‘ลุดวิก ไรซ์มัน’ ผู้ก่อตั้ง ‘UNICEF’ ที่ช่วยเหลือเด็กทั่วโลก ชื่อถูกลืมด้วยเหตุการเมือง

‘ลุดวิก ไรซ์มัน’ ผู้ก่อตั้ง ‘UNICEF’ ที่ช่วยเหลือเด็กทั่วโลก ชื่อถูกลืมด้วยเหตุการเมือง

‘ลุดวิก ไรซ์มัน’ เป็นหมอที่ไม่ค่อยมีใครรู้จัก ทั้งที่เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการก่อตั้ง ‘UNICEF’ องค์กรที่ช่วยเหลือเด็กทั่วโลกมานานกว่า 70 ปี ส่วนหนึ่งเพราะเขาฝักใฝ่จีนจนถูกกีดกันออกจากการทำงานสาธารณสุขระหว่างประเทศ

  • ลุดวิก ไรซ์มัน เป็นหมอที่มีความคิดว่า “ปัญหาสุขภาพของประชาชนจะได้รับการแก้ไขก็ต่อเมื่อมีการขจัดความยากจนก่อน”
  • จากความคิดริเริ่มของลุดวิก ทำให้มีการจัดหาการตรวจทางการแพทย์ประมาณ 30 ล้านครั้ง และมีการฉีดวัคซีนป้องกันโรค 17 ล้านครั้ง ใน 22 ประเทศทั่วโลก ในช่วงปี 1948 - 1951

‘ลุดวิก ไรซ์มัน’ เกิดในวอร์ซอว์เมื่อปี 1881 ซึ่งเป็นช่วงที่ถูกรัสเซียยึดครอง เขาเกิดในครอบครัวชาวยิวโปแลนด์ ท่ามกลางญาติ ๆ ที่มีบทบาทสำคัญในแวดวงศิลปะ วิทยาศาสตร์ และการแพทย์ 

ตั้งแต่อายุยังน้อย ลุดวิคได้แสดงความมุ่งมั่นที่จะทำให้สังคมดีขึ้น โดยเขากับน้องสาวชื่อ ‘เฮเลนา’ ได้ช่วยกันสอนหนังสือให้กับเด็กชนชั้นแรงงาน เขายังได้เข้าร่วมพรรคสังคมนิยมโปแลนด์ใต้ดินที่เน้นความเป็นอิสระ ซึ่งทำให้เขาถูกทางการรัสเซียจับกุมและถูกเนรเทศในช่วงสั้น ๆ

ลุดวิกเริ่มศึกษาด้านการแพทย์ที่มหาวิทยาลัยยาเกียลโลเนียนในเมืองคราคูฟจนถึงปริญญาเอก เขามีความเชี่ยวชาญในด้านแบคทีเรียวิทยา ต่อมาได้ไปทำงานที่สถาบันปาสเตอร์ในกรุงปารีส และที่ราชสมาคมสาธารณสุขแห่งลอนดอน

ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อโปแลนด์ได้รับเอกราชในปี 1918 เขาจึงเดินทางกลับโปแลนด์ และมีบทบาทสำคัญในการควบคุมไข้รากสาดใหญ่ในประเทศ หลังจากมีประสบการณ์การทำงานเป็นหัวหน้าห้องปฏิบัติการกลางโรคบิดในลอนดอน 

เขาได้โน้มน้าวให้รัฐบาลโปแลนด์ก่อตั้ง ‘สถาบันโรคระบาดกลางแห่งชาติ’ ในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน ต่อมาสถาบันดังกล่าวกลายเป็นที่รู้จักในชื่อ ‘สถาบันสุขอนามัยแห่งชาติ’ โดยสถาบันแห่งนี้ยังคงดำรงอยู่จนถึงปัจจุบัน

ลุดวิกกลายเป็นผู้อำนวยการสถาบันโรคระบาดกลางแห่งชาติ โดยได้รับความช่วยเหลือจากหมอชาวโปแลนด์ที่มีชื่อเสียงหลายคน หนึ่งในนั้นคือญาติของเขา ‘ลุดวิก เฮิร์ชเฟลด์’ ผู้กำหนดคำศัพท์ของระบบหมู่โลหิต ABO และ ‘คาซิเมียซ ฟังค์’ บิดาผู้ให้กำเนิดคำว่า ‘วิตามิน’

ในช่วงปี 1920 - 1946 มีการก่อตั้ง ‘องค์การสันนิบาตชาติ’ ขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ด้วยทักษะการจัดการที่ยอดเยี่ยมของลุดวิก เขาจึงได้รับการแต่งตั้งเป็น ‘คณะกรรมการควบคุมการแพร่ระบาด’ และ ‘ผู้อำนวยการด้านการแพทย์’ ขององค์การอนามัยสันนิบาตแห่งชาติ

ด้วยบทบาทและหน้าที่ของงาน ทำให้เขาต้องไปข้องเกี่ยวกับประเทศต่าง ๆ นอกยุโรป เช่น แอฟริกา ละตินอเมริกา และตะวันออกไกล โดยเฉพาะจีน ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นประเด็นขัดแย้งในเส้นทางอาชีพของเขา

ระหว่างดำรงตำแหน่ง นอกเหนือจากการส่งเสริมการฉีดวัคซีนและสร้างมาตรฐานด้านเภสัชกรรมแล้ว เขายังสนับสนุนการแลกเปลี่ยนทางการแพทย์และภารกิจการฝึกอบรมระหว่างประเทศ ทั้งยังให้ความสนใจเรื่องการรักษาสุขภาพมารดาและทารกแรกเกิด รวมถึงสุขภาพและค่าตอบแทนของคนงาน 

เขาไม่เคยละทิ้งความคิดที่ว่า “ปัญหาสุขภาพของประชาชนจะได้รับการแก้ไขก็ต่อเมื่อมีการขจัดความยากจนก่อน”

กระทั่งปี 1933 ด้วยความฝักใฝ่ในจีน ลุดวิกถึงกับลาออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการด้านการแพทย์ขององค์การอนามัยสันนิบาตแห่งชาติ เพื่อไปทำหน้าที่เป็น ‘ตัวแทนด้านเทคนิค’ ที่คอยประสานความช่วยเหลือทั้งหมดของสันนิบาตแห่งชาติให้กับจีน โดยรับค่าจ้างจากรัฐบาลจีน

ในช่วงนี้เองที่เจ้าตัวเริ่มมีศัตรูมากขึ้น เพราะหันไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาและผลักดันประเด็นสาธารณสุขของจีนเต็มตัว

ท้ายที่สุดญี่ปุ่นได้ออกมาประท้วงเรื่องความช่วยเหลือขององค์การอนามัยสันนิบาตแห่งชาติ ที่ดูเหมือนจะให้ความสำคัญกับจีนมากกว่า ลุดวิกจึงต้องกลับคืนสู่ตำแหน่งเดิม แต่ถึงกระนั้นเขายังคงออกมาแสดงความเห็นกรณีการรุกรานทางทหารของญี่ปุ่นในจีน และยังพูดต่อต้านการผนวกเอธิโอเปียของอิตาลีในปี 1936 รวมถึงออกมาแสดงความเห็นเรื่องสงครามกลางเมืองในสเปน

ท่าทีเหล่านี้ทำให้เขาถูกตราหน้าว่าเป็น ‘คอมมิวนิสต์’ ไม่ก็พวก ‘โปรโซเวียต’ ทำให้ในปี 1939 เขาถูกบีบให้ลาออกจากตำแหน่งในองค์การอนามัยสันนิบาตแห่งชาติ

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มต้นขึ้น เขาและครอบครัวได้ย้ายไปอยู่ที่ฝรั่งเศส กระทั่งสงครามโลกสิ้นสุดลง ลุดวิกจึงได้เริ่มกลับมามีบทบาทในแวดวงการแพทย์อีกครั้ง เมื่อองค์การบริหารการบรรเทาทุกข์และฟื้นฟูแห่งสหประชาชาติ (UNRRA) ซึ่งก่อตั้งโดยฝ่ายสัมพันธมิตร เมื่อปี 1943 ได้ขอให้เขาเขียนรายงานเกี่ยวกับวิธีจัดการภาวะสุขภาพในยุโรปในช่วงหลังสงคราม

ต่อมาหน้าที่ส่วนใหญ่ของ UNRRA ได้ถูกถ่ายโอนไปให้สหประชาชาติ (UN) หลังปฏิบัติการครั้งสุดท้ายของ UNRRA สิ้นสุดลงเมื่อปี 1946 

ในช่วงที่ UNRRA กำลังจะยุติหน้าที่ลง ในที่ประชุมมีการพูดถึงสถานการณ์ภัยพิบัติที่เด็กจำนวนมากกำลังเผชิญ เพราะในช่วงปี 1946 - 1947 อากาศเกิดหนาวเย็นเป็นพิเศษ ทำให้เด็ก ๆ ได้รับความทุกข์ทรมานอย่างมาก ซ้ำเติมกับความอดอยากที่เกิดขึ้นไปทุกหย่อมหญ้าในช่วงหลังสงคราม

จังหวะนั้นเองลุดวิกจึงเสนอให้จัดสรรเงินส่วนที่เหลือของ UNRRA มาก่อตั้งกองทุนฉุกเฉินเพื่อเด็กระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ หรือ UNICEF เพื่อจัดหาอาหารและการรักษาพยาบาลให้แก่เด็กโดยไม่เลือกปฏิบัติ

ข้อเสนอนี้เองที่ทำให้เขาได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ก่อตั้ง UNICEF ซึ่งก่อตั้งขึ้นในเดือนธันวาคม 1946 และเขาได้นั่งเก้าอี้เป็นประธานคนแรกขององค์กรช่วยเหลือเด็กแห่งนี้ 

จากความคิดริเริ่มของลุดวิก ทำให้มีการจัดหาการตรวจทางการแพทย์ประมาณ 30 ล้านครั้ง และมีการฉีดวัคซีนป้องกันโรค 17 ล้านครั้ง ใน 22 ประเทศทั่วโลก ในช่วงปี 1948 - 1951

แม้จะกลับมามีบทบาททางการแพทย์อีกครั้ง แต่ผลจากการเมืองในยุคสงครามเย็นก็ทำให้เขาถูกกีดกันจากการวางแผนต่าง ๆ ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 1948 

จีนเองก็ถูกผลักไสจาก WHO เช่นกัน แต่ท้ายที่สุดก็ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมในยุค 1970s

การสกัดไม่ให้ลุดวิกเข้าร่วมกับงานด้านสาธารณสุข รุนแรงถึงขั้นหนังสือเดินทางทางการทูตของเขาถูกทางการโปแลนด์เพิกถอน ทำให้อาชีพแพทย์ระหว่างประเทศของเขาต้องจบลง

ลุดวิกดำรงตำแหน่งประธาน UNICEF จนถึงปี 1950 เขาเสียชีวิตที่ฝรั่งเศสในปี 1965 ขณะมีอายุ 83 ปี

ปีเดียวกัน UNICEF ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ และยังคงเดินหน้าช่วยเหลือเด็กทั่วโลกที่ได้รับผลกระทบจากความยากจน การสู้รบ หรือภัยพิบัติทางธรรมชาติ ใน 190 ประเทศและดินแดนทั่วโลก จนครบ 77 ปี 

นี่คือเรื่องราวของหมอชาวโปแลนด์ที่ชื่อเสียงเริ่มจางหายไปจากวงการแพทย์ แต่แนวคิดริเริ่มของเขามีส่วนอย่างมากต่อการสนับสนุนพัฒนาการและปกป้องสิทธิของเด็กทั่วโลก 

 

ภาพ: Rajchman Foundation 

อ้างอิง: 

humanium

pamsm

thefirstnews

ncbi