13 ม.ค. 2568 | 14:15 น.
KEY
POINTS
อากาศกรุงเทพฯ ในวันนี้ เปลี่ยนไปจากเดิมอย่างน่าเป็นห่วง เมื่อเราหายใจเข้าลึก ๆ ย่อมสัมผัสได้ถึงมวลความหนักของอากาศ เพราะฝุ่นละออง PM 2.5 ปกคลุมทั่วเมือง จนกลายเป็น ‘ความปกติใหม่’ (new normal) ที่เราต้องเผชิญ ไม่ต่างจากหลาย ๆ พื้นที่ในประเทศไทยที่ผู้คนเริ่มชาชินกับหมอกควันในยามเช้า บางคนอาจไม่ทันตระหนักว่า นั่นคือภัยร้ายที่ซ่อนตัวอยู่ในลมหายใจของพวกเรา
คำถามคือ ฝุ่นสามารถพรากชีวิตใครไปได้จริงหรือ?
คำตอบ: จริง ดังเหตุการณ์เมื่อปี 1952 ในนครลอนดอน นับเป็นกรณีศึกษาที่บอกเล่าถึงความร้ายแรงของเรื่องนี้ เพียงแต่เราหลายคนยังไม่ทันเกิดในเวลานั้น (ดูจาก https://www.thepeople.co/history/2746)
ด้วยหมอกควันที่เกิดจากการเผาเชื้อเพลิงถ่านหินในเวลานั้น ทำให้ลอนดอนเกิดมลพิษทางอากาศที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนมากมาย สถิติบันทึกว่า มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 4,000 คนในเวลาเพียงไม่กี่วัน และอีกหลายพันคนเสียชีวิตลงในช่วงเวลาหลังจากนั้น
เวลาผ่านมาหลายทศวรรษ แต่การเสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศก็ยังเกิดขึ้นอย่างไม่สิ้นสุด (ทั้งที่เป็นข่าวและไม่เป็นข่าว) แม้กระทั่งมหานครลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่งมีกฎหมายว่าด้วยคุณภาพอากาศ (Clean Air Act) ออกมาตั้งแต่ปี 1956 ตามด้วยกฎหมายอีกหลายฉบับต่อจากนั้น แต่ก็ยังมีคนตายจากอากาศเป็นพิษโดยไม่รู้ตัว
ดังเรื่องราวของ ‘เอลลา คิสซี-เดบราห์’ (Ella Kissi-Debrah) เด็กหญิงวัย 9 ขวบจากลอนดอน ที่มีการระบุชัดแจ้งว่า ‘มลพิษทางอากาศ’ เป็นสาเหตุหนึ่งของการเสียชีวิตบนใบมรณะบัตร
เอลลาเกิดในปี 2004 เป็นเด็กหญิงที่ร่าเริง สดใส และมีความสามารถหลากหลาย เธอรักดนตรี ชอบอ่านหนังสือ และฝันอยากเป็นหมอที่ช่วยชีวิตคนจากสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่เมื่อเธออายุได้ 6 ขวบ ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป เธอเริ่มมีอาการไอเรื้อรัง และได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคหอบหืด แม้ว่าแม่ของเธอ ‘โรซามุนด์’ จะพยายามอย่างเต็มที่ในการดูแล แต่สุขภาพของ เอลลา กลับแย่ลงอย่างรวดเร็ว
ในช่วง 3 ปีสุดท้ายของชีวิต เอลลาต้องเข้าโรงพยาบาลถึง 27 ครั้ง บ่อยครั้งที่เธอต้องเผชิญกับภาวะวิกฤติ เช่น หยุดหายใจชั่วขณะ และต้องถูกส่งตัวไปอยู่ในห้องไอซียู เธอเสียชีวิตในเดือนกุมภาพันธ์ 2013 หลังจากอาการหอบหืดกำเริบรุนแรง
สิ่งที่ไม่มีใครรู้ในตอนนั้นคือ บ้านของเอลลาตั้งอยู่ห่างจากถนนวงแหวนทางใต้ (South Circular) เพียง 25 เมตร บริเวณนั้นเป็นแหล่งปล่อยก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO₂) และฝุ่นละออง PM 2.5 ในระดับที่เกินมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO) และสหภาพยุโรป อากาศที่เอลลาหายใจเข้าไปทุกวัน ได้กลายเป็นศัตรูที่มองไม่เห็น แต่มีอานุภาพร้ายแรประวัติศาสตร์ที่เอลลาทิ้งไว้
หลังการเสียชีวิตของเอลลา โรซามุนด์ ได้เริ่มต้นการต่อสู้อย่างไม่ลดละเพื่อหาคำตอบ เธอค้นพบข้อมูลว่า ระดับมลพิษในพื้นที่ที่ครอบครัวเธออาศัยอยู่ ‘เกินกว่ากฎหมายกำหนด’ มาโดยตลอด แต่ไม่มีการแจ้งเตือนประชาชนหรือให้ข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงของมลพิษต่อสุขภาพ
ปี 2018 รายงานของ ‘ศาสตราจารย์เซอร์ สตีเฟน โฮลเกต’ ชี้ให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างมลพิษทางอากาศและสุขภาพของเอลลา ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ เพราะในปีต่อมา โรซามุนด์ ยื่นคำร้องต่อศาลสูง เพื่อขอเปิดการสอบสวนใหม่ โดยใช้หลักฐานใหม่ที่แสดงว่า ระดับมลพิษในพื้นที่ที่เอลลาอาศัยอยู่สูงเกินกว่ามาตรฐาน
ในปี 2020 ศาลในลอนดอนตัดสินว่า มลพิษทางอากาศเป็น ‘ปัจจัยสำคัญ’ ที่ก่อให้เกิดและทำให้อาการหอบหืดของเอลลารุนแรงขึ้น การตัดสินครั้งนี้นับเป็นกรณีตัวอย่างที่สร้างแรงกระเพื่อมทั่วโลก และทำให้เอลลากลายเป็นสัญลักษณ์ของการเรียกร้องสิทธิในการหายใจอากาศบริสุทธิ์
โรซามุนด์ ได้เสนอให้รัฐบาลอังกฤษออกกฎหมาย ‘Ella’s Law’ หรือที่รู้จักในชื่อ ‘Clean Air (Human Rights) Bill’ เพื่อให้การหายใจอากาศบริสุทธิ์ กลายเป็น ‘สิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์’ พร้อมกำหนดมาตรการลดมลพิษ เช่น การใช้พลังงานสะอาด การลดจำนวนรถยนต์ และการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนเพื่อลด PM 2.5
ปัจจุบัน กฎหมายฉบับนี้ ผ่านการพิจารณาในสภาขุนนาง (House of Lords) และอยู่ระหว่างการพิจารณาในสภาสามัญ (House of Commons) โดยเนื้อหาหลักของกฎหมาย กำหนดให้การหายใจอากาศบริสุทธิ์เป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน, กำหนดเป้าหมายในการปรับปรุงคุณภาพอากาศให้สอดคล้องกับมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ภายในระยะเวลาห้าปี และมีการจัดตั้งคณะกรรมการพลเมืองเพื่ออากาศบริสุทธิ์ (Citizens’ Commission for Clean Air) เพื่อเฝ้าติดตามและรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการของรัฐบาล
เรื่องราวของเอลลา คิสซี-เดบราห์ เป็นบทเรียนที่ชี้ให้เราเห็นว่า มลพิษทางอากาศ พรากชีวิตคนที่เรารักได้ การแก้ปัญหานี้ แม้จะเป็นหน้าที่หลักของรัฐบาล แต่ก็ต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน หากเราต้องการอนาคตที่เด็กไทยสามารถเติบโตในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย ต้องเริ่มต้นตั้งแต่วันนี้ ด้วยการสร้างความตระหนักรู้และผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง
ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ไม่ใช่เรื่องใหม่ของประเทศไทย ระดับฝุ่นในกรุงเทพฯ และจังหวัดอื่น ๆ หลายแห่งมักเกินค่ามาตรฐานที่ WHO กำหนด แต่การตระหนักถึงอันตรายยังอยู่ในระดับที่ต่ำ เรามีกฎหมายและข้อกำหนดเกี่ยวกับการควบคุมมลพิษทางอากาศที่มีลักษณะคล้ายกับ Clean Air Act แต่ยังไม่มีมาตรการที่เข้มข้น หรือครอบคลุมเทียบเท่า และขาดการบังคับใช้ที่เข้มงวด
อย่าให้เด็กไทย ต้องกลายเป็น ‘เอลลาคนต่อไป’ เพราะการหายใจอากาศบริสุทธิ์ คือสิทธิพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน
เรื่อง: อนันต์ ลือประดิษฐ์
ภาพ: ภาพเอลลา จาก www.ellaroberta.org/about-ella