‘พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3’ กษัตริย์ยุคใหม่ที่มาพร้อมความเปลี่ยนแปลง ปรับตัว และรับใช้ประชาชน

‘พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3’ กษัตริย์ยุคใหม่ที่มาพร้อมความเปลี่ยนแปลง ปรับตัว และรับใช้ประชาชน

‘สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3’ กษัตริย์ยุคใหม่ที่มาพร้อมความเปลี่ยนแปลง ปรับตัว และรักษาสมดุลระหว่างยุคสมัยใหม่ - เก่า กับคำมั่นเรื่องรับใช้ประชาชน

  • สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร เสด็จเข้าพระราชพิธีบรมราชาภิเษก วันที่ 6 พฤษภาคม 2023 
  • พระองค์ทรงมีรับสั่งให้เปลี่ยนแปลงพิธีกรรมหลายอย่างเพื่อปรับให้ทันยุคทันสมัย สะท้อนเรื่องการปรับตัว และพระประสงค์ที่เคยตรัสเรื่อง “การรับใช้ประชาชน”

แม้สถาบันกษัตริย์อังกฤษกำลังได้รับความนิยมตกต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ จากผลสำรวจซึ่งจัดทำขึ้นหนึ่งสัปดาห์ก่อนพิธีราชาภิเษกพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 โดยมีประชาชนเพียง 30% ตอบว่า สถาบันนี้มี ‘ความสำคัญมาก’ ส่วนผู้ที่บอกว่า ไม่สำคัญมาก, ไม่สำคัญเลย หรือควรยกเลิกไปมีรวมกันมากถึง 45%

แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับความจริงก็คือ โอกาสที่อังกฤษจะยกเลิกสถาบันกษัตริย์ไปในอนาคตอันใกล้มีความเป็นไปได้น้อยมาก เนื่องจากผู้ตอบแบบสอบถามเกินครึ่ง (58%) บอกว่า พวกเขายังต้องการ ‘กษัตริย์’ มากกว่าระบอบสาธารณรัฐที่มี ‘ประธานาธิบดี’ จากการเลือกตั้งเป็นประมุข

เหตุผลที่คนส่วนใหญ่ยังอยากเก็บสถาบันกษัตริย์ไว้ อาจเป็นเพราะความต้องการอนุรักษ์สถาบันเก่าแก่อันเป็นเอกลักษณ์ของชาติ แม้ความเชื่อเรื่องสิทธิและความเท่าเทียมกันของมนุษย์ในโลกยุคใหม่ จะขัดแย้งกับความเป็นอภิสิทธิ์ชนของคนบางกลุ่มในระบอบกษัตริย์

นอกจากนี้ ประเทศที่มีประชาธิปไตยเต็มใบอย่างอังกฤษก็มีระบบตรวจสอบและถ่วงดุลที่ทันสมัย ทำให้ราชวงศ์วินเซอร์ของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แม้จะเป็นอภิสิทธิ์ชน แต่ก็ไม่สามารถใช้ความมีอภิสิทธิ์นั้น และเงินอุดหนุนที่ได้รับจากงบประมาณแผ่นดินตามอำเภอใจ ประชาชนยังสามารถตรวจสอบและวิจารณ์ได้อย่างเสรี

ขณะเดียวกัน สถาบันกษัตริย์เองก็มีความรับผิดชอบ และพยายามยึดมั่นตามรัฐธรรมนูญ รวมถึงปรับตัวให้ทันสมัยอยู่เสมอ โดยพิธีราชาภิเษกของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 คือ ตัวอย่างของความพยายามปรับตัวเพื่อรักษาสมดุลระหว่างโลกเก่ากับโลกใหม่ในปัจจุบัน

 

พิธีกรรมที่เปลี่ยนไป

พิธีราชาภิเษกพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 6 พฤษภาคม 2023 ความจริงแล้วไม่ใช่ข้อบังคับตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากแม้จะไม่จัดขึ้นมา พระเจ้าชาร์ลส์ก็ยังคงเป็นประมุขแห่งรัฐที่ถูกต้องตามกฎหมาย นับตั้งแต่ควีนเอลิซาเบธที่ 2 เสด็จสวรรคตเมื่อเดือนกันยายน 2022

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอังกฤษอนุมัติงบค่าใช้จ่ายเพื่อใช้จัดงานนี้ ส่วนหนึ่งเพื่อสืบทอดโบราณราชประเพณี และเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ทางศาสนา หรือเรียกอีกอย่างว่าเป็น ‘ศาสนพิธี’ มากกว่า ‘รัฐพิธี’ เพื่อประกาศอย่างเป็นทางการว่า คริสตจักรอังกฤษ (Church of England) มีผู้ปกครองสูงสุดคนใหม่แล้ว

นอกจากนี้ พิธีราชาภิเษกที่จัดขึ้น ณ มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ ในกรุงลอนดอน ยังถือเป็นงานเฉลิมฉลองการขึ้นครองราชย์ให้กับพระเจ้าชาร์ลส์ด้วยความรื่นเริง หลังจาก ‘รัฐพิธี’ ขึ้นครองราชย์ เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2022 เกิดขึ้นท่ามกลางความโศกเศร้า และการไว้อาลัยให้กับการจากไปของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทำให้ไม่สามารถฉลองได้เต็มที่

ไฮไลต์ของพิธีราชาภิเษก ซึ่งถือเป็นพิธีกรรมโบราณที่สืบทอดกันมายาวนานนับพันปี ประกอบด้วย การเจิมน้ำมันศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อทางศาสนา การกล่าวคำปฏิญาณตนต่อพระเจ้า รวมถึงการขึ้นนั่งบัลลังก์ และสวมมงกุฎให้กับทั้งพระราชา และควีนคามิลลา พระราชินีองค์ใหม่

พิธีกรรมนี้จัดขึ้นครั้งสุดท้ายในปี 1953 หรือเว้นระยะห่างมานาน 70 ปี โดยครั้งจัดขึ้นเพื่อฉลองควีนเอลิซาเบธที่ 2 ขึ้นครองราชย์ ซึ่งในเวลานั้น พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ยังมีพระชนมายุเพียง 3 พรรษา และเป็นแขกอายุน้อยที่สุดที่อยู่ในงานนั้นด้วย

แม้พิธีราชาภิเษกจะมีประวัติความเป็นมายาวนานนับพันปี แต่การจัดงานครั้งนี้ พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงมีรับสั่งให้เปลี่ยนแปลงพิธีกรรมหลายอย่างเพื่อปรับให้ทันยุคทันสมัยมากขึ้น

สิ่งที่เปลี่ยนแปลงอย่างแรก คือ เส้นทางพระราชดำเนินด้วยรถม้าจากพระราชวังบัคกิงแฮม มายังมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ ปรับระยะทางให้สั้นกว่าในสมัยควีนเอลิซาเบธที่ 2 เพื่อลดเวลาพิธีกรรมให้สั้นขึ้น และลดผลกระทบด้านการจราจรในพื้นที่กลางกรุงลอนดอน

ขณะเดียวกัน ระยะทางที่สั้นลงยังช่วยให้ภาพฝูงชนที่มาเฝ้าชมพิธีกรรมตลอดสองข้างทางมีความคึกคัก และเนืองแน่นมากขึ้น

ความเปลี่ยนแปลงต่อมา คือ จำนวนแขกผู้มีเกียรติที่เชิญมาร่วมงานลดจำนวนลงจาก 8,000 คนในยุคควีนเอลิซาเบธ เหลือเพียง 2,000 คน เหตุผลหลักก็เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย หลังจากประชาชนบางส่วนตั้งคำถามถึงความคุ้มค่าและความเหมาะสม เพราะงานจัดขึ้นในช่วงที่ประเทศกำลังเผชิญปัญหาเงินเฟ้อและค่าครองชีพพุ่งสูง

อีกหนึ่งความเปลี่ยนแปลง ซึ่งแม้จะเป็นรายละเอียดเล็กน้อย แต่ก็สะท้อนความพยายามปรับตัวของกษัตริย์ คือ การเปลี่ยนสูตร ‘น้ำมันศักดิ์สิทธิ์’ ซึ่งใช้ประกอบพิธีเจิมหน้าผาก หน้าอก และมือทั้งสองข้างของพระเจ้าชาร์ลส์ จากเดิมต้องเป็นน้ำมันที่มาจาก ‘อ้วกวาฬหัวทุย’ ซึ่งเป็นวัตถุดิบหายากและอาจเข้าข่ายทรมานสัตว์ เปลี่ยนมาใช้ส่วนผสมของน้ำมันมะกอกที่เป็น ‘วีแกน’ จากนครเยรูซาเลมแทน

ความเปลี่ยนแปลงที่กล่าวมา ยังไม่นับรวมการเชิญผู้นำจิตวิญญาณต่างความเชื่อและศาสนามาร่วมงาน เพื่อสะท้อนความหลากหลายของสังคมยุคใหม่ และเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามรักษาสมดุลระหว่างพิธีกรรมโบราณกับความทันสมัย เพื่อให้ได้รับการยอมรับจากคนทั่วไปมากขึ้น

 

สถาบันกษัตริย์ไม่เหมือนเดิม

เวอร์นอน บ็อกดาเนอร์ ผู้เชี่ยวชาญรัฐธรรมนูญอังกฤษจากมหาวิทยาลัยคิงส์ คอลเลจ ในกรุงลอนดอน เปรียบเทียบพิธีราชาภิเษกในยุคควีนเอลิซาเบธเมื่อปี 1953 กับพิธีเดียวกันของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ในอีก 70 ปีต่อมาว่า สถานะของสถาบันกษัตริย์ทั้งสองยุคสมัยมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างชัดเจน

ในยุคก่อน “สถาบันกษัตริย์ยังคงถูกมองว่ามีความศักดิ์สิทธิ์และแตะต้องไม่ได้” แต่ปัจจุบัน ราชวงศ์วินเซอร์ได้เปลี่ยนจาก “สถาบันกษัตริย์อันศักดิ์สิทธิ์มาสู่สถาบันกษัตริย์ที่รับใช้ประชาชน” 

คุณค่าของสถาบันกษัตริย์ยุคใหม่ “ถูกตัดสินจากการสร้างประโยชน์ให้กับสังคมหรือไม่ หากคำตอบคือ ‘ไม่’ ประชาชนก็ไม่ต้องการมีสถาบันนี้อีกต่อไป” เวอร์นอน กล่าวพร้อมกับระบุว่า พระเจ้าชาร์ลส์ดูเหมือนจะทราบเรื่องนี้ดี

ที่เป็นเช่นนั้นเพราะในการกล่าวสุนทรพจน์ครั้งแรกหลังขึ้นครองราชย์ เมื่อเดือนกันยายน 2022 พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ประกาศในตอนหนึ่งของสุนทรพจน์ว่า

“ขณะที่ควีน (เอลิซาเบธที่ 2) ทรงอุทิศพระองค์อย่างไม่ย่อหย่อน ข้าพเจ้าขอให้คำมั่นด้วยเกียรติของข้าพเจ้าเองเช่นกันว่า ตลอดช่วงเวลาที่เหลือตามพระประสงค์ของพระเจ้า ข้าพเจ้าจะยึดมั่นในหลักการตามรัฐธรรมนูญที่เป็นหัวใจของชาติ...

“ข้าพเจ้าจะพยายามจนสุดความสามารถเพื่อรับใช้ท่านทั้งหลายด้วยความภักดี ความเคารพ และความรัก อย่างที่ข้าพเจ้าได้กระทำมาตลอดชีวิต”

 

ชีวิตในวัยเด็ก

พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ประสูติที่พระราชวังบัคกิงแฮม เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน ค.ศ.1948 เป็นโอรสองค์โตของควีนเอลิซาเบธที่ 2 กับเจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ

พระองค์นับเป็นสมาชิกระดับสูงของราชวงศ์อังกฤษคนแรกที่ไม่มีนักการเมืองอาวุโสมาเฝ้าสังเกตการณ์การทำคลอด เพื่อยืนยันให้แน่ใจว่าเป็นองค์รัชทายาทตัวจริงตามธรรมเนียมปฏิบัติที่เคยสืบทอดกันมาหลายร้อยปี

จากคำบอกเล่าของแคเธอรีน พีเบิลส์ พระพี่เลี้ยง ระบุว่า พระเจ้าชาร์ลส์ในวัยเด็ก “ขี้เหงา อ่อนไหว และขี้อายมาก ชอบหมกตัวอ่านหนังสือและวาดรูปอย่างเงียบ ๆ” 

วินสตัน เชอร์ชิล อดีตนายกรัฐมนตรีของอังกฤษ ก็เคยพูดถึงพระเจ้าชาร์ลส์หลังได้เข้าเฝ้าก่อนที่พระองค์จะมีอายุครบ 4 ขวบไม่นานว่า “พระองค์เป็นเด็กที่คิดมาก”

ชีวิตในวัยเด็กของพระเจ้าชาร์ลส์ มีความสัมพันธ์ที่ค่อนข้างห่างเหินกับพระบิดาและพระมารดา โดย ‘เดอะ การ์เดียน’ รายงานว่า ตอนอายุครบ 1 ขวบ พระองค์ถูกทิ้งไว้กับปู่ - ย่า ขณะที่พระมารดาเสด็จไปฉลองเทศกาลคริสต์มาสกับพระบิดา ซึ่งประจำการอยู่ที่ฐานทัพเรือในมอลตากันเพียงลำพัง

ในปี 1954 หลังจากควีนเอลิซาเบธ และเจ้าชายฟิลิป เสด็จกลับจากตระเวนเยือนต่างประเทศนาน 6 เดือน เมื่อพบหน้าเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ และเจ้าหญิงแอนน์ พระโอรสและพระธิดาครั้งแรก ทั้งสองพระองค์ทักทายลูก ๆ ด้วยการจับมือ แทนที่จะสวมกอด หรือหอมแก้มเหมือนพ่อแม่ทั่วไปในโลกตะวันตก

ตอนพระเจ้าชาร์ลส์ทรงเดินได้ก้าวแรกและมีฟันน้ำนมขึ้นซี่แรก ทั้งพระบิดาและพระมารดาก็ไม่ได้อยู่ด้วย นอกจากนี้ คำแรกที่พระองค์พูดได้ ยังเป็นคำว่า นาน่า” (nana) ซึ่งหมายถึงการเรียก ‘nanny’ (พี่เลี้ยง) ที่ชื่อว่า ‘มาเบล แอนเดอร์สัน’ แทนที่จะเป็นคำว่า ‘แม่’

 

ประสบการณ์สอนให้ปรับตัว

แม้ความเหินห่างกับพ่อแม่ อาจมีส่วนทำให้พระเจ้าชาร์ลส์ กลายเป็นเด็กอ่อนไหว และขี้เหงาอย่างที่พี่เลี้ยงเคยกล่าวไว้ แต่การได้หลุดจากกรอบเดิม ๆ มาเจอโลกใหม่ ทั้งในฐานะรัชทายาทองค์แรกของราชวงศ์ ที่ถูกส่งไปเข้าโรงเรียนประจำ แทนการเรียนกับติวเตอร์ส่วนตัวที่มาสอนให้ถึงในรั้วในวัง

การเป็นองค์รัชทายาทของราชวงศ์อังกฤษคนแรกที่เรียนจบมหาวิทยาลัย โดยพระองค์สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี และมานุษยวิทยา จากทรินิตี คอลเลจ ของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ทำให้มีความสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม และความแตกต่างหลากหลายของมนุษย์ รวมถึงประสบการณ์ผ่านมรสุมชีวิตจากการหย่าร้างกับเจ้าหญิงไดอานา ตามมาด้วยโศกนาฏกรรมที่คร่าชีวิตอดีตคนรักผู้นี้ไป และปัญหาอื่น ๆ ภายในครอบครัว ทั้งเรื่องการขอลดบทบาทสมาชิกราชวงศ์ของเจ้าชายแฮร์รี พระโอรสองค์เล็ก เพื่อย้ายไปอยู่อเมริกา และการพัวพันคดีล่วงละเมิดทางเพศเด็กของเจ้าชายแอนดรูว์ พระอนุชา

สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ล้วนเป็นบทเรียนและประสบการณ์อันมีค่าที่คอยย้ำเตือนกับพระองค์ว่า กษัตริย์ก็ไม่แตกต่างจากคนทั่วไป และสถาบันนี้มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องปรับตัวให้ทันกับโลกยุคใหม่อยู่เสมอ ดั่งที่แสดงออกมาในการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับพิธีราชาภิเษก และคำปฏิญาณว่า “จะรับใช้ประชาชน”

 

เรื่อง: ภานุวัตร เอื้ออุดมชัยสกุล

ภาพ: Getty Images

อ้างอิง:

BBC

Euronews

SKY

New York Times

New York Times (2)

The Guardian