‘พระเจ้าเฮนรีที่ 8’ กษัตริย์นักรัก หรือ จอมเผด็จการ? กับจุดจบของพระราชินีทั้ง 6 พระองค์

‘พระเจ้าเฮนรีที่ 8’ กษัตริย์นักรัก หรือ จอมเผด็จการ? กับจุดจบของพระราชินีทั้ง 6 พระองค์

เรื่องราวของ ‘พระเจ้าเฮนรีที่ 8’ ที่มีพระราชินีมากถึง 6 พระองค์ แท้จริงแล้วพระองค์ทรงเป็น ‘กษัตริย์นักรัก’ หรือ ‘จอมเผด็จการ’?

  • หากพิจารณาจากความสัมพันธ์หลายครั้งของคิงเฮนรี จะเห็นว่าเมื่อพระองค์หลงรักหญิงคนใดแล้ว ความรู้สึกนั้นจะจืดจางอย่างรวดเร็ว เมื่อสามารถพิชิตใจหญิงคนนั้นได้สำเร็จ 
  • เมื่อแคทเธอรีนตั้งครรภ์ลูกคนแรก เธอพบว่าคิงเฮนรีแอบไปมีสัมพันธ์กับหญิงอื่น จะว่าไปแล้วตอนนั้นคิงเฮนรีก็งงมากที่แคทเธอรีนถึงกับร้องไห้น้ำตาไหลเมื่อรู้เรื่อง เพราะสำหรับพระองค์แล้ว เซ็กส์กับความรักนั้นเป็นคนละเรื่องกัน และพระองค์ก็ยังคงหลงรักแคทเธอรีนอย่างสุดหัวใจ 

“หย่า ตัดหัว ตาย หย่า ตัวหัว รอด” เป็นวลีบอกเล่าจุดจบของพระราชินี 6 พระองค์ใน ‘พระเจ้าเฮนรีที่ 8’ กษัตริย์พระองค์ที่สองแห่งราชวงศ์ทิวดอร์ ซึ่งปกครองอังกฤษเป็นเวลา 36 ปี  (ค.ศ.1509 - 1547) และได้ปฏิรูปประเทศทั้งในแง่ศาสนาและแสนยานุภาพของกองทัพเรือ จนมีการกล่าวว่ารัชสมัยของพระองค์นั้นเป็นหนึ่งในช่วงเวลาที่ ‘สำคัญที่สุด’ ในประวัติศาสตร์อังกฤษ 

ทว่าชีวิตรักที่ยุ่งเหยิง กลับทำให้พระองค์ได้รับความสนใจมากกว่าการเมืองและการปกครองประเทศ 

บทความนี้เราจะชวนหาคำตอบกันว่า แท้จริงแล้วพระเจ้าเฮนรีที่ 8 ทรงเป็นเพียงบุรุษ ‘หัวใจอ่อนไหว’ ที่ตกหลุมรักสตรีง่ายดาย หรือเป็น ‘จอมเผด็จการ’ ที่ไม่แยแสแม้แต่ชีวิตคนรักเพียงเพื่อให้ได้ในสิ่งที่ต้องการ  

เจ้าหญิงแคทเธอรีนแห่งอารากอน 

พระเจ้าเฮนรีที่ 8 แต่งงานครั้งแรกกับ ‘แคทเธอรีนแห่งอารากอน’ เจ้าหญิงจากสเปนผู้มีชะตากรรมน่าเศร้า 

แคทเธอรีน ถูกส่งตัวมาอังกฤษเพื่อมาเป็นภรรยาของ ‘เจ้าชายอาเธอร์’ พี่ชายของเฮนรี ตั้งแต่อายุเพียง 15 ปี 

คิงเฮนรีมีอายุเพียง 10 ขวบ ในวันที่เจ้าชายอาเธอร์แต่งงานกับแคทเธอรีนผู้เลอโฉมในปี 1501 แถมวันนั้นเจ้าชายน้อยเฮนรียังได้ทำหน้าที่อารักขาพาแคทเธอรีนออกจากมหาวิหารเซนต์ปอลไปยังสถานที่จัดงานเลี้ยงแต่งงานอีกด้วย 

หลายคนพูดตรงกันว่า ในวันพิเศษของพี่ชาย เจ้าชายเฮนรีเต้นรำอย่างเบิกบานในงานเลี้ยง ไม่แน่ใจว่าพระองค์กำลังพยายามสร้างความประทับใจกับพี่สะใภ้หรือไม่?

แต่หลังแต่งงานได้เพียง 6 เดือน เจ้าชายอาเธอร์เกิดล้มป่วยและจากไป ทิ้งให้แคทเธอรีนกลายเป็นม่ายตั้งแต่ยังสาว โดยไม่รู้ว่าชะตาชีวิตของตัวเองจะเป็นอย่างไรต่อไป จะให้กลับไปสเปนตอนนี้ก็ยังไม่ได้ เพราะอังกฤษเองก็ไม่อยากเสียผลประโยชน์ต่าง ๆ ที่เคยได้จากสเปน ซึ่งในเวลานั้นเป็นประเทศมหาอำนาจที่มั่งคั่ง หลังจากพิชิตชาวมัวร์และรวมชาติได้สำเร็จ 

ผ่านไปหลายปี เมื่อ ‘พระเจ้าเฮนรีที่ 7’ ใกล้สิ้นพระชนม์ พระองค์ทรงรับสั่งให้เจ้าชายเฮนรี ซึ่งเติบโตเป็นหนุ่มอายุ 17-18 ปี สัญญาว่าจะแต่งงานกับแคทเธอรีน ที่กำลังทุกข์ระทมจากการสิ้นพระชนม์ของพระมารดา ‘พระราชินีอิซาเบลลา’ ซึ่งเจ้าชายเฮนรีก็รับปาก ถึงแม้แคทเธอรีนจะเคยเป็นพี่สะใภ้ และมีอายุมากกว่าพระองค์ถึง 5 ปี 

ในปี 1509 หลังจากเจ้าชายเฮนรีขึ้นครองบัลลังก์ต่อจากพระบิดา อีก 6 สัปดาห์ต่อมา พระองค์ก็แต่งงานกับแคทเธอรีนแห่งอารากอน ที่อยู่ในวัย 20 ต้น ๆ และยังคงความงดงามด้วยผิวที่ใสเนียนละเอียด ผมสีน้ำผึ้ง และดวงตาสีฟ้า 

แล้วการแต่งงานครั้งนี้เป็นไปด้วยความ ‘เต็มใจ’ หรือไม่? 

หลักฐานทั้งหมดชี้ว่าการแต่งงานของคิงเฮนรีกับแคทเธอรีนนั้นเต็มไปด้วยความสุขและความชื่นมื่น นักวิชาการส่วนใหญ่เชื่อว่าพระเจ้าเฮนรีที่ 8 หลงรักพระนาง และน่าจะหลงรักตั้งแต่ตอนที่พระนางแต่งงานกับเจ้าชายอาเธอร์แล้ว 

แต่น่าเสียดายที่ความรักที่เกิดขึ้นตั้งแต่วัยเยาว์ ไม่ได้ยืนยงตลอดกาล 

เมื่อแคทเธอรีนตั้งครรภ์ลูกคนแรก เธอพบว่าคิงเฮนรีแอบไปมีสัมพันธ์กับหญิงอื่น จะว่าไปแล้วตอนนั้นคิงเฮนรีก็งงมากที่แคทเธอรีนถึงกับร้องไห้น้ำตาไหลเมื่อรู้เรื่อง เพราะสำหรับพระองค์แล้ว เซ็กส์กับความรักนั้นเป็นคนละเรื่องกัน และพระองค์ก็ยังคงหลงรักแคทเธอรีนอย่างสุดหัวใจ 

หลังจากนั้นคิงเฮนรีก็ระมัดระวังเรื่องการมีสัมพันธ์ลับมากขึ้น แต่ความรักของทั้งสองพระองค์ก็มิอาจกลับมาเป็นเหมือนเดิมอีกต่อไป หัวใจของแคทเธอรีนแตกสลายไปแล้วตั้งแต่จับได้ครั้งแรก และพระนางก็ไม่แสดงอาการหึงหวงน้อยอกน้อยใจอีกเลย

จุดจบของเจ้าหญิงแคทเธอรีน

หลังแต่งงาน คิงเฮนรีก็หมกมุ่นกับการมีลูกชายเพื่อสืบทอดราชบัลลังก์ เพราะหากพระองค์ไร้ซึ่งรัชทายาทชายแล้วก็มีแนวโน้มว่าจะเกิดความไม่สงบในบ้านเมือง ซึ่งจะนำไปสู่จุดจบของราชวงศ์ทิวดอร์ 

โชคร้ายสำหรับแคทเธอรีน พระนางเคยมีลูกชายก็จริง แต่ก็ไม่มีสักคนที่รอดชีวิตเกิน 2 - 3 สัปดาห์ 

แม้จะอยู่เคียงข้างคิงเฮนรีมายาวนานถึง 23 ปี และมีลูกสาวคือ ‘เจ้าหญิงแมรี ทิวดอร์’ วัย 9 ขวบ เป็นโซ่ทองคล้องใจ แต่เมื่อชัดเจนแล้วว่าแคทเธอรีนไม่สามารถให้กำเนิดลูกชายได้ และอายุก็ล่วงเลยมาถึง 40 ปี ไม่ได้สาวได้สวยเหมือนในอดีต ในขณะที่พระสวามีกำลังเป็นหนุ่มเต็มตัวในวัย 34 ปี... ในที่สุดจุดจบอันน่าสลดของแคทเธอรีนก็เริ่มคืบคลานเข้ามา 

ถามว่าคิงเฮนรีรักแคทเธอรีนหรือไม่ ? คงต้องตอบว่าทั้ง ‘รัก’ และ ‘ไม่รัก’ ความรู้สึกของเฮนรีที่มีต่อราชินีคนแรกอาจเริ่มต้นจากการหลงเสน่ห์และหลงใหล ที่ค่อย ๆ พัฒนาขึ้นมาเป็น ‘ความรัก’ แต่พอนานวันเข้า ความรักก็เริ่มลดน้อยถอยลงไปเรื่อย ๆ ก่อนจะจบลงด้วยความขุ่นมัวและกลายเป็น ‘ปรปักษ์’ กันในที่สุด

โดยเฉพาะตอนที่แคทเธอรีนยืนยันไม่ยอมหย่าอย่างที่คิงเฮนรีต้องการ 

ซึ่งคิงเฮนรีก็ได้เอาคืนอย่างเจ็บแสบด้วยการตั้งข้อกล่าวหาแคทเธอรีนว่า ‘ผิดประเวณี’ โดยอ้างอิงจากพระคัมภีร์พันธสัญญาเก่าที่ระบุว่า ผู้ชายคนไหนที่เอาเมียของพี่ชายหรือน้องชายไปเป็นเมียของตน ผู้นั้นต้องตายโดยไร้ทายาท และถือว่าทำเรื่องอันเป็นมลทินและสร้างความอัปยศ

แคทเธอรีนยืนกรานปฏิเสธข้อกล่าวหานี้ พระนางอธิบายว่า การแต่งงานกับเจ้าชายอาเธอร์นั้น ‘ไม่เคยสมบูรณ์’

หลังรอคอยมานานหลายปี ในปี 1533 คิงเฮนรีได้ทำให้การแต่งงานกับแคทเธอรีนเป็น ‘โมฆะ’ โดยอ้างว่าพระนางแต่งงานกับพี่ชายของพระองค์แล้ว ทำให้การแต่งงานของพระนางกับพระองค์เป็นสิ่งที่ผิดในสายตาพระเจ้า

การตัดสินใจทำให้การแต่งงานระหว่างพระองค์กับแคทเธอรีนเป็นโมฆะ นับเป็นการ ‘แตกหัก’ ครั้งสำคัญกับคริสตจักรคาทอลิกในกรุงโรมด้วย เนื่องจากพระสันตะปาปาทรงปฏิเสธที่จะอนุมัติคำขอหย่าของคิงเฮนรีหลายต่อหลายครั้ง แต่คิงเฮนรีก็ใช้อำนาจออกกฎหมายให้กษัตริย์อังกฤษเป็นประมุขแห่งศาสนจักรอังกฤษ แทนพระสันตะปาปาแห่งกรุงโรม 

แคทเธอรีนผู้ไม่เคยยอมรับคำตัดสินนี้ ต้องออกจากราชสำนักและไปใช้ชีวิตอย่างเงียบสงบที่ปราสาทคิมโบลตัน พระนางสิ้นพระชนม์อย่างโดดเดี่ยวในฐานะ ‘เจ้าหญิง’ หาใช่ ‘พระราชินี’ เมื่อวันที่ 7 มกราคม 1536

‘แอนน์ โบลีน’

สาเหตุที่คิงเฮนรีอยากรีบหย่ากับแคทเธอรีนใจจะขาด เป็นเพราะหญิงสาวผู้มีนามว่า ‘แอนน์ โบลีน’ 

แอนน์ กับพี่สาวชื่อ ‘แมรี’ ไปใช้ชีวิตช่วงวัยเด็กที่ราชสำนักฝรั่งเศส ก่อนจะกลับมาอังกฤษเมื่อประมาณปี 1520 และเป็นแมรีก่อนที่มีความสัมพันธ์กับคิงเฮนรี (ในขณะที่เฮนรียังแต่งงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายกับแคทเธอรีน) แต่ต่อมาคิงเฮนรีก็ยุติความสัมพันธ์กับแมรี และปันใจให้กับแอนน์ 

เชื่อกันว่าคิงเฮนรีเจอแอนน์ครั้งแรกเมื่อปี 1522 เมื่อเธอปรากฏตัวที่ราชสำนักอังกฤษเป็นครั้งแรกในงานเต้นรำสวมหน้ากากห

แอนน์ ซึ่งเคยเป็นนางกำนัลในราชสำนักฝรั่งเศส มีสิ่งที่เรียกว่า ‘เสน่ห์ทางเพศ’ อย่างล้นเหลือ เธอมีผิวสีมะกอก ผมสีดำขลับที่เข้ากันได้ดีกับดวงตาสีดำเป็นประกาย แม้จะไม่ใช่คนหุ่นดีเมื่อเทียบกับสาวคนอื่น ๆ แต่แอนน์ก็กลบข้อด้อยนี้ด้วยความช่ำชองในการ ‘หว่านเสน่ห์’ จนผู้ชายส่วนใหญ่ที่รู้จักพากันตกหลุมพรางที่เธอขุดไว้

หนึ่งในนั้นคือคิงเฮนรี ที่เขียนจดหมายรักให้เธอมากถึง 17 ฉบับ เพื่อแสดงออกถึงความหลงใหล ในขณะที่ฝ่ายหญิงใช้คำพูดทั้งยั่วยวนทั้งเหน็บแนมสารพัด

ในจดหมายฉบับแรกคิงเฮนรีเขียนถึงแอนน์ว่า "เมื่อเราอ่านจดหมายฉบับสุดท้ายของท่าน เรารู้สึกทรมานใจอย่างยิ่ง ไม่รู้ว่าจะตีความอย่างไรดี ไม่รู้ว่าตัวเองกำลังเสียเปรียบหรือได้เปรียบ ขอวิงวอนท่านอย่างจริงจัง ช่วยทำให้เราทราบโดยชัดแจ้งถึงความในใจที่มีต่อความรักระหว่างสองเรา"

จาก ‘คนรัก’ กลายเป็น ‘เพชฌฆาต’

คิงเฮนรีหลงรักแอนน์ชนิดหัวปักหัวปำ ยิ่งเธอไม่ยอมเป็นเพียง ‘สนมลับ’ ของพระองค์ ยิ่งกระตุ้นให้พระองค์อยากเอาชนะเธอมากขึ้น ท้ายที่สุดแอนน์ก็คุมเกมได้สำเร็จ คิงเฮนรีทำทุกวิถีทางจนได้หย่าขาดจากแคทเธอรีน และรีบแต่งงานอย่างลับ ๆ กับแอนน์ ในเดือนมกราคม 1533

แอนน์คลอดลูกในเดือนกันยายน ปีเดียวกัน แต่คิงเฮนรีต้องพบความผิดหวังอีกครั้ง เพราะลูกที่แอนน์คลอดออกมาก็ยังไม่ใช่ลูกชาย ครั้งนี้เขาได้ลูกสาวที่มีชื่อว่า ‘เอลิซาเบธ’ (ต่อมาคือ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 แห่งอังกฤษ) แต่คิงเฮนรีก็ยังไม่หมดหวังในตัวแอนน์ พระองค์มั่นใจว่ายังไงแอนน์ก็จะให้กำเนิดลูกชายแก่พระองค์ได้ 

กลายเป็นว่าคิงเฮนรีต้องพบความผิดหวังอีกหลายครั้ง เมื่อแอนน์ตั้งครรภ์และแท้งลูกหลายครั้ง จนคิงเฮนรีหมดความสนใจในตัวแอนน์ และกลับไปทำตัวเหมือนเดิมด้วยการไปมีสัมพันธ์กับหญิงอื่น 

แต่แอนน์ไม่ใช่แคทเธอรีน เธอโกรธเกรี้ยวและแสดงความหึงหวงให้พระสวามีรู้

เมื่อได้นั่งตำแหน่งราชินีแห่งอังกฤษ แอนน์เริ่มกลายเป็นคนเอาแต่ใจและเจ้าอารมณ์มากขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงจุดที่ข้าราชบริพารหลายคนไม่อยากจะเข้าใกล้เธอ พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปนี้ได้บั่นทอนความรักที่เฮนรีมีต่อแอนน์อย่างรวดเร็ว 

ในหนังสือ ‘The Six Wives of Henry VIII’ พระราชินีองค์สุดท้ายของเฮนรีคือ ‘แคทเธอรีน พารร์’ บันทึกเกี่ยวกับบทบาทของภรรยาว่า “ผู้หญิงจำเป็นต้องมีสติสัมปชัญญะ รักสามีและลูก ๆ สุขุม และเป็นแม่บ้านที่ดี” 

เห็นได้ชัดว่าคุณสมบัติเหล่านี้ไม่มีในตัวแอนน์เลย

ความรักที่คิงเฮนรีมีต่อแอนน์ ทำให้พระองค์ลงทุนตัดความสัมพันธ์กับโรม และรับตำแหน่งประมุขแห่งศาสนจักรอังกฤษมาดูแลเอง ซึ่งนับเป็นเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ของอังกฤษ และคริสต์ศาสนจักรโดยรวม แต่สุดท้ายแล้วพระองค์ก็ไม่ได้ลูกชายจากแอนน์ พระองค์ยังเชื่อด้วยว่าการแต่งงานระหว่างพระองค์กับแอนน์นั้นถูกสาปแช่ง และแอนน์ต้องเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องนี้

ตัดหัว ‘แอนน์ โบลีน’

อย่างที่หลายคนทราบ แอนน์ถูกส่งไปตัดศีรษะที่หอคอยลอนดอนด้วยข้อหานอกใจ การร่วมประเวณีระหว่างพี่น้อง และทรยศต่อกษัตริย์ ซึ่งนักประวัติศาสตร์หลายคนเชื่อว่าคิงเฮนรีสร้างข้อกล่าวหาเหล่านี้ขึ้นมาเอง เพื่อกำจัดเธอให้พ้นทาง 

ความรักอันยิ่งใหญ่ที่คิงเฮนรีมีให้แอนน์ได้มลายหายไปหมดแล้ว หากพิจารณาจากความสัมพันธ์นี้และความสัมพันธ์อื่น ๆ ของคิงเฮนรี จะเห็นว่าเมื่อพระองค์หลงรักหญิงคนใดแล้ว ความรู้สึกนั้นจะจืดจางอย่างรวดเร็ว เมื่อสามารถพิชิตใจหญิงคนนั้นได้สำเร็จ 

รักแท้ที่ชื่อ ‘เจน ซีมัวร์’

แต่ทฤษฎีที่ว่าใช้ไม่ได้กับกรณีของ ‘เจน ซีมัวร์’ พระราชินีองค์ที่สามของคิงเฮนรี นักประวัติศาสตร์บางคนบอกว่า เจนเป็นพระราชินีองค์เดียวที่คิงเฮนรีรักสุดหัวใจ เธอมีคุณสมบัติทุกอย่างที่แอนน์ไม่มี เธอไม่ใช่ผู้หญิงที่หวือหวาหรือเอะอะ แต่ดูเคร่งขรึมและค่อนข้างธรรมดา พูดจานุ่มนวลและอยู่ในโอวาทพระสวามี

คิงเฮนรีอาจจะเคยเจอเจนมาก่อนในระหว่างที่พระองค์ไปล่าสัตว์ และต้องไปประทับที่ Wolf Hall ซึ่งเป็นบ้านบิดาของเธอ อีกทั้งเจนยังเคยเป็นนางกำนัลของแคทเธอรีนและแอนน์ นอกจากนี้เจนยังมีศักดิ์เป็นญาติกับแอนน์ด้วย เพราะแม่ของพวกเธอเป็นลูกพี่ลูกน้องที่มีย่าคนเดียวกัน และถูกเลี้ยงดูมาด้วยกันระยะหนึ่ง 

ไม่กี่วันหลังการประหารชีวิตแอนน์ คิงเฮนรีก็แต่งงานกับเจน ในวันที่ 30 พฤษภาคม 1535 แต่เจนไม่ได้เข้าพิธีราชาภิเษกและไม่ได้สวมมงกุฎราชินีอังกฤษเหมือนแคทเธอรีนและแอนน์ โบลีน บางคนเชื่อว่าเพราะคิงเฮนรีอยากรอให้เธอคลอดลูกชายออกมาก่อน 

ครอบครัวของเจนแทบจะประเคนเธอให้คิงเฮนรี ทันทีที่รู้ว่าพระองค์สนใจในตัวเธอ พวกเขาล้วนปรารถนาในผลประโยชน์และความเจริญรุ่งเรืองของวงศ์ตระกูล ไม่มีใครรู้ว่าเจนรู้สึกยังไงกับคิงเฮนรี แต่มีรายงานมากมายที่ชี้ว่าในเวลานั้นคิงเฮนรีเอ่ยถึงเธอด้วยความรักและเทิดทูนอย่างแท้จริง พระองค์มักจะขอความเห็นเรื่องการบริหารบ้านเมืองจากเธอ และมีความสุขเมื่อยามได้ร่วมมื้ออาหารและเต้นรำกับเธอ

การตายก่อนวัยอันควรของ ‘เจน ซีมัวร์’

เจนมอบสิ่งที่คิงเฮนรีปรารถนามากที่สุดนั่นคือการให้กำเนิดลูกชาย ซึ่งต่อมาคือ ‘พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 6’ ในเดือนตุลาคม 1537 ทำให้คิงเฮนรีปลาบปลื้มใจอย่างมาก แต่ความสุขของคิงเฮนรีก็จบลงอย่างรวดเร็ว เมื่อเจนเสียชีวิตด้วยภาวะแทรกซ้อนจากการคลอดบุตร เพียง 2 สัปดาห์หลังให้กำเนิดเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด

คิงเฮนรีเสียใจอย่างมากต่อการสูญเสียเจน ผู้หญิงที่พระองค์เรียกว่า ‘ภรรยาที่แท้จริง’

ร่างของเจนถูกฝังในหลุมฝังศพที่โบสถ์เซนต์จอร์จ พระราชวังวินด์เซอร์ และต่อมาได้กลายเป็นพระราชินีคนเดียวจากทั้งหมด 6 คน ที่คิงเฮนรีเลือกจะฝังร่างของตัวเองเคียงข้าง 

‘แอนน์แห่งคลีฟ’ ผู้มีความงามไม่ตรงปก?

หลังการจากไปของเจน ข้าราชบริพารเห็นพ้องต้องกันว่าคิงเฮนรีต้องแต่งงานใหม่โดยเร็วที่สุด แต่พระองค์ไม่อยากทำเช่นนั้นเพราะต้องการไว้ทุกข์ให้กับเจน เป็นผลให้ในช่วง 2 ปีแรกหลังการเสียชีวิตของเจน คิงเฮนรีก็ยังไม่ยอมแต่งงานกับใคร 

‘โทมัส ครอมเวลล์’ เสนาบดีคนสำคัญของคิงเฮนรี จัดการหาเจ้าสาวจากเยอรมนีมาให้พระองค์ เธอคนนั้นคือ ‘แอนน์แห่งคลีฟ’ ซึ่งเหล่าเสนาบดีคาดว่าเธอคนนี้จะทำให้การปฏิรูปศาสนาของอังกฤษแข็งแกร่งขึ้น 

ความรู้สึกของคิงเฮนรีที่มีต่อแอนน์แห่งคลีฟนั้นแตกต่างจากพระราชินีองค์อื่น ๆ อย่างสิ้นเชิง มีบันทึกที่ชี้ว่าคิงเฮนรีเกลียดเธอเข้าไส้ หลังจากพบว่าเธอไม่ตรงปกเอาเสียเลย เมื่อเทียบกับภาพวาดของ ‘ฮันส์ ฮอลไบน์’ พระองค์ถึงขั้นพยายามจะหยุดงานแต่งงาน แต่ก็ทำไม่สำเร็จ ทั้งคู่แต่งงานกันเมื่อวันที่ 6 มกราคม 1540

แม้จะไม่มีเหตุผลชัดเจนว่าทำไมคิงเฮนรีถึงมองว่าแอนน์แห่งคลีฟน่ารังเกียจ แต่พระองค์เคยพูดถึงเธอว่า ‘มีกลิ่นชั่วร้าย’ จนไม่สามารถปฏิบัติภารกิจในคืนวันแต่งงานได้ (แต่มองอีกด้าน ตอนนั้นคิงเฮนรีก็ไม่ใช่เจ้าชายรูปงามเหมือนเดิมแล้ว ต้องให้ความเป็นธรรมกับแอนน์แห่งคลีฟด้วย) 

แต่ไม่ว่าคิงเฮนรีจะรู้สึกกับแอนน์ยังไง พระองค์ก็ปฏิบัติต่อแอนน์อย่างสุภาพ และมีความสุขกับการได้อยู่เป็นเพื่อนเธอในมื้อค่ำและตอนเล่นไพ่ 

เมื่อหมดหวังที่องค์กษัตริย์จะมีลูกกับแอนน์แห่งคลีฟ เหล่าเสนาบดีจึงจัดการหาช่องโหว่ในสัญญาแต่งงานเพื่อยุติการแต่งงาน ซึ่งพวกเขาก็ทำสำเร็จใน 6 เดือนหลังจากพิธีแต่งงาน

เมื่อการแต่งงานถูกยกเลิก แอนน์แห่งคลีฟได้รับเงินจำนวนมาก และได้บ้านอีกหลายหลัง เธอใช้ชีวิตอย่างสุขสบายในฐานะ ‘น้องสาว’ ของคิงเฮนรี และไม่เคยหวนคืนกลับบ้านเกิดที่เยอรมนีอีกเลย กระทั่งเสียชีวิตในเดือนกรกฎาคม 1557

กุหลาบไร้หนาม ‘แคทเธอรีน โฮเวิร์ด’

‘แคทเธอรีน โฮเวิร์ด’ เป็นพระราชินีองค์ที่ 5 ของคิงเฮนรี เธอเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่แสดงถึงความหลงใหลและเสน่หาขององค์กษัตริย์ ที่เวลานี้ไม่ใช่หนุ่มหล่อหุ่นเท่อีกต่อไป แต่กลายเป็นคนเจ้าเนื้ออายุ 49 ปี ขณะที่แคทเธอรีนอายุเพียง 17 ปี 

เช่นเดียวกับเจน ซีมัวร์ แคทเธอรีนเป็นตัวแทนของวงศ์ตระกูลที่ใช้เด็กผู้หญิงเป็นสะพานสู่ความโปรดปรานของราชวงศ์ แคทเธอรีนเคยเป็นนางกำนัลของแอนน์แห่งคลีฟมาก่อน เธอถูกนำมาโชว์ตัวต่อคิงเฮนรีและถูกสอนให้ยั่วยวนพระองค์ กระทั่งคิงเฮนรีตกหลุมรักและแต่งงานกับเธอเพียงไม่กี่สัปดาห์หลังหย่ากับแอนน์แห่งคลีฟ

คิงเฮนรีหลงใหลในเสน่ห์ของสาวสวยผมบลอนด์ ผู้ซึ่งพระองค์เรียกว่า ‘กุหลาบไร้หนาม’ พร้อมกับปรนเปรอของขวัญให้เธอมากมาย ในขณะที่เธอก็เล่นบทสาวน้อยไร้เดียงสาได้อย่างสมบทบาทพร้อมกับยกยอปอปั้นคิงเฮนรี ซึ่งสภาพในเวลานั้นไม่ค่อยเป็นที่ชื่นชมเท่าไหร่นัก ซ้ำร้ายยังมีแผลรุนแรงที่ขา ทำให้พระองค์เดินลำบาก และไม่สามารถขี่ม้าหรือเต้นรำได้เหมือนตอนหนุ่ม ๆ อีกต่อไป

แคทเธอรีนทำให้คิงเฮนรีกลับมากระปรี้กระเป่าอีกครั้ง แม้ทั้งสองจะแตกต่างกันสุดกู่ เพราะแคทเธอรีนไม่รู้หนังสือและไม่ได้รับการศึกษาที่ดี แต่คิงเฮนรีก็เที่ยวอวยเจ้าสาวตัวน้อยของพระองค์ให้คนอื่นฟังอยู่เสมอ

แต่งงานกันได้ไม่ถึงปีก็มีข่าวลือไม่ดีไม่งามเกิดขึ้น เมื่อแคทเธอรีนเกิดไปตกหลุมรักข้าราชบริพารหนุ่มชื่อ ‘โธมัส คัลเปปเปอร์’ ทั้งสองลอบพบกันอย่างลับ ๆ แต่ความรักที่แน่นอกก็ไม่สามารถเก็บไว้ได้นาน ไม่ช้าทั้งคู่ก็ถูกจับได้

เมื่อข่าวการนอกใจไปถึงหูคิงเฮนรี ว่ากันว่าพระองค์รู้สึกสะเทือนใจและแปลกใจว่า แม่กุหลาบไร้นามดอกนี้ทำเรื่องชั่วร้ายกับสามีผู้เป็นที่รักของเธอได้อย่างไร?

สุดท้ายแคทเธอรีนและคนรักของเธอถูกตัดสินว่ามีความผิดข้อหาล่วงประเวณีและทรยศต่อองค์กษัตริย์ เพียงไม่กี่เดือนหลังจากถูกถอดตำแหน่งราชินี เธอถูกตัดศีรษะในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 1542 

หลายคนสงสัยว่าคิงเฮนรีรักเด็กสาวอายุ 17 ปีคนนี้จริงหรือไม่? แล้วถ้ารัก ทำไมถึงส่งเธอไปตายอย่างน่าสยดสยอง? มีความเป็นไปได้ว่าพระองค์รักเธอจริง ๆ นั่นแหละ แต่เมื่อความจงรักภักดีของเธอสูญสิ้นไป เธอก็ไม่มีประโยชน์อะไรสำหรับพระองค์อีกต่อไป 

มีเกร็ดที่น่าสนใจเสริมนิดหนึ่งว่า แคทเธอรีน โฮเวิร์ด เป็นลูกพี่ลูกน้องของแอนน์ โบลีน และท้ายที่สุดเธอก็คือถูกตัดศีรษะในข้อหาทรยศเช่นเดียวกับแอนน์

‘แคทเธอรีน พารร์’ ผู้เป็นรักครั้งสุดท้าย

การประหารชีวิตแคทเธอรีน โฮเวิร์ด ดูเหมือนจะทำให้คิงเฮนรีตกอยู่ในความเศร้าหมอง พระองค์ปลีกตัวอย่างสันโดษอยู่พักหนึ่ง รายล้อมไปด้วยความรู้สึกสูญเสีย ถูกหักหลัง และสิ้นหวัง เพราะสำหรับพระองค์แล้ว แคทเธอรีน โฮเวิร์ด เป็นความหวังสุดท้ายที่จะทำให้พระองค์มีลูกชายอีกคน ในขณะที่พระองค์กำลังป่วยและแก่ตัวลงอย่างรวดเร็ว

การแต่งงานครั้งสุดท้ายของคิงเฮนรีเกิดขึ้นกับ ‘แคทเธอรีน พารร์’ แม่ม่ายผู้มั่งคั่งในราชสำนัก ซึ่งเคยเป็นนางกำนัลของแคทเธอรีนแห่งอารากอนมาก่อน เธอมีอายุประมาณ 31 ปี เมื่อคิงเฮนรีวัย 52 ปี เริ่มแสดงความสนใจ 

เวลานั้นชายอีกคนที่เข้ามาในชีวิตเธอคือ ‘โธมัส ซีมัวร์’ ซึ่งเป็นพี่ชายของราชินีเจนผู้ล่วงลับ แต่เมื่อชัดเจนว่าคิงเฮนรีสนใจในตัวเธอ เธอก็เลิกยุ่งเกี่ยวกับโธมัส และไปแต่งงานกับคิงเฮนรีในเดือนกรกฎาคม 1543 กลายเป็นราชินีคนที่ 6 และคนสุดท้ายของคิงเฮนรี

แคทเธอรีนใจดีและอ่อนโยนต่อกษัตริย์วัยกลางคนที่กำลังป่วยกระเสาะกระแสะ เธอเป็นคนเบิกบานและมีการศึกษาดีมาก ทำให้สามารถต่อปากต่อคำกับคิงเฮนรีได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่พระองค์ชอบมาก

อย่างไรก็ตาม เธอเคยแสดงความสนใจในนิกายโปรแตสแตนท์ ซึ่งทำให้มีศัตรูมากมายในราชสำนักของคิงเฮนรี คนเหล่านั้นพยายามยุยงให้กษัตริย์ต่อต้านเธอ แต่ก็ไม่สำเร็จ เพราะคิงเฮนรีไว้ใจเธอมาก

นอกจากนี้เธอยังแสดงความห่วงใยเผื่อแผ่ไปถึงลูก ๆ ทั้งสามคนของคิงเฮนรี ได้แก่ แมรี เอลิซาเบธ และเอ็ดเวิร์ด และมีส่วนสำคัญในการนำพวกเขากลับมาอยู่ในราชสำนักด้วย

เฮนรีไม่ได้หลงใหลในตัวแคทเธอรีน พาร์ เท่ากับที่เคยหลงใหลในตัวแอนน์ โบลีน หรือแคทเธอรีน โฮเวิร์ด และไม่ได้รักเธออย่างสุดซึ้งเหมือนที่เคยรักเจน ซีมัวร์ แต่ดูเหมือนว่าความสัมพันธ์ของทั้งคู่จะเป็นไปอย่างอบอุ่น สบายใจ เคารพซึ่งกันและกัน และดูแลเอาใจใส่กันอย่างดี 

แคทเธอรีน พารร์ ดูแลคิงเฮนรีด้วยตัวเองในช่วงวาระสุดท้ายของพระองค์ เธอแสดงความโศกเศร้าอย่างยิ่งเมื่อพระองค์สวรรคตในเดือนมกราคม 1547 ขณะมีอายุ 55 ปี หลังจากนั้นเธอก็กลับไปสานสัมพันธ์กับโธมัสอีกครั้ง ก่อนจะเสียชีวิตในปี 1548 

ในบรรดาพระราชินีของคิงเฮนรีทั้งหมด แคทเธอรีน พาร์ มีอิทธิพลในด้านต่าง ๆ มากที่สุด ซึ่งรวมถึงวัฒนธรรมในราชสำนัก ศาสนา บทบาทของผู้หญิง และการศึกษาของลูกทั้งสามของคิงเฮนรี เธอยังเป็นผู้เกลี้ยกล่อมให้คิงเฮนรีคืนสถานะรัชทายาทให้กับแมรี่และเอลิซาเบธ และยังเคยทำหน้าที่เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เมื่อครั้งคิงเฮนรีไปทำสงครามกับฝรั่งเศสด้วย 

คิงเฮนรีเป็น ‘กษัตริย์นักรัก’ หรือ ‘จอมเผด็จการ’?

นี่เป็นคำถามที่ยากจะตอบแบบชี้ชัด เพราะจากที่ร่ายมาทั้งหมดนี้จะเห็นว่าแต่ละความสัมพันธ์ของพระองค์มีลักษณะเฉพาะตัวที่โดยรวมจะเป็นการเติมเต็มความรู้สึกของพระองค์ ดังนี้

‘แคทเธอรีนแห่งอารากอน’ เป็นการแต่งงานครั้งแรกของคิงเฮนรี ซึ่งเต็มเปี่ยมไปด้วยความหลงใหล ความรักในช่วงแรก ๆ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ความรู้สึกเหล่านี้ถูกแทนที่ด้วยความหงุดหงิด ความโกรธ และเป็นปรปักษ์กันในที่สุด

‘แอนน์ โบลีน’ เป็นความสัมพันธ์ที่เกิดจากความหลงใหลอย่างแรงกล้า แต่ไม่เคยพัฒนาเป็นความรักที่แท้จริง

‘เจน ซีมัวร์’ ในบรรดาพระราชินีทั้งหมด เธอเป็นตัวแทนรักแท้เพียงหนึ่งเดียวของคิงเฮนรี แม้ว่านักประวัติศาสตร์จะไม่สามารถหยั่งถึงความรู้สึกที่แท้จริงของเจน แต่ความรักที่คิงเฮนรีมีต่อเธอนั้นเป็นที่ประจักษ์ และได้รับการยืนยันจากบันทึกทางประวัติศาสตร์

‘แอนน์แห่งคลีฟ’ อาจเป็นความสัมพันธ์ที่เริ่มต้นจากความขยะแขยงและน่ารังเกียจ แต่สุดท้ายก็พัฒนาเป็นมิตรภาพที่แน่นแฟ้นในเวลาต่อมา

‘แคทเธอรีน โฮเวิร์ด’ เป็นตัวแทนของความหลงใหลอย่างแรงกล้าและการหลับหูหลับตาของคิงเฮนรี อย่างไรก็ตาม ยังมีเหตุผลที่พอจะสรุปได้ว่า ณ จุดหนึ่ง คิงเฮนรีรักแคทเธอรีน โฮเวิร์ด จริง ๆ 

‘แคทเธอรีน พารร์’ หญิงผู้โดดเด่นด้วยความเคารพและชื่นชมซึ่งกันและกัน อย่างไรก็ตาม ไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่า คิงเฮนรีและแคทเธอรีน พารร์ รักกัน

เช่นเดียวกันคนส่วนใหญ่ ความรู้สึกในแต่ละความสัมพันธ์ของคิงเฮนรีนั้น แตกต่าง ซับซ้อน เปลี่ยนแปลงได้ และยากจะนิยามในบางครั้ง แต่ที่ชัดเจนคือพระองค์เป็นคนที่ ‘คลั่งรัก’ อย่างมาก ขณะเดียวกันก็มีจุดอ่อนเรื่องการปฏิบัติต่อผู้หญิงอย่างไม่เหมาะสม จนอาจดูเหมือนจอมเผด็จการผู้เอาแต่ใจ

แต่ไม่ว่าจะยังไง ‘พระเจ้าเฮนรีที่ 8’ มักถูกอ้างถึงในฐานะหนึ่งในบุคคลที่น่าสนใจที่สุดในประวัติศาสตร์อังกฤษ ส่วนพระราชินีที่โด่งดังที่สุดของพระองค์คือ ‘แอนน์ โบลีน’ ก็เป็นตัวแทนของความหลงใหลอันแรงกล้าที่นำไปสู่การเปลี่ยนเส้นทางประวัติศาสตร์ของอังกฤษไปตลอดกาล

 

ภาพ: Getty Images

อ้างอิง: 

history

natgeokids

owlcation