11 เม.ย. 2562 | 23:04 น.
เมื่อถึงช่วงเทศกาลสงกรานต์ ทุกสถานที่ในประเทศไทยโดยเฉพาะตามห้างสรรพสินค้า มักจะพร้อมใจกันเปิดเพลงประจำช่วงเทศกาลนี้ อย่างเพลง “รำวงวันสงกรานต์” เสียงร้องสูง ๆ ของสุภาพสตรีจากคณะสุนทราภรณ์ ที่ร้องในท่อน “วันนี้ (เสียงขยี้ ๆ) เป็นวันสงกรานต์” กลายเป็นเนื้อร้องที่ติดหูทุกคนจนถึงปัจจุบันนี้ เครดิตทั้งหมดคงต้องยกให้กับคนที่ประพันธ์เนื้อร้องในบทเพลงชิ้นนี้ นั่นก็คือ ครูแก้ว อัจฉริยะกุล หรือชายที่ถูกยกให้เป็น “คีตกวีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์” แก้ว อัจฉริยะกุล เกิดเมื่อ วันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2458 เขาเป็นบุตรชายคนโตในจำนวนพี่น้องสี่คน ของนายใหญ่ อัจฉริยะกุล (นาย ซี ปาปา ยาโนปูโลส) ชาวกรีก กับนางล้วน อัจฉริยะกุล (นามสกุลเดิม เหรียญสุวรรณ) หลายคนอาจจะรู้จักครูแก้ว จากนามปากกาที่ใช้ชื่อว่า "แก้วฟ้า" ซึ่งแท้จริงแล้วนี่คือชื่อแรกที่พระตั้งให้เขาตั้งแต่เกิด แต่จากความผิดพลาดของนายอำเภอที่ตกหล่นคำว่า "ฟ้า" ไป ทำให้ชื่อของครูแก้วเหลือเพียงแค่คำว่า "แก้ว" เท่านั้น ครูแก้ว เริ่มต้นอาชีพนักประพันธ์คำร้องเพลงตั้งแต่อายุเพียงสิบเก้าปี แม้ ครูแก้ว จะเป็นลูกครึ่งฝรั่งแต่ภาษาและผลงานของท่านมีความเป็นไทยอย่างมาก ย้อนกลับไปในช่วงที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษา ครูแก้ว เริ่มฉายแววความเป็นอัจฉริยภาพทางด้านการใช้ภาษาตั้งแต่ตอนนั้น เขาแต่งบทกลอน หรือ โคลงสี่สุภาพ ได้ดีเสียจนท่านขุนท่านหนึ่งที่มาเป็นครูสอนภาษาไทยให้กับเขา ถึงกับต้องทักถามว่า “นี่แกไปลอกใครมา บอกมาซะดี ๆ เพราะฉันนึกไม่ออกเลย” ตอนนั้น ครูแก้ว ได้ปฏิเสธทันทีและยืนยันว่าสิ่งเหล่านี้ล้วนออกมาจากตัวของเขาจริง ๆ คำตอบนั้นยิ่งทำให้ท่านขุนไม่เชื่อว่านี่เป็นการแต่งบทกลอนจากเด็กอายุไม่ถึงยี่สิบปีจริง ๆ ท่านขุนท่านนี้ตอบกลับ ครูแก้ว ในวัยเด็กด้วยความสงสัยว่า “ถ้าอย่างนั้นแล้ว แกแต่งต่อไปอีกเรื่อย ๆ” ซึ่งประโยคนี้เปรียบเหมือนเป็นจุดเริ่มต้นของความเป็นยอดคีตกวีของ ครูแก้ว นับตั้งแต่นั้นมา ครูแก้ว มีผลงานการประพันธ์คำร้องมากกว่า 3,000 เพลง และเป็นการแต่งร่วมกับผู้แต่งทำนองหลายท่าน ไล่ตั้งแต่ ครูเอื้อ สุนทรสนาน (หัวหน้าวงสุนทราภรณ์) เชื่อกันว่าเพลงที่ทั้งสองประพันธ์ร่วมกันมีสูงถึง 1,000 เพลง (โดยประมาณ) หนึ่งในนั้นคือบทเพลง “รำวงเริงสงกรานต์” อีกหนึ่งท่านที่มีผลงานเขียนเพลงร่วมกับ ครูแก้ว หลายเพลงก็คือ ครูเวส สุนทรจามร นักประพันธ์เพลงที่มีผลงานให้กับวงสุนทราภรณ์มากมาย และแน่นอนหนึ่งในผลงานที่ทั้งคู่ร่วมกันสร้างสรรค์และติดหูคนในช่วงเทศกาลสงกรานต์มากที่สุดนั่นก็คือเพลง “รำวงวันสงกรานต์” “รำวงวันสงกรานต์” มาพร้อมกับท่อนแรกที่ชวนติดหู เสียงร้องสูง ๆ กับเนื้อหาที่บอกเล่าเรื่องราวของประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงามของคนไทยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ผ่านมุมมองของหนุ่มสาวสมัยก่อน (ถ้ามองจากปัจจุบัน) เนื้อร้องของเพลงนี้ ครูแก้ว พยายามจะใส่ขนบธรรมเนียมประเพณีของวันสงกรานต์มาไว้ในเพลง ผ่านกิจวัตรประจำวันของหนุ่มสาวเหล่านั้น แม้เนื้อเพลงจะมีไม่มากแต่การเล่าเรื่องนั้นถือว่าครบถ้วนสมบูรณ์ ซึ่งในตอนนั้นคงไม่มีใครคิดว่าเพลงนี้จะได้รับการเปิดมาจนถึงทุกวันนี้ “วันนี้ เป็นวันสงกรานต์ หนุ่มสาวชาวบ้านเบิกบานจิตใจจริงเอย ตอนเช้าทำบุญ ทำบุญตักบาตร ทำบุญร่วมชาติตักบาตรร่วมขันกันเอย เข้าวัดแต่งตัว แต่งตัวสวยสะ ไปสรงน้ำพระ ณ วันสงกรานต์กันเอย ตอนบ่ายเราเริ่มเฮฮาเล่นมอญซ่อนผ้า เล่นสะบ้ากันเอย ทำบุญทำทานสนุกสนานกันแล้ว ขอเชิญน้องแก้วรำวงกันเอย..” นี่คือเนื้อเพลงของเพลงนี้ กิจกรรมประเพณีสงกรานต์ของไทยตั้งแต่สมัยก่อน ภาพจำของใครหลายคนคงเป็นภาพที่เห็นหนุ่มสาวทุกคนแต่งตัวชุดสุภาพ และไปร่วมทำกิจกรรมที่วัด ไม่ว่าจะเป็นการทำบุญ ตักบาตร สรงน้ำพระ หรือก่อพระเจดีย์ทราย ซึ่งในช่วงบ่ายทุกคนก็จะเปลี่ยนมาเล่นกีฬากัน โดยในเพลง ครูแก้ว ก็ยกกิจกรรมที่ได้รับความนิยมในช่วงนั้นอย่างการเล่นมอญซ่อนผ้าและสะบ้า ซึ่งกิจกรรมสุดท้ายในช่วงค่ำจะเป็นเหมือนการรวมตัวกันเพื่อ รำวง นอกจากผลงานการประพันธ์ของ ครูแก้ว จะได้รับคำยกย่องในเรื่องการเลือกใช้เสียงสูงต่ำของวรรณยุกต์ที่สัมพันธ์กับทำนองเพลง อีกสิ่งที่ ครูแก้ว แสดงให้เห็นในผลงานของท่านก็คือการใช้สำนวนที่ไพเราะ คล้องจอง และมีสัมผัสไม่ต่างกับบทกวี ไม่แปลกที่ทุกคนจะยกย่องว่า “คำร้องของครูแก้วคือบทกวี" แต่ใช่ว่า ครูแก้ว จะพึ่งแต่พรสวรรค์จากฟ้าที่เขาได้ตั้งแต่เกิดเท่านั้น ทั้งหลายทั้งปวงมาจากการทำงานหนักและฝึกฝนตัวเองตลอดเวลา “เราไม่เคยเห็นใคร มีความสามารถ เท่าพ่อของเรา เราไม่เคยเห็นใคร มีความมานะอดทน เท่าพ่อของเรา เราไม่เคยเห็นใคร ทำงานหนักเเละลำบาก เท่าพ่อของเรา” หนึ่งในคำกล่าวจาก รองศาสตราจารย์ นภาภรณ์ อัจฉริยะกุล บุตรสาวของครูแก้วจากหนังสือ “แก้ว อัจฉริยะกุล อัจฉริยะคีตกวีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์” ของสำนักพิมพ์แสงดาว ที่เขียนโดย คีตา พญาไท ความสามารถในการแต่งเพลงที่ไม่ต่างกับบทกวีและการทำงานหนักเพื่อสิ่งที่ตนรักของ ครูแก้ว เป็นสิ่งที่เด็กรุ่นใหม่สมควรอย่างยิ่งที่จะนำมาเป็นต้นแบบ แต่น่าเศร้านักที่หลายครั้งเรามักจะได้ยินเสียงของคนรุ่นใหม่ที่พอได้ยินเพลงเหล่านี้เปิดขึ้นมา พวกเขามักจะรำคาญมันมากกว่าที่จะชื่นชม หรือบางครั้งมองว่าเป็นเพลงสร้างบรรยากาศมากกว่าที่จะเข้าถึงคุณค่าของมันจริง ๆ แน่นอนวันสงกรานต์ ในสายตาของทุกคนตอนนี้คงเป็นเทศกาลแห่งการได้หยุดพักผ่อน และพักจากโลกที่วุ่นวาย แต่ในอีกมุมหนึ่งถ้ามองผ่านเพลง ก็ทำให้เราได้เห็นถึงเสน่ห์วิถีชีวิตการเฉลิมฉลองสงกรานต์ของคนยุคก่อนได้เหมือนกัน
ที่มา http://www.nationtv.tv/main/content/378617247/ https://th.m.wikipedia.org/wiki/แก้ว_อัจฉริยะกุล https://amp.mgronline.com/entertainment/9530000012048.html https://story.pptvhd36.com/@HiddenTrack/5acf96587342a https://www.youtube.com/watch?v=_afbAzivQwY