2 เล่มที่เป็นตำราเรียนหลัก และมีตำราไวยากรณ์แยกต่างหาก

แต่ของไทยนำตำราไวยากรณ์พิมพ์รวมเข้าไปกับตำราเรียนหลักเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้เรียน ทำให้

เล่ม 1 ของญี่ปุ่น กลายเป็นเล่ม 1 และเล่ม 2 ของไทย เมื่อเรียนจบบทที่ 1-25 จะสามารถสอบวัดระดับ N5 ของภาษาญี่ปุ่นได้

เล่ม 2 ของญี่ปุ่น กลายเป็นเล่ม 3 และเล่ม 4 ของไทย เมื่อเรียนจบบทที่ 26-50 จะสามารถสอบวัดระดับ N4 ของภาษาญี่ปุ่นได้

 

ลักษณะเด่นของตำราเรียนเล่มนี้

คือจำลองสถานการณ์จริงของชาวอเมริกันท่านหนึ่ง ที่บังเอิญต้องไปทำงานและใช้ชีวิตที่ประเทศญี่ปุ่น แถมยังไม่ใช่กรุงโตเกียว

แต่เป็นแถบโอซาก้า ซึ่งในยุคหลายทศวรรษที่แล้ว ยังไม่มีตำราเรียนภาษาญี่ปุ่นสำหรับชาวต่างชาติที่มีประสิทธิภาพมากนัก

และอินเทอร์เน็ตก็ยังไม่มี ทำให้การเรียนภาษาญี่ปุ่นสำหรับชาวต่างชาติเป็นไปอย่างยากลำบาก

จากเรื่องเล่าปากต่อปากซึ่งน่าจะมีมูลความจริงอยู่บ้างคือ

ชาวอเมริกันคนหนึ่งและผองเพื่อนจึงเกิดแรงบันดาลใจที่จะผลิตตำราเรียนสำหรับชาวต่างชาติที่มีประสิทธิภาพ

จึงรวมทีมกันผลิตตำราเรียน “มินนะ โนะ นิฮงโกะ” ขึ้นมา โดยมีตัวละครสมมติคือ คุณไมค์ มิลเลอร์ เป็นตัวละครหลักของตำรา และจำลองฉากหลังเป็นโอซาก้า แทนที่จะเป็นกรุงโตเกียวซึ่งเป็นเมืองหลวง

 

คุณไมค์ มิลเลอร์ และผองเพื่อน โด่งดังมากจนถึงขั้นมีคนรวบรวมข้อมูลไว้ใน https://plus.3anet.co.jp/japanese-edu/koza016-02/ โดยกล่าวถึงชีวิตของคุณไมค์ในทุกแง่มุมเท่าที่ปรากฏในตำราเรียนทั้ง 50 บทนี้ เช่น

1) คุณไมค์เป็นชาวอเมริกันที่มาญี่ปุ่นตอนอายุ 28

2) คุณไมค์ทำงานที่บริษัท IMC Computer Software และเรียนภาษาญี่ปุ่นไปด้วย

3) คุณไมค์รักสัตว์ และทำอาหารเก่ง

4) คุณไมค์ตื่น 7 โมงทุกวันทำงาน และนอนตอนเที่ยงคืน

5) คุณไมค์ฝันอยากไปเที่ยวแอฟริกา

นอกจากนี้ เนื่องจากตำราเล่มนี้เป็นตำราเรียนสำหรับผู้ใหญ่ที่ทำงานแล้ว ไม่ใช่ตำราเรียนสำหรับเด็กหรือนักศึกษา

จึงมีเนื้อเรื่องกล่าวถึงรัก ๆ ใคร่ ๆ ด้วย เช่น สาวญี่ปุ่นที่เป็นเพื่อนร่วมงานของคุณไมค์ ที่ชื่อ ซะโต้ เคโกะ

เคยพยายามชวนคุณไมค์ไปเดตชมดอกไม้ หรือ อีกกรณีที่คุณไมค์พยายามชวนสาวญี่ปุ่นชื่อ คิมุระ อิสึมิ ไปฟังคอนเสิร์ตเพลงคลาสสิกด้วยกัน เป็นต้น

 

นอกจากคุณไมค์ ยังกล่าวถึงผองเพื่อนของคุณไมค์ด้วย เช่น คุณยะมะดะ อิจิโร่ พยายามช่วยให้คุณไมค์จีบคุณคิมุระให้ได้

จนในที่สุดทั้งคู่ก็ได้ไปดูหนังด้วยกันสำเร็จ แต่น่าเสียดายที่คุณไมค์ต้องย้ายไปทำงานที่โตเกียว ผลคือ ภายหลัง คุณคิมุระ

เลยไปลงเอยแต่งงานกับคุณวัตต์ไปแทน และปิดท้ายบทที่ 50 ด้วยการให้คุณไมค์ชนะเลิศประกวดสุนทรพจน์ภาษาญี่ปุ่น

และได้รับเงินรางวัลจำนวนหนึ่ง โดยคุณไมค์ตั้งใจจะใช้เงินรางวัลนี้ทำฝันให้เป็นจริงคือไปเที่ยวแอฟริกา และถ่ายรูปกับยีราฟ และช้าง

 

จัดเป็นตำราที่ นอกจากจะให้ความรู้ด้านคำศัพท์และไวยากรณ์ภาษาญี่ปุ่นแล้ว ยังมีเนื้อหาขำขันสนุกสนาน

พร้อมสถานการณ์ต่าง ๆ ของการใช้ชีวิตในประเทศญี่ปุ่น และมีสื่อการสอนประกอบตำราอีกมากมายครบครัน

ตำราเรียนชุดนี้จึงเป็นที่นิยมแพร่หลายไปหลายสิบประเทศทั่วโลกตลอดหลายทศวรรษมานี้ และตัวละครไมค์ มิลเลอร์

จึงกลายเป็นตัวละครคลาสสิกระดับโลกที่คนเรียนภาษาญี่ปุ่นจำนวนมากผูกพันเพราะได้เห็นการเติบโตของตัวละครนี้มาตลอดหลายทศวรรษนั่นเอง