‘อีวา กอร์’ เหยื่อค่ายเอาชวิทซ์ที่ยกโทษให้นาซี ต้นแบบผู้ปลดปล่อยตัวเองจากความโกรธแค้น

‘อีวา กอร์’ เหยื่อค่ายเอาชวิทซ์ที่ยกโทษให้นาซี ต้นแบบผู้ปลดปล่อยตัวเองจากความโกรธแค้น

‘อีวา กอร์’ ผู้รอดชีวิตจากค่ายกักกันเอาชวิทซ์ ที่ตัดสินใจปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระจากความโกรธแค้น ด้วยการประกาศยกโทษให้นาซี แม้จะสูญเสียคนในครอบครัวและถูกจับไปทดลองในระหว่างการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว (Holocaust)

  • ‘อีวา กอร์’ สูญเสียสมาชิกส่วนใหญ่ในครอบครัวระหว่างการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ส่วนเธอกับพี่สาวฝาแฝด ‘มิเรียม’ ถูกนำตัวไปทดลองที่ค่ายเอาชวิทซ์
  • เธอประกาศให้อภัยนาซีในวันครบรอบ 50 ปีการปลดปล่อยค่ายเอาชวิทซ์ ผ่านจดหมายหรือประกาศนิรโทษกรรมที่มอบให้ ดร.ฮันส์ มุนช์ อดีตหมอนาซีในค่ายเอาชวิทซ์ 
  • อีวาย้ำว่า การให้อภัยไม่ได้หมายความว่าผู้กระทำผิดจะไม่ได้รับโทษ แต่เป็นการเยียวยาเพื่อปลดปล่อยตัวเองต่างหาก

‘อีวา โมเซส กอร์’ (EVA Mozes Kor) มีอายุแค่ 10 ขวบ ในวันที่เธอและครอบครัวถูกกวาดต้อนจากย่านชาวยิวในโรมาเนีย มายังค่ายกักกัน ‘เอาชวิทซ์’ (Auschwitz) ในโปแลนด์ เมื่อปี 1944

หลังจากเธอและครอบครัวต้องเดินทางโดยอดข้าวอดน้ำนาน 70 ชั่วโมง พวกเขาก็ถูกแยกจากกันเช่นเดียวกับครอบครัวชาวยิวอื่น ๆ ที่มาถึงค่ายเอาชวิทซ์ พี่สาวสองคนกับพ่อถูกนำไปสังหาร ส่วนเธอกับพี่สาวฝาแฝดถูกจับแยกไปอยู่กับแม่ แต่ไม่นานแม่ก็ถูกจับแยกอีก แล้วหลังจากนั้นเธอกับ ‘มิเรียม’ พี่สาวฝาแฝด ก็ไม่ได้เห็นหน้าคนในครอบครัวอีกเลย

คู่แฝดแท้คู่นี้เผชิญชะตากรรมที่น่าสยดสยองในค่ายเอาชวิทซ์ พวกเธอกลายเป็นหนึ่งในคู่แฝดประมาณ 1,500 คู่ที่ถูกกระทำทารุณโดย ‘ดร.โจเซฟ เมนเกเลอ’ (Josef Mengele) แพทย์ประจำค่ายเอาช์วิทซ์-เบียร์เคอเนา เจ้าของฉายา ‘เทวทูตแห่งความตาย’ (The Angel of Death) 

อีวาเคยให้สัมภาษณ์ว่า “นาซีสนใจในความลึกลับซับซ้อนของการเจริญพันธุ์ นักวิจัยนาซีเชื่อว่าการศึกษาด้านพันธุศาสตร์ที่ทำให้เกิดลูกแฝด จะช่วยให้ผู้หญิงชาวเยอรมันสามารถให้กำเนิดลูกหลานได้มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อการขยายเผ่าพันธุ์ของชาวอารยัน” 

การทดลองที่ซาดิสม์ของหมอโจเซฟ ทำให้มีฝาแฝดเสียชีวิตนับไม่ถ้วน 

“ฉันเผชิญปัญหาเมื่อย้อนกลับไปคิดว่า ฉันไม่มีใครและไม่มีอะไรเลย เป็นเพียงเซลล์ที่ถูกนำมาทดลองเท่านั้น” 

ในซีรีส์เรื่อง ‘Voices of Auschwitz’ ที่ CNN สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงวันครบรอบ 70 ปีการปลดปล่อยเชลยศึกในค่ายเอาชวิทซ์-เบียร์เคอเนา อีวาเล่าว่า หมอโจเซฟฉีดยาให้เธอวันละ 5 ครั้ง จนถึงวันนี้เธอยังไม่รู้เลยว่ายาหรือสารดังกล่าวคืออะไร

“หลักจากถูกฉีดยาครั้งแรกฉันก็ป่วยหนัก เช้าอีกวันหมอโจเซฟก็เข้ามาในห้อง เขาหัวเราะเยาะและหันไปพูดกับหมอคนอื่น ๆ ว่า แย่จัง เธอยังเด็กมาก เธอจะมีชีวิตได้อีกสองสัปดาห์เท่านั้น”

กระทั่งอาการเริ่มทรุด แขนและขาบวม มีผื่นขึ้นทั่วตัวและมีไข้สูง อีวาจึงถูกส่งตัวไปโรงพยาบาล ที่นั่นเธอได้เห็นผู้ป่วยคนอื่น ๆ ที่ดูเหมือนซากศพมากกว่าคนป่วย เห็นศพเด็กวางตามพื้นส้วม แต่แทนที่จะหมดอาลัยตายอยาก อีวากลับสัญญากับตัวเองว่าเธอจะต้องกลับไปหามิเรียมให้ได้ 

โชคดีราวปาฏิหาริย์ หลังจากนั้น 2 สัปดาห์เธอก็หายป่วย และได้กลับไปหาพี่สาวฝาแฝดของเธอที่ค่าย อีวามารู้ทีหลังว่าหากเธอตายในตอนนั้น มิเรียมจะถูกฉีดยาเข้าที่หัวใจให้ตายตามไปทันที จากนั้นหมอโจเซฟจะชันสูตรพลิกศพของทั้งคู่เพื่อเปรียบเทียบ

ตลอดระยะเวลา 9 เดือนที่อยู่ในค่าย พวกเธอถูกนำตัวไปทดลองสัปดาห์ละ 6 วัน โดยจะมี 3 วัน ได้แก่ วันจันทร์ วันพุธ และวันศุกร์ ที่พวกเธอกับฝาแฝดอีก 50-100 คู่ถูกพาไปยังห้องแช่แข็ง พวกเธอต้องเปลือยกาย ถูกวัดสัดส่วนเพื่อนำไปเปรียบเทียบกับฝาแฝดของตัวเอง 

ส่วนในวันอังคาร วันพฤหัสบดี และวันเสาร์ พวกเธอจะถูกเจาะเลือดจากแขนซ้าย และฉีดสารบางอย่างเข้าที่แขนขวา

ช่วงเวลาของการตกนรกทั้งเป็นจบสิ้นลง ในเดือนมกราคม 1945 อีวาและมิเรียมได้รับการปลดปล่อยจากค่ายเอาชวิทซ์ พวกเธอเป็นหนึ่งในเด็ก 180 คนที่ยังรอดชีวิต 

ส่วนหมอโจเซฟนั้นหายตัวไปหลังช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง อย่างไรก็ตาม ผลการตรวจดีเอ็นเอยืนยันว่าเขาจมน้ำตายในบราซิลเมื่อปี 1979

ฝาแฝด อีวา-มิเรียม ย้ายกลับไปอยู่กับญาติที่โรมาเนีย กระทั่งอายุได้ 16 ปี ทั้งคู่จึงย้ายมายังอิสราเอลและเข้ารับราชการในกองทัพ

ปี 1960 อีวาแต่งงานกับ ‘ไมเคิล กอร์’ (Michael Kor) ซึ่งเป็นผู้รอดชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เช่นกัน ทั้งคู่ย้ายไปตั้งรกรากที่เมืองแตร์โอต์ รัฐอินเดียนา สหรัฐอเมริกา มีลูกด้วยกันสองคน และอีวาได้เปลี่ยนมาทำอาชีพด้านอสังหาริมทรัพย์

ขณะที่มิเรียมไม่ได้มีอายุยืนยาวเหมือนอีวา เธอเสียชีวิตเมื่อปี 1993 ด้วยโรคมะเร็ง หลังจากต้องทุกข์ทรมานจากปัญหาสุขภาพมายาวนาน

แต่ก่อนที่มิเรียมจะเสียชีวิต เธอกับอีวาได้ช่วยกันก่อตั้งองค์กรไม่แสวงหากำไร ‘CANDLES’ (ย่อมาจาก Children of Auschwitz Nazi Deadly Lab Experiment Survivors) ในปี 1984 

CANDLES สามารถระบุตัวฝาแฝดที่เป็นเหยื่อหมอโจเซฟได้ทั้งหมด 122 คน กระจายใน 4 ทวีป และ 10 ประเทศ

แม้จะสูญเสียพี่สาวฝาแฝดที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมานาน อีวายังคงเดินหน้าหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในค่ายเอาชวิทซ์ 

จุดเปลี่ยนที่สำคัญเกิดขึ้นเมื่ออีวาได้พบกับ ‘ดร.ฮันส์ มุนช์’ (Dr.Hans Munch) อดีตหมอนาซีที่ค่ายเอาชวิทซ์ ชายผู้นี้ได้เห็นกระบวนการคัดเลือกและการรมแก๊สผู้บริสุทธิ์หลายพันชีวิต เขายอมรับว่าตัวเองมีส่วนร่วมในการพ่นแก๊ส แต่เขาปฏิเสธที่จะเลือกว่าใครต้องถูกรมแก๊สบ้าง เมื่อสงครามจบสิ้นลงเขาได้ย้ายกลับไปเยอรมนี ต่อมาได้รับการตัดสินให้พ้นผิดในคดีอาชญากรรมสงคราม  

อีวาได้พูดคุยซักถามเรื่องที่เธอค้างคาใจเกี่ยวกับการทดลองของนาซี ซึ่งหมอฮันส์เล่าว่า นาซีส่วนใหญ่ในค่ายเอาชวิทซ์ต้องมอมเหล้าตัวเองให้เมาทุกคืนเพื่อรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้า มีแต่เขากับหมอโจเซฟเท่านั้นที่ไม่เมา เขาเล่าด้วยว่าหมอโจเซฟได้ให้ความชอบธรรมเรื่องการฆ่าคนและการทดลองของตัวเองว่า 

“ยังไงคนเหล่านั้นก็ต้องถูกฆ่าอยู่ดี อย่างน้อยผมก็ได้รักษาชีวิตคนเหล่านั้นไว้สักระยะหนึ่ง” 

หมอฮันส์ยังเล่าถึงห้องรมแก๊สว่า มันคือบ่อเกิดของฝันร้ายที่ตามหลอกหลอนเขาไปตลอดชีวิต เมื่อมีคนตายในห้องรมแก๊ส เขาต้องเป็นผู้เซ็นรับรองจำนวนคนตาย

อีวาไม่รอช้า เธอฟังดังนั้นแล้วจึงได้ขอให้หมอฮันส์ลงนามรับรองในเอกสารที่บรรยายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในห้องรมแก๊ส เพื่อที่เธอจะได้มีเอกสารพร้อมพยานเอาไว้ตอกใส่หน้าคนที่ไม่เชื่อ ซึ่งหมอฮันส์ก็ตอบตกลงในทันที

“ฉันตื่นเต้นมาก เมื่อฉันกลับมาบ้านที่แตร์โอต์ ฉันอยากจะมอบบางอย่างให้เขาเพื่อแสดงความขอบคุณ ฉันรู้ว่าไอเดียขอบคุณหมอนาซีดูบ้ามาก ฉันเลยไม่ยอมบอกเพื่อนหรือคนในครอบครัว ฉันไม่อยากให้แค่การ์ดขอบคุณกับหมอฮันส์ แต่ต้องการมอบบางอย่างที่มีความหมายให้” อีวากล่าว 

นั่นจึงเป็นที่มาของการประกาศยกโทษให้นาซี เนื่องในวันครบรอบ 50 ปีที่เธอได้รับการปลดปล่อยจากค่ายเอาชวิทซ์

“ฉันอยากให้ผู้รอดชีวิตจากค่ายเอาชวิทซ์เขียนจดหมายยกโทษให้เขา และฉันเองคือผู้ที่รอดชีวิตจากการทดลองของหมอโจเซฟ หมายความว่าฉันมีอำนาจที่จะให้อภัย” 

ในปี 1995 อีวาเดินทางไปยังค่ายเอาชวิทซ์พร้อมกับลูกชายและลูกสาวของเธอ เพื่อร่วมพิธีเนื่องในวันครบรอบ 50 ปีแห่งการปลดปล่อยจากค่ายเอาชวิทซ์ วันนั้นหมอฮันส์ได้มอบเอกสารที่บันทึกสิ่งที่เขาเห็นขณะทำงานในค่ายนาซีให้แก่เธอ และเธอได้มอบจดหมายยกโทษให้แก่เขา หรือที่เธอเรียกว่า “คำประกาศนิรโทษกรรม” (Declaration of Amnesty) 

คำประกาศนิรโทษกรรมบางส่วนของอีวาระบุว่า “ขอยกโทษให้แก่นาซีทุกคนที่มีส่วนร่วมทั้งทางตรงและทางอ้อมในการสังหารครอบครัวของฉันและครอบครัวของคนอื่น ๆ อีกนับล้าน และขอยกโทษให้แก่รัฐบาลทั้งหมดที่ปกป้องอาชญากรนาซีมานาน 50 ปี ด้วยการปกปิดการกระทำของพวกเขา” 

อีวาได้ลงนามในประกาศนี้ ระหว่างอยู่กับ ดร.ฮันส์ ท่ามกลางซากปรักหักพังของห้องรมแก๊สเบอเคอเนา 2 

“ตอนที่ฉันอ่านประกาศและลงชื่อ ฉันรู้สึกได้ทันทีว่าความเจ็บปวดทั้งหมดที่ฉันแบกรับมาตลอด 50 ปีนั้นได้ถูกยกออกจากบ่าแล้ว วิญญาณของผู้คนนับล้านที่ถูกสังหารที่นั่นเป็นสักขีพยานให้กับฉัน ฉันได้รับการปลดปล่อยด้วยความคิดที่ว่าฉันมีอำนาจเหนือ โจเซฟ เมงเกเลอ และเขาไม่สามารถทำอะไรเพื่อเปลี่ยนแปลงสิ่งนี้ได้”

“ฉันไม่โกรธหรือเกลียดใครอีกต่อไป นั่นไม่ใช่เพราะพวกเขาสมควรได้รับ แต่เป็นเพราะฉันสมควรที่จะมีชีวิตอยู่โดยเป็นอิสระจากความโกรธหรือความเกลียด เมื่อฉันปราศจากความเกลียดชังและความโกรธที่มีต่อพวกเขาแล้ว ก็เท่ากับเป็นการเปิดรับความรู้สึกด้านอื่น ๆ ของมนุษย์” เธอกล่าว 

แต่ไม่ใช่ทุกคนที่เห็นด้วยกับเธอ หลังเรื่องราวการให้อภัยของเธอกลายเป็นข่าวดังทั่วโลก คนที่ไม่เห็นด้วยเริ่มแสดงการต่อต้าน หนึ่งในนั้นคือ ‘ไมเคิล เบนเรนบัม’ (Michael Berenbaum) นักวิชาการที่ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันวิจัยการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ Sigi Ziering ซึ่งกล่าวกับเธอว่า

“ผมเกลียดที่คุณให้อภัย ตามธรรมเนียมชาวยิว ผู้กระทำความผิดจะต้องสำนึกผิดและร้องขอการให้อภัย” 

เธอจึงตอบเขาไปว่า “ฉันจะต้องเป็นเหยื่อไปตลอดชีวิตเลยหรือ? แบบนั้นมันจะทำให้คนทำผิดมีอำนาจ และฉันจะไม่มีอำนาจเหนือชีวิตตัวเอง มันไร้สาระ ฉันขอเป็นคนตัดสินใจเองดีกว่า บางทีธรรมเนียมของชาวยิวอาจต้องเปลี่ยน เราไม่ควรรอให้คนทำผิดร้องขอการให้อภัย มันเป็นสิทธิ์ของเหยื่อที่จะให้อภัยได้ทุกเมื่อที่ต้องการ” 

หากได้ลองศึกษาชีวิตของอีวาอย่างรอบด้าน เราจะเข้าใจว่าทำไม “การให้อภัย” หรือ “การยกโทษ” จึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับชีวิตเธอ

เธอเคยเปิดใจว่า “การได้ยกโทษให้พวกนาซีก็เหมือนฉันได้ยกโทษให้พ่อแม่ด้วย” 

พ่อของอีวาอยากจะย้ายไปปาเลสไตน์ตั้งแต่ปี 1935 เขากับน้องชายลองไปใช้ชีวิตที่นั่นแล้ว 1 เดือนเพื่อดูว่าจะมีลู่ทางทำมาหากินหรือไม่ แต่แม่ของอีวากลับไม่ยอมย้ายไป เพราะตอนนั้นลูกสาวทั้งสี่คนยังอายุไม่ถึง 5 ขวบ จึงเป็นเหตุผลที่ทุกคนในครอบครัวยังอยู่ที่โรมาเนีย กระทั่งถูกนาซีกวาดต้อนไป

“ฉันต้องให้อภัยแม่ด้วย ที่ไม่ยอมไปปาเลสไตน์ตั้งแต่ตอนนั้น” 

เธอยังกล่าวถึงพ่อ ซึ่งเป็นอีกคนที่ต้องให้อภัย “พ่อของฉันไม่ใช่ต้นแบบที่ดี เขาทุบตีฉันทุกวัน พ่อเป็นชาวยิวออร์โธดอกซ์สุดโต่ง (ultra-Orthodox) เขาอยากได้ลูกชายเพื่อมาสวดส่งวิญญาณให้ มิเรียมเกิดก่อนฉัน ฉันเลยเป็นความหวังสุดท้ายของพ่อ แต่ฉันก็ทำให้เขาผิดหวัง ตอนฉันอายุ 5 ขวบ พ่อพูดกับฉันว่า อีวา แกน่าจะเป็นเด็กผู้ชายนะ ฉันรู้ว่ามันไม่ใช่ความผิดของฉัน ฉันจึงสวนออกไป พ่อเลยโกรธฉันมาก”

“ตั้งแต่นั้นมาเขาก็หาข้ออ้างฟาดฉันด้วยเข็มขัดทุกวัน ฉันเรียนรู้ที่จะเอาชนะพ่อ ฉันเรียนรู้ที่จะต่อต้านเขา พอไปถึงค่ายเอาชวิทซ์ ฉันมีประสบการณ์พวกนี้ ฉันจึงไม่ใช่เด็กขี้กลัว”

ปี 2015 เป็นอีกครั้งที่อีวาได้แสดงให้เห็นถึงพลังของการให้อภัย โดยได้เข้าร่วมการพิจารณาคดีของ ‘ออสการ์ โกรนิง’ (Oskar Gröning) อายุ 94 ปี อดีตผู้คุมค่ายเอาชวิทซ์ชาวเยอรมัน ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบในการนับสิ่งของที่ยึดมาจากนักโทษ

ตอนแรกอีวาก็ไม่อยากมา แต่ทนายโน้มน้าวเธอโดยบอกว่ามันเป็นโอกาสเดียวที่เธอจะได้เผชิญหน้ากับผู้คุมจากค่ายเอาชวิทซ์

โกรนิงถูกตัดสินจำคุก 4 ปีในข้อหามีส่วนรู้เห็นในการสังหารผู้คนอย่างน้อย 3 แสนคน

หลังอีวาขึ้นให้การในฐานะพยานเสร็จ เธอได้พูดคุยกับออสการ์ เธอขอบคุณที่เขายอมรับผิด และตัดสินใจถ่ายรูปกับเขา ขณะที่เขาแสดงความซาบซึ้งด้วยการคว้าตัวเธอไปกอด

รูปถ่ายดังกล่าวทำให้หลายคนตกใจ เหยื่อหลายคนมองว่าความผิดของผู้คุมรายนี้ไม่สมควรได้รับการอภัย แต่สำหรับอีวา การให้อภัยไม่ได้หมายความว่าผู้กระทำผิดจะไม่ได้รับโทษ 

“การให้อภัยสำหรับฉัน ไม่เกี่ยวข้องกับผู้กระทำความผิด ไม่เกี่ยวข้องกับศาสนาใด ๆ มันเป็นการกระทำเพื่อเยียวยาตัวเอง ปลดปล่อยตัวเอง และเสริมสร้างพลังอำนาจให้ตัวเอง ฉันไม่มีอำนาจเหนือชีวิตของฉัน กระทั่งฉันพบว่าฉันสามารถให้อภัยได้ แต่ฉันก็ยังไม่เข้าใจว่าทำไมคนถึงคิดว่ามันผิด” 

อีวาเสียชีวิตขณะมีอายุ 85 ปี ขณะอยู่ที่โรงแรมในโปแลนด์ หลังจากเพิ่งฟื้นจากการเข้ารับการผ่าตัดหัวใจ และมีปัญหาด้านระบบทางเดินหายใจ 

ทุกปีเธอจะเดินทางกลับไปที่ค่ายเอาชวิทซ์ในโปแลนด์ เพื่อแชร์ประสบการณ์ให้กับผู้คน

‘อเล็กซ์ กอร์’ (Alex Kor) ลูกชายของเธอ กล่าวว่า “แม่จะต้องโกรธที่ผมร้องไห้ เธอชอบบอกคนอื่นว่าอย่าร้องไห้ แต่ให้พยายามเดินตามรอยของเธอ เพื่อแก้ไขความผิดทั้งหมดให้ถูกต้องและทำให้โลกนี้น่าอยู่ขึ้น นี่คือคำสอนที่เธอทิ้งไว้”

CANDLES เขียนในประกาศการเสียชีวิตของอีวาว่า

“แก่นสำคัญในชีวิตของอีวานั้นชัดเจนมาก เราสามารถก้าวผ่านความทุกข์ทรมานและโศกนาฏกรรมได้ การให้อภัยเยียวยาเราได้ และทุกคนมีอำนาจและความรับผิดชอบที่จะทำให้โลกนี้น่าอยู่ขึ้น เราหวังว่าเรื่องราวของอีวาจะยังคงเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้คนในอีกหลายปีข้างหน้า” 

 

อ้างอิง:

cnn

vaticannews

myjewishlearning

jta.org

apnews

npr

candlesholocaustmuseum