‘ครูเอื้อ สุนทรสนาน’ ขุนพลเพลงแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ผู้ให้กำเนิดทำนองเพลง ‘วันลอยกระทง’

‘ครูเอื้อ สุนทรสนาน’ ขุนพลเพลงแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ผู้ให้กำเนิดทำนองเพลง ‘วันลอยกระทง’

เรื่องราวของ ‘ครูเอื้อ สุนทรสนาน’ ขุนพลเพลงแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ นักดนตรี นักร้อง ผู้ประพันธ์ทำนอง ผู้ก่อตั้งวงดนตรี ‘สุนทราภรณ์’ และหนึ่งในผู้ให้กำเนิดเพลงลอยกระทง

  • ผ่านขึ้นไปชั้นมัธยม 2 บุญเอื้อฉายแววโดดเด่นด้านดนตรีฝรั่ง โดยเฉพาะไวโอลินที่เรียกได้ว่า ‘เป็นเร็ว’ ทางโรงเรียนจึงเปลี่ยนให้ไปเรียนดนตรีเต็มวัน ส่วนการเรียนสามัญในชั้นมัธยม 2 ให้งดเรียน 
  • ในวันที่ภาพยนตร์เรื่องถ่านไฟเก่าฉายที่โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุง ผู้ชมต่างถูกสะกดด้วยเพลงในฝัน จากเสียงร้องของ เอื้อ สุนทรสนาน
  • เอื้อซึ่งกำลังตกหลุมรักอาภรณ์ เอานามสกุลของตัวเอง (สุนทรสนาน) ไปรวมกับชื่อสาวคนรัก (อาภรณ์) ออกมาเป็นชื่อวงสุดเพราะพริ้งว่า ‘สุนทราภรณ์’ 

“วันเพ็ญเดือนสิบสอง น้ำก็นองเต็มตลิ่ง เราทั้งหลายชายหญิง สนุกกันจริง วันลอยกระทง…”

นี่คือเนื้อเพลง ‘รำวงลอยกระทง’ หรือที่บางคนเรียกสั้น ๆ ว่าเพลง ‘ลอยกระทง’ ที่ขึ้นต้นมาแค่ประโยคเดียว ทั้งผู้เฒ่าผู้แก่ไปจนถึงเด็กตัวเล็กตัวน้อยก็สามารถร้องต่อได้จนจบ แถมบางคนไม่เพียงแค่ร้องได้ ยังตั้งมือเตรียมรำประกอบจังหวะอีกต่างหาก

เพลงลอยกระทง ไม่ได้ดังเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังดังไกลไปถึงต่างประเทศ จนชาวต่างชาติบางคนคิดว่าเป็นเพลงประจำชาติของคนไทย ทั้งที่ความจริงแล้ว คนไทยร้องเพลงนี้แค่ปีละ 1 ครั้ง

บทเพลงจังหวะสนุกสนาน จำง่ายทั้งคนไทยและคนต่างชาติ เป็นผลงานขึ้นหิ้งของขุนพลเพลงแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ‘ครูเอื้อ สุนทรสนาน’ ที่ใช้เวลาในการประพันธ์เพลงนี้ร่วมกับ ‘ครูแก้ว อัจฉริยะกุล’ ไม่ถึง 30 นาที 

บทความนี้ เราจะพาทุกคนไปรู้จัก ‘ครูเอื้อ สุนทรสนาน’ นักดนตรี นักร้อง ผู้ประพันธ์ทำนอง ผู้ก่อตั้งวงดนตรี ‘สุนทราภรณ์’ และหนึ่งในผู้ให้กำเนิดเพลงลอยกระทง 

‘เอื้อ สุนทรสนาน’ ครูเพลงระดับตำนานของคนไทย 

‘บุญเอื้อ สุนทรสนาน’ เกิดเมื่อวันที่ 21 มกราคม ปี 2453 ณ ตำบลโรงหวี อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม เป็นลูกคนสุดท้องของนายดี สุนทรสนาน และนางแส สุนทรสนาน ซึ่งมีลูกทั้งหมด 3 คน ได้แก่ หมื่นไพเราะพจมาน (อาบ สุนทรสนาน) นางปาน แสงอนันต์ และบุญเอื้อ สุนทรสนาน

นายดี ผู้เป็นพ่อ นอกจากจะเป็นชาวสวน ยังมีความสามารถพิเศษทางด้านศิลปะ คือการแกะสลักหนังใหญ่ ทำไปเชิดไป แถมพากย์ได้ด้วย เพื่อดูกันในหมู่ลูกหลานชาวสวนทั้งหลาย 

ในวัยเด็ก บุญเอื้อเริ่มเรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดใหม่ราษฎร์บูรณะ จังหวัดสมุทรสงคราม แต่เรียนได้เพียงปีเศษ พออ่านออกเขียนได้ พ่อก็พาตัวเข้ากรุงเทพฯ เมื่อปี 2460 ให้ไปอยู่กับหมื่นไพเราะพจมาน ผู้เป็นพี่ชาย ซึ่งรับราชการเป็นคนพากย์โขนในกรมมหรสพ กระทรวงวัง 

ต่อมา พี่ชายก็ส่งเด็กชายบุญเอื้อเข้าเรียนที่โรงเรียนวัดระฆังโฆษิตาราม พอจบชั้นประโยคประถม (ประถมปีที่ 3) เป็นช่วงที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งโรงเรียนพรานหลวงขึ้นที่สวนมิสกวัน เพื่อสอนดนตรีทุกประเภท มีอาจารย์ใหญ่คือ ‘พระเจนดุริยางค์’ พี่ชายจึงนำบุญเอื้อมาเรียนที่โรงเรียนนี้ ซึ่งเป็นประเภทกินนอน ในภาคเช้าเรียนวิชาสามัญ ในภาคบ่ายเรียนวิชาดนตรี 

วิชาดนตรีของที่นี่จะมีทั้งดนตรีไทยและดนตรีฝรั่ง ทางโรงเรียนจะสอนก่อนทั้งสองประเภท แล้วค่อยพิจารณาในระหว่างเรียนว่าใครถนัดดนตรีประเภทไหน ปรากฏว่าผ่านขึ้นไปชั้นมัธยม 2 ในปี 2465 บุญเอื้อฉายแววโดดเด่นด้านดนตรีฝรั่ง โดยเฉพาะไวโอลินที่เรียกได้ว่า ‘เป็นเร็ว’ ทางโรงเรียนจึงเปลี่ยนให้ไปเรียนดนตรีเต็มวัน ส่วนการเรียนสามัญในชั้นมัธยม 2 ให้งดเรียน 

เมื่อเติบโตเข้าสู่วัยหนุ่ม หนุ่มน้อยผู้ฉายแววอัจฉริยะด้านดนตรีได้เปลี่ยนชื่อจาก ‘บุญเอื้อ’ ซึ่งฟังคล้ายกับชื่อของผู้หญิง มาเป็น ‘เอื้อ’ เพียงคำเดียว

‘กำเนิดวงดนตรีเครื่องสายฝรั่งหลวง กระทรวงวัง’

ย้อนไปในปี 2455 ด้วยมุ่งหวังให้ชาวไทยได้สัมผัสกับดนตรีตะวันตกตามแบบอารยประเทศ  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้ทรงสถาปนาวงดนตรี เครื่องสายฝรั่งหลวง ขึ้น ภายใต้สังกัดกรมมหรสพ กระทรวงวัง โดยว่าจ้างครูชาวอิตาลีมาเป็นผู้ฝึกสอน 

แต่เนื่องจากนักดนตรีส่วนใหญ่เป็นคนสูงอายุที่คุ้นเคยกับเครื่องดนตรีไทย พอมาเจอเครื่องดนตรีตะวันตกก็ไปกันไม่เป็น ยิ่งครูผู้สอนเป็นฝรั่ง ยิ่งพูดกันไม่รู้เรื่อง แม้จะมีล่ามมาช่วยแปลภาษาให้ แต่ล่ามก็ได้แต่ภาษา ไม่มีพื้นฐานด้านดนตรี การเรียนการสอนจึงไม่ราบรื่นนัก เกิดปัญหาอยู่ตลอดเวลา 

ล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 จึงโปรดเกล้าฯให้ ‘ขุนเจนรถรัฐ’ ซึ่งรับราชการอยู่กรมรถไฟหลวง แต่มีประสบการณ์ร่วมวงกับวงดนตรีต่างประเทศ มารับผิดชอบและฟื้นฟูวงดนตรีสากล ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม ปี 2460

ขุนเจนรถรัฐใช้เวลาเพียง 3 ปี ในการปรับปรุงแนวทางของวงดนตรีให้ถูกต้องตามแบบของดุริยางค์สากล กระทั่งวงดนตรีวงนี้สามารถบรรเลงเพลงคลาสสิกได้หลายเพลง เช่น Symphonic Suit และ Symphonic Poem เป็นที่พอพระราชหฤทัยของล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 เป็นอย่างยิ่ง พระองค์จึงโปรดเกล้าฯให้เปิดการแสดงคอนเสิร์ตซิมโฟนีสำหรับประชาชนขึ้น ณ โรงละครหลวงสวนมิสกวัน และที่ศาลาสหทัย สถานกาแฟนรสิงห์ เป็นประจำทุกสัปดาห์ 

ความสามารถของวงดนตรีภายใต้การดูแลของขุนเจนรถรัฐ ได้รับการยกย่องจากหนังสือพิมพ์ต่างประเทศในเวลานั้นว่า เป็นวงดนตรีที่ดีที่สุดในเอเชียตะวันออก

ขุนเจนรถรัฐผู้เป็นเลิศด้านดนตรีตะวันตกไม่ใช่ใครที่ไหน ท่านก็คือ ‘พระเจนดุริยางค์’ ซึ่งเป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนพรานหลวงนั่นเอง

2 ปีหลังเรียนดนตรีฝรั่งเต็มตัว เอื้อก็ได้รับการบรรจุให้เข้ารับราชการประจำกองเครื่องสายฝรั่งหลวง ในกรมมหรสพ กระทรวงวัง รับพระราชทานยศเป็น ‘เด็กชา’ เงินเดือนเดือนละ 5 บาท เมื่อปี 2463 โดยประจำอยู่วงเล็กก่อน

ยิ่งพอไปงานบ่อยเข้าเอื้อก็ยิ่งเก่งขึ้นเรื่อย ๆ กระทั่งปี 2469 เขาจึงได้เลื่อนไปอยู่ในวงใหญ่ เพิ่มเงินเดือนเป็น 20 บาท แล้ว 2 ปีต่อมาก็ได้ยศ ‘พันเด็กชาตรี’ ถัดจากนั้นอีกปีเป็น ‘เด็กชาโท’ 

ช่วงปี 2475 เศรษฐกิจทั่วโลกทรุดหนัก ประเทศไทยหรือสยามในเวลานั้นก็โดนหางเลขเช่นกัน ทางการต้องตัดงบประมาณรายจ่าย ตัดงบเงินเดือน และต้องดุลข้าราชการออกเป็นแถว กรมมหรสพต้องลดฐานะลงเป็นกองมหรสพ ขึ้นกับกรมศิลปากร เปลี่ยนชื่อเป็น ‘วงดุริยางค์สากล กรมศิลปากร’ เอื้อจึงต้องโอนไปรับราชการสังกัดกรมศิลปากรด้วย พร้อม ๆ กับหางานพิเศษทำ โดยไปเล่นดนตรีตอนกลางคืน 

แรก ๆ ก็ไปแทนที่คนอื่น แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็เข้าเล่นประจำวงดนตรี ทำงานชนิดที่เรียกว่า “งานหลวงไม่ขาด งานราษฎร์ไม่เสีย” กระทั่งฐานะดีขึ้นตามลำดับ 

ต่อมาในปี 2478 ‘คุณหลวงวิจิตรวาทการ’ ก้าวมาเป็นอธิบดีกรมศิลปากร เอื้อซึ่งมีทั้งความสามารถและประสบการณ์อันโชกโชนจึงได้เลื่อนเงินเดือนเป็น 40 บาท และอีก 2 ปีถัดมาก็เลื่อนขึ้นเป็น 50 บาท 

ร้องเพลงประกอบภาพยนตร์ สู่การตั้งวงดนตรีไทยฟิล์ม

ปี 2479 พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล, หลวงสุขุมนัยประดิษฐ์, พจน์ สารสิน และ ชาญ บุนนาค ร่วมกันสร้างบริษัท ‘ไทยฟิล์ม’ เพื่อผลิตภาพยนตร์ไทย ประเดิมเรื่องแรกคือ ‘ถ่านไฟเก่า’ เอื้อมีโอกาสเข้ามาบรรเลงดนตรีประกอบเพลงภาพยนตร์เรื่องนี้ และได้ร้องเพลง ‘ในฝัน’ 

ในวันที่ภาพยนตร์เรื่องถ่านไฟเก่าฉายที่โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุง ผู้ชมต่างถูกสะกดด้วยเพลงในฝัน จากเสียงร้องของเอื้อ… “ในฝัน ฉันเฝ้าเห็นจันทรา แลระยับจับเมฆา ส่องเวลา นภาพรรณ…”

ด้วยเสียงร้องที่ผิดแผกไปจากเพลงในยุคนั้น ทำให้เพลงในฝันที่เอื้อขับร้องได้รับความนิยมอย่างสูง เอื้อจึงตั้งวงดนตรีของตัวเองในปีถัดมา โดยใช้ชื่อวงว่า ‘ไทยฟิล์ม’ ตามชื่อบริษัทภาพยนตร์เรื่องถ่านไฟเก่า

“ตอนนั้นเขาสร้างหนังเรื่อง ‘ถ่านไฟเก่า’ (ไทยฟิล์ม) มีบทพระเอกจะต้องร้องเพลงด้วย แต่พระเอกตัวจริงร้องเพลงไม่ได้ ผมจึงร้องแทน เขาไม่ได้บอกชื่อว่าใครเป็นผู้ร้อง ต่อมาหลวงวิมลฯ สืบรู้ว่าผมเป็นผู้ร้อง จึงบอกให้ครูชิ้น ศิลปะบรรเลง ซึ่งผมนับถือเสมือนพี่สาวแต่งเพลงให้ผมร้องอีก อัดลงแผ่นเสียงตราลิง (บ.อัตตังนิเคราะห์ของหลวงวิมลฯ)” ครูเอื้อเล่าในภายหลัง 

แต่ตั้งวงได้เพียงปีเศษ ๆ บริษัทไทยฟิล์มก็เลิกกิจการ วงดนตรีไทยฟิล์มจึงพลอยสลายตัวไปด้วย 

อย่างไรก็ตาม ความฝันที่จะทำวงของเอื้อไม่ได้จบลงแค่นั้น เพราะทิ้งช่วงเพียงปีเดียว สำนักงานโฆษณาการ ได้ปรับปรุงกิจการยกฐานะเป็นกรมโฆษณาการ โดยแต่งตั้ง ‘วิลาศ โอสถานนท์’ เป็นอธิบดีคนแรก และเป็นเพราะวิลาศผู้นี้นี่เองที่มีไอเดียว่า เมื่อมีสถานีวิทยุของรัฐบาลแล้วก็ควรจะต้องมีวงดนตรีประจำอยู่ด้วย ตั้งแต่นั้นมาเอื้อจึงถูกโอนอัตรามาจากกรมศิลปากรเพื่อสร้างวงดนตรีกรมโฆษณาการ โดยเอื้อรับหน้าที่เป็นหัวหน้าวงดนตรีกรมโฆษณาการ ซึ่งภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น ‘วงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์’ 

ความรักอันเป็นที่มาชื่อวง ‘สุนทราภรณ์’ 

ความรักของเอื้อ เกิดขึ้นเมื่อเขาไปเช่าบ้านอยู่กับเพื่อนรักคือ ‘สังข์ อสัตถ์วาสี’ บริเวณถนนราชดำเนินกลาง โดยบ้านเช่าของทั้งคู่อยู่ใกล้บ้านของ ‘คุณหญิงสอิ้ง กรรณสูต’ (พระยาสุนทรบุรี) ซึ่งมีลูกสาวชื่อ ‘อาภรณ์’ 

ความสวยของอาภรณ์กระแทกตาเอื้อเต็ม ๆ ยิ่งได้เจอและทำความรู้จักกัน ทั้งคู่ยิ่งตกหลุมรักซึ่งกันและกันอย่างยากที่จะถอนตัวได้ หากแต่ตอนนั้นเอื้อถูกผู้ใหญ่มองว่าประกอบอาชีพเต้นกินรำกิน ความรักของหนุ่มสาวคู่นี้จึงเต็มไปด้วยอุปสรรคขวากหนาม

เอื้อมุมานะสร้างตน สร้างชื่อเสียง เอาดนตรีไปแสดงที่โรงภาพยนตร์โอเดียน โดยทางโรงแรมรัตนโกสินทร์เป็นผู้จัด แต่ทางโรงแรมเห็นว่ากิจการโรงแรมเป็นของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จึงควรใช้วงดนตรีทรัพย์สินฯ ไปบรรเลง และยังไม่เหมาะที่จะเอาวงดนตรีของทางราชการไปบรรเลงในโรงภาพยนตร์ของเอกชนด้วย จึงมีการหารือกับเอื้อว่าควรจะใช้ชื่อวงดนตรีเป็นอย่างอื่นเพื่อให้สามารถบรรเลงเพลงได้โดยไม่ติดขัด 

เอื้อซึ่งกำลังตกหลุมรักอาภรณ์ จึงจัดการเอานามสกุลของตัวเอง (สุนทรสนาน) ไปรวมกับชื่อสาวคนรัก (อาภรณ์) ออกมาเป็นชื่อวงสุดเพราะพริ้งว่า ‘สุนทราภรณ์’ 

“เวลานั้นยังไม่ใช้ชื่อ ‘สุนทราภรณ์’ วันหนึ่ง ผมคุยกับคุณประสิทธิ์ ศิลปะบรรเลง ซึ่งเป็นเพื่อนรักกัน เขาถามว่า แฟนชื่ออะไร ตอนนั้น ผมรักอยู่กับคุณอาภรณ์ เขาพูดขึ้นทันทีว่า สุนทรสนานบวกกับอาภรณ์เป็นสุนทราภรณ์ เอ๊ะ เพราะดีนี่ ผมเห็นว่าเข้าทีเลยใช้ชื่อนั้นในการอัดแผ่นเสียงตั้งแต่ครั้งนั้นเป็นต้นมา”

ในฐานะคนรัก อาภรณ์มิได้มีส่วนร่วมแค่ชื่อวง เธอยังคอยให้กำลังใจเอื้อ ช่วยจัดหาเครื่องดนตรี รวมไปถึงอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ประกอบเป็นวงขึ้นมา 

ทั้งสองทนอดกลั้นและฝ่าฟันอุปสรรคไปด้วยกัน เพื่อพิสูจน์ให้เห็นถึงความจริงใจและความมุมานะบากบั่นของฝ่ายชาย และความมั่นคงในความรักของฝ่ายหญิง เป็นเวลานานเกือบ 10 ปี กระทั่งปี 2489 ทั้งคู่จึงได้แต่งงานและจดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย 

หลังแต่งงาน อาภรณ์ยังยอมสละทรัพย์สิน ขายที่นาที่อำเภอนครชัยศรีหลายร้อยไร่ นำมาปรับปรุงทั้งด้านส่วนตัวและวงดนตรี เพื่อผลักดันอาชีพของผู้เป็นสามี 

ชื่อ ‘สุนทราภรณ์’ ปรากฏขึ้นในฐานะของชื่อวงดนตรีที่ได้รับการสถาปนาเป็นทางการเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน ปี 2482 นอกจากใช้เป็นชื่อวงแล้ว เอื้อยังใช้เป็นนามแฝงในการขับร้องเพลง ส่วนชื่อและนามสกุลจริงนั้น ใช้สำหรับแต่งเพลงเพียงอย่างเดียว

กำเนิดเพลงรำวงวันลอยกระทง

ค่ำคืนวันลอยกระทง ราวปี 2492 - 2493 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา วงดนตรีสุนทราภรณ์ถูกเชิญให้ไปร่วมเล่นดนตรีในงานลอยกระทง 

ไปเล่นดนตรีอย่างเดียวไม่พอ ทางคณะผู้จัดงานซึ่งเป็นศิษย์เก่าของธรรมศาสตร์ ยังขอให้เอื้อช่วยแต่งเพลงสำหรับงานลอยกระทงด้วย 

สิ่งที่เอื้อทำคือการนั่งผิวปากเหมือนทุกครั้งที่เขาต้องแต่งเพลง 

เมื่อ ‘แก้ว อัจฉริยะกุล’ ผู้ประพันธ์เนื้อร้องที่มีความสามารถด้านการเลือกใช้คำได้อย่างคมคาย ได้ยินเสียงผิวปากของเอื้อ เขาจึงได้เริ่มเขียนเนื้อร้องขึ้นมา และแต่งเพลงด้วยกันจนเสร็จโดยใช้เวลาไม่ถึง 30 นาที จากนั้นทางวงก็ได้ซ้อมกันก่อนขึ้นแสดง และค่ำคืนนั้นเอง จึงเกิดเพลงอมตะที่กลายเป็นเพลงประจำวันลอยกระทงจนถึงปัจจุบัน 

ด้วยท่วงทำนองของเพลงที่สนุกสนาน และถูกนำมาเปิดทุกครั้งในวันลอยกระทง จึงทำให้เพลงเป็นที่รู้จักของชาวต่างชาติที่มาเที่ยวในเมืองไทย และได้ขยายให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก จนได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ และขับร้องอย่างแพร่หลาย ทั้งยังถูกนำไปใช้ในพิธีการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้ง 16 เพื่อต้อนรับนักกีฬาไทยด้วย

ความนิยมของเพลงรำวงวันลอยกระทง ทำให้บางครั้งชาวต่างชาติถึงกับเข้าใจผิดว่านี่คือเพลงประจำชาติไทย ชาวต่างชาติบางคนถึงกับนำเพลงนี้ไปขับร้องตามงานสังสรรค์ที่เกี่ยวข้องกับคนไทย 

ในยุคสมัยนั้น อาจกล่าวได้ว่านักแต่งเพลงส่วนใหญ่ มักมองข้ามเพลงที่เกี่ยวข้องกับเทศกาลและประเพณีของไทย มุ่งแต่งเพลงที่เป็นความต้องการของตลาด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพลงรัก ที่มีทั้งความสมหวังและผิดหวัง แต่เอื้อไม่คิดเช่นนั้น เขาให้ความสนใจเพลงเทศกาลและประเพณีนิยมพอ ๆ กับเพลงประเภทอื่น เพราะมองว่าเพลงประเภทนี้จะยังคงอยู่ต่อไปตราบใดที่งานเทศกาลหรือประเพณีท้องถิ่นยังคงมีอยู่ 

นอกจากเพลงรำวงลอยกระทงแล้ว ยังมีเพลงอื่น ๆ ที่เขาประพันธ์อีก ไม่ว่าจะเป็นเพลงขวัญข้าว, เพลงแม่ศรี, เพลงลอยเรือ ฯลฯ ส่วนใหญ่จะแต่งในจังหวะรำวง ทำให้นักแต่งเพลงและนักวิชาการหลายท่านยกย่องว่า นอกจากจะมีความสามารถในการเล่นเครื่องดนตรีตะวันตกแล้ว ‘ครูเอื้อ’ ยังเป็นอัจฉริยะด้านการแต่งเพลงในจังหวะและประเภทรำวงด้วย

ผลงานของ ‘ครูเอื้อ สุนทรสนาน’

ครูเอื้อได้ผลิตเพลงต่าง ๆ เรื่อยมาตามยุคตามสมัย เช่น เพลงชุดจุฬาตรีคูณ, คนธรรม์, พิณทิพย์, กังหันต้องลม, พรานทะเล, นางฟ้าจำแลง, นิมิตสวรรค์, เมืองฟ้าเมืองดิน, กลิ่นราตรี, มนต์รักนวลจันทร์, นเรศวรมหาราช, ดาวพระศุกร์ ฯลฯ 

โดยเฉพาะตอนที่คนไทยมีโทรทัศน์ดูในบ้านมากขึ้น ครูเอื้อก็ใช้ความความสามารถในการไล่ทันต่อเหตุการณ์ยุคสมัย และไล่ทันกับความนิยมของประชาชน รวมทั้งในสถานลีลาศทุกแห่ง นักลีลาศต่างยอมรับว่าวงดนตรีสุนทราภรณ์ จังหวะแน่น เต้นมัน มีลีลาอ่อนหวานประทับใจ 

นอกจากความสามารถในการประพันธ์ดนตรีแล้ว ครูเอื้อยังได้ขับร้องเพลงต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน ซึ่งเพลงแรกของครูเอื้อที่ได้ขับร้อง คือ ‘เพลงนาฏนารี’ ประพันธ์โดย ‘นารถ ถาวรบุตร’ เป็นเพลงไทยสากลเพลงแรกที่ครูเอื้อได้ขับร้องกับ ‘วาสนา ทองศรี’ ในตอนที่ยังเป็นนักเรียนอยู่ในวงเครื่องสายฝรั่งหลวง 

ต่อมาเมื่อครูเอื้อได้รับราชการที่กรมศิลปากร สังกัดกองมหรสพ จึงได้ร้องเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องถ่านไฟเก่า ในเพลงที่ชื่อ ‘บัวขาว’ และ ‘ในฝัน’ ประพันธ์โดย ‘หม่อมหลวงพวงร้อย อภัยวงศ์’

ที่สำคัญครูเอื้อยังได้บรรเพลงพระราชนิพนธ์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 เพลงแรกคือ ‘ยามเย็น’ ในปี 2489 และแต่งเพลงถวายพระพรเพลงแรกคือ ‘ราชาเป็นสง่าแห่งแคว้น’ ในปีเดียวกัน ตลอดจนแต่งเพลงถวายพระพร และถวายความจงรักภักดีล้นเกล้าทุกพระองค์รวม 20 เพลง 

ครูเอื้อได้ฝากผลงานเพลงไว้ให้กับคนรุ่นหลังอย่างมากมาย เช่น เพลงประจำสถาบัน เพลงประจำจังหวัด เป็นจำนวนทั้งหมด 700 เพลง และเพลงบันเทิงอื่น ๆ เช่น เพลงลีลาศ เพลงรำวง เพลงพื้นบ้าน เพลงประกอบภาพยนตร์ ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 1,000 เพลง ฯลฯ

รางวัลและเกียรติคุณ

ครูเอื้อ สุนทรสนาน ได้รับเกียรติให้ดำรงตำแหน่ง ‘นายกสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์’ ในปี 2518 อีกทั้งยังได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์สูงสุด ‘ตติยจุลจอมเกล้าวิเศษ’ ในปี 2523, และได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน ถึง 4 ครั้ง

‘ขุนวิจิตรมาตรา’ ได้เขียนถึง วงสุนทราภรณ์ เมื่อคราวที่ครูเอื้อ อายุครบ 60 ปี ใน ‘เรื่องดนตรี’ ไว้ว่า “สรุปความว่า ดนตรีนั้น เป็นสิ่งที่พัวพันอยู่กับชีวิตมนุษย์ทั่วโลก ดนตรีย่อมประกอบด้วยทำนองและคำร้อง ถ้าทำนองและคำร้องไม่ดี ดนตรีก็เสียไปด้วย ดนตรีที่ดีจึงจะต้องประกอบไปด้วยทำนองดี และคำร้องดีด้วย วงดนตรีสุนทราภรณ์ของครูเอื้อเป็นเช่นนั้นทุกประการ และหวังว่าวงดนตรีสุนทราภรณ์จะเป็นวงดนตรีที่ดีสืบไป”

ครูเอื้อทำงานมาตลอดทั้งชีวิตโดยไม่เคยหยุดพัก จนเมื่อปลายปี 2521 ครูเอื้อมีอาการไข้สูงเป็นระยะ จึงตัดสินใจพบแพทย์และได้เอกซเรย์ร่างกาย พบก้อนเนื้อขนาดเทียบเท่าลูกเทนนิสที่บริเวณปอดด้านขวา จึงเข้ารับการรักษา และได้กลับมาทำงานตามปกติ

ปลายปี 2522 อาการของครูเอื้อกลับทรุดลงอย่างรวดเร็ว จึงเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลและกลับมาดูแลอาการที่บ้านต่อ หลังจากรักษาตัวเป็นเวลาประมาณ 3 ปี อาการของครูเอื้อทรุดหนักลงเรื่อย ๆ จนสุดท้ายครูเอื้อได้เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 1 เมษายน ปี 2524 ขณะมีอายุ 71 ปี

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานน้ำหลวงอาบศพ พร้อมด้วยเครื่องเกียรติยศประกอบศพ พระราชทานหีบทองทรายประกอบศพเป็นเกียรติยศ อีกทั้งยังทรงรับการศพไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์โดยตลอด และทรงบำเพ็ญพระราชกุศล 7 วัน 50 วัน 100 วัน พระราชทาน

ต่อมาเมื่อได้กำหนดการขอรับพระราชทานเพลิงศพก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระมหากรุณาธิคุณ เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานเพลิงศพครูเอื้อ สุนทรสนาน เป็นการส่วนพระองค์ด้วย 

แม้จะจากไปแล้ว แต่ชื่อเสียงของครูเอื้อ ยังคงได้รับการยกย่องอย่างสูง และได้รับมอบรางวัลต่าง ๆ ซึ่งเป็นเครื่องหมายที่บ่งบอกถึงความสามารถในด้านดนตรีที่ผู้คนให้การยอมรับ โดยในปี 2559 กระทรวงวัฒนธรรมได้ประกาศยกย่องเชิดชูให้ครูเอื้อเป็น ‘บูรพศิลปินสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ สาขาศิลปะการแสดง’ 

ปี 2550 กระทรวงวัฒนธรรมได้เสนอต่อองค์การ UNESCO ในวาระครบรอบ 100 ปี เพื่อให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก และได้รับการยกย่องในสาขาวัฒนธรรมดนตรีไทยสากลในปี 2552

เป็นเวลา 42 ปี ที่ ‘ครูเอื้อ สุนทรสนาน’ ได้จากไปอย่างสงบ แต่ผลงานของท่านยังคงเป็นมรดกชิ้นสำคัญที่ท่านได้ทิ้งไว้ให้กับวงการดนตรีของไทยสืบไป 


เรื่อง : กรัณย์กร วุฒิชัยวงศ์ (The People Junior) 
ภาพ : ศูนย์ภาพเครือเนชั่น

อ้างอิง :

อำนวย จั่นเงิน. (2537). 84 ปี ครูเอื้อ สุนทรสนาน. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์ เจ.ฟิล์ม โปรเซส

อนุสรณ์ในการเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานเพลิงศพ นายเอื้อ สุนทรสนาน. (2525) กรุงเทพมหานคร. ป.สัมพันธ์พาณิชย์ 

https://www.youtube.com/watch?v=0M3GBcyOmew

https://sirindhornmusiclibrary.li.mahidol.ac.th/thai_contemporary_mu/plengthaisakol-48/

http://www.snc.lib.su.ac.th/snclibblog/?p=4476

https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/971871

https://www.silpa-mag.com/history/article_77891#google_vignette