'มะเส็ง' (งูเล็กที่ไม่เล็ก) ในวัฒนธรรมสังคมไทยแท้ๆ

'มะเส็ง' (งูเล็กที่ไม่เล็ก) ในวัฒนธรรมสังคมไทยแท้ๆ

งูมีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตคนไทยมาตั้งแต่สมัยโบราณ เห็นได้จากการมีคำว่า 'งู' อยู่ในภาษิตคำพังเพยสำหรับให้แง่คิดหรือคติเตือนใจอยู่หลายคำหลายประโยค

KEY

POINTS

  • งูมีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตคนไทยมาตั้งแต่สมัยโบราณ เห็นได้จากการมีคำว่า 'งู' อยู่ในภาษิตคำพังเพยสำหรับให้แง่คิดหรือคติเตือนใจอยู่หลายคำหลายประโยค
  • งูเป็นสัตว์ที่คนไทยเคารพ และมีความเชื่อว่าเป็นบรรพชนของตน งูจึงเป็นสัญลักษณ์ของบุญบารมี ความเป็นที่รัก อุปถัมภ์ค้ำชู ตลอดจนความมั่งคั่งรุ่งเรือง
  • แต่สำหรับสังคมตะวันตกกลับมองต่างออกไป พวกเขาเชื่อว่างูนอกจากจะมีพิษ งูยังเป็นสัญลักษณ์ของความชั่วร้ายและซาตานอีกด้วย

มะเส็ง ปีงู

ปีใหม่ 2568 นี้เป็น “ปีมะเส็ง” หรือ “ปีงูเล็ก” ตามลำดับการจัดแบ่งนามปีที่เรียกว่า “สิบสองนักษัตร” ทำไมปราชญ์โบราณถึงได้เลือกงู เข้ามาเป็นปีนักษัตร เป็นเรื่องยากที่จะอธิบาย แต่ก็มีหลายท่านเคยอธิบายกันมาพอสมควรแล้ว 

ถึงแม้เป็นสัตว์ไม่พึงประสงค์ในการพบเจอ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่างูในเมืองไทยนี้สัมพันธ์กับวิถีชีวิตคนอยู่ไม่น้อย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็เช่นในภาษาไทยมีงูอยู่ในภาษิตคำพังเพยสำหรับให้แง่คิดหรือคติเตือนใจอยู่หลายคำหลายประโยคด้วยกัน อาทิ: “ขว้างงูไม่พ้นคอ”, “เฒ่าหัวงู”, “เมียงู”, “ชาวนาเลี้ยงงูเห่า”, “งูๆ ปลาๆ”, “ตีงูที่หาง”, “หมองูตายเพราะงู”, “งูกินหาง”, “ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่”, เจองู เจอแขก ให้ตีแขก” ฯลฯ 

ตามธรรมดาทุกชาติภาษา จะมีขนบของอธิบายลักษณะนิสัย พฤติกรรม บางอย่างของมนุษย์ในสังคมของตน โดยการเปรียบเทียบกับสัตว์ งูก็ถูกใช้อธิบายลักษณะของคนบางประเภทเช่นกัน ถึงได้มีคำว่า “เฒ่าหัวงู” หรือถ้าโกรธเกลียดกันหรือถูกทำร้าย ก็มีคำว่าเช่นว่า “ไอ้งูพิษ” หรือ “นังงูพิษ” ส่วนใหญ่ “งูพิษ” ใช้เป็นคำด่าสตรีเพศ 

งูกับ Gender เกี่ยวข้องกัน เป็นได้ทั้งสัญลักษณ์ของเพศชายและเพศหญิง เพราะเดิมมีความเชื่อว่างูไม่มีเพศ หรือเป็นได้ทั้งสองเพศ อาจจะเกี่ยวกับที่เมื่อก่อนไทยยังไม่มีความรู้ในการจัดจำแนกประเภทสัตว์ตามเพศ แต่ในธรรมชาติจริงๆ ไม่มีการระบุเพศ การระบุเพศแบ่งเป็น ช. กับ ญ. นั้นมีที่มาจากการเอามุมมองความเชื่อของคนที่เชื่อว่าการมี 2 เพศ เป็นเรื่องธรรมชาติ ไปจัดประเภทสัตว์ในธรรมชาติอีกต่อหนึ่ง 

ในระบบคิดวัฒนธรรมสังคมไทย งูไม่ได้มีมิติเดียว และในความเป็นสัญลักษณ์แทน งูก็เป็นได้หลากหลายแบบ งูเป็นสัตว์เก่าแก่ดึกดำบรรพ์ จึงมีในหลายวัฒนธรรมของแต่ละชนชาติ บอกเล่าให้ผู้คนได้รู้จักและทำความเข้าใจเกี่ยวกับงู     

งู-นาค & รัก-เคารพ 

อาจารย์ ส. พลายน้อย (นามปากกาของสมบัติ พลายน้อย) เคยกล่าวไว้ในเล่มเรื่อง “สิบสองนักษัตร” ว่าเมืองไทยเป็นเมืองงู แต่คนไทยไม่รักงู ไม่เหมือนคนแขก ที่มีการจับงูมาเลี้ยงมาฝึกเล่นเป่าปี่เต้นรำได้ 

การละเล่นเช่นนี้กล่าวกันว่ามีมาก่อนพุทธกาลเสียอีก ดังจะเห็นได้จาก “ภูริทัตชาดก” ซึ่งเป็นชาดกเรื่องหนึ่งใน 10 เรื่องยอดนิยม ที่เรียกว่า “พระเจ้าสิบชาติ” โดยในภูริทัตชาดก พระพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็นนาคบำเพ็ญเพียรอยู่แล้ว ถูกพราหมณ์อาลัมพายน์ใช้มนต์จับเอาไปฝึกเร่แสดง เพราะเป็นพระโพธิสัตว์จึงหลุดพ้นจากมนต์ของพราหมณ์ได้ไม่ช้านาน แต่ก็ไม่ได้จากพราหมณ์ไป และถึงจะมีฤทธิ์ก็ไม่ทำร้ายพราหมณ์แล้วหนีไป 

แทนที่จะมองแต่ด้านว่าผู้เลี้ยงฝึกสัตว์ได้ชำนาญเก่งกาจ จะรู้ได้ไงว่าแท้ที่จริงแล้วไม่ใช่สัตว์มันกำลังเห็นอกเห็นใจมนุษย์ที่น่าสงสารนั้นอยู่ นี่เป็นพระโพธิสัตว์ในร่างสัตว์ จึงถูกมองอีกแบบหนึ่ง แต่เราจะรู้ได้ยังไงล่ะว่าสัตว์ตนใดเป็นพระโพธิสัตว์? 

ผู้เขียนอยากจะถกเถียงกับอาจารย์ ส. พลายน้อย ในเรื่องนี้อยู่ว่า ไม่ใช่คนไทยไม่รักงูมากเท่าคนแขก แต่เพราะเคารพมากจนเกินไปต่างหาก แน่นอนว่าเพราะกลัวพิษงูก็ด้วย เลยไม่นิยมจับมาเลี้ยงมาฝึกเล่น ยกเว้นแต่เป็นพวกคนไม่ปกติที่อยากจะมีสัตว์เลี้ยงแปลกประหลาดไว้อวดบารมี 

ที่ว่าเคารพงูนั้น ไม่ใช่เรื่องพูดลอยๆ มีหลักฐานเยอะแยะที่บอกว่า อย่าว่าแต่คนไทยสยามเลย แต่ก่อนคนทั่วภูมิภาคสุวรรณภูมิ-อุษาคเนย์นี้ต่างก็เคารพนับถืองูกันทั้งนั้น  อย่างใน “ตำนานอุรังคธาตุ ฉบับวัดทาดหลวง นะคอนหลวงเวียงจัน” ซึ่งผู้เขียนกำลังแปลถ่ายทอดออกเป็นภาษาไทย ก็มีเนื้อความระบุว่านาคบางตนที่มีฤทธิ์สามารถแปลงเป็นงูตัวเล็กๆ ได้ และเมื่อตาย นาคจะกลายเป็นงูลอยขึ้นไปเมืองบน (สวรรค์) 

นั่นหมายความว่า นาคที่ร่างใหญ่โตซึ่งเราเห็นช่างชอบปั้นทำไว้ตามบันไดโบสถ์วิหารของวัดวาอารามนั้น ไม่ใช่ร่างจริง เป็นร่างแปลง ร่างจริง เป็นงูเล็ก และที่ยังมาเกิดเป็นงูก็เพราะผลกรรมที่หวงแหนยึดติดกับแผ่นดินผืนน้ำอันเป็นที่อยู่แห่งตน ไม่ยอมปล่อยให้มนุษย์เป็นเจ้าเข้าครอบครอง แม้จะบำเพ็ญเพียรมามาก แต่เมื่อยังละซึ่งกิเลสราคะตรงนี้ไม่ได้ นาคก็ไปไหนไม่ได้ 

นาคบางตนยังมีสถานะสูงส่ง เป็นถึงพระญาติวงศ์ (ราชวงศ์ศากยะ) ของพระพุทธเจ้าเองด้วยซ้ำ (ภายหลังความเชื่อนี้ได้รับการยืนยันไปอีกในแง่ที่ว่าราชวงศ์นี้มีพื้นเพมาจากทางตอนเหนือของอินเดียโบราณ ที่เคยถูกคนทางตอนกลางมองว่าเป็นพวกนาคอยู่ด้วย) เมื่อนาคละซึ่งความยึดติดได้แล้ว นาคก็จะขึ้นไปเป็นเทพบุตร เทพธิดา เสวยสุขอยู่บนสวรรค์ชั้นฟ้า เขาว่าไว้อย่างนั้น   

เมื่อ “งู” คือบรรพชนคนไทยแท้ๆ 

นอกจากงูเล็กอาจจะเป็นพระยานาคแปลงกายมา งู (ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่) ชาวไทยอุษาคเนย์ยังมีความเชื่อว่าเป็นบรรพชนของตนอีก เพราะแต่ก่อนหรือจนบัดนี้สัตว์ที่มักเข้ามาเยือนบ้านเรือนที่อาจเคยเป็นที่อยู่ของบรรพชนผู้ล่วงลับ โดยมากก็คืองู เผลอปล่อยร้าง งูก็เข้ามาอยู่อาศัย เป็นเหตุให้คนเชื่อว่างูคือเจ้าของเรือนเดิม 

ความเชื่อนี้เก่าแก่จนถึงขนาดว่า ลวดลายหม้อหลายชิ้นที่ขุดพบที่บ้านเชียง จ.อุดรธานี จำนวนมากมีลายเขียนรูปงู สีสันแปลกตาของลายงูต่างๆ นั้นชวนให้คิดว่าคนบ้านเชียงอาจจะอยู่ร่วมกับงู หรือรู้จักงูดีพอจนเลี้ยงไว้เป็นเพื่อนเล่น หรือจัดแสดงในพิธีกรรม  

เมื่อเชื่อว่างูคือบรรพชน งูจึงเป็นสัญลักษณ์ของบุญบารมี ความเป็นที่รัก อุปถัมภ์ค้ำชู ตลอดจนความมั่งคั่งรุ่งเรือง และเมื่องูคือบรรพชน งูก็เป็นสัญลักษณ์ของการก่อเกิดและอวัยวะเพศชาย จนกระทั่งพัฒนามาเกี่ยวพันกับคติเนื้อคู่ ผู้หญิงถ้าฝันเห็นงู โดนงูฉก งูรัด งูกัด จากฝันร้าย พอมาเจอคำทำนายสาวเจ้าเป็นยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ เพราะตำราพรหมชาติจะทำนายว่า สาวเจ้าจะเจอเนื้อคู่ คือมีงูน้อยเป็นของตนเอง จากฝันร้ายก็กลายเป็นดีไปนั่นเอง 

คนไทยเคยกินงู 

คนไทยปัจจุบันไม่นิยมกินงู ยกเว้นบางภูมิภาค แต่โดยปกติแล้ว แม้แต่เด็กอีสานที่บ้านยากจน เดี๋ยวนี้ก็มีน้อยที่จะยังบริโภคเนื้องูกันอยู่  คนจีนชอบกินดีงู ถือเป็นยาดี และก็งูดองเหล้า ซึ่งเป็น “เหล้าดองยา” ประเภทหนึ่ง ก็นิยมกันมาก แต่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยเห็น 

เมื่อก่อนเห็นเยอะ ไม่เว้นแม้แต่ในกลางกรุงกทม. ซุ้มยาดอง ก็มักจะมีอยู่โถหนึ่งหรือหลายโถ มีงูนอนตายแช่เหล้าอยู่ พอลูกค้าเข้าร้านมาก็จะเลือกเอาว่าจะกินเหล้าโถไหน ก็ชี้เอา แล้วแม่ค้าพ่อค้าก็จะตักเหล้าเอาจากโถนั้น ซึ่งบางโถถ้าเป็นดองงู ก็ตักเอาตรงนั้นเลย ผู้เขียนเคยชิมอยู่ไม่กี่ครั้ง ร้อนทองวาบ แก้วหนึ่งไม่เป็นไร แก้วสองยังพอเคลิ้มๆ แต่แก้วสาม แก้วสี่ ไปแล้ว ก็เริ่มจะตาลายตามัว ลิ้นพันพูดจารู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง ถ้าใครถาม จะต้องบอกว่า “ไม่เมา” นั่นแหล่ะคือเมาแล้วเรียบร้อย  

บางร้านถ้าแม่ค้าคนขายหน้าตาสะสวย โนตม และรู้จักพูดจาเฮฮาหยอกเย้ากับลูกค้าหน่อย ก็จะมีขาประจำแวะเวียนไม่ขาด ทั้งหนุ่มน้อยหนุ่มใหญ่ แต่ผู้เขียนไม่เคยเข้าร้านซุ้มเหล้ายาดองเพราะเหตุผลนั้นหรอกนะครับ (สาบานได้)    

ทั้งๆ ที่ก็รู้ และคนไปนั่งกินซุ้มเหล้ายาดองก็เห็นอยู่คาตา ว่าในโถยาดองเหล้านั้นมีซากน้องงูลูกหลานพระยานาคนอนตายตุยเย่อยู่ นั่นเพราะมันกลายเป็น “เหล้า” ไปแล้ว  

“เหล้า” เป็นเครื่องดื่มพิเศษที่คนจะกินต้องทำเป็นหลงลืมคุณและโทษของมัน จึงโนสนโนแคร์ด้วยอยู่แล้วว่า เหล้าจะทำมาจากอะไรก็ตาม มันก็คือเหล้า เพราะฉะนั้นต่อให้รู้ให้เห็นว่าในเหล้านั้นมีงูตายอยู่ หรือเหล้ามันทำมาจากงู ก็รับรู้แต่ก็โนแคร์ว่าคืองู คือเป็นเหล้าไปแล้วจริงๆ โดยปราศจากมิติการคิดคำนึงถึงที่มาของมัน 

งูกับอำนาจบารมี

สมัยอยุธยา งูบางชนิดอยู่ในรายการอาหารจานด่วนของไพร่พลในกองทัพ เพราะอาหารหลักคือเกลือ กินมากก็ท้องเสีย และล้มป่วยได้ แต่ถ้าเป็นงูหรือแย้ โดยเฉพาะที่ตัวอ้วนๆ โตๆ ถือเป็นอาหารโอชะสำหรับไพร่พลในกองทัพอโยธยา จนกระทั่งมีคำกล่าวว่า “กองทัพอโยธยาเดินด้วยแย้กับงู” ไม่เชื่อก็ดูในเล่ม “มนุษย์อยุธยา: ประวัติศาสตร์สังคมจากข้าวปลา หยูกยา ตำรา Sex” ได้ว่า ผู้เขียนโควตหลักฐานส่วนนี้มาจากไหน  

รัชกาลสมเด็จพระนารายณ์เคยมีเหตุการณ์ที่งูระบาดในแม่น้ำลำคลอง ฉกคนตายไปมาก สมเด็จพระนารายณ์จึงทรงประกาศห้ามไม่ให้ลงอาบน้ำในแม่น้ำลำคลอง เข้าใจว่าให้รอจนกว่าจะพ้นช่วงเวลาที่งูระบาดนั้นหมดไปเสียก่อน แสดงว่าไม่ใช่ว่าฤดูน้ำหลาก จะมีแต่เป็นคุณสำหรับชาวอยุธยาที่รักจะอยู่กับน้ำ เพราะพวกเขาก็เล็งเห็นโทษภัยจากสิ่งที่จะมากับน้ำท่วมอยู่ด้วย เข้าใจว่าเป็นงูที่ถูกน้ำพัดพามาจากเขตป่าดงดิบชื้น 

แต่งูก็ไม่ได้มีแต่มิตินั้นมิติเดียว  เรื่องของสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ที่ปรากฏเป็นตำนานในเล่มเรื่อง “อภินิหารบรรพบุรุษ” ก็มีเล่าว่า เมื่อแรกประสูติเป็นทารกแบเบาะอยู่นั้น มีงูเลื้อยมาขดอยู่รอบตัว แต่งูนั้นไม่ได้ทำอันตรายใดๆ แก่ทารกเลย บิดาเห็นดังนั้นก็คิดว่าเด็กน้อยนี้เป็นผู้มีบุญมาเกิด ชะรอยตนจะเลี้ยงไว้ไม่ได้ จึงเอาไปฝากเป็นบุตรบุญธรรมแก่เจ้าพระยาจักรี ซึ่งนั่นเป็นเหตุให้นายสินแซ่แต้ ที่จากเดิมเป็นเพียงลูกจีนคนหนึ่ง กลายเป็นคนมียศวาสนาขึ้นมา 

เนื่องจากการเป็นบุตรบุญธรรมของเจ้าพระยาจักรี ก็เท่ากับมีเส้นสายเครือข่ายกับขุนนางผู้ใหญ่ในราชสำนัก กระทั่งบิดาบุญธรรมผู้นี้ก็ฝากให้ไปเป็นมหาดเล็กในวังของเจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรี (สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์) นั่นคืองูตัวที่มานอนขดรอบทารกน้อยผู้นั้น คือผู้มาช่วยให้เด็กน้อยคนนี้กลายเป็นคนมีบุญวาสนาไปจริงๆ   

ไม่ใช่แต่เฉพาะไทยอยุธยา พม่าก็เชื่อแบบนี้ พระเจ้าบุเรงนองก็มีเรื่องเล่าแบบเดียวกับสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ และก็มีเส้นทางชีวิตที่คล้ายคลึงกันได้เข้าวังหลังจากที่มีงูมานอนขดอยู่ข้างๆ โดยไม่ทำอันตราย งูมันก็อาจจะอิ่มแล้วหรือไม่ก็เอ็นดูมนุษย์เด็กน้อย ไม่เห็นว่าจะทำอันตรายอย่างใดแก่ตนเอง แล้วก็เลื้อยผ่านไป แต่คนที่เห็นเหตุการณ์ก็แปลความหมายไปอีกแบบ ทารกบุเรงนองกลายเป็นผู้มีบุญไปในทันทีทันใด แล้วก็ได้รับการฝากฝังให้เจ้านายในราชวงศ์ตองอูเป็นผู้อุปภัมภ์ จนกระทั่งได้เป็นพี่ร่วมน้ำนมกับพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้  

อนึ่ง ไม่ปรากฏว่าบุคคลสำคัญในอดีตสมัยอยุธยาจะเคยถูกงูกัดตาย มีแต่สวรรคตเพราะโรคระบาดบ้าง เพราะสงครามบ้าง เพราะการถูกลอบปลงพระชนม์บ้าง เพราะได้ใช้บริการท่อนจันทน์ที่โคกพระยา อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการรัฐประหารบ้าง แต่ต่อไปสมเด็จพระยอดฟ้าฯ พระราชโอรสของสมเด็จพระไชยราชากับพระนางศรีสุดาจันทน์ ก็คงมีภาพจำว่าทรงถูกงูกัดตาย โดยมีขุนวรวงศาธิราชอยู่เบื้องหลัง เพราะละครแม่หยัว นำเสนอไว้แบบนั้น 

งูเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจบารมี  สัญลักษณ์นี้ภายหลังถูกแทนที่ด้วยศิวลึงค์ แต่ก็ไม่แนบสนิท เพราะศิวลึงค์เป็นของสูงเกินไป เลยไม่ใช่สัญลักษณ์ที่ผูกพันกับวิถีชีวิตสามัญชน เป็นสัญลักษณ์ของชนชั้นสูงเท่านั้น   

ใช่ว่างูจะถูกมองแต่ในด้านนั้น งูมีหลายมิติ ในกัมพูชา ถึงแม้จะมีความเชื่องูหรือนาคเป็นบรรพชนเช่นเดียวกัน แต่ก็มีกษัตริย์บางองค์มีตำนานเล่าต่างออกไป พระเจ้าสังขจักรมีเรื่องว่าทะเลาะกับนาค แล้วชักพระขรรค์ฟันคอนาคตายกับมือ เลือดนาคก็ท่วมกระเด็นมาโดนพระวรกาย จนทำให้พระองค์ประชวรด้วยพิษพระยานาค 

พระเจ้าสังขจักรที่มีตำนานเล่าเรื่องฆ่าพระยานาคนี้ จิตร ภูมิศักดิ์ เคยวิเคราะห์ตำนานนี้แล้วเสนอว่ากษัตริย์พระองค์นี้คือพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เพราะตำนานดูจะสอดคล้องกับพระราชประวัติของพระองค์ที่ทรงมีความขัดแย้งกับกลุ่มอำมาตย์ราชครูเก่าที่นับถือพราหมณ์ ขณะที่พระองค์เป็นผู้นำเข้าพุทธศาสนานิกายมหายานที่เรียกกันภายหลังว่า “พุทธศาสนาบายน” (Bayon Buddhism) เข้ามามีอิทธิพลทั้งในเมืองพระนครและหัวเมืองของอาณาจักรกัมพูชา 

เมื่อมีการค้นพบรูปที่หน้าพระราชวังหลวงของนครธม เป็นรูปชายสวมเครื่องประดับชั้นสูง นั่งชันเข่า และเนื้อตัวร่างกายมีตะปุ่มตะป่ำ ก็เชื่อกันว่าเป็นรูปพระเจ้าสังขจักรหรือ “พระเจ้าขี้เรื้อน” แต่ภายหลังมีข้อเสนอใหม่ว่า รูปประติมาดังกล่าวนั้นคือรูปพระยม เพราะนอกจากรูปนี้จะอยู่ใกล้พระราชวังหลวงแล้ว ยังใกล้ปราสาทที่มีรูปปั้นเล่าเรื่องไตรภูมิ  

เรื่องพระเจ้าขี้เรื้อนนั้นผิดแผกแตกต่างจากเรื่องของพระเจ้าบุเรงนองกับสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ กันลิบลับ 

อย่างที่ทราบกันดีว่า ไทยสยามรุ่นอยุธยารับสืบทอดมรดกหลายอย่างจากเขมรพระนคร เรื่องพระเจ้าขี้เรื้อนนี้ก็รับมาเช่นกัน แต่ตัดงูหรือนาคออกไป กษัตริย์พระองค์ใดจะเป็นพระเจ้าขี้เรื้อนไม่เกี่ยวกับไป “งัด” กับงูมา หากแต่เป็นเพราะไปนั่งในที่ไม่เหมาะไม่ควร เช่นที่มีเรื่องเล่าว่าสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ทรงแย่งราชสมบัติมาจากพระอนุชา (พระเจ้าอุทุมพร) ก็เลยโดนไพร่บ้านพลเมืองติฉินนินทากันและตั้งสมญาให้แก่พระองค์ว่า “ขุนหลวงขี้เรื้อน” 

“อสรพิษ” กับที่มาของบาปแรก (Original sin) 

อย่างที่กล่าวไว้ตอนต้นว่า เดิมคนไทยเคารพนับถืองู เชื่อว่างูเป็นบรรพชน งูเลื้อยผ่านหน้าก็ถือว่าจะโชคดี  แต่ในสังคมตะวันตก งูนอกจากจะมีพิษ งูยังเป็นสัญลักษณ์ของความชั่วร้ายและซาตาน ดังจะเห็นได้จากในพระคัมภีร์ไบเบิ้ล งูเป็นผู้ล่อลวงให้อดัมฝ่าฝืนคำสั่งของพระเจ้า ลอบกินแอปเปิ้ล งูทำให้มนุษย์ก่อบาปแรก (Original sin) และโทษทัณฑ์ของบาปนี้ก็ตกถึงลูกหลาน มนุษย์เลยต้องถูกขับออกจากสรวงสวรรค์สวนเอเด็น      

ความเชื่อต่องูเช่นนี้มีมาตั้งแต่กรีก-โรมันแล้ว ดังจะเห็นได้จากที่เมดูซ่าถูกสาปให้มีเส้นผมเป็นงู งูกลายเป็นสัญลักษณ์ความน่าเกลียดน่ากลัว ถึงตอนหลังจะมีการตีความว่าที่อาเธน่าสาปให้เมดูซ่าเป็นแบบนั้นก็เพื่อช่วยเธอให้รอดพ้นภัยจากเทพผู้ชายที่ทรงอำนาจอย่างโพไซดอนก็ตาม แต่นั่นก็ยังเป็นการมองงูเป็นความน่าเกลียดน่ากลัวอยู่ดังเดิม  

สิ่งนี้อยู่ในวัฒนธรรมวิธีคิดของชาวตะวันตก ยิ่งในช่วงหลังยุครู้แจ้ง (Enlighten age) ของคริสต์ศตวรรษที่ 17 ที่แนวคิดมนุษยนิยม (Humanism) เริ่มปรากฏเป็นกระแสหลักและเป็นพื้นฐานให้แก่โลกแนวคิดสมัยใหม่ มนุษย์ถูกแยกออกจากความเป็นสัตว์ สัตว์เป็นตัวแทนของสิ่งตรงข้ามกับมนุษย์อย่างความมีเหตุมีผล   

ในสังคมไทยสยาม บางครั้งก็ถูกสอนให้รับรู้ว่า มีสิ่งที่น่ากลัวกว่างู คือคนบางประเภท จึงมีคติว่า “เจองู เจอแขก ให้ตีแขก” เดิมไม่เหยียดแขก เพราะเหมือนจะบอกอยู่โดยนัยว่า แขกจะฉลาดแกมโกงกว่าไทย แต่ตอนหลังก็กลายเป็นเหยียดแขกไป และที่ถูกเหยียดยิ่งไปกว่าแขกอีกก็คืองู 

อย่างไรก็ตาม อาจารย์ ส. พลายน้อย ก็ตั้งข้อสังเกตไว้อีกด้วยเหมือนกันว่า คนไทยกลัวงูน้อยกว่าหมา เห็นได้จากที่สมุดภาพไตรภูมิ ไม่มีนรกภูมิสำหรับงู ต่อให้ฉกคนตาย ก็ไม่มีนรกสำหรับงูชดใช้กรรม แต่กับหมาเป็นตรงข้าม มีภาพสยดสยองในสมุดภาพไตรภูมิเต็มไปหมด เหมือนงูจะจัดการง่ายกว่าหมา เพราะหมาลองถ้าไม่ใช่เจ้าของหรือผู้เลี้ยงมันแล้ว ก็ยากที่มันจะหยุดเห่า  

แต่สิ่งใดที่มีอำนาจและสร้างความกลัว สิ่งนั้นสำหรับวัฒนธรรมวิธีคิดคนไทยๆ แล้ว ก็เป็นสิ่งเดียวกับที่ต้องกราบไหว้บูชาอยู่ด้วย คนสมัยก่อนใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติ ผูกพันกับงูมากเป็นพิเศษ คือทั้งเคารพและกลัวไปพร้อมกัน ความกลัวกับความเคารพจึงเป็นสิ่งที่คนประเทศนี้แยกไม่ออก และทุกอำนาจก็ต่อรองได้หมด โดยแลกกับเครื่องเซ่นสังเวย จากการพิจารณาวิธีคิดเกี่ยวกับงู ก็จะเห็นแล้วว่าคนไทยเป็นพวกชอบประนีประนอมและการเจรจาต่อรองมากแค่ไหน   

งูมีทั้งดีและร้าย (ชีวิตคนก็เช่นกัน) 

ข้อเท็จจริงก็คือมีงูจำนานมากที่ทำประโยชน์ทางการแพทย์ ทำวัคซีน เซรุ่ม และผลิตยารักษามนุษย์ อย่างที่สถานเสาวภา ด้านหลังมีสวนงู เลี้ยงงูไว้หลากชนิด เพื่อการนี้โดยเฉพาะ ธรรมชาติของงูก็เช่นเดียวกับสัตว์ชนิดอื่น ไม่ว่าจะดุร้ายปานใด มีพิษแค่ไหน พวกมันก็ไม่ทำร้ายใครก่อน มันอยู่ของมันอย่างนั้นเอง   

ปัจจุบัน กทม. เมืองเทพสร้างพักหลังมานี้มีปัญหาเรื่องงูเข้าบ้านกันมาก เป็นข่าวเห็นอยู่บ่อยๆ โซเชียลของมิตรสหายก็เห็นอยู่ตลอด นั่นก็เพราะกทม.ปัจจุบันตัวเมืองขยายออกไปมาก บ้านจัดสรรที่ทำเลดี ส่วนใหญ่ไม่เป็นทางน้ำก็ไปถมห้วยหนองคลองบึงมา เพราะเมื่อก่อนคนยังไม่เยอะเท่าปัจจุบัน ก็ปล่อยให้พื้นที่รอบนอกเป็นแหล่งรับน้ำและแหล่งเกษตรกรรม 

แต่ช่วงหลังเมื่อไม่เป็นอย่างนั้นแล้ว ไม่แต่เฉพาะงู สัตว์อื่นก็อยู่ยาก เพราะแหล่งน้ำ ป่าหญ้า ถูกทำลายจนหมดไม่เหลือ ดูเผินๆ เหมือนพวกมันเข้ามารุกล้ำที่อยู่อาศัยของคน แต่ที่จริงเป็นคนต่างหากที่ไปรุกถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของมัน เพราะฉะนั้นซื้อบ้าน คำว่า “ทำเล” ยังไงก็ไม่ควรมองแค่มิติถนนหนทางคมนาคมและย่านชุมชน จะให้ดีก็ควรตรวจสอบพื้นที่ดูด้วยว่าเมื่อก่อนเคยเป็นที่อะไร ไม่ต้องถึงกับให้ซินแสมามีอำนาจเหนือสถาปนิกหรือวิศวกรก็ได้  

สุดท้ายแล้ว ก็อย่างที่ผู้เขียนได้เคยอภิปรายไว้ในบทความเรื่อง “ที่มาของ 12 นักษัตร-12 ราศี ทำไมไม่มีแมว? ‘แมว’ หายไปจริงหรือ? แล้วทำไมเวียดนามมีปีแมว?” เผยแพร่ใน The People.co เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2565 https://www.thepeople.co/read/history/50962 

สำหรับประเด็นเรื่องที่ว่า คนโบราณกำหนดให้ใช้สัตว์เป็นสัญลักษณ์ประจำปีเพื่อความสะดวกในการสร้างคำทำนายดวงชะตา สัตว์ที่ถูกเลือกให้เป็นตัวแทนของแต่ละปีนี้ มีผู้รู้ตั้งข้อสังเกตกันไว้มากแล้ว ทั้งหมดเป็นสัตว์ที่มีบุคลิกลักษณะ ๒ ด้านที่ขัดแย้งกันอยู่ในตัว คือมีทั้งดีและร้าย 

ชีวิตคนเราก็เช่นกัน ก็มีทั้งสองแบบคละปะปน ปีนี้ดี ปีหน้าอาจจะไม่ดี ให้ระวัง หรือปีนี้ช่วงแรกไม่ดี กลางปีหรือปลายปีก็อาจจะดีขึ้นก็ได้ เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะอยู่ในช่วงเวลาอย่างใด เดี๋ยวมันก็ผ่านพ้นไป เช่นเดียวกับที่ผ่านมาปีก่อนๆ เราแค่ต้องไม่ตายไปเสียก่อน 

ขอให้เป็นปีที่ดี ขอให้ “พรี่งู” เมตตาทุกท่านครับ...  

 

เรื่อง : กำพล จำปาพันธ์

 

อ้างอิง 

  • กำพล จำปาพันธ์. “‘ซุปเปอร์ด็อก’ (Superdog) น้องหมาในประวัติศาสตร์ความเชื่อไทยๆ” https://www.thepeople.co/history/nostalgia/54471 (เผยแพร่เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2567). 
  • กำพล จำปาพันธ์. ““คนกราบหมา” (มีอยู่จริง ๆ นั่นแหล่ะ) & ว่าด้วยปริศนา "ลัทธิบูชาหมา" และคติสิบสองนักษัตรในหัวเมืองปักษ์ใต้” ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 45 ฉบับที่ 10 (สิงหาคม 2567), หน้า 22-29. 
  • กำพล จำปาพันธ์. “ที่มาของ 12 นักษัตร-12 ราศี ทำไมไม่มีแมว? ‘แมว’ หายไปจริงหรือ? แล้วทำไมเวียดนามมีปีแมว?” The People.co เผยแพร่เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2565 https://www.thepeople.co/read/history/50962 
  • กำพล จำปาพันธ์. มนุษย์อยุธยา: ประวัติศาสตร์สังคมจากข้าวปลา หยูกยา ตำรา Sex. กรุงเทพฯ: มติชน, 2563. 
  • คึกฤทธิ์ ปราโมช. ในห้วงมหรรณพ. กรุงเทพฯ: ดอกหญ้า, 2553. 
  • คึกฤทธิ์ ปราโมช. สรรพสัตว์. กรุงเทพฯ: ดอกหญ้า, 2554. 
  • จิตร ภูมิศักดิ์. ตำนานแห่งนครวัด. กรุงเทพฯ: แม่คำผาง, 2557.   
  • แดนอรัญ แสงทอง. อสรพิษและเรื่องอื่นๆ. กรุงเทพฯ: สามัญชน, 2557. 
  • ตำราพรหมชาติฉบับสมบูรณ์. กรุงเทพฯ: ปิรามิด, 2546. 
  • ทศบารมีพระเจ้าสิบชาติ. กรุงเทพฯ: ธรรมสภา, 2539. 
  • พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม). นนทบุรี: ศรีปัญญา, 2553. 
  • ส. พลายน้อย. สัตวนิยาย. กรุงเทพฯ: อักษรพิทยา, 2537. 
  • ส. พลายน้อย. สิบสองนักษัตร. กรุงเทพฯ: อักษรพิทยา, 2534.  
  • สุจิตต์ วงษ์เทศ และบุญเตือน ศรีวรพจน์ (บก.). อภินิหารบรรพบุรุษและปฐมวงศ์. กรุงเทพฯ: มติชน, 2545.  
  • สุจิตต์ วงษ์เทศ. นาคในประวัติศาสตร์อุษาคเนย์. กรุงเทพฯ: มติชน, 2543. 
  • เสฐียรโกเศศ. ประเพณีเกี่ยวกับชีวิต. กรุงเทพฯ: ศยาม, 2551. 
  • เสฐียรโกเศศ. เล่าเรื่องในไตรภูมิ. กรุงเทพฯ: ศยาม, 2544.