ที่มาของชื่อ ‘ถนนนางลิ้นจี่’ จาก ‘ลิ้นจี่ ชยากร’ สตรีผู้ใจบุญ นิยมบริจาคทรัพย์สิน

ที่มาของชื่อ ‘ถนนนางลิ้นจี่’ จาก ‘ลิ้นจี่ ชยากร’ สตรีผู้ใจบุญ นิยมบริจาคทรัพย์สิน

‘ลิ้นจี่ ชยากร’ สตรีผู้เป็นที่มาของชื่อ ‘ถนนนางลิ้นจี่’ ผู้ใจบุญนิยมบริจาคทรัพย์สิน ตามข้อมูลและหลักฐานแบบรูปธรรมที่แท้ทรู

  • ชื่อถนน นางลิ้นจี่ มีหลักฐานและข้อมูลเชิงประจักษ์ว่า มีที่มาจากชื่อ คุณแม่ลิ้นจี่ สตรีผู้ใจบุญท่านหนึ่ง
  • มีข้อมูลบ่งชี้ว่า คุณแม่ลิ้นจี่ เป็นสตรีคนแรกในประเทศไทยที่สร้างโฮเต็ลแบบไนต์คลับขึ้นให้มีการลีลาศ และสร้างลานสำหรับเล่นกีฬาต่าง ๆ

คุณแม่ลิ้นจี่ [1] เป็นบุตรีของนายเฮ็ง วัฒนา กับ นางเง็ก วัฒนา เกิดที่บ้านตำบลหีบอ้อย อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ.2415 ตรงกับวันอาทิตย์ ขึ้น 4 ค่ำ เดือน 4 ปีวอก

เมื่อเจริญวัยพอสมควร ก็ได้เล่าเรียนหนังสืออยู่กับบ้านตามประเพณีที่กุลสตรีในสมัยนั้นย่อมปฏิบัติกันอยู่ ต่อมาบิดามารดาได้ย้ายมาประกอบอาชีวะในกรุงเทพฯ คุณแม่ลิ้นจี่ก็ได้ย้ายมาด้วยกับบิดามารดา เมื่อถึงวัยอันควรก็ได้สมรสกับนายเชย ชยากร และได้ช่วยสามีประกอบการค้าขายสินค้าเบ็ดเตล็ดที่ร้านในบริเวณตลาดสามเสนนับแต่บัดนั้น

ใน พ.ศ.2445 นายเชย ชยากร ได้ประมูลเป็นนายอากรบ่อนเบี้ย จังหวัดอยุธยา จากรัฐบาล คุณแม่ลิ้นจี่ก็ย้ายที่อยู่ไปมีภูมิลำเนาในจังหวัดอยุธยา และได้เป็นกำลังสำคัญของสามีในการช่วยกันร่วมจัดดำเนินกิจการเป็นที่เรียบร้อย ตลอดจนกระทั่งรัฐบาลเลิกการพนันบ่อนเบี้ย คุณแม่ลิ้นจี่กับสามีก็หันไปประกอบพาณิชยกิจเบ็ดเตล็ด

ครั้นถึง พ.ศ.2460 นายเชย ชยากร ประมูลโรงต้มกลั่นสุรามณฑลราชบุรีได้จากรัฐบาล คุณแม่ลิ้นจี่จึงเป็นหัวแรงร่วมกับสามี ผลิตสุราจำหน่ายในบรรดาจังหวัดที่ขึ้นกับมณฑลราชบุรี สมเด็จกรมพระยาดำรงราชนุภาพทรงเขียนถึงสามีของคุณแม่ลิ้นจี่ไว้ในหนังสืองานศพว่า

“นายเชย ชยากร เปนบุตรขุนพัฒน์แย้ม เกิดในรัชกาลที่ 5 เมื่อปีจอ พ.ศ.2417 บิดาได้ส่งไปเล่าเรียนที่เมืองสิงคโปร์ ครั้งเสร็จการเล่าเรียนกลับมา ได้มาช่วยบิดาทำอากรบ่อนเบี้ย แลได้แต่งงานกับนางลิ้นจี่ มีบุตรชื่อนายบุญรอด ชยากร คน 1 ธิดาชื่อ นางสาวสุคนธ์ ชยากร คน 1 เมื่อขุนพัฒน์แย้มถึงแก่กรรมแล้ว นายเชย ชยากร รับทำภาษีอากรโดยลำพังต่อมา ในชั้นหลังมาปลูกสร้างเคหะสถานอยู่ที่ตำบลนางเลิ้งในจังหวัดพระนคร แลรับต้มกลั่นสุราของรัฐบาลมาหลายจังหวัด จนกระทั่งป่วยเจ็บถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ.2460 อายุได้ 44 ปี” [2]

หลังสามีถึงแก่กรรม คุณแม่ลิ้นจี่ ชยากร จึงเข้ารับหน้าที่เป็นนายอากรสุราสืบช่วงต่อจากสามี และได้ดำเนินกิจการมาด้วยความเจริญรุ่งเรือง ตราบจนกระทั่ง พ.ศ.2476 จึงจำต้องเลิกกิจการ เพราะรัฐบาลได้เข้ามาดำเนินงานอุตสาหกรรมด้านนี้เสียเอง

ถึงแม้จะมีงานโรงสุราอยู่แล้ว คุณแม่ลิ้นจี่ยังได้ประกอบธุรกิจด้านอื่น ๆ ไปด้วย เช่นใน พ.ศ.2468 ได้ประกอบการด้านโฮเต็ลแบบไนต์คลับ ให้ชื่อว่าโฮเต็ลรมณีย์ขึ้นที่เคหสถานแห่งหนึ่ง ถนนบรรทัดทอง ตำบลหัวลำโพง

อาจกล่าวได้ว่า เป็นสตรีคนแรกในประเทศไทยที่ได้สร้างโฮเต็ลแบบไนต์คลับขึ้นให้มีการลีลาศ และสร้างลานสำหรับเล่นกีฬาต่าง ๆ เช่น มี ‘สเก๊ตติ้งริงค์’ ต่อมาก็ได้ทำการป่าไม้ในจังหวัดเพชรบูรณ์

เมื่อวันที่ 5 มกราคม พ.ศ.2474 ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีสิทธิเช่าซื้อที่ดินราชพัสดุ ที่ทุ่งมหาเมฆ และตัดถนนจากตำบลวัดสวนพลู จากถนนสาธรไปจรดริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งถนนนั้นได้มีชื่อเป็นอนุสรณ์ว่า ‘ถนนลิ้นจี่’ จนปัจจุบันนี้

ในด้านการพระพุทธศาสนา และประชาสังคมสงเคราะห์ คุณแม่ลิ้นจี่มีส่วนบริจาคทรัพย์สินทำบุญและเกื้อกูลไปรวมกันเป็นอันมาก ด้วยจิตศรัทธาและด้วยทำตามที่มีผู้ขอร้อง มากแห่งมากคราวแล้วแต่โอกาส

ครั้นเมื่อถึงคราชราภาพแล้ว จึงได้แสวงหาที่นาตำบลบางลาว อำเภอบาลพลี เพื่อถือการทำนาเป็นอาชีพเป็นสุดท้ายในชีวิตของท่านมาตั้งแต่ พ.ศ.2483 โรคาพาธเริ่มเบียดเบียนท่าน เมื่อราว พ.ศ.2501 เป็นต้นมา ทำให้หมดกำลังที่จะประกอบการอาชีพ อาการทรุดลงเป็นลำดับ จนถึงแก่กรรมลงเมื่อวันที่ 16 เมษายน พ.ศ.2503

สิริรวมอายุได้ 87 ปี กับ 2 เดือน 14 วัน เจ้าภาพในงานศพได้ประกอบการฌาปนกิจ ณ เมรุวัดมกุฎกษัตริยาราม ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2504

คุณแม่ลิ้นจี่มีบุตรธิดาที่ยังมีชีวิตอยู่ 2 คนคือ

1. หลวงชยากรชลประทิน (รอด ชยากร)
2. คุณหญิงศัลยเวทยวิศิษฎ์ (สุคน คชเสนี)


เรื่อง: นริศ จรัสจรรยาวงศ์
ภาพ: นางลิ้นจี่ จากหนังสืองานศพ ประกอบกับป้ายถนนนางลิ้นจี่ (ภาพจากการตกแต่ง)

เชิงอรรถ:

[1] ประวัติคุณแม่ลิ้นจี่ ชยากร, ลิลิตกระบวนแห่พระกฐินพยุหยาตรา ทางสกลมารคและทางชลมารค พระนิพนธ์ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ นางลิ้นจี่ ชยากร ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม 8 กุมภาพันธ์ 2504 (โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย), ก.-ง.

[2] ลัทธิธรรมเนียมต่างๆ ภาที่ 4 เรื่องวิชาแพทย์ไทย นางลิ้นจี่ ชยากร พิมพ์แจกในงานศพ นายเชย ชยากร สามี ปีมะเม พ.ศ.2462, (โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร), คำนำ.