11 ก.ย. 2565 | 17:00 น.
ครั้นยังมีชีวิตอยู่ก็สามารถปกครองผู้คนด้วยกำปั้นเหล็กของตัวเองได้อย่างอยู่หมัด กดขี่ข่มเหงผู้คนรอบตัวได้ตามอำเภอใจ มุ่งเน้นการกระทำทุกอย่างเป็นประโยชน์สุขให้ตัวเองโดยไม่แยแสใครอื่น ส่วนใหญ่แล้ว การก้มหัวยอมรับจากผู้คนเหล่านั้นล้วนมาจากสถานการณ์ที่บังคับ หาใช่จากใจจริง และเมื่อวันหนึ่งถึงคราวพินาศและหมดสิ้นพลังจะกดหัวใคร ความรู้สึกที่แท้จริงของปวงประชาจึงถูกเผยออกมา
ดังที่สะท้อนให้เห็นได้จากจุดจบของ ‘ตั๋งโต๊ะ’ (Dong Zhou) หนึ่งในตัวละครที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์จากวรรณกรรมจีนคลาสสิกอย่าง ‘สามก๊ก’ และเรื่องราวของคนที่ถูกขนานนามว่าเป็น ‘ทรราชตัวจริง’ ที่ก้าวสู่อำนาจได้เพราะมีคน ‘ชักศึกเข้าบ้าน’ จนสร้างความวิบัติแก่บ้านเมืองอย่างใหญ่หลวง แต่ท้ายที่สุดก็ถึงจุดจบของชีวิตอย่างน่าเวทนา แม้ว่าจะเคยอยู่สูงเพียงใดก็ตาม
ชักเสือร้ายเข้าบ้าน
“แผ่นดินนี้จะเกิดอันตรายก็เพราะโฮจิ๋น”
‘โจโฉ’ (Cao Cao) ในวันที่ยังเป็นผู้จัดตั้งกองทัพภายใต้ราชวงศ์ฮั่น รำพึงรำพันกับตัวเองถึงการตัดสินใจของ ‘โฮจิ๋น’ (He Jin) อดีตคนขายเนื้อที่จับพลัดจับผลูได้มาเป็นแม่ทัพใหญ่แห่งราชสำนักเพราะน้องสาวต่างมารดาที่กลายมาเป็นพระสนมคนโปรดของจักรพรรดิ ที่ตัดสินใจสร้างอุบายเขียนหนังสือเรียกให้กองทัพหัวเมืองเอกกรีธาทัพจากชายแดนมาประชิดเมืองหลวงเพื่อหวังกำจัดขันทีที่บ่อนทำลายบ้านเมือง
ย้อนกลับไปในยุคสมัยปลายราชวงศ์ฮั่น ในสมัยที่จักรพรรดิฮั่นเลนเต้ครองราชย์ ขันทีผู้ดูแลพระเจ้าเลนเต้มาตั้งแต่วัยเยาว์ก็ได้แผ่อิทธิพลควบคุมราชสำนักไปแทบจะทั้งหมดแล้ว อาณาประชาราษฎร์ถูกมองข้ามไม่เหลียวแล บ้านเมืองในยุคสมัยนั้นถูกครอบคลุมไปด้วยคอร์รัปชันจากขันทีและความอ่อนแอของจักรพรรดิ จนก่อให้เกิดการลุกฮือของประชาชนที่ไม่ขอทนอีกต่อไปจนกลายมาเป็น ‘กบฏโพกผ้าเหลือง’ (Yellow Turban Rebellion)
(สามารถอ่านเรื่องราวของผู้นำกบฏโพกผ้าเหลืองและบริบทที่ก่อให้เกิดการลุกฮือขึ้นในแบบละเอียดได้ที่บทความ ‘เตียวก๊ก: ปรมาจารย์ผู้วิเศษก่อกบฏโพกผ้าเหลืองด้วยศรัทธาและประชานิยม’)
โจโฉ ณ ขณะนั้นผู้เป็นแม่ทัพที่ยศน้อยกว่าโฮจิ๋นก็แสดงความไม่เห็นด้วย เพราะตัวเขาเห็นว่าการเรียกกองทัพจากชายแดนเข้ามาเมืองหลวงนั้นไม่จำเป็น และเป็นการกระทำเกินกว่าเหตุที่อาจนำพาไปสู่ปัญหาที่ใหญ่กว่าเดิมได้ ทหารผู้น้อยผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกลผู้นั้นคิดว่าเพียงแค่นำนักฆ่าเพียงคนสองคนไปจัดการพวกขันทีก็เพียงพอแล้ว แต่โฮจิ๋นก็ไม่ได้เห็นพ้องกับการคัดค้านของโจโฉ แถมยังตวาดกลับ นั่นจึงเป็นมหาวิบัติที่นำไปสู่ความยิ่งใหญ่กว่าเดิม เพราะการกระทำแบบนี้ก็เปรียบเสมือนการ ชักศึกเข้าบ้านที่เชิญเอาเสือร้ายเข้ามานั่งบัลลังก์แทนที่ปรสิต
หลังจากที่หนึ่งในหนังสือเดินทางถึงมือตั๋งโต๊ะ เจ้าเมืองที่ขอบชายแดนผู้หยาบช้าและโหดเหี้ยมเด็ดขาด เจ้าตัวก็ไม่รอช้าที่จะตอบตกลงที่จะยกพลเข้าไปช่วยราชสำนักให้พ้นภัย แต่หารู้ไม่ว่าแท้จริงแล้วเจ้าตัวมองว่านี่คือโอกาสอันดีในการที่จะเข้ามาลองเชิงกับเมืองหลวงว่ามีกำลังพลสักเท่าใด
เพราะหากย้อนกลับไปดูอาณาจักรจีนสมัยก่อนที่มีดินแดนกว้างใหญ่ไพศาล กองทัพชั้นนอกแทบไม่มีโอกาสที่จะเดินทางเข้ามาเมืองหลวงเลย เพราะกฎหมายได้บัญญัติไว้เช่นนั้น เหตุเพราะเมืองหลวงไม่ต้องการให้เกิดการอิจฉาตาร้อนหรือเห็นว่ากำลังของเมืองหลวงมีมาก-น้อยแค่ไหน เพื่อไม่ให้เกิดการกบฏขึ้น ด้วยเหตุนี้เอง การได้รับโอกาสกรีธาทัพเข้าเมืองหลวงของตั๋งโต๊ะโดยชอบธรรมจึงเป็นโอกาสทองที่ปล่อยหลุดมือไปไม่ได้
“นายพลโฮจิ๋นท่านผู้สำเร็จราชการที่ใหญ่ยิ่งก็ออกมาจากข้างใน
แต่ไม่ได้ออกมาทั้งตัว ออกมาเฉพาะหัวปลิวข้ามกำแพงออกมา”
คือถ้อยคำที่ ‘ยาขอบ’ บรรยายการตายของโฮจิ๋นไว้ใน ‘สามก๊กฉบับวณิพก’ หลังจากได้ทราบถึงเรื่องราวที่ทัพชายแดนกำลังเคลื่อนที่เข้ามาเมืองหลวงเพื่อกำจัดตัวเอง ขันทีทั้งสิบจึงวางอุบายเพื่อกำจัดโฮจิ๋นโดยการออกหนังสือว่าพระนางโฮเชิญให้พี่ชายอย่างโฮจิ๋นเข้าเฝ้าในพระราชวัง โจโฉได้ทราบเช่นนั้นก็ปรามโฮจิ๋นในทันทีว่าการเข้าวังในสถานการณ์แบบนี้นั้นอันตราย แต่โฮจิ๋นก็หาฟังไม่ จนถูกซุ่มโจมตีเหลือเพียงแค่หัวที่ปลิวข้ามกำแพงออกมาจากพระราชวัง
พอได้เห็นหัวของโฮจิ๋นถูกโยนออกมา อ้วนเสี้ยวและโจโฉจึงยกทหารของตนเข้าไปสังหารขันทีเหล่านั้นจนราบคาบ ขันทีบางคนได้ถือโอกาสเอาตัวว่าที่ฮ่องเต้ทั้งพี่และน้องออกจากพระราชวังเข้าป่าไปเป็นตัวประกันอีกด้วย แต่ก็สามารถช่วยเหลือไว้ได้อย่างปลอดภัย และระหว่างเดินทางกลับเมืองหลวง เขาก็พบกับกองทัพยี่สิบหมื่นอันน่าเกรงขามที่ส่งตรงมาจากทิศประจิมของตั๋งโต๊ะนั่นเอง…
ทรราชผู้กำเริบเสิบสาน
หลังจากที่เข้ามาพบเมืองหลวงในสภาพที่เพิ่งพบเจอกับความชุลมุนวุ่นวาย เสือร้ายตั๋งโต๊ะจึงอาศัยโอกาสทองชุบมือเปิบชิงเอาอำนาจควบคุมราชสำนักเสียเลย เริ่มจากการเสนอปลดฮ่องเต้ที่ถูกแต่งตั้งไว้ตั้งแต่แรกคือ ‘หองจูเปียน’ และเลือกเอา ‘หองจูเหียบ’ คนน้องขึ้นครองแทน นับเป็นการกระทำที่กำเริบเสิบสานจนก่อให้เกิดเสียงคัดค้านเป็นอย่างมาก
“
อำนาจใต้ฟ้านี้อยู่ในมือข้า จะมีใครกล้าขัดขืน?
”
ตั๋งโต๊ะกล่าวถามในที่ประชุมอย่างไม่เกรงกลัวขุนนางคนใด เหตุเพราะเขามี ‘ลิโป้’ (Lu Bu) ลูกบุญธรรมผู้เป็นทหารเอกยืนคุมเชิงอยู่ แต่ก่อนหน้านั้นที่มีการประชุมเสนอประเด็นดังกล่าว เขาก็มิได้กล้าเช่นนี้ เหตุเพราะในวันนั้น ‘เต๊งหงวน’ (Ding Yuan) เจ้าเมืองคนหนึ่งผู้ภักดีต่อราชวงศ์ฮั่นไม่เห็นด้วย แต่เขามีลิโป้อยู่ข้างกาย จนต่อมาก็ได้มีที่ปรึกษาเสนอให้ออกอุบายให้ติดสินบนให้ลิโป้ฆ่าเต๊งหงวน พ่อบุญธรรมของตนแล้วมาเข้ากับตั๋งโต๊ะแทน ซึ่งขุนพลผู้นั้นก็ตอบตกลง
ตั้งแต่ยกทัพเข้ามาในเมืองหลวง ทหารของตั๋งโต๊ะก็ริบเอาทรัพย์สินของราษฎรไปตามอำเภอใจ ส่วนตัวเองที่เข้ามาเมืองหลวงก็หาได้เข้ามาฟื้นฟูบ้านเมืองให้ดีขึ้นจากยุคขันทีไม่ เพราะสุดท้ายก็โกงกินบ้านเมือง และกระทำการทุกอย่างเพื่อประโยชน์ส่วนตนเป็นหลักโดยไม่เห็นหัวใครแม้กระทั่งฮ่องเต้
พกกระบี่เข้าเฝ้า นอนบนเตียงฮ่องเต้ นางสนมมากมายหลายคนก็ถูกตั๋งโต๊ะสั่งมารับใช้บำเรอสุขตามอำเภอใจ มีนางงามกว่า 800 คนที่ตั๋งโต๊ะคัดตัวมารับใช้ตน นอกจากนั้นก็ยังปกครองบ้านเมืองด้วยการกดขี่ข่มเหง ใครเห็นต่างและขัดขวางก็จะถูกประหารจนหมดสิ้น เหลือแต่พวกคดโกงที่เข้ากันได้ ทำให้บ้านเมืองเสื่อมโทรมมิต่างจากเดิมเลย…
ความไม่พอใจในเหล่าขุนพลขุนนางก่อกำเนิดขึ้นจนกลายเป็นพันธมิตร 18 หัวเมืองที่ร่วมใจกันหวังล้มตั๋งโต๊ะและฟื้นฟูราชวงศ์ฮั่น แต่ท้ายที่สุดก็ล้มเหลวไม่เป็นท่าเพราะแตกความสามัคคีกันเอง แต่แม้ตั๋งโต๊ะจะมีลิโป้เป็นอาวุธชิ้นงามในมือที่ใครก็ยากจะต่อกรด้วยได้ แต่ก็ด้วยอาวุธชิ้นนั้นเองที่ปลิดชีวิตของเขา
หลังจากหลงกลในอุบายหญิงงามของอ้องอุ้นที่ส่งเตียวเสี้ยนเข้าไปทำให้ตั๋งโต๊ะและลิโป้ผิดใจกัน รอยแตกร้าวจึงเริ่มก่อกำเนิดขึ้นในจิตใจของทั้งคู่ และทำให้สันดานเก่าของลิโป้กำเริบขึ้นอีกครั้ง…
ผู้ถูกสาปแช่งทั้งสิบทิศ
“
ตัวเป็นศัตรูราชสมบัติ เป็นไฉนร้องให้กูช่วย
”
ลิโป้ บุตรบุญธรรมผู้เป็นทหารเอกกล่าวตอบพ่อบุญธรรมของตนที่ผิดใจกันเรื่องผู้หญิง แล้วใช้ทวนคู่ใจของตนแทงไปที่ตั๋งโต๊ะที่คอจนตกรถที่เจ้าตัวขึ้นไปแอบตายคาที่ อันเป็นจุดจบของชีวิตของทรราชคนแรกแห่งยุคสามก๊ก
ในตอนที่มีชีวิตอยู่นั้น หันไปทางใดก็มีแต่คนแซ่ซ้องสรรเสริญ หันไปทางใดก็มีแต่คนโค้งคำนับด้วยความนับถือ (หรือความกลัว) แต่เมื่อชีวิตของตั๋งโต๊ะได้หาไม่แล้ว เพียงร่างไร้วิญญาณก็ไร้คนจะให้เกียรติ
สามก๊กฉบับวณิพกได้บรรยายเอาไว้ว่า ร่างไร้วิญญาณของตั๋งโต๊ะถูกผู้คนพากันลากไปทั่วเมือง มีแต่ผู้คนพากันไชโยโห่ร้องและสาปแช่งร่างดังกล่าว แล้วก็นำไปเสียบประจานไว้ ณ ทางสามแพร่งให้ผู้คนที่เดินผ่านมาพากันมาเตะบ้าง ถีบบ้าง ถ่มน้ำลายบ้าง เรียกได้ว่าเปิดให้ลุยทำอะไรก็ได้อย่างเสรี ประชาชนพากันระบายความคับแค้นที่สั่งสมมาจนศพของตั๋งโต๊ะร่วงลงจากไม้แขวนประจานมากองที่พื้น จนแร้งกาที่หิวโหยพากันมาจิกกินเครื่องในจนหมดสิ้น
บ้างก็บอกว่าศพของตั๋งโต๊ะที่เต็มไปด้วยน้ำมันไหม้ไปหลายวันหลายคืน บ้างก็บอกว่าในขณะที่คนบางกลุ่มพยายามนำร่างไร้วิญญาณของตั๋งโต๊ะมาทำพิธีศพตามประเพณี แต่ฟ้าก็ผ่ามาที่ศพจนไม่เหลือแม้แต่ร่างเพื่อรอการฝัง
อย่างไรก็ตาม ข้อคิดสำคัญที่เราเห็นได้จากกรณีของตั๋งโต๊ะคือความแตกต่างระหว่างรูปแบบการปกครอง ตั๋งโต๊ะผู้ปกครองด้วยความหยาบช้า ผสมไปกับความโลภและมุ่งสนองความต้องการของตนเองเพียงอย่างเดียว ในวันที่ยังมีชีวิตและสามารถกดหัวผู้อื่นอยู่ได้ เขาอาจจะได้รับคำสรรเสริญ แต่ในวันหนึ่งที่หมดอำนาจ พลัง หรือความสำคัญแล้ว ความรู้สึกที่แท้จริงของคนรอบข้างก็จะปรากฏเป็นอุทาหรณ์ดังที่เราได้ทราบกัน
นับเป็นเรื่องราวและจุดจบของเผด็จการและทรราชคนหนึ่งที่ถูกเล่าขานและยกเป็นไอคอนคนหนึ่งสืบมาจนปัจจุบัน
ภาพ : Romance of the Three Kingdoms (TV series) (2010)
อ้างอิง :
สามก๊ก ฉบับสมบูรณ์ (พ.ศ. 2487) โดย หลัว กวั้นจง, แปลโดย เจ้าพระยาพระคลัง (หน)
สามก๊ก ฉบับวณิพก: ตั๋งโต๊ะ - ผู้ถูกสาปแช่งทั้งสิบทิศ. -- พิมพ์ครั้งที่ 15.-- กรุงเทพฯ: ดอกหญ้า 2545, 2547.