‘พระยาโหราธิบดี’ (แหยม วัชรโชติ) โหรหลวง 6 แผ่นดิน ผู้ให้ฤกษ์รัฐธรรมนูญ 10 ธ.ค. 2475

‘พระยาโหราธิบดี’ (แหยม วัชรโชติ) โหรหลวง 6 แผ่นดิน ผู้ให้ฤกษ์รัฐธรรมนูญ 10 ธ.ค. 2475

‘พระยาโหราธิบดี’ (แหยม วัชรโชติ) โหรหลวงผู้ให้ฤกษ์รัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 มีอายุยืนยาว 6 แผ่นดิน และปฏิบัติราชการตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 9 เป็นที่สุดแห่งชีวิต

  • พระยาโหราธิบดี (แหยม วัชรโชติ) คือโหรหลวงผู้ถวายพระฤกษ์รัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475
  • พระยาโหราธิบดี (แหยม วัชรโชติ) ปฏิบัติราชการตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จนถึงรัชกาลที่ 9 

ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ปลายปีเดียวกันนั้นได้มีการจัดรัฐพิธีฉลองรัฐธรรมนูญ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 นับเป็นจุดเริ่มต้น ‘งานเฉลิมฉลองรัฐธรรมนูญ’ มหกรรมสำคัญที่สุดของประเทศชาติที่จัด ณ สถานที่ต่าง ๆ ในอีกหลายปีถัดมา เช่น วังสราญรมย์ สนามหลวง สวนอัมพร ท่าราชวรดิฐ เขาดินวนา สวนลุมพินี

นายกรัฐมนตรีขณะนั้น พระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) กล่าวกับที่ประชุมสภาถึงเหตุที่กำหนดวันนี้ไว้ว่า

“เมื่อได้นำร่างรัฐธรรมนูญนี้ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายทอดพระเนตร  ทรงมีรับสั่งว่าเป็นที่พอพระราชหฤทัย และได้ทรงแนะนำว่าการประกาศรัฐธรรมนูญนั้น เป็นของสำคัญยิ่งใหญ่ ควรจะมีพิธีรีตอง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้โหรหลวงหาฤกษ์ยาม ได้ 3 ฤกษ์ ฤกษ์ 1 ตกวันที่ 1 ธันวาคม ฤกษ์ 2 ตกวันที่ 10 ธันวาคม ฤกษ์ 3 ไปตกกลางเดือนมกราคม จึงได้คิดว่าสำหรับฤกษ์หนึ่งนั้นเวลากระชั้นเกินไปคงไม่ทัน จึงได้กำหนดเป็นวันที่ 10 ธันวาคม … โดยที่ทรงเห็นว่ารัฐธรรมนูญนั้นเป็นของศักดิ์สิทธิ์และเป็นของที่ควรจะให้ขลัง เพราะฉะนั้นต้องการเขียนใส่สมุดไทยซึ่งจะกินเวลาหลายวัน” [1]

ตั้งแต่นั้นมา หากมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้น จะต้องนำร่างรัฐธรรมนูญมาเขียนลงในสมุดไทยก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ซึ่งยึดถือปฏิบัติเป็นธรรมเนียมประเพณีสืบต่อมาจนกระทั่งปัจจุบัน [2]

โหรหลวงผู้ถวายพระฤกษ์พระราชทานรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 ดังกล่าวคือ พระยาโหราธิบดี (แหยม วัชรโชติ) [3] ชาตะเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2411 ณ บ้านตำบลท่าทราย จ.นนทบุรี เชื้อสายมอญ [4] ท่านยิ้มเป็นบิดา ท่านต่อมเป็นมารดา

เมื่ออายุได้ 11 ปี ได้เป็นศิษย์เล่าเรียนหนังสือและเลขไทยจากท่านอาจารย์ปิ่น เจ้าอาวาสวัดตำหนักใต้ จ.นนทบุรี เมื่ออายุ 15 ปี ได้เริ่มศึกษาและสนใจวิชาโหราศาสตร์กับพระอาจารย์ท่านเดียวกันนี้ เมื่ออายุ 18 ปีบรรพชาเป็นสามเณร เมื่อถึงวัย 21 ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุสำนักวัดตำหนักใต้นั้นเอง พร้อมทั้งศึกษาวิชาโหราศาสตร์ตลอดมา

ครั้นอายุ 32 ปี เมื่อ พ.ศ. 2441 ได้ลาสิกขาออกรับราชการ เริ่มต้นในกรมโหรหลวง กระทรวงวัง มีตำแหน่งหน้าที่เป็นขุนหมื่นประจำการ รับพระราชทานเงินเบี้ยหวัด เข้าพิธีสมรสกับคุณหญิงโหราธิบดี (แก้ว วัชรโชติ) ธิดาท่านอินผู้บิดา ท่านทอผู้มารดา เมื่อธันวาคม พ.ศ. 2442 มีบุตรด้วยกัน 7 คน

ต่อมาได้เปลี่ยนแปลงเป็นข้าราชการประจำการ รับพระราชทานเงินเดือนประจำในหน้าที่กรมโหรหลวงสนองพระเดชพระคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนับตั้งแต่รัชกาลที่ 5 จนถึงรัชกาลที่ 7 ปรากฎความเจริญก้าวหน้าทางยศถาบรรดาศักดิ์ตามลำดับนับแต่ ขุนโลกพยากรณ์ พ.ศ. 2444 หลวงโลกทีป พ.ศ. 2451 พระเทวโลก พ.ศ. 2456 และเป็น พระยาโหราธิบดี ท่านสุดท้ายของกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2462 [5]

พระยาโหราบดีสมัยกรุงรัตนโกสินทร์มีทั้งสิ้น 6 ท่าน ได้แก่ 1.อิ่ม 2.คำ 3.บัว 4.เถื่อน 5.ชุ่ม โชติวิท และ 6.แหยม วัชรโชติ (เชื้อสายมอญคนแรก) เกษียณอายุราชการก่อนหน้าการเปลี่ยนแปลงการปกครองไม่นาน เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2472  คำนวณอายุเวลารับราชการได้ 31 ปี

ภายหลังออกจากราชการรับพระราชทานเบี้ยบำนาญแล้วนั้น ยังคงได้สนองพระเดชพระคุณในการทำปฏิทินหลวงสำหรับพระราชทานในวันปีใหม่เป็นประจำทุกปี อีกทั้งเมื่อทางราชการต้องการทราบข้อราชการอันเกี่ยวกับวิชาโหราศาสตร์ ก็ได้เชิญท่านเข้าไปปรึกษาแนะนำตลอดจนปฏิบัติหน้าที่พระราชพิธีใหญ่น้อยอันเกี่ยวแก่โหรหลวงทุกคราว

ผลงานสำคัญของโหรใหญ่ท่านนี้ ก่อนหน้าในระบอบเก่าเมื่อสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เมื่อปลายสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อ พ.ศ. 2450 เคยได้ถวายพยากรณ์ระยะทางเสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรป รวม 9 เดือน ครั้นเสด็จพระราชดำเนินกลับ มีพระราชกระแสชมเชยคำพยากรณ์ว่าถูกต้องดี และพระราชทานรางวัลของที่ระลึก เมื่อผลัดแผ่นดิน พระยาโหราธิบดีเป็นผู้ถวายพระฤกษ์บรมราชาภิเษก 2 รัชกาล กล่าวคือ

ร.6 พ.ศ. 2453 – ถวายพระฤกษ์งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ถวายน้ำสรงพระมุรธาภิเษกรัชกาลที่ 6 ได้รับพระราชทานพระราชกระแสชมเชย

ร.7 พ.ศ. 2468 – ถวายพระฤกษ์งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ถวายน้ำสรงพระมุรธาภิเษกรัชกาลที่ 7 [6]

ต่อมาในรัชกาลเดียวกันนี้ พระยาโหราธิบดียังได้เป็นผู้ถวายพระฤกษ์ฉลองพระนครครบ 150 ปี เปิดสะพานพุทธฯ เมื่อต้นเมษายน พ.ศ. 2475 ที่จัดขึ้นก่อนหน้าการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน ปีเดียวกันเพียงสองเดือนเศษ

‘พระยาโหราธิบดี’ (แหยม วัชรโชติ) โหรหลวง 6 แผ่นดิน ผู้ให้ฤกษ์รัฐธรรมนูญ 10 ธ.ค. 2475

ปลายปีเดียวกันนั้นเอง ภายใต้ระบอบใหม่คือประชาธิปไตย เมื่อรัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรกของประเทศสยามยกร่างสมบูรณ์เสร็จจนเป็นที่ยอมรับแก่ทุกฝ่ายเรียบร้อยแล้ว พระยาโหราธิบดีเป็นผู้ถวายฤกษ์รัฐธรรมนูญสมัยประชาธิปไตย และยังคงดำรงตำแหน่งข้อปรึกษาราชการโหรหลวงตลอดมา แม้ว่ารัฐบาลจะยกเลิกกรมโหรไปแล้วก็ตาม ผลงานสำคัญระยะนี้ได้แก่

พ.ศ. 2481 ถวายพระฤกษ์เสด็จพระราชดำเนินประเทศสวิตเซอร์แลนด์ รัชกาลที่ 8

พ.ศ. 2489 ถวายพระฤกษ์เสด็จพระราชดำเนินประเทศสวิตเซอร์แลนด์ รัชกาลที่ 9

‘พระยาโหราธิบดี’ (แหยม วัชรโชติ) โหรหลวง 6 แผ่นดิน ผู้ให้ฤกษ์รัฐธรรมนูญ 10 ธ.ค. 2475

พระยาโหราธิบดี 6 แผ่นดินท่านนี้ดำรงชีวิตยืนยาวจนกระทั่งครั้งสุดท้ายได้ปฏิบัติราชการสนองพระเดชพระคุณพระมหากษัตริย์ คือ งานพระราชพิธีจารึกพระสุพรรณบัฏ พระราชพิธีราชาภิเษกสมรส พระราชพิธีบรมราชาภิเษก และเฉลิมพระราชมณเฑียรในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เมื่อเดือนเมษายน - พฤษภาคม พ.ศ. 2493

ภาพจากราชกิจจานุเบกษา ฉบับจดหมายเหตุ พระราชพิธีราชาภิเษกสมรส พระราชพิธีบรมราชาภิเษก

และต่อมาเมื่อต้นเดือนธันวาคม พ.ศ. 2493 ได้สนองพระเดชพระคุณในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา และเปลี่ยนพระมหาทักษา ซึ่งเป็นงานครั้งสุดท้ายของงานพระราชพิธีที่ได้สนองพระเดชพระคุณมา

ครั้นเมื่อกลางเดือนธันวาคมนั้นเอง พระยาโหราธิบดี (แหยม) ได้เริ่มป่วยด้วยโรคหัวใจเพียงเล็กน้อย ประกอบกับขณะนั้นอากาศค่อนข้างหนาวจัด จึงทำให้อาการป่วยเกิดกระเสาะกระแสะขึ้น แต่ยังไปกิจธุระไกล ๆ ได้

ประมาณวันที่ 3 ถึง 12 มกราคม พ.ศ. 2494 อาการโรคเดิมกลับทวีขึ้นมากบ้างน้อยบ้าง แต่ก็ยังไปไหนมาไหนได้ จนถึงวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2494 อาการค่อนข้างมาก

พอถึงวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2494 เวลา 10.10 นาฬิกา ก็ได้ถึงแก่กรรมด้วยอาการอันสงบ สิริชนมายุได้ 82 ปี 8 เดือน กับ 12 วัน นับว่าพระยาโหราธิบดีท่านนี้ได้ปฏิบัติราชการตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จนถึงรัชกาลที่ 9 เป็นที่สุดแห่งชีวิตและภูมิ สมกับบรรดาศักดิ์ในทางโหราศาสตร์ขั้นสูงสุด

 

เชิงอรรถ:

[1] ฤกษ์โหรหลวง ประกาศรัฐธรรมนูญ ร.7 ทรงให้เขียนลง “สมุดไทย” เพราะเป็น “ของขลัง” จุดเชื่อมต่อ  https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_1802292  (เข้าถึง 6 ธันวาคม 2565)

[2] กว่าจะมาเป็นรธน. สมุดไทย “ประเพณี-ความขลัง-ประชาธิปไตย” – ฉบับไหนที่ถูกจารึก จุดเชื่อมต่อ https://thaipublica.org/2016/12/samut-thai-constitution-2560/ (เข้าถึง 6 ธันวาคม 2565)

[3] จักรทีปนี ตำราโหราศาสตร์ และ ลิลิตทักษาพยากรณ์  พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระยาโหราธิบดี (แหยม วัชรโชติ) ณ เมรุวัดมกุฎกษัตริยาราม 11 มิถุนายน 2494.

[4] พระยาโหราบดีสมัยกรุงรัตนโกสินทร์มีทั้งสิ้น 6 ท่าน ได้แก่ 1.อิ่ม 2.คำ 3.บัว 4.เถื่อน 5.ชุ่ม โชติวิท และ 6.แหยม วัชรโชติ (เชื้อสายมอญคนแรก) 

[5] พระยาโหราธิบดีท่านนี้เป็นตาของ อาจารย์เจษฎา รักสัตย์  อ่านเกร็ดเรื่องราวได้ในจุดเชื่อมต่อนี้ https://suanleklek.wordpress.com/2017/09/02/ตรอกเฟื่องทองและตรอกวิ/ (เข้าถึง 6 ธันวาคม 2565)

[6] คณะโหรนี้ประกอบด้วย พระยาโหราธิบดี (แหยม วัชรโชติ) พระญาณเวท (ศุข ศุขะโชติ) หลวงโลกทีป (สุด ภาณุทัต) หลวงไตรเพทพิสัย (เผื่อน สุนทรโชติ) ขุนโลกพยากรณ์ (พร วรโชติ) ดู  https://vajirayana.org/โคลงลิลิตสุภาพตำรับพระบรมราชาภิเษก-เล่มต้น/ภาคผนวก-เล่มต้น/ฎีกาโหรคำนวณพระฤกษ์ (เข้าถึง 6 ธันวาคม 2565)